|
|
ครั้งที่ 52 14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
|
"วุฒิสภากับการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ"
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวสำคัญเกิดขึ้นข่าวหนึ่งคือ การคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จำนวน 4 คนที่เพิ่งผ่านการคัดเลือกของวุฒิสภาไปเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ นี่เอง ก่อนวันคัดเลือกและแม้กระทั่งหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากการคัดเลือก มีข่าวเกิดขึ้นตลอดเวลาว่าบุคคลบางคนที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความสนิทสนมเป็นอันดีกับรัฐบาลหรือพรรคการเมือง
ข่าวที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอะไรทั้งสิ้นเพราะทุกครั้งที่มีการเสนอข่าวชื่อตัวบุคคลขององค์กรอิสระทั้งหลายให้วุฒิสภาคัดเลือกก็จะมีข่าวทำนองนี้อยู่แทบทุกครั้ง
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาหลายองค์กรโดยส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดให้องค์กรเหล่านั้นมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งของฝ่ายปกครองและฝ่ายการเมืองให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวบุคคลขององค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญก็ได้ให้ความสำคัญถึงความเหมาะสมในด้านต่างๆรวมทั้งการปลอดจากการเมืองโดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมและมีคุณสมบัติเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาคัดเลือก วุฒิสภาจึงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกหรือให้ความเห็นชอบตัวบุคคลที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระเหล่านั้นซึ่งก็ได้แก่ กรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 คนในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 คนในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง
เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาทั้งในด้านนิติบัญญัติและในการคัดเลือกหรือให้ความเห็นชอบตัวบุคคลขององค์กรอิสระดังกล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่าวุฒิสภามีอำนาจมากและเป็นอำนาจที่ คุม การเข้าสู่ตำแหน่งของกลไกสำคัญของรัฐ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้วุฒิสภามีความเป็นอิสระปลอดจากการเมืองโดยมาตรา 126 แห่งรัฐธรรมนูญได้ห้ามสมาชิกวุฒิสภาเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง รวมทั้งยังมีมาตราอื่นๆอีกหลายมาตราที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและไม่สังกัดพรรคการเมืองของสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น โดยหลักแล้ว สมาชิกวุฒิสภาจึงไม่ยึดติดกับการเมืองหรือพรรคการเมือง
อะไรจะเกิดขึ้นหากสมาชิกวุฒิสภามีความโน้มเอียงไปในพรรคการเมืองหนึ่งหรือสังกัดพรรคการเมืองหนึ่ง คำตอบเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการคัดเลือกหรือการให้ความเห็นชอบตัวบุคคลขององค์กรอิสระคงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากเพราะการ เลือก ตัวบุคคลจะมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง แต่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ตนสนิทสนมด้วย ซึ่งก็จะส่งผลให้กระบวนการทำงานขององค์กรอิสระเหล่านั้นไม่เป็นไปอย่างเต็มที่เท่าที่ควรซึ่งก็จะส่งผลทำให้การปฏิรูปการเมืองล้มเหลวลงได้
สิ่งที่ผ่านมาในอดีตไม่ว่าจะเป็น กกต. สีเทา หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ข้อกังขาในการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จำนวน 4 คน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาในเรื่องความเป็นกลางและปลอดจากการเมือง แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อาจเป็นสิ่งที่ น่ากลัว และก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการ ปฏิรูปการเมือง ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ เพราะเมื่อกรรมการ ปปช. จำนวน 9 คน ครบวาระลงในวันที่ 24 ตุลาคมที่จะถึงนี้ วุฒิสภาชุดปัจจุบันก็จะเป็นผู้ คัดเลือก กรรมการ ปปช. ชุดใหม่เข้ามาทำงานแทนชุดเดิมที่ครบวาระลง
บทบาทของคณะกรรมการ ปปช. ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นมีอยู่มาก ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ปปช. เป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งที่ทำงาน เข้าตา ประชาชนมากที่สุด สังเกตได้จากกรณี ซุกหุ้น ของนายกรัฐมนตรีที่คณะกรรมการ ปปช. ได้สำแดงฤทธิ์ของตนเองในฐานะองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมมาแล้วว่ามีมากน้อยเพียงใด ในการคัดเลือกกรรมการ ปปช. ชุดใหม่ หากวุฒิสภา คัดเลือก กรรมการ ปปช. และมี ข้อกังขา เหมือนที่ผ่านๆมา ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่การปฏิรูปการเมืองจะต้องล้มเหลวลง และยิ่งไปกว่านั้น ในวันข้างหน้า หากมีการเลือกตั้งวุฒิสภาชุดใหม่ และสมาชิกวุฒิสภามี ความเกี่ยวโยง กับพรรคการเมือง ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งระบบ และอาจทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐดำเนินการไปได้อย่างไม่เต็มที่และก่อให้เกิดผลเสียกับประเทศชาติอย่างมาก
ปัญหาดังกล่าวผมไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรนะครับ จริงๆแล้วผมเคยเขียนบทความเรื่อง วุฒิสภากับอนาคตของประเทศไทย ไว้ใน pub-law.net เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2544 ไปแล้วครับ ผมขอฝากประเด็นไว้ให้ช่วยกันคิดต่อไปว่า เราจะทำอย่างไรดีกับ ความล้มเหลว ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการปฏิรูปการเมืองของเรา ในฐานะนักวิชาการ ผมขอให้ผู้ใช้บริการ pub-law.net ให้ความสนใจกับบทความของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ได้เผยแพร่ไปใน pub-law.net เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วคือ ปฏิรูปการเมือง ฤาจะไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะสิ่งที่ท่านอาจารย์อมรฯพยายามนำเสนอน่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งของประเทศไทยที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 และคงต้องมีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ครับ
ในขณะที่ผู้ใช้บริการอ่านบทบรรณาธิการของผมอยู่นี้ผมคงอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้วครับ บทบรรณาธิการนี้ผมได้เขียนขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2546 ครับ ผมไปฝรั่งเศสงวดนี้มีบรรยาย 4 ครั้งที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille โดยการบรรยาย 3 ครั้งแรกกำหนดไว้แล้วคือในวันพุธที่ 19 วันพฤหัสบดีที่ 20 และวันพุธที่ 26 มีนาคมนี้ครับ ส่วนอีกหนึ่งครั้งยังไม่ได้กำหนดวันครับ คงต้องรอไปทำความตกลงกับอาจารย์ที่นั่นก่อน มีอะไรน่าสนุกผมจะเล่าผ่านมาทางบทบรรณาธิการในวันที่ 31 มีนาคมครับ
ในคราวนี้เรามีบทความใหม่เอี่ยมของนักกฎหมายมหาชนจากรั้วธรรมศาสตร์ครับ บทความเรื่อง ปัญหาการลงมติในประเด็นของคดีในคดีรัฐธรรมนูญ ของอาจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นบทความที่น่าสนใจมากและแสดงให้เห็นถึงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดีครับ นอกจากบทความนี้แล้ว เราก็มีการตอบคำถามในเวทีทรรศนะ และมีการแนะนำวารสารใหม่ 1 เล่มในหนังสือตำราครับ
ขอบคุณสำหรับความสนใจที่ผู้ใช้บริการมีต่อ pub-law.net ครับ การขอรับหนังสือ รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net ของเราเป็นไปอย่างดี ผมคงมีหนังสือแจกประมาณ 300 เล่มครับ และเมื่อมีจำนวนผู้ขอรับหนังสือเกินกว่า 300 เล่มเมื่อใด ผมก็จะปิดการลงชื่อรับหนังสือครับ หนังสือคงพร้อมแจกในเดือนพฤษภาคมครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2546 ครับ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=69
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|