|
 |
คดีรัฐธรรมนูญกับการบ่งชี้สภาพปัญหาของการปฏิรูปการเมือง โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุจิต บุญบงการ 8 มกราคม 2548 19:54 น.
|
1. รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมือง
เป้าหมายของรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
1.1 ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยให้การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนไม่ใช่เป็นเรื่องของนักการเมือง
1.2 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงและมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น
1.3 เพิ่มความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
1.4 ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และปราบปรามการทุจริต
1.5 สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเมือง รัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง
1.6 จัดตั้งองค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ
2. อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
2.1 อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบกฎหมายหรือร่างกฎหมาย มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
2.2 อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของนักการเมือง รวมทั้งพิจารณาวินิจฉัยกรณีนักการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
2.3 อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหนาที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
2.4 อำนาจหน้าที่อื่น ๆ เช่น อำนาจในการยุบพรรคการเมือง เป็นต้น
3. ผลงานทางด้านคดีรัฐธรรมนูญ
ในรอบห้าปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ นับแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2541 และได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 มีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546) ดังนี้
ปี
เรื่องที่รับไว้พิจารณาและได้มีคำวินิจฉัย
เสร็จแล้ว
เรื่องที่มีคำสั่ง
ไม่รับไว้พิจารณา
รวม
2541
17
17
34
2542
54
21
75
2543
64
38
102
2544
51
4
55
2545
64
32
96
2546
4
0
4
รวม
254
112
366
ทั้งนี้ หากแยกจำนวนคดีตามประเภทคดีรัฐธรรมนูญ จะปรากฏผลดังนี้
คดีจำนวนคำวินิจฉัย
การควบคุม กฎหมายหรือร่างกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
1. คดีที่พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใด ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว หรือร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา 94 แต่นายกรัฐมนตรียังไม่นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา 262)
14
2. คดีที่พิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งจะใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ตามที่ศาลส่งมา
(มาตรา 264)
132
3. คดีที่พิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใด มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งมา (มาตรา 198)
4
การพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ฯ
1. คดีพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง
3
2. คดีพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ หรือไม่ (มาตรา 295)
19
การพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ
ตามรัฐธรรมนูญ
1. คดีพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตาม
รัฐธรรมนูญ (มาตรา 266)
32
อำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด
1. คดียุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง
47
2. คดีอื่นๆ
3
รวม
254
4. ผลต่อการปฏิรูปการเมือง
4.1 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ตัวอย่างเช่น คำวินิจฉัยที่ 15/2541 คณะกรรมการการเลือกตั้งขอคำวินิจฉัยในการเสียสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้ง ในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้รองรับหลักการว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น จะกระทำได้โดยกฎหมายเท่านั้น ตามนัยของมาตรา 29 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 23 (ในขณะนั้น) ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเสียสิทธิ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรากฎหมายของรัฐสภา จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
และศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิดังกล่าวนี้อีกครั้งในคำวินิจฉัยที่ 24/2543 เรื่อง ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นระเบียบที่มีข้อความอันเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นการเพิ่มเติมลักษณะ ต้องห้ามของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 มิได้ให้อำนาจไว้
4.2 กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมของบุคคล
เช่น กรณี คำวินิจฉัยที่ 44/2545 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2545 เรื่อง ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของคู่ความ (ระหว่างนายศิริมิตร บุญมูล ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการอัยการ ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีหมายเลขดำที่ 4119/2544 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 กรณีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 33(11) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
หรือ คำวินิจฉัย ที่ 48/2545 ลงวันที่ 12 กันยายน 2545 เรื่อง ศาลภาษีกลางส่งคำโต้แย้งของโจทก์ (นายราเชนทร์ เรืองทวีป) ในคดีภาษีอากรหมายเลขดำที่ 229/2542 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264
ในกรณีข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ แต่กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของประชาชนในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน
4.3 การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ และการป้องกันปราบปรามการทุจริต
เป็นคดีที่เกี่ยวกับการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา 262) จำนวนทั้งสิ้น 14 คดี คดีเกี่ยวกับการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี (มาตรา 264) จำนวน 129 คดี และ คดีเกี่ยวกับการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (มาตรา 198) จำนวนทั้งสิ้น 4 คดี
คดีพิจารณาสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 96 1 คดี คำวินิจฉัยที่ 4/2544 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีสิบคน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว กรณีดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนและบริษัท หรือไม่ (กรณี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายรักษ์ ตันติสุนทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์)
ในภารกิจด้านการสร้างสภาพบังคับในเชิงการเมืองของการไม่ยื่นบัญชีแสดง
รายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ หรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง และต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการสร้างหลักประกันให้มาตรการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปอย่างทรงประสิทธิภาพและตรวจสอบได้จริง ซึ่งเป็นมาตรการซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบชี้วัดการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาล
รัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 19 คดี คดีสำคัญที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชน ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 23/2543 (กรณีนายจิรายุ
จรัสเสถียร) คำวินิจฉัยที่ 31/2543 (กรณีพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) คำวินิจฉัยที่
19/2544 (กรณีนายประยุทธ มหากิจศิริ) คำวินิจฉัยที่ 20/2544 (กรณีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร)
4.4 วินิจฉัยกรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยหลายคำวินิจฉัยที่ถือเป็นการ ผ่าทางตัน ในทางการเมือง เพื่อให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ สามารถเดินไปสู่จุดมุ่งหมายได้อย่างราบรื่นไม่สะดุดหยุดลง เช่น คำวินิจฉัยที่ 54/2542 เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กรณีปัญหาการแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นการยุติปัญหาการแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในวาระเริ่มแรก และ คำวินิจฉัยที่ 2/2546 เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่แล้ว องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่อาจพิจารณาเปลี่ยนแปลง ฐานความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยยุติแล้ว ให้เป็นประการอื่นได้อีก
4.5 การพัฒนาพรรคการเมือง
มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไปแล้ว 47 พรรค
5. ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปทางการเมือง
จากคดีรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีส่วนในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักมากขึ้น ในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน ในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการปราบปรามการทุจริต ศาลรัฐธรรมนูญได้มีบทบาทในการ ให้การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง ส่วนการวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ช่วย ผ่าทางตัน อันทำให้การทำงานของระบบการเมืองและสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ได้ดำเนินการไปได้ ทำให้การใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนและสอดคล้องกับการปฏิรูปทางการเมือง
เชิงอรรถ
* เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวาระครบครอบ 5 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง กึ่งทศวรรษศาลรัฐธรรมนูญกับอนาคตการปฏิรูปการเมืองไทย ในหัวข้อ คดีรัฐธรรมนูญกับการบ่งชี้สภาพปัญหาของการปฏิรูปการเมือง ในวันที่ 9 เมษายน 2546 ณ โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2547
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=698
เวลา 21 เมษายน 2568 14:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|