อนาคตของพรรคทางเลือกในประเทศไทย โดย ดร.เชาวนะ ไตรมาศ

9 มกราคม 2548 00:59 น.

       1. พรรคทางเลือกกับการก่อตัวทางความคิด
                   
       การยกประเด็นพรรคทางเลือก หรือพรรคการเมืองที่สาม (Third Political Party) ขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะในสังคม - การเมืองไทยในเวลานี้ นับว่าเป็นเรื่องสร้างสรรค์สำหรับสังคมเสรีประชาธิปไตยของไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมที่ยอมรับการดำรงอยู่ร่วมกันกับกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ของสังคมโลกแล้ว
                   
       หากจะถือเอาประเด็นดังกล่าวเป็นการก่อตัวของความคิดสาธารณะในสังคม-การเมืองไทยในขณะนี้ ก็อาจนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าของความคิดทางการเมือง หรือ นวตกรรมทางความคิดของชนชั้นนำทางการเมืองของไทย ที่กำลังรุกคืบหน้าไปอีกก้าวหนึ่งก็ว่าได้
                   
       อย่างไรก็ตาม ในการก่อตัวทางความคิดใด ๆ หากจะให้มีพัฒนาการที่สืบเนื่องและยกระดับไปสู่ความเป็นสถาบันต่อไปได้จะต้องเป็นความคิดที่ส่งอิทธิพลต่อสังคม จำเป็นต้องก่อผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยได้รับการตอบสนองจากสาธารณชนในวงกว้างต่อไปด้วยโดยเฉพาะการก่อตัวเป็นกระแสมติมหาชน (Public Opinion) และเป็นขบวนการของมวลมหาชน (Mass Movement)
       
       2. พรรคทางเลือกกับการเมืองระบอบประชาธิปไตย
                   
       การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าพวกเสรีนิยม พวกสังคมนิยม หรือพวกอนุรักษ์นิยม มีลักษณะสำคัญร่วมกันอยู่หลายประการที่เอื้อโอกาสให้มีพรรคทางเลือกเกิดขึ้นได้ เช่น (1) การแข่งขันกันระหว่างตัวเลือกที่แตกต่างกัน (2) การมีทางเลือกที่หลากหลายให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกอยู่เสมอ (3) การมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดตนเองของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ (4) การมีวาระของผู้แทนเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทบทวนแก้ไขการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ฯลฯ
                   
       ด้วยเหตุผลดังกล่าว พรรคทางเลือกจึงย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอสำหรับสังคมเสรีที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่าสังคมเสรีที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะต้องมีพรรคทางเลือกเกิดขึ้นได้เสมอไป ยังมีปัจจัยกำหนดและปัจจัยแวดล้อมอย่างอื่นประกอบกันด้วย พรรคทางเลือกจึงจะสามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ และในขณะเดียวกันพรรคทางเลือกก็อาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้เสมอไปหากไม่สามารถเป็นฝ่ายกำหนด อิทธิพลในการชี้นำสังคม - การเมืองให้มีความสืบเนื่องได้ กล่าวอีกนัยก็คืออิทธิพลของปัจจัย แวดล้อมทางสังคม - การเมืองนั้น มีความจำเป็นเฉพาะการเอื้อโอกาสให้เกิดพรรคทางเลือกได้ เท่านั้น แต่การอยู่รอดของพรรคทางเลือก กลับเป็นภาระของพรรคทางเลือกเองที่จะต้องเป็นฝ่ายสร้างอิทธิพลเหนือสังคม - การเมืองต่อไป
       3. พรรคทางเลือกกับบริบททางสังคม - การเมือง
                   
       บริบททางสังคม - การเมืองที่เอื้ออำนวยโอกาสต่อการเกิดพรรคทางเลือก จะต้องเป็น ผลพวงจากอานิสงส์ร่วมกันทั้งปัจจัยทางด้านสังคมและปัจจัยทางด้านการเมืองโดยที่ไม่สามารถแยกเป็นอิสระจากกันได้
                   
       สำหรับบริบททางสังคม - การเมืองที่สามารถเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเกิดพรรคทางเลือกได้นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ
                   
       3.1 บริบททางสังคม
                   
       (1) ขนาดของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางมีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลเหนือชนชั้นอื่นเพื่อสามารถผลักดันกระแสหลักทางการเมืองให้เดินไปในทิศทางที่ตนเป็นฝ่ายกำหนดได้เอง เอาชนะเหนืออิทธิพลของกลุ่มชนชั้นนำ หรือกลุ่มยุทธศาสตร์ที่มีขนาดเล็ก และจำนวนน้อยได้ ทั้งนี้เพื่อให้การเมืองหลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำของกลุ่มอำนาจขนาดเล็กจำนวนน้อยได้
                   
        (2) ความหลากหลายของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางมีความหลากหลายเพื่อรองรับกับสร้างภาวะพลวัตของความเปลี่ยนแปลงด้านผลประโยชน์และความต้องการให้มีความยืดหยุ่นกระจายตัวและทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อกระตุ้นกระแสการเมืองให้มีความสดใหม่ไม่ให้เกิดภาวะหยุดนิ่งและตายตัวทั้งนี้เพื่อให้การเมืองไม่จมอยู่ในสภาพผูกขาดอย่างต่อเนื่อง โดยอิทธิพลครอบงำของกลุ่มอำนาจเดิมอย่างยาวนาน
                   
       (3) ความอิสระของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางมีอิสระเพียงพอเพื่ออาศัยชนชั้นกลางเป็นพาหะนำทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการเมืองใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ชนชั้นกลางเป็นหัวหอกในการเจาะช่องทะลุทะลวงให้การเมืองมีรูเปิดใหม่ ๆ เพื่อให้มีที่ว่างในการป้อนอิทธิพลทาง การเมืองจากกลุ่มอำนาจใหม่เข้าไปทดแทนและสร้างแรงผลักดันให้มีการกรุยทางไปสู่ทิศทางของการเมืองใหม่ได้
                   
       3.2 บริบททางการเมือง
                   
       (1) อุดมการณ์ทางการเมืองมีความสุดโต่ง การเมืองมีอุดมการณ์ที่ขึงตึงสุดโต่ง มีการแบ่งขั้วที่เข้มงวด ไม่ยืดหยุ่นให้มีความผ่อนคลายและอ่อนตัวได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ปิดกั้นโอกาสในการแสวงหาทางเลือกที่แตกต่างจากแนวทางดั้งเดิมได้ เว้นแต่การแยกตัวออกไปจากแนวทางของอุดมการณ์ดั้งเดิม
                   
        (2) การแข่งขันทางการเมืองแบบสองขั้วที่ขัดกัน การเมืองมีการแข่งขันกันแบบ ปรปักษ์ แบ่งแยกแตกต่าง ไม่สามารถประนีประนอมให้เกิดการออมชอมกันได้ เว้นแต่การแยกตัวออกไปจากขั้วดั้งเดิมไปอยู่ในที่ตั้งใหม่ที่ไม่ใช่ขั้วใดขั้วหนึ่งควบคุม
                   
       (3) อิทธิพลของระบบสองพรรคครอบงำ การเมืองแบบ 2 พรรคครอบงำสร้าง เงื่อนไขให้ยึดมั่นเอกลักษณ์อย่างติดยึดเพื่อรักษาความแตกต่างระหว่างพรรคคู่แข่งด้วยกันเองให้ดำรงไว้ให้นานที่สุด การเปลี่ยนแปลงถูกตีความว่าเป็นความเสี่ยงจึงปิดกั้นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดข้อจำกัดในทางเลือกและสกัดการเมืองให้หยุดนิ่งอยู่กับที่
       
       4. พรรคทางเลือกกับพรรคฉวยโอกาส พรรคศักยภาพและพรรคเฉพาะกิจ
                   
       พรรคทางเลือก มีความแตกต่างจากพรรคฉวยโอกาส (Opportunist Party) พรรคศักยภาพ (Potential Party) และพรรคเฉพาะกิจ (Tactical Party) กล่าวคือ พรรคฉวยโอกาสเป็นเพียง พรรคที่อาศัยจังหวะและกลเกมส์ทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการแสวงโอกาสทางการเมือง เช่นการสร้างและแสวงโอกาสในการเข้าร่วมรัฐบาลในระบบรัฐบาลผสม (Coalition Government) มิได้หวังเป็นแกนนำรัฐบาลเอง ส่วนพรรคศักยภาพ เป็นพรรคที่มีโอกาสเลือกขั้วหรือแกนนำ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้ฝ่ายนั้นได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับพรรคเฉพาะกิจ เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการเฉพาะหน้าของกลุ่มแกนนำเป็นสำคัญ ซึ่งพรรคทั้ง 3 แบบ ดังกล่าวมิได้มีความหมายของการเป็นพรรคทางเลือก ทั้งนี้เพราะความเป็นพรรคทางเลือกจะต้องมีองค์ประกอบจำเป็นอย่างน้อยใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ
                   
       4.1 ความใหม่ - แตกต่าง พรรคทางเลือกต้องเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ที่แตกต่างไปจากทางเลือกที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สังคม - การเมืองได้มีทางเลือกที่ใหม่ขึ้น
                   
       4.2 ความมาก - หลากหลาย พรรคทางเลือกต้องขยายและกระจายทางเลือกให้มากและหลากหลายขึ้นกว่าที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้สังคม - การเมืองได้มีทางเลือกที่มากขึ้น
                   
       4.3 ความผสม - เพิ่มขึ้น พรรคทางเลือกต้องผสมผสานสิ่งที่มีอยู่เดิมมารวมเข้าด้วยกันให้เป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าฐานเดิม เพื่อให้สังคม - การเมืองมีทางเลือกที่กว้างขึ้น
                   
       4.4 ความเปิด - บูรณาการ พรรคทางเลือกต้องเปิดรับสิ่งเกิดขึ้นใหม่ในสังคม - การเมือง ให้เกิดการบูรณาการร่วมกันได้กับสิ่งที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สังคม – การเมืองมีความสมานฉันท์อยู่ได้ ไม่แตกออกเป็นเสี่ยงเมื่อมีทางเลือกที่ใหม่ มากและกว้างขึ้น
       5. พรรคทางเลือกกับแนวโน้มสังคม - การเมืองใหม่
                   
       แนวโน้มใหม่ทางสังคม - การเมือง ได้ส่งแรงผลักให้พรรคทางเลือกต้องขยับขยายอาณาบริเวณของบทบาทหน้าที่และภาระในการสร้างอิทธิพลทางการเมืองออกไปสู่พรมแดนใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากมิติดั้งเดิมมากขึ้น
                   
       สำหรับแนวโน้มใหม่ทางสังคม – การเมืองที่พรรคทางเลือกควรตระหนักถึงและเพิ่มความสามารถในการสนองตอบ คือ
                   
       5.1 แนวโน้มใหม่ทางสังคม
                   
        (1) คุณภาพชีวิตของคนถูกเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง บริการสาธารณะ ของรัฐกับบริการของธุรกิจเอกชนมากขึ้น
                   
       (2) คนตระหนักในความเป็น Object มากกว่าเป็น Subject ผูกพันกับคุณค่าในการเป็นต้นทุนของความเป็นมนุษย์ของตนเองสูงขึ้น
                   
       (3) เป้าหมายชีวิตของคนผูกพันกับคุณค่าใหม่ที่ผสมทั้งคุณค่าของชีวิตส่วนตัวและ คุณค่าของชีวิตส่วนรวมร่วมกัน
                   
       (4) คนตระหนักในความอยู่รอดร่วมกัน และดำรงอยู่บนจุดร่วมของความเป็นกลาง ความเป็นส่วนรวม สำคัญกว่าการยึดติดกับฐานทางชนชั้นเฉพาะกลุ่มที่คับแคบเท่านั้น
                   
       (5) ทัศนะของคนในสังคม ให้ความสำคัญกับความอยู่รอดปลอดภัยแบบใหม่ที่เน้น การกำจัดคนที่เป็นต้นเหตุของการสร้างปัญหา มากกว่าการยอมรับต้นทุนในการแก้ไขปลายเหตุของปัญหา
                   
       (6) กลุ่มอาชีพอิสระของคนกลุ่มใหม่ที่ไม่ผูกพันกับการสังกัดองค์กรและอยู่ใต้อิทธิพลของสังกัดมีการขยายบทบาททางผลประโยชน์และความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
                   
       (7) กำลังบังคับมีพลังอิทธิพลน้อยกว่าความรู้ ข้อมูลข่าวสารและการต่อรอง
                   
       5.2 แนวโน้มใหม่ทางการเมือง
                   
       (1) คนกับรัฐพึ่งพาและผูกพันกันน้อยลง
                   
        (2) การต่อสู้ทางการเมือง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่าการเอาชนะทาง ลัทธิอุดมการณ์
                   
        (3) กลุ่มการเมืองใหม่ ได้แก่ NGO และบรรษัทข้ามชาติมีอิทธิพลทางการเมืองเพิ่ม มากขึ้น
                   
        (4) ประเด็นปัญหาทางการเมืองได้แยกตัวออกไปจากการผูกพันอยู่กับกลุ่ม ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มไปเป็นประเด็นปัญหาร่วมกันของคนหลายกลุ่มมากขึ้น
                   
       (5) ความสามารถของรัฐในการสร้างทางเลือกสาธารณะที่ตอบสนองต่อ ความหลากหลายมีความสำคัญกว่าการสร้างเสรีภาพ เสถียรภาพและความเสมอภาค แต่ไม่สามารถตอบสนองต่อความหลากหลายได้
                   
        (6) ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเปลี่ยนจากการบังคับควบคุมเป็นการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรที่เท่าเทียม
       
       6. พรรคทางเลือกกับโอกาสและความเป็นไปได้ในประเทศไทย
                   
        โอกาสของพรรคทางเลือกในประเทศไทย หากจะเป็นไปได้จำเป็นต้องคำนึงถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ
                   
        6.1 อุดมการณ์ของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับสถานการณ์มากกว่า อุดมการณ์
                   
        6.2 นโยบายของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับการเป็นผู้จัดการดุลยภาพระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายมากกว่าการเป็นผู้แทนกลุ่มผลประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจง
                   
        6.3 ยุทธศาสตร์ของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับการเป็นเวทีแบ่งสรรอำนาจ อิทธิพลและผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองระดับล่างมากกว่าการเป็นเวทีแข่งขันเฉพาะกลุ่ม การเมืองที่ยอดแกนนำระดับบน
        6.4 กลยุทธ์ของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับการต่อรองที่เท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกพรรค มากกว่าการครอบงำที่เหนือกว่าของกลุ่มแกนนำ
                   
        6.5 วิธีการของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับวิธีการประสานพลังของสมาชิก มากกว่าวิธีการแบ่งแยกปกครอง
                   
        6.6 กระบวนการของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับการสร้างทันสมัยของข้อมูลข่าวสารและขยายเครือข่ายการสื่อสารทางการเมืองให้หยั่งลึกถึงฐานรากและมีความฉับไว อย่างต่อเนื่อง มากกว่าการสร้างความภักดีเพื่อผูกมัดความนิยมทางการเมืองให้หยุดนิ่งอยู่กับ เฉพาะที่ เฉพาะด้าน เฉพาะเวลา และเฉพาะเป้าหมาย
                   
        6.7 โครงสร้างของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับสมาชิกมากกว่าแกนนำ เพื่อเปิดช่องให้เกิดการกระจายตัวที่หลากหลาย แทนการกระจุกตัวที่คับแคบ ปิดกั้นโอกาสการต่อรอง ประนีประนอมระหว่างสมาชิกกลุ่มย่อยภายในพรรค
                   
        6.8 ผลผลิตของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับการผลิตในรูปสังคมสวัสดิการ (การช่วยให้คนพึ่งตัวเอง) มากกว่าการผลิตในรูปรัฐสวัสดิการ (การช่วยให้คนพึ่งรัฐ) โดยรักษาโอกาสของฝ่ายประชาสังคมให้มีบทบาทเท่าเทียมกับฝ่ายรัฐราชการ
                   
        6.9 พันธมิตรของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับแนวร่วมแตกตัวเพื่อก่อปฏิกิริยาเกิดใหม่เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป มากกว่าแนวร่วมรวมตัว ที่ก่อปฏิกิริยาหดตัวให้แคบลงเรื่อย ๆ
                   
        6.10 ทรัพยากรของพรรคทางเลือก ควรให้ความสำคัญกับฐานกายภาพที่เป็นกลางไร้ขั้ว เช่น ชุมชน รุ่นชน มวลชน และสาธารณชน มากกว่าฐานคุณภาพที่เป็นฝักฝ่ายแยกขั้ว เช่น กลุ่มทุน-ธุรกิจ กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มฝักฝ่ายของลัทธิอุดมการณ์
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2547

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=701
เวลา 21 เมษายน 2568 14:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)