รัฐธรรมนูญกับการสร้างธรรมรัฐในองค์กรอิสระ โดย นายมนตรี กนกวารี

9 มกราคม 2548 01:31 น.

       บทนำ
                   
        สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการที่เราได้ก้าวเข้าสู่โลกยุคเทคโนโลยีไร้พรมแดน ตลอดจนการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายบริษัทต้องประสบภาวะล้มละลาย เนื่องจากการบริหารงานที่ล้มเหลวและการตบแต่งตัวเลขในบัญชีของบริษัท ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารงานทั้งในระดับองค์กรรัฐและบรรษัทที่ชัดเจน และก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าอะไรจะเป็นหลักประกันที่ยั่งยืนในการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ
                   
        ธรรมรัฐ (Good Governance) เป็นแนวความคิดหนึ่งในหลายแนวความคิดที่ถือได้ว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาในการทำงานของภาครัฐ (Public Sector) ภาคเอกชน (Private Sector) และภาคเอกชนหรือองค์กรสังคมต่าง ๆ (Civil Society) ซึ่งแนวคิดนี้ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรายงานของธนาคารโลกเมื่อปี 2532 และต่อมาองค์การพัฒนาแห่งสหประชาติ (United Nations Development Program ; UNDP) ได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวไปวิเคราะห์และอธิบายรายละเอียดในเอกสาร Governance for Sustainable Human Development จากนั้นมาแนวคิดนี้ได้นำมาใช้ในหลายองค์กร อาทิ ธนาคารพัฒนาการแห่งเอเชีย (ADB) ธนาคารโลก (World Bank) ที่ได้นำมาใช้กับประเทศในแถบเอเชีย เพื่อแก้ปัญหาทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งในส่วนของประเทศไทยที่ประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2540 และจากผลกระทบดังกล่าวได้ทำให้ประเทศไทยต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยหนังสือที่แสดงเจตจำนงกู้เงินได้ระบุให้ รัฐบาลไทยที่ต้องให้คำมั่นที่จะต้องสร้าง Good Governance ในการบริหารจัดการภาครัฐ จากนั้นมาแนวความคิดในเรื่อง Good Governance หรือ ธรรมรัฐ ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน โดยนักคิด นักวิชาการ และผู้นำทางสังคมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ น.พ.ประเวศ วะสี นายอานันท์ ปันยารชุน อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ที่ได้ให้ความหมาย หลักการ แนวทางปฏิบัติ ของธรรมรัฐที่มีจุดเชื่อมโยงร่วมกันในเรื่องของความร่วมมือ ความเสมอภาค ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ความชอบธรรมความยุติธรรม ความคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานในภาครัฐ ในเรื่องของสร้างระบบการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดี รวมไปถึงการสร้างระบบบรรษัทภิบาล ในส่วนของภาคเอกชน อันเป็นการเคลื่อนไหวผลักดันที่สำคัญที่จะทำให้ธรรมรัฐเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในสังคม
                   
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีเจตนารมณ์สำคัญในการปฏิรูปการเมืองด้วยการสร้างการเมืองภาคพลเมืองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการ
       สร้างกลไกที่จะผลักดันขับเคลื่อนให้เจตนารมณ์ดังกล่าวบรรลุผล ได้แก่ การสร้างองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนขององค์กรที่ใช้อำนาจ และองค์กรในการตรวจสอบอำนาจ ซึ่งองค์กรในการตรวจสอบอำนาจเป็นองค์กรหนึ่งที่จะทำหน้าที่กำกับ ดูแล ให้การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเจตจำนงค์ของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้สร้างองค์ในรูปแบบนี้หลายองค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนได้สร้างองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบาทในการพิจารณาวินิจฉัยให้การดำเนินงานขององค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญและอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด
       
       ๒. รัฐธรรมนูญกับการวางรากฐานธรรมรัฐ
                   
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้วางรากฐานอันสอดคล้องกับหลักการของธรรมรัฐ โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในบางมาตราได้สะท้อนให้เห็นแนวคิดและคุณค่าในเรื่องธรรมรัฐ และรองรับต่อ
       แนวทางในการสร้างธรรมรัฐให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดังนี้
                   
        ๑) หลักนิติธรรม (Rule of Law) หลักการการปกครองภายใต้กฎหมายที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการตรากฎหมายให้ทันสมัยและเป็นธรรมรวมทั้งเป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว อาทิ
                   
        - สถานะความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ : มาตรา ๖ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันบังคับใช้ไม่ได้
        - หน้าที่ของบุคคลในการปฏิบัติตามกฏหมาย : มาตรา ๖๗ บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
                   
        - การรับโทษทางกฎหมาย : มาตรา ๓๒ บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
                   
        ๒) หลักคุณธรรม (Virtues) การยึดมั่นในเรื่องความถูกต้องดีงาม การส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติกับคนในสังคม ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้สะท้อนถึงคุณค่า (Values) ที่ดีงามของมนุษย์ อาทิ
                   
        - การคุ้มครองและสร้างหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : มาตรา ๒๖ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ; มาตรา ๒๗ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ; มาตรา ๒๙ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
                   
        - จริยธรรมและคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง : มาตรา ๑๑๐ การห้ามมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือรับสัมปทาน และเงินหรือผลประโยชน์ ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ
                   
        - มาตรการลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ขาดจริยธรรมและคุณธรรม : มาตรา ๓๐๓ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ; มาตรา ๓๐๘ การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
                   
        ๓) หลักความโปร่งใส (Transparency) การปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรให้มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และมีกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบความถูกต้องได้ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว อาทิ
                   
        -กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจ : โดยองค์กรหลายองค์กร เช่น มาตรา ๒๙๑ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ; มาตรา ๓๐๘ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
                   
       - ระบบการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร : โดยสร้างหลักประกันสิทธิที่จะได้รับข้อมูลหรือข้อมูลข่าวสาร
       เช่น มาตรา ๕๘ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ
       หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้ส่วนเสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ; มาตรา ๕๙ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตน หรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ

                   
        ๔) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นต่อการตัดสินใจขององค์กร ซึ่งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อาทิ
                   
        - การคุ้มครองสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐ : โดยสร้างหลักประกันในเรื่องสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐ เช่น มาตรา ๕๖ สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ; มาตรา ๗๖ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
       
                   
        - การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน : โดยการสร้างกระบวนการทางการเมืองของภาคพลเมือง เช่น มาตรา ๒๑๔ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด ๓ และหมวด ๕ ; มาตรา ๒๘๖ ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้สมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ; มาตรา ๒๘๗ ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด มีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้
                   
        ๕) หลักความรับผิดชอบ (Accountability) การสำนึกในความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดกรอบขององค์กรรัฐหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญในการทำงานของเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ส่วนรวม การสร้างระบบการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่น
                   
        - การกำหนดกรอบของรัฐ บุคลการของรัฐ และองค์กรในรัฐธรรมนูญในการทำงานตอบสนองต่อผลประโยชน์สาธารณะ เป็นหลักประกันในการทำงานของรัฐที่จะต้องตอบสนองต่อผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น หมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ; มาตรา ๗๐ บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน ; มาตรา ๒๐๐ วรรคสอง ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย
                   
        - การสร้างระบบการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง การสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่น มาตรา ๒๑๔ วรรคแรก ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าในกิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้ วรรคสอง การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามวรรคหนึ่งซึ่งมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ในการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้ วรรคเจ็ด การออกเสียงประชามติตามมาตรานี้ให้มีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น
                   
        ๖) หลักความคุ้มค่า (Effectiveness) การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ในการกำหนดกรอบหน้าที่ของบุคลากรในภาครัฐ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรภาครัฐ โดยมุ่งเน้นให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
                   
        - การกำหนดกรอบหน้าที่ของบุคลากรภาครัฐ โดยมุ่งเน้นในการทำหน้าที่ของบุคลากรในภาครัฐ เช่น มาตรา ๗๐ บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือของราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน
                   
        - การสร้างเครื่องมือของรัฐในการปรับโครงสร้างระบบราชการ เพื่อตอบสนองในเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ได้กำหนดให้การจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม เป็นไปตามแนวทางที่สร้างกลไกให้รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายจะได้ปรับปรุงการบริหารภาครัฐให้ตอบสนองหลักความคุ้มค่า เช่น มาตรา ๒๓๐ การจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นใหม่ โดยมีการกำหนดตำแหน่ง หรืออัตราของข้าราชการ หรือลูกจ้างเพิ่มขึ้น ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ วรรคสอง การรวมหรือการโอน กระทรวง ทบวง กรม ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ โดยไม่มีการกำหนดตำแหน่ง หรืออัตราของข้าราชการ หรือลูกจ้างเพิ่มขึ้น หรือการยุบกระทรวง ทบวง กรม ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
       
       ๓. ศาลรัฐธรรมนูญกับบทบาทการสร้างธรรมรัฐในสังคม
                   
        บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้ส่งผลให้เกิดองค์กรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่เรามักคุ้นเคยกับคำว่า องค์กรอิสระ ซึ่งองค์กรอิสระบางองค์กรเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ความมุ่งหวังต่อบทบาทขององค์กรอิสระเหล่านี้จากทุกภาคส่วนในสังคมย่อมมีอยู่โดยคาดหวังว่าองค์กรอิสระจะต้องเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ดี และด้วยสภาพการณ์ของการเริ่มต้นทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ย่อมทำให้แต่ละองค์กรมีแนวทางการทำงานที่แตกต่างที่มาจากทั้งในเรื่องของสาระสำคัญของแนวทางในการทำงาน ตลอดจนรูปแบบโครงสร้างขององค์กรที่แตกต่างกัน แนวทางของการสร้างธรรมรัฐในองค์กรจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างหลักประกันที่ทำให้องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างแท้จริงและเป็นที่ยอมรับจากประชาชนโดยปราศจากความรู้สึกที่เคลือบคลุมสงสัยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
                   
        ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะองค์กรยุติธรรมที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ตาม
       รัฐธรรมนูญใน ๒ ฐานะด้วยกัน คือ หน้าที่ในฐานะองค์กรวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพื่อประกันสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และหน้าที่ในฐานะองค์กรที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยหน้าที่ดังกล่าวได้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปมีบทบาทในการสร้างธรรมรัฐให้เกิดขึ้นในสังคม ๒ บทบาท ดังนี้
                   
        ๓.๑ บทบาทในฐานะองค์กรอิสระที่ยึดถือหลักธรรมรัฐในการทำงาน (Good Governance of Organization)ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งที่ประชาชนมีความคาดหวังต่อบทบาทในการทำหน้าที่องค์กรประกันความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่จะทำให้ประชาชนยอมรับในการทำงานตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยปราศจากข้อสงสัยหรือข้อกังขา โดยแนวทางที่สำคัญที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว คือ ศาลรัฐธรรมนูญยึดถือหลักธรรมรัฐเป็นเข็มทิศในการทำงาน ทั้งในแง่ของการทำให้การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญตอบสนองต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีหลักการที่สอดคล้องรองรับกับหลักธรรมรัฐ และในแง่ของการบริหารงานภายในองค์กรเองที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรขับเคลื่อนไปได้ภายใต้หลักการของธรรมรัฐในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ได้มุ่งเน้นให้เกิดขึ้นใน ๒ ระดับ คือ
                   
        ๓.๑.๑ ธรรมรัฐขององค์กร (Good Governance of Organization) ธรรมรัฐโดยสภาพแล้วเป็นได้ทั้งวิธีการ (Means) และเป้าหมาย (Goals) ในตัวเอง ศาลรัฐธรรมนูญได้ยึดถือหลักธรรมรัฐเป็นกรอบแนวทางในการบริหารงานในองค์กร และยึดถือเป็นเสมือนเข็มทิศที่จะมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรแห่งธรรมรัฐ ด้วยบทบาทฐานะที่เป็นองค์กรพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญให้คงความเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นธรรมนูญในการปกครอง อันเป็นแนวทางในการดำเนินงานขององค์กรและสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง การผลักดันให้เกิดธรรมรัฐในศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะทำให้องค์กรอิสระอื่น ๆ เป็นองค์กรแห่งธรรมรัฐ และเกิดการพัฒนาองค์กรอิสระร่วมกันทั้งระบบ อันจะเป็นเครื่องยืนยันถึงจุดมุ่งหมายขององค์กรอิสระในการสนองตอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกับกับการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
                   
        ๓.๑.๒ ธรรมรัฐของบุคคล (Good Governance of Individual) ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเป็นองค์กรแห่งธรรมรัฐ จำเป็นจะต้องอาศัยบุคลากรในองค์กรเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งในเรื่องของการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะการจะทำให้เกิดธรรมรัฐในองค์กรเป็นรูปธรรมนั้น บุคลากรในองค์กรทุกระดับจะต้องให้ความร่วมมือและถือเป็นอุดมการณ์ในการทำงาน รวมไปถึงการนำไปปรับใช้ในเรื่องชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันทั้งในส่วนของประโยชน์สาธารณะและในระดับปัจเจกบุคคล อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของบุคลากรในองค์กรต่อพันธกิจของศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของบุคลากรของศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (Learning Organization) ทั้งในระดับผู้บริหารในระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ ในเรื่องธรรมรัฐที่เป็นวัฒนธรรมแห่งการทำงานในยุคใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างจรรยาบรรณของข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ การใช้ระบบการประเมินบุคคลในรูปแบบพันธะสัญญา เป็นต้น
                   
        ๓.๒ บทบาทในฐานะองค์กรที่ตรวจสอบการทำหน้าที่องค์กรอิสระให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
       
                   
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้วางกรอบปฏิบัติและตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักการของธรรมรัฐ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าธรรมรัฐจะเป็นกรอบกติกาสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เป็นเครื่องมือและแนวทางในการตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งในด้านของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและในด้านการดำเนินงานขององค์กรอิสระให้เกิดระบบมาตรฐานในการบริหารงานที่เป็นรูปธรรม เพราะธรรมรัฐจะเป็นทั้งเครื่องมือ (Instrument) และ เป้าประสงค์ (Objective) ของศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีที่มีเกิดปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ รวมไปถึงการยึดถือหลักธรรมรัฐของศาลรัฐธรรมนูญจะยังเป็นการทำให้เกิดการยอมรับและพัฒนาองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่จะขยายผลให้ไปสู่การเกิดธรรมรัฐขึ้นในสังคมทุกภาคส่วน เพราะการทำหน้าที่วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทและส่งผลกระทบต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ย่อมทำให้การสร้างธรรมรัฐให้เกิดขึ้นในองค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ประชาชนในสังคมคาดหวังให้เกิดขึ้นในทุกองค์กรโดยเฉพาะองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย
       ๔) การไปสู่องค์กรแห่งธรรมรัฐของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
                   
        ภายหลังจากที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อตั้งมาแล้วห้าปี ช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายในพัฒนาการต่อไปที่จะนำไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบให้กับองค์กรอิสระอื่น และการเพิ่มสมรรถนะในการทำงานสนับสนุนงานของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลยุทธ์ในการสร้างให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรแห่งธรรมรัฐ จึงเป็นแนวทางที่สนองตอบต่อพันธกิจหลักที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้แนวทางของสำนักงานศาล
       รัฐธรรมนูญในการพัฒนาให้เป็นองค์กรแห่งธรรมรัฐ มีแนวทางในการดำเนินงานทั้งในภาพขององค์กรและในส่วนของบุคลากรในองค์กรดังนี้*
                   
       ๔.๑ ระบบการบริหารงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result Based Management)
                   
        การบริหารงานมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นแนวทางในการบริหารงานที่มุ่งเน้นสัมฤทธิ์ผลขององค์กรเป็นหลัก โดยเปรียบเทียบผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงกับเป้าหมายที่กำหนด โดยใช้ระบบการประเมินผลงานที่อาศัยตัวชี้วัดเป็นตัวสะท้อนผลงานให้ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อให้มีการปรับปรุงผลการดำเนินงานขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความคุ้มค่า รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชนภายนอก ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในภาคราชการต่าง ๆ เพื่อให้ส่วนราชการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงสัมฤทธิ์ผลของงานเป็นหลัก แทนแนวคิดเดิมที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับจำนวนงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ปริมาณบุคลากร หรือความพร้อมของวัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ภาคราชการมีเป้าหมายในการทำงาน มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของงาน มีต้นทุนการทำงานที่คุ้มค่า สามารถวัดได้ มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน โปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบเป้าหมายของส่วนราชการ ขั้นตอนการปฏิบัติงานและคุณภาพของผลการปฏิบัติงาน
                   
        แนวคิดการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์และการนำไปปฏิบัติในองค์กรภาครัฐ เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักธรรมรัฐทั้งในด้านความคุ้มค่า (Effectiveness) ความรับผิดชอบ (Accountability) ความโปร่งใส (Transparency) การมีส่วนร่วม (Participation) ซึ่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรหนึ่งในสังคม ได้
       แสวงหาแนวทางในการบรรลุซึ่งอุดมการณ์ของการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้นำหลักการบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มาใช้ในองค์กรอันจะทำให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งธรรมรัฐที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้วางหลักการแห่งธรรมรัฐ และจะนำมาซึ่งการเป็นองค์กรที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ โดยมีหลักการและวิธีการในการดำเนินการดังนี้
                   
        ๔.๑.๑ การสร้างความเป็นเลิศขององค์กร (Best Organization) โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างความสามารถ (Competent) และสมรรถนะ (Capacity) ให้เอื้อต่อการสร้างผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานตามมิติของการบริหารในการดำเนินการ ได้แก่
                   
        ๑) มิติความสามารถและสมรรถนะ (Competent & Capacity) โดยการเพิ่มความสามารถและสมรรถนะขององค์กรโดยวิธีการสำรวจ กำจัด หรือสะสางเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ดำรงอยู่ให้บรรเทาเบาบางหรือหมดไป และควบคุมปัญหา ที่เป็นอุปสรรคสำคัญไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ รวมไปถึงการประเมิน แสวงหา สร้าง และนำจุดแข็งที่จำเป็นใหม่ ๆ เข้ามาทดแทนเพื่อเสริมสร้างองค์การเพิ่มเติม
                   
        ๒) มิติพลวัตองค์กร (Dynamics) โดยการส่งเสริมนโยบายกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้เกิดขึ้นในทุกระดับ และสนับสนุนให้มีแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกผู้นำการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้ปฏิบัติงาน
                   
        ๓) มิติความก้าวหน้าและพัฒนาการ (Advancement & Development) โดยผลักดันความก้าวหน้าและพัฒนาการใหม่เชิงปริมาณ (Enlargement) และเชิงคุณภาพ (Enrichment)
                   
        ๔) มิตินวตกรรมองค์กร (Innovation) โดยการออกแบบใหม่ในเรื่องการทำงาน ผลงาน และคุณภาพการทำงานและคุณค่าผลงาน
                   
        ๔.๑.๒ การสร้างความเป็นเลิศของการจัดการ (Best Management) โดยการสร้างระบบการจัดการให้เอื้อต่อการสร้างผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานตามมิติการจัดการ ได้แก่
                   
        ๑) มิติการเคลื่อนไหวตื่นตัวและปรับตัวให้ทันสมัย (Proactive & Homeostasis) โดยการสำรวจเปรียบเทียบและลดช่องว่างระหว่างอัตราการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมกับการปรับตัวของการจัดการ และการสร้างสัญญาณเตือนภาวะวิกฤติในการบอกเหตุปัญหาอุปสรรคในการจัดการ
                   
        ๒) มิติการจัดการทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุด (Utilization) โดยการเกลี่ยให้เกิดความสมดุลกับการปฏิบัติงาน การกระจายให้ทั่วถึงสอดคล้องกับความต้องการและจำเป็นในการปฏิบัติงาน การหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดและเกิดประโยชน์ การซ่อมบำรุงและพัฒนาให้มีคุณภาพ รวมไปถึงการเตรียมคนให้พร้อมกับการใช้ประโยชน์
                   
        ๓) มิติการจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) โดยการวางน้ำหนักของการจัดการตามสัดส่วนของปริมาณและคุณภาพของผลผลิตหรือผลงานที่คาดหมาย การจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของการจัดการตามเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตหรือคุณค่าผลงานที่คาดหมาย รวมไปถึงการพัฒนาเป้าหมายและเทคนิคการจัดการให้เป็นตัวนำในการพัฒนาผลงานและการทำงานในทุกระดับ
                   
        ๔) มิติการพัฒนาบุคลากรและทีมงาน (Teamwork) พัฒนาบุคลากรขององค์กรในเรื่องระบบทีมงาน ระบบการทำงานเป็นทีม และระบบการสร้างผลงานเป็นทีม
                   
        ๔.๑.๓ การสร้างความเป็นเลิศของการปฏิบัติงาน (Best Practice) โดยการสร้างวิธีการทำงานให้เอื้อต่อการสร้างผลสัมฤทธิ์ตามมิติของการปฏิบัติงาน ได้แก่
                   
        ๑) มิติทางด้านเทคนิคการทำงาน (Technical application) ด้วยการสำรวจความต้องการและจัดหาเทคนิคการทำงานตอบสนองแก่ผู้ปฏิบัติงาน จัดทำระบบข้อมูลย้อนกลับเพื่อบ่งชี้ภาวะความขาดแคลนหรือความต้องการการสนับสนุนเทคนิคที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้ทันสมัยและเพียงพอ
                   
        ๒) มิติด้านข้อมูลสนับสนุนการปฏิบัติงาน (Operation information) ด้วยการสำรวจความต้องการข้อมูลและอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติงาน การจัดหาข้อมูลและอุปกรณ์สนับสนุนการใช้ข้อมูลที่ทันสมัยและพอเพียงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และการพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนและขยายการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลในวงกว้าง สนับสนุนการปฏิบัติงาน
                   
        ๓) มิติด้านคุณภาพมาตรฐานการทำงาน (Quality Control) ด้วยการออกแบบการปฏิบัติงานให้มีเกณฑ์กำหนดมาตรฐานและคุณภาพ รวมถึงการจัดหาสนับสนุนเครื่องมือหรือระบบการช่วยพัฒนาและควบคุมแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นตามมาตรฐานและคุณภาพ
                   
        ๔) มิติด้านมาตรการกำกับ ติดตาม และประเมินผล (Monitoring & Evaluation) ด้วยการสร้างเกณฑ์ในการกำกับ ติดตาม และประเมินผลให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของงานแต่ละประเภท และการสร้างวงจรในการกำกับ ติดตาม และประเมินผลให้ครอบคลุมครบถ้วนตามลำดับขั้นตอนสำคัญของการปฏิบัติงาน
                   
        ๕) มิติด้านการช่วยเหลือและปรับแก้ความผิดพลาด (Advice & Alignment) ด้วยการจัดทำเครื่องชี้ภาวะวิกฤต (Critical indicator) ของการปฏิบัติงานและจัดทำมาตรการช่วยเหลือเพื่อแก้วิกฤตในระหว่างการปฏิบัติ (Alignment measurement)
                   
        ๔.๑.๔ การสร้างความเป็นเลิศของผลงาน (Best Performance) โดยการสร้างผลงานให้เอื้อต่อผลสัมฤทธิ์การปฎิบัติงาน ได้แก่
                   
        ๑) มิติด้านมาตรฐานผลงาน (Standardization) ด้วยการจัดทำมาตรฐานกลางของผลงานเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
                   
        ๒) มิติด้านการวัดผลได้ (Validity) ด้วยการจัดทำมาตรวัดผลงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับมาตรฐานและคุณภาพของผลงาน และจัดทำดัชนีชี้วัดผลงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับมาตรฐานและคุณภาพของมาตรวัดผลงาน
                   
        ๓) มิติด้านเป้าหมายและความสมบูรณ์ (Target & Completeness) ด้วยการสนับสนุนปัจจัยให้เพียงพอและเหมาะสมกับเป้าหมายและความสมบูรณ์ที่คาดหมาย และสนับสนุนปัจจัยการเพิ่มมาตรฐานและคุณภาพการผลิตตามสัดส่วนของเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น
                   
        ๔) มิติด้านการปรับแก้และพัฒนา (Adaptation & Development) ด้วยการสนับสนุนมาตรการปรับแก้ผลงานให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานและมาตรการพัฒนาผลงานให้เกิดมาตรฐานใหม่ที่สูงขึ้น
                   
        ๔.๑.๕ การสร้างความเป็นเลิศของผลกระทบ (Best Impact) โดยการสร้างผลกระทบที่พึงประสงค์และเอื้อต่อการสร้างผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน ได้แก่
                   
        ๑) มิติผลกระทบที่สามารถคาดคะเนได้ (Predictable Impact) ด้วยการสร้างมาตรการวิเคราะห์ผลกระทบของผลการปฏิบัติงาน และการสร้างมาตรการวิเคราะห์อัตราเสี่ยงของผลกระทบจากผลการปฏิบัติงาน
                   
        ๒) มิติผลกระทบที่สามารถป้องกันได้ (Preventive Impact) ด้วยการสร้างมาตรการวิเคราะห์ทางเลือกเพื่อป้องกันผลกระทบของผลการปฏิบัติงาน และการสร้างมาตรการวิเคราะห์ทางเลือกเพื่อการเลี่ยงผลกระทบการปฏิบัติงาน
                   
        ๓) มิติผลกระทบที่สามารถควบคุมได้ (Controllable Impact) ด้วยการสร้างมาตรการจำกัดผลกระทบของผลการปฏิบัติงาน และการสร้างมาตรการหยุดยั้งผลกระทบของผลการปฏิบัติงาน
                   
        ๔) มิติผลกระทบที่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ (Corrective Impact) ด้วยการสร้างมาตรการวิเคราะห์ปัญหาจากผลกระทบของการปฏิบัติงาน และการสร้างมาตรการเยียวยาแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของการปฏิบัติงาน
                   
       
        ๔.๒ การจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงาน (Performance Agreement) จากแนวคิดของการนำระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงนำไปสู่แนวคิดของการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานของผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ไปจนถึงผู้ปฏิบัติงาน อันถือเป็นพันธกิจ (Commitment) ของบุคลากรในองค์กรในแต่ละระดับที่ได้ให้สัตยาบันร่วมกันในการทำให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรแห่งธรรมรัฐ อันถือเป็นข้อตกลงที่สำคัญที่จะบ่งชี้ถึงอุดมการณ์ร่วมกันของบุคลากรในองค์กรในการไปสู่องค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งแนวทางในการดำเนินการดังกล่าว มีดังนี้
                   
        ๔.๒.๑ การกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติงาน (Target Performance) ด้วยการจัดลำดับเป้าหมายการปฏิบัติงานและจัดทำให้มาตรฐานกลางร่วมกันในมิติต่าง ๆ ดังนี้
                   
        ๑) มาตรฐานกลางในการกำหนดเป้าหมายของผลงาน (Ouput Target) ด้วยการจัดกลุ่มงานที่มีมาตรฐานเดียวกันเข้าด้วยกัน การแปลงวิสัยทัศน์และพันธกิจให้เป็นผลงานเป้าหมาย การจำแนกและเทียบเคียงกลุ่มงานเป้าหมายให้ตรงกับผลงานเป้าหมาย และการกำหนดตัวชี้วัดหรือการแจงนับผลงานเป้าหมายทั้งปริมาณและเชิงคุณภาพ
                   
        ๒) มาตรฐานกลางในการกำหนดเป้าหมายของผลลัพธ์ (Outcome Target) ด้วยการจัดกลุ่มผลงานที่มีมาตรฐานเดียวกันเข้าด้วยกัน การแปลงผลงานให้เป็นผลลัพธ์เป้าหมาย การจำแนกและเทียบเคียงกลุ่มผลงานเป้าหมายให้ตรงกับผลลัพธ์เป้าหมาย และการกำหนดตัวชี้วัดหรือการแจงนับผลลัพธ์เป้าหมายเชิงปริมาณและคุณภาพ
                   
        ๓) มาตรฐานกลางในการกำหนดเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ (Ultimate Outcome Target) ด้วยการจัดกลุ่มผลลัพธ์ที่มีมาตรฐานเดียวกันเข้าด้วยกัน การแปลงผลลัพธ์ให้เป็นผลสัมฤทธิ์เป้าหมายการจำแนกและเทียบเคียงกลุ่มผลลัพธ์เป้าหมายให้ตรงกับผลสัมฤทธิ์เป้าหมาย และการกำหนดตัวชี้วัดหรือการแจงนับผลสัมฤทธิ์เป้าหมาย ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพการจำแนกและเทียบเคียงกลุ่มผลลัพธ์เป้าหมายให้ตรงกับผลสัมฤทธิ์เป้าหมาย และการกำหนดการแจงนับผลสัมฤทธิ์เป้าหมายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
                   
        ๔.๒.๒ การกำหนดเครื่องชี้วัดการปฏิบัติงาน (Indicator Performance) ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงของตัวชี้วัดระหว่างผลงาน ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ ในมิติต่าง ๆ ดังนี้
                   
       
        ๑) มิติความเที่ยงตรงและความสัมพันธ์กับของการชี้วัดและการวัดผลผลของงานกับวิสัยทัศน์และพันธกิจ (Indicator of Output & Vision & Agreement : Validity & Relation) โดยการหาเกณฑ์เฉพาะสำหรับใช้เป็นแกนหลักในการชี้วัดผลงานแต่ละกลุ่มผลงานเมื่อเปรียบเทียบกับวิสัยทัศน์และพันธกิจ การให้น้ำหนักคะแนนของเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแกนหลักในการชี้วัดผลงาน การกำหนดลำดับชั้นอัตราค่าเฉลี่ยของการวัดผลผลงาน และการกำหนดค่าและจัดลำดับชั้นผลงานตามผลของการวัด เพื่อใช้เป็นการฐานในการเชื่อมโยงกับการวัดค่าผลลัพธ์ของงานต่อไป
                   
        ๒) มิติความเที่ยงตรงและความสัมพันธ์กับของการชี้วัดและการวัดผลลัพธ์ของงานกับผลงาน (Indicator of Outcome & Output : Validity & Relation) โดยการหาเกณฑ์เฉพาะสำหรับใช้เป็นแกนหลักในการชี้วัดผลลัพธ์แต่ละกลุ่มผลลัพธ์เมื่อเทียบกับผลงาน การให้น้ำหนักคะแนนของเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแกนหลักในการชี้วัดผลลัพธ์ของงาน การกำหนดลำดับชั้นอัตราค่าเฉลี่ยของการวัดผลผลลัพธ์ และการกำหนดลำดับชั้นอัตราค่าเฉลี่ยของการวัดผลลัพธ์ เพื่อระบุค่าหรือจัดชั้นการยอมรับหรือความสำเร็จของผลลัพธ์ เพื่อใช้เป็นการฐานในการเชื่อมโยงกับการวัดค่าผลลัพธ์ของงานต่อไป การกำหนดค่าและจัดลำดับชั้นผลลัพธ์ของงานตามผลของการวัด เพื่อใช้เป็นการฐานในการเชื่อมโยงกับการวัดค่าผลสัมฤทธิ์ต่อไป
                   
        ๓)ความเที่ยงตรงและความสัมพันธ์กับของการชี้วัดและการวัดผลสัมฤทธิ์ของงานกับผลลัพธ์ (Indicator of Ultimate & Outcome : Validity & Relation) โดยการหาเกณฑ์เฉพาะสำหรับใช้เป็นแกนหลักในการชี้วัดผลสัมฤทธิ์แต่ละกลุ่มผลสัมฤทธิ์เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ การให้น้ำหนักคะแนนของเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแกนหลักในการชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของงาน การกำหนดลำดับชั้นอัตราค่าเฉลี่ยของการวัดผลผลลัพธ์ และการกำหนดลำดับชั้นอัตราค่าเฉลี่ยของการวัดผลลัพธ์ เพื่อระบุค่าหรือจัดชั้นการยอมรับหรือความสำเร็จตามเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด
                   
        ๔.๒.๓ การบูรณาการข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกัน (Integrate Performance Agreement) ด้วยการทำให้มีข้อตกลงร่วมกันเป็นองค์รวมในมิติต่าง ๆ ดังนี้
                   
        ๑) มิติข้อตกลงแกนหลัก (Core Performance Agreement) โดยข้อตกลงแกนหลักจะเป็นฐานอ้างอิงร่วมระดับองค์กร ซึ่งเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทำข้อตกลงกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทำข้อตกลงกับเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และรวมไปถึงการกำหนดกรอบและเงื่อนไขสำคัญของข้อตกลงให้มีความเชื่อมโยงกับข้อตกลงสาขาย่อย
                   
        ๒) มิติข้อตกลงสาขาย่อย (Sub - Core Performance Agreement)โดยข้อตกลงสาขาย่อยเป็นแนวร่วมกับข้อตกลงแกนหลักระดับองค์กร ซึ่งผู้อำนวยการสำนักและสถาบัน ผู้อำนวยการกลุ่มและหัวหน้ากลุ่มงานรวมทั้งเจ้าหน้าที่แต่ละบุคคลทำข้อตกลงเฉพาะตน ให้เชื่อมโยงและไม่ซ้ำซ้อนหรือแย้งกับข้อตกลงแกนหลักรวมไปถึงการกำหนดกรอบและเงื่อนไขสำคัญของข้อตกลงให้มีความเชื่อมโยงกับข้อตกลงแกนหลัก
                   
        ๓) มิติของการบูรณาการกันเป็นองค์รวม (Holistic Integration)โดยสร้างจุดเชื่อมโยงร่วมของข้อตกลงทั้งในแนวดิ่ง (Vertical) แนวขวาง (Horizontal) และทั้งในแนวดิ่งและแนวขวาง (Cross)
                   
        ๔.๒.๔ การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (Monitoring & Evaluation) ด้วยการวัดผลการปฏิบัติงานตามเป้าหมายของข้อตกลงในมิติต่าง ๆ ดังนี้
                   
        ๑) มิติของการวัดผลในด้านผลงาน ผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ (Output Measurement ; Outcome Measurement ; Ultimate Outcome Measurement) โดยกำหนดแบบรายงานผลตามข้อตกลง ในการกำหนดลำดับชั้นของสายการรายงานผลตามข้อตกลง และการกำหนดกรอบเวลาของการรายงานผลตามข้อตกลง ให้ครอบคลุมในผลงาน ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์
                   
        ๒) มิติของการวัดผลแบบแยกส่วน (Fragmentary Measurment) โดยวัดผลเฉพาะผลงาน ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์แยกออกจากกันในกรอบเวลาและเงื่อนไขเฉพาะ
                   
        ๓) มิติของการวัดผลแบบสะสมต่อยอด (Accumulative Measurement) โดยการวัดผลงานที่ต่อยอดกับการวัดผลลัพธ์ และการวัดผลลัพธ์ที่ต่อยอดกับการวัดผลสัมฤทธิ์ได้
                   
        ๔.๒.๕ การตอบสนองต่อผลการประเมิน (Responsiveness) โดยการนำผลการประเมินตามพันธะผูกพันของข้อตกลงไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ดังนี้
                   
        ๑) มิติในด้านบวก (Learning) ด้วยการสร้างต้นแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับความสำเร็จจากการดำเนินงานตามข้อตกลง การใช้เกณฑ์ในการให้รางวัลผลตอบแทนแก่ข้อตกลงที่ได้รับความสำเร็จ และใช้เป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจ บำรุงขวัญ และเพิ่มประสิทธิภาพ
                   
        ๒) มิติในด้านลบ (Coaching) ด้วยการสร้างต้นแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ไม่ได้รับความสำเร็จจากการดำเนินงานตามข้อตกลง วิเคราะห์หาสาเหตุของข้อบกพร่องและหาแนวทางแก้ไข และใช้เป็นเกณฑ์การลดทอนรางวัล - ผลตอบแทน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาแก้ไขทั้งบุคลากรและปัจจัยที่เป็นเหตุของความบกพร่อง
                   
        ๔.๒.๖ การทบทวนและปรับแก้ (Revise & Alignment) โดยการศึกษาปัญหาและอุปสรรคและแก้ไขให้ลุล่วง โดยมุ่งเน้นในการสำรวจ การระดมสมองและมีส่วนร่วม และความเห็นพ้องต้องกันในมิติต่าง ๆ ดังนี้
                   
        ๑) มิติของเป้าหมาย (Target) ด้วยการสำรวจสภาพปัญหาและศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกเฉพาะส่วนของการกำหนดเป้าหมาย การระดมสมองและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวนแก้ไขการกำหนดเป้าหมายระดับต่าง ๆ ทั้งเป้าหมายของผลงาน เป้าหมายผลลัพธ์และเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ รวมไปถึงการสร้างเป้าหมายในกรอบใหม่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นพ้องต้องกัน
                   
        ๒) มิติของเครื่องชี้วัด (Indicator) ด้วยการสำรวจสภาพปัญหาและศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกเฉพาะส่วนของเครื่องชี้วัด การระดมสมองและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวนแก้ไขการกำหนดเครื่องชี้วัดระดับต่าง ๆ ทั้งเครื่องชี้วัดของผลงาน ผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ รวมไปถึงการสร้างเครื่องชี้วัดในกรอบใหม่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นพ้องต้องกัน
                   
        ๓) มิติของข้อตกลง (Agreement) ด้วยการสำรวจสภาพปัญหาและศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกเฉพาะส่วนของข้อตกลง การระดมสมองและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวนแก้ไขการกำหนดข้อตกลงระดับต่าง ๆ ทั้งในส่วนของข้อตกลงแกนหลักและข้อตกลงสาขาย่อย รวมไปถึงการสร้างข้อตกลงในกรอบใหม่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นพ้องต้องกัน
                   
        ๔) มิติของการประเมิน (Evaluation) ด้วยการสำรวจสภาพปัญหาและศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกเฉพาะส่วนของการประเมิน การระดมสมองและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวนแก้ไขการกำหนดกรอบการประเมินทั้งในส่วนของการประเมินผลงาน ผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ รวมไปถึงการสร้างกรอบการประเมินใหม่ในกรอบใหม่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นพ้องต้องกัน
                   
        ๕) มิติของการปฏิบัติงาน (Practice) ด้วยการสำรวจสภาพปัญหาและศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกเฉพาะส่วนของการปฏิบัติงาน การระดมสมองและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวนแก้ไขแนวทางและวิธีในการปฏิบัติงาน รวมไปถึงการสร้างแนวทางและวิธีการปฏิบัติงานในกรอบใหม่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นพ้องต้องกัน
                   
        ๖) มิติของบุคลากร (Human Behavior) ด้วยการสำรวจสภาพปัญหาและศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกเฉพาะส่วนของการบุคลากร การระดมสมองและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวนแก้ไขทัศนคติ พฤติกรรม รวมไปถึงการสร้างแบบแผนทัศนคติ พฤติกรรม และความสามารถของบุคลากรในกรอบใหม่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นพ้องต้องกัน
                   
        ๔.๒.๗ การพัฒนาความต่อเนื่อง (Continously & Advancemrnt) โดยการสร้างความต่อเนื่องและผลักดันให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น มุ่งเน้นในการดำรงรักษามาตรฐานพื้นฐานของความเป็นเลิศ และสร้างพัฒนาการใหม่ให้มีการยกระดับสูงขึ้นจากมาตรฐาน ในมิติต่าง ๆ ดังนี้
                   
        ๑) มิติของแนวทางการมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result - Based Maintainance & Pro Development) โดยดำรงรักษามาตรฐานพื้นฐานของความเป็นเลิศด้านองค์การ การจัดการ การปฏิบัติงาน ผลงาน และผลกระทบไว้ รวมทั้งการสร้างพัฒนาการใหม่ให้มีการยกระดับสูงขึ้นจากมาตรฐานเดิม ทั้งความเป็นเลิศด้านองค์การ การจัดการ การปฏิบัติงาน ผลงาน และผลกระทบ
                   
        ๒) มิติของแนวทางการทำข้อตกลงการปฏิบัติงาน (Performance Agreement Maintainance & Pro Development Intention) โดยดำรงรักษามาตรฐานพื้นฐานของเป้าหมายการปฏิบัติงาน เครื่องชี้วัดการปฏิบัติงาน ข้อตกลงการปฏิบัติงาน การติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน การตอบสนองผลการปฏิบัติงาน การทบทวนและปรับแก้ และการพัฒนาความต่อเนื่องไว้ และสร้างพัฒนาการใหม่ให้มีการยกระดับสูงขึ้นจากมาตรฐานเดิม ทั้งเป้าหมายการปฏิบัติงาน เครื่องชี้วัดการปฏิบัติงาน ข้อตกลงการปฏิบัติงาน การติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน การตอบสนองผลการปฏิบัติงาน การทบทวนและปรับแก้ และการพัฒนาความต่อเนื่อง
       
       บทสรุป
                   
        แนวทางของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในการสร้างองค์กรแห่งธรรมรัฐ เป็นภาพสะท้อนถึงแนวทางของการพยายามในการดำเนินงานขององค์กรอิสระให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และสร้างมาตรฐานในการบริหารงานให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดธรรมรัฐขึ้นจริงในทุกภาคส่วนในสังคม โดยเริ่มจากองค์กรสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและขยายผลไปสู่องค์กรอิสระอื่น เพื่อให้เกิดเครือข่ายขององค์กรอิสระที่เป็นองค์กรแห่งธรรมรัฐ อันจะทำให้การทำงานขององค์กรอิสระมีมาตรฐานและทิศทางเดียวกัน ตลอดจนสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ได้วางหลักการของธรรมรัฐไว้แล้ว รวมไปถึงการเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคส่วนในสังคมเกิดความตื่นตัวในการสร้างให้เกิดธรรมรัฐในสังคมอย่างแท้จริง
                   
        แต่การจะทำให้แนวความคิดธรรมรัฐจะบังเกิดผลเป็นรูปธรรมต้องอาศัยทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกันขับเคลื่อน ซึ่งความจริงแล้วหลักการของธรรมรัฐเองเป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับถึงความสอดคล้องกับหลักธรรมในพุทธศาสนาและหลักการการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติปรับใช้ได้ในทุกระดับนับตั้งแต่ในระดับบุคคล กลุ่ม องค์กร สังคม ดังนั้นการที่จะทำให้เกิดธรรมรัฐในสังคมจึงต้องเริ่มต้นพัฒนาให้เกิดธรรมรัฐในทุกระดับ ทั้งจากบุคคลในทุกภาคส่วนที่จะต้องให้ความสำคัญในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเริ่มตั้งแต่ที่ตัวบุคคลและครอบครัว ไปจนถึงองค์กรในภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน ที่ต้องส่งเสริมการสร้างองค์กรแห่งธรรมรัฐขึ้นและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ในวัฒนธรรมใหม่ของสังคมธรรมรัฐ เช่น การสร้างช่องทางให้เกิดการตรวจสอบองค์กรโดยเปิดเผย เช่น การจัดทำประชาพิจารณ์ การจัดทำประชามติ การถอดถอนบุคลผู้ทุจริต แนวทางเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นพลังผลักดันให้เกิดธรรมรัฐในสังคมไทย
       
       
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       *. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, รายงานประจำปี ๒๕๔๔ - ๒๕๔๕ ศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒๕๔๖) หน้า ๑๕๓ - ๑๖๘
       [กลับไปที่บทความ]
       
       เอกสารประกอบ
                   
       สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, รายงานประจำปี ๒๕๔๔ – ๒๕๔๕ ศาลรัฐธรรรมนูญ, (กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒๕๔๖)
                   
       สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, คู่มือการพัฒนาระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สหมิตรพรินติ้ง, ๒๕๔๕)
       
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2547

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=705
เวลา 21 เมษายน 2568 14:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)