|
|
ครั้งที่ 53 14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
|
"ไปสอนหนังสือที่เมือง Aix-en-Provence"
สองสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวไหนเป็นที่น่าสนใจของผู้คนมากไปกว่าข่าวสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกา (และพรรคพวก) กับอิรัก
ผมมาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสได้สองสัปดาห์แล้วครับ สัปดาห์แรกผมอยู่ที่ Paris กับเพื่อนชาวฝรั่งเศส ช่วงนั้นสงครามยังไม่เกิดแต่สหรัฐอเมริกาก็ยื่นเงื่อนไขต่างๆให้กับอิรัก ทุกวันผมกับเพื่อนจะต้องพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสงคราม เพื่อนผมเป็นคนฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ ไม่ชอบ สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับคนฝรั่งเศสจำนวนมาก เมื่อฝรั่งเศสแสดงตนอย่างชัดเจนว่าเป็นฝ่ายที่ไม่เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการทำสงคราม จึงเป็นที่ถูกใจคน
ฝรั่งเศสส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก คนที่ได้คะแนนมากที่สุดก็คือประธานาธิบดี Jacques Chirac ที่ได้แสดงจุดยืนของฝรั่งเศสในการไม่เข้าร่วมสงครามแถมยัง คัดค้าน การทำสงครามดังกล่าวอีกด้วย คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ให้ความชื่นชมประธานาธิบดี Chirac ที่ ไม่ยอม ทำตามคำขอของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก่อนหน้าที่ผมจะเดินทางมาถึงประเทศฝรั่งเศสเพียงวันเดียวเพื่อนผมเล่าให้ฟังว่าประธานาธิบดี Chirac ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งโดยได้แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวสมกับเป็นผู้นำ วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสก็ได้กล่าวขวัญถึงประธานาธิบดี Chirac พร้อมทั้งยังนำเอาไปเปรียบเทียบกับอดีตประธานาธิบดี Charles de Gaulle ของฝรั่งเศสที่เป็น รัฐบุรุษ ตลอดกาลในความรู้สึกของคนฝรั่งเศสว่าสงสัยประธานาธิบดี Chirac คงจะเป็น รัฐบุรุษ คนต่อไปของฝรั่งเศสเป็นแน่ ในวันนี้ ประชาชนชาวฝรั่งเศสและสื่อมวลชนต่างก็ชื่นชมประธานาธิบดี Chirac และพร้อมที่จะ เดินตาม อย่างมั่นใจ ในวันข้างหน้า การปฏิรูปการเมืองครั้งต่อไปของฝรั่งเศสคงเกิดขึ้นอย่างไม่ลำบากเพราะผู้คนมีความมั่นใจในความเป็นผู้นำของประธานาธิบดี คงต้องรอดูกันต่อไปอีกสัก 2-3 เดือนเพราะว่าขณะนี้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นของฝรั่งเศสกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ รัฐสภา การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นในครั้งนี้ทำขึ้นเพราะกฎหมายการปกครองท้องถิ่นที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1582 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ การแก้ไขกฎหมายการปกครองท้องถิ่นในครั้งนี้จะเป็นการ ปฏิรูปการเมือง ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสเพราะท้องถิ่นจะมีอิสระมากขึ้นในทุกๆด้าน ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ผมยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นครับ แต่อย่างไรก็ตาม อีก 2-3 วัน ผมคงได้รายละเอียดเพราะกลางสัปดาห์นี้ผมมีนัดกับศาสตราจารย์ Louis Favoreu นักกฎหมายมหาชนด้านรัฐธรรมนูญชื่อดังครับ ได้รายละเอียดมาแล้วผมจะคุยให้ฟังครับ
หลังจากอยู่ที่ Paris ได้หนึ่งสัปดาห์ผมก็เดินทางมาถึงเมือง Aix en Provence ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ผมเคยมาที่เมืองนี้แล้วเมื่อ 4 ปีก่อน เป็นเมืองที่สวย มีน้ำพุเต็มไปหมดทั้งเมืองทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ เมืองนี้ไม่มีศูนย์การค้า ไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่มีร้านขายของเล็กๆเต็มไปหมดครับ ผมรู้สึกสบายใจมากที่ได้มาอยู่ที่เมืองสงบและไม่วุ่นวายแบบนี้ครับ ผมทำการบรรยายไปแล้วสองครั้งเมื่อวันพุธที่ 19 และวันพฤหัสบดีที่ 20 ครับ การบรรยายครั้งต่อไปคือในวันพุธที่ 26 ครับ การบรรยายทุกครั้งสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกครับ มาเที่ยวนี้ผมได้มีโอกาสเจอ visiting professor ชาติอื่นๆด้วย เช่น ตูนีเซีย เยอรมันและอังกฤษ แล้วก็ยังได้มีโอกาสเจอนักเรียนไทยอีก 5-6 คนที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille แห่งนี้ครับ นักเรียนไทยที่ผมมีโอกาสได้พบมีบางคนเป็น อาจารย์ อยู่แล้วแต่มาศึกษาต่อเพิ่มเติมครับ ผมรู้สึกดีใจที่ได้พบนักเรียนไทยและรู้สึกดีใจมากเมื่อทราบว่าส่วนใหญ่แล้วก็เป็นแฟน pub-law.net และใช้ประโยชน์จาก pub-law.net ได้เป็นอย่างดีครับ ก็อย่างที่ผมบอกไปแล้วนะครับว่าอยากให้เราเพิ่มสาระอะไรก็บอกมา ผมยินดีที่จะให้ความร่วมมือครับ
บรรยากาศในมหาวิทยาลัยก็ยังเหมือนเดิม เหมือนกับสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เหมือนกับที่มหาวิทยาลัย Nantes นักศึกษาส่วนมากดูมี ชีวิตชีวา ส่วนใหญ่มักจะฟังและจดที่สำคัญๆ คำถามก็เป็นคำถามที่ดีครับ การบรรยายของผมในงวดนี้ผมทำ power point มาด้วยซึ่งก็เป็นที่ ตื่นเต้น ของทั้งอาจารย์และนักศึกษาที่นี่มากเพราะเท่าที่ผมทราบจากอาจารย์ Scoffoni ซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นหนุ่มคนหนึ่ง ก็คือส่วนใหญ่แล้วอาจารย์สอนกฎหมายที่นี่ไม่ใช้วิธีการบรรยายด้วย powerpoint จะมีใช้บ้างก็แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ การบรรยายของผมเลยสร้างความตื่นเต้นให้กับนักศึกษาพอควรครับ
บทบรรณาธิการคราวนี้จะไม่มีสาระอะไรเท่าไหร่เพราะว่าผมมัวแต่เล่าเรื่องของตัวเองมาตั้งยาวครับ กลับมาสู่สาระสำคัญของ pub-law.net กันดีกว่า ในสัปดาห์นี้เรามีบทสัมภาษณ์พิเศษที่ผมได้ทำการสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บิดาแห่งกฎหมายมหาชน ของไทยครับ ผู้ใช้บริการรุ่นใหม่ๆอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับท่านอาจารย์อมรฯ แต่สำหรับรุ่นที่อายุ 30 ปีขึ้นไปคงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักท่านอาจารย์อมรฯ เพราะท่านเป็นผู้บุกเบิกกฎหมายมหาชนในประเทศไทยมากว่า 30 ปีแล้ว โดยปกติท่านจะไม่ให้สัมภาษณ์ครับ ท่านมักจะชอบ เขียน มากกว่า แต่ครั้งนี้เป็นการให้สัมภาษณ์พิเศษเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆปีผ่านมา ในบทสัมภาษณ์ท่านอาจารย์อมรฯ ได้พูดถึงประเด็นสำคัญท่านด้านกฎหมายมหาชนที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง การปฏิรูประบบราชการ ฯลฯ บทสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่ดีมากและน่าสนใจที่สุดครับ นอกจากบทสัมภาษณ์แล้ว เราก็ยังมีบทความของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ทำไมพระราชกำหนดในการแปรสัญญาโทรคมนาคมจึงไม่เป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ อาจารย์บรรเจิดฯ เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ผมขอขอบคุณอาจารย์บรรเจิดฯ สำหรับบทความที่ทำให้กับ pub-law.net อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมาครับ
ผมยังอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอีกเดือนนึงครับ พอต้นเดือนเมษายนหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille แห่งนี้แล้ว ผมก็จะถือโอกาสไปเที่ยวครับ ผมลาพักร้อน 1 เดือนพาลูกชายไปเที่ยวทางใต้ของฝรั่งเศสและอาจข้ามไปประเทศข้างเคียงด้วยครับโดยผมจะไปกับเพื่อนฝรั่งเศสที่ลูกๆเขาปิดเทอมช่วง Easter พอดีครับ กว่าจะกลับถึงกรุงเทพฯ ก็คงเป็นต้นเดือนพฤษภาคมครับ
เนื่องจากในวันที่ 14 เมษายน อันเป็นวันที่เราต้องเปลี่ยนบทบรรณาธิการในครั้งต่อไปตรงกับวันหยุด ยาว ในช่วงสงกรานต์ ผมก็เลยจะขอเลื่อนการเปลี่ยนหน้าแรกของ pub-law.net ออกไปอีก 1 สัปดาห์คือเลื่อนไปเป็นวันจันทร์ที่ 21 เมษายน เพื่อให้ทีมงานของเราได้หยุดพักผ่อนโดยไม่ต้องกังวลใจครับ
สำหรับหนังสือ รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 2 ที่เราได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาลงชื่อขอรับหนังสือนั้น เนื่องจากเรามีหนังสือจำนวนจำกัด ดังนั้น ผมจะขอปิดการลงชื่อขอรับหนังสือเมื่อมีผู้ลงชื่อครบ 350 คนครับ หนังสือคงพร้อมให้มารับได้ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งผมจะแจ้งวันเวลาที่แน่นอนให้ทราบอีกทีครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2546 ครับ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=70
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:06 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|