แนวโน้มของพรรคการเมืองไทยยุคใหม่

5 มกราคม 2548 12:58 น.

       ๑. ความนำ
                   
       พรรคการเมืองกับระบบการเมือง เหมือนกับเหรียญสองด้านที่ต่างฝ่ายต่างก็รับและส่งอิทธิพล ซึ่งกัน (influential interaction) ระบบการเมืองในยุคปฏิรูปซึ่งเป็นการเมืองที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ขณะที่พรรคการเมืองก็อยู่ระหว่างการปรับตัวด้วยเช่นกันนั้น ทั้งพรรคการเมืองและระบบการเมืองต่างก็ดำรงอยู่ในภาวะที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยกันทั้งสองฝ่าย
                   
       ในภาพรวมกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื่องจากเราใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือปฏิรูปการเมือง และโดยผลพวงดังกล่าวของรัฐธรรมนูญ ทำให้บรรดากลไกการเมืองฝ่ายต่างๆ ในระบบการเมืองต้องมีการเคลื่อนไหวตามความเปลี่ยนแปลงนั้นไปด้วย
                   
       สำหรับสังคมเสรีประชาธิปไตย (liberal democratic society) ที่นิยมความหลากหลายในการแข่งขันทางการเมือง (pluralism) นั้น แม้จะไม่ยอมรับการครอบงำ (political dominance) ของกลุ่มอำนาจหรือองค์กรการเมืองก็ตาม แต่ในความเป็นจริงก็มีความเป็นไปได้ที่องค์กรอย่างพรรคการเมืองสามารถที่จะมีบทบาทชี้นำในเชิงโครงสร้างและภาระหน้าที่ทางการเมือง (structural – functional role) ซึ่งในบทบาทดังกล่าวก็อาจส่งอิทธิพลและสร้างผลกระทบต่อระบบการเมืองในทางที่ก้าวหน้าหรือในทางที่ล้าหลังก็ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
                   
       ระบบการเมืองในยุคปฏิรูปการเมือง ถือเป็นระบบการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ที่ต้องมีพลวัต (dynamic) อยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ในระดับกลางตามโครงสร้างของระบบการเมือง (intermediate structure) ย่อมต้องเพิ่มอัตราเร่งในการปรับตัว (adaptation) ในกรอบที่กว้างขวาง รวดเร็ว และต่อเนื่องมากกว่าองค์กรการเมืองอื่น ภายใต้เงื่อนไขของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในการรับและส่งอิทธิพลต่อระบบการเมือง
                   
       พรรคการเมืองในระบบการเมืองยุคปฏิรูป จึงไม่ใช่พรรคการเมืองที่ยอมปล่อยให้ตัวเองนั้นไหลผ่านไปตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หากแต่พรรคการเมืองจำเป็นต้องนำตัวเองให้เป็นกำลังหลักในการก่อพลังอิทธิพลให้แก่ระบบการเมืองด้วย
                   
       แนวโน้มของพรรคการเมืองไทยยุคใหม่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองเป็นฝ่ายกำหนด อิทธิพลต่อระบบการเมืองมากกว่าระบบการเมืองเป็นฝ่ายส่งอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง ซึ่งทิศทางและ แนวทางในการสร้างกระแสแนวโน้มของพรรคการเมืองนั้น พิจารณาได้จากการเคลื่อนไหวและการ ปรับตัวของพรรคการเมืองในมิติที่สำคัญ ได้แก่ (๑) การเกิดของพรรคการเมือง (๒) การเติบโตของพรรคการเมือง (๓) การอยู่รอดของพรรคการเมือง (๔) การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมของพรรค การเมือง (๕) การปรับรูปแบบของระบบพรรคการเมือง (๖) การปรับภาระความรับผิดชอบของพรรคการเมือง (๗) การปรับบทบาทของพรรคการเมือง (๘) การใช้และบริหารทรัพยากรของพรรคการเมือง (๙) การนำเสนอกรอบนโยบายของพรรคการเมือง และ (๑๐) การสร้างภาวะผู้นำของพรรคการเมือง
       ๒. การเกิดของพรรคการเมือง
                   
       ในบริบทดั้งเดิม พรรคการเมืองไทยเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขเฉพาะกิจ (tactical party) อิงอยู่กับเหตุผลหลักด้านการช่วงชิงอำนาจการเมือง (power competition) ซึ่งปัจจัยสำเร็จอยู่ที่ผู้นำและกลุ่มแกนนำอำนาจเป็นตัวการสำคัญในการผลักดันและวัดผลสำเร็จที่ผลการเลือกตั้งและการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในบริบทของการเมืองยุคใหม่มีเหตุปัจจัยที่มีความซับซ้อน และหลากหลายกระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะต่อเหตุผลที่อิงอยู่กับขบวนการทางสังคม – การเมือง (socio – politics) ภายนอก (external context) มากกว่าอิงอยู่กับผู้นำและแกนนำภายในพรรค (internal context) ขณะเดียวกันการวัดผลสำเร็จก็จะ ถ่ายเทน้ำหนักไปที่การสร้างอิทธิพลต่อสังคม – การเมือง (influence delivery) มากกว่าเป้าหมายการได้รับเลือกตั้งเพียงด้านเดียว เพราะพรรคการเมืองต้องสร้างและแสดงความสามารถทางสถาบัน (political institutionalization) รวมทั้งการแบกรับภาระความรับผิดชอบในการปกครองและบริหารประเทศด้วย ไม่ใช่เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งได้เพียงอย่างเดียว
                   
       ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว การเกิดพรรคการเมืองยุคใหม่จึงเป็นเรื่องของการสร้างฐานสนับสนุนจากมวลสมาชิกกลุ่มใหญ่ (majority group) พร้อมกับการสร้างฐานเฉพาะกลุ่มเล็กที่มีความเข้มแข็ง (strategic group) ด้วย ซึ่งจะต้องมีการระดมการมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมภารกิจทางการเมืองให้มีความเข้มข้นต่อเนื่องและครอบคลุมทุกส่วน (comprenensive mobilization) แทนการระดมเฉพาะกิจกรรมการเลือกตั้ง รวมทั้งต้องมีการขยายภารกิจที่ครอบคลุมในผลประโยชน์ร่วมทั้งสังคมโดยรวม (social interests) แทนการปกป้องสนองตอบเฉพาะผลประโยชน์กลุ่ม (group interests)
       ๓. การเติบโตของพรรคการเมือง
                   
       การเติบโตของพรรคการเมืองไทยยุคใหม่เคลื่อนไปตามแรงขับของผลการปฏิบัติภารกิจและ พลังสังคมโลกภายนอก (social & mission driven) มากกว่าแรงผลักดันจากเทคนิคการเลือกตั้งและพลังอำนาจของกลุ่มภายใน (group & electoral technics driven) ซึ่งเป็นเรื่องของการขยายตัวทางแนวราบที่กลุ่มแนวร่วมพันธมิตร (alliance centric) มีความสำคัญมากกว่ากลุ่มแกนนำภายใน ทั้งนี้เป็นไปตาม เหตุผลของการขยายขนาดของพรรคให้มีความสำคัญเป็นตัวแทนที่ใหญ่ขึ้น (mega – representive) และ มีขีดความสามารถในการขยายพลังอิทธิพลที่เข้มแข็งมากขึ้นพร้อมกันไปด้วย
                   
       ดังนั้น พรรคการเมืองไทยยุคใหม่จึงต้องกระชับความเป็นตัวแทนให้มีความชัดเจนขึ้น มุ่งวางรากฐานและกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาทั้งของประเทศและประชาชน แสวงหาเครือข่าย พันธมิตรให้ครอบคลุมในวงกว้าง ทั้งพันธมิตรที่จัดตั้งเป็นองค์กรย่อย (organized alliances) เพื่อเป็นฐานสนับสนุนวงในและพันธมิตรที่ระดมมาเป็นฐานสนับสนุนจากวงนอก (mobilized alliances) หลีกเลี่ยงการครอบงำของกลุ่มอำนาจเฉพาะกลุ่ม สร้างทางเลือกและเสนอทางออกให้สังคมมีความพร้อมและฉับไวในการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา สร้างความภักดีในหมู่สมาชิกส่วนรวม มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนของสาขาพรรคระดับต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น รวมตลอดทั้งมีการกระจายบทบาทอำนาจให้ทั่วถึงในทุกภาคส่วนของพรรค ไม่ว่าที่ผู้นำ แกนนำ สมาชิก ผู้ชำนาญการ หัวคะแนน แนวร่วมพันธมิตร และผู้ออกเสียงเลือกตั้ง
                   
       ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว การเติบโตของพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องของความสำเร็จจากความสามารถในการสร้างและผลิตผลงานสาธารณะที่หวังประสิทธิผลที่เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้โดยการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการตอบรับจากกระแสความนิยมของสังคม และการเพิ่มของฐานพันธมิตรทางการเมืองจากกลุ่มใหม่ๆ ที่อยู่ภายนอก ซึ่งเป็นการขยายตัวในเชิงคุณภาพ แทนการเพิ่ม ส.ส. จำนวนมากเข้าอยู่ในสังกัดพรรค ซึ่งเป็นการขยายตัวในเชิงปริมาณ
       ๔. การอยู่รอดของพรรคการเมือง
                   
       การอยู่รอดของพรรคการเมืองยุคใหม่ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของความเป็นองค์กร – สถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะในเชิงของความสามารถทางการเมืองการปกครองเพื่อสามารถเผชิญกับพลังกดดันทางสังคม – การเมือง มากกว่าความสามารถที่ขึ้นอยู่กับขนาดของพรรคที่วัดด้วยจำนวน ส.ส. ที่ปราศจากระเบียบวินัย และการจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งปัจจัยในการสร้างความสำเร็จทางการเมืองของพรรคอยู่ที่ คุณภาพด้านการบริหาร – การจัดการขององค์กรและคุณภาพของบุคลากร มากกว่าขนาดของพรรคและจำนวนบุคลากรเพียงด้านเดียว
                   
       ดังนั้น พรรคการเมืองไทยยุคใหม่จึงต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหาร – การจัดการในอนาคตระยะยาวได้ในหลายระดับ มีการตระเตรียมแนวนโยบายและโครงสร้างไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า มีการเตรียมรับการจัดระเบียบใหม่ๆ ให้เกิดความราบรื่น อาทิ ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค การถ่ายโอนบทบาทและตำแหน่งระหว่าง ส.ส. กับรัฐมนตรี การเตรียมการบริหารความขัดแย้งภายหลังการเลือกตั้ง การจัดสรรบทบาทและลำดับความสำคัญของกลุ่มพลังในการสนับสนุนการใช้อำนาจเพื่อผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับตัวเข้าหากรอบการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทั่วไปที่ยึดโยงอยู่กับวิถีชีวิตปกติของคนกลุ่มใหญ่ และองค์กรจัดตั้งรูปต่างๆ การจัดระบบการสื่อสารทางการเมืองกับสาธารณชนและสังคมที่มีความซับซ้อนได้อย่างลึกซึ้งกลมกลืนกัน เป็นเนื้อเดียว ในรูปของการสร้างสังคมปกรณ์ทางการเมือง (political socialization) ที่มุ่งหวังผลต่อ เป้าหมายในการปลูกสร้างจารีตทางการเมืองของพรรคให้แก่ระบบการเมืองและสังคมในระยะยาว รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการบรรลุนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
                   
       ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว การอยู่รอดของพรรคการเมืองยุคใหม่จึงเป็นเรื่องของการสร้างกระแส อิทธิพลทางการเมืองต่อระบบ แทนการเป็นฝ่ายตั้งรับกระแสอิทธิพลจากระบบการเมือง ซึ่งทั้งในระดับองค์กรพรรคและบุคลากรของพรรค จะต้องมีความพร้อมในการสร้างสัมพันธภาพ และแบกรับภาระพันธกิจของสังคม – การเมือง ปัจเจกบุคคล กลุ่ม องค์กรมวลชนและประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ (comprehensive performances) นอกจากนั้นยังต้องปรับฐานะบทบาทให้สามารถทาบซ้อนกันได้เป็นเนื้อเดียวกันกับกรอบภารกิจของธรรมรัฐ (good governance) ซึ่งต้องบรรลุเป้าหมายภารกิจที่ครอบคลุมทั้งในภาครัฐ (public sector) ภายใต้กรอบของการผลักดันนโยบายและกฎหมายสำคัญ ภาคประชาสังคม (civil sector) ภายใต้กรอบของการระดมมวลชนเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองได้ และภาคเอกชน (private sector) ภายใต้กรอบของการเกื้อหนุนให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจในทุกมิติได้อย่างยั่งยืนด้วย
       ๕. การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมของพรรคการเมือง
                   
       การเพิ่มขึ้นของกระแสความตื่นตัว และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในปัจจุบัน ประกอบกับการเปิดกว้างของสิทธิโอกาสตามรัฐธรรมนูญ ทำให้กิจกรรมทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ต่างถูกผูกโยงเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองอย่างเข้มข้นและโดยตรงมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งแสวงหาประสิทธิภาพจากการสนองตอบของรัฐมากกว่าแสวงหาอำนาจการควบคุมจากรัฐจึงส่งผลต่อ การเพิ่มภาระและความรับผิดชอบของพรรคการเมืองโดยตรง พรรคจึงต้องขยายขนาดของภาระความ รับผิดชอบ (responsibility expansion) มากขึ้น ประกอบกับผลพวงจากการปฏิรูปทางการเมืองตาม รัฐธรรมนูญ ทำให้พรรคต้องปรับบทบาทอย่างขนานใหญ่ทั้งระบบและกระบวนการ ต้องเตรียมทั้ง องค์กร บุคลากร การดำเนินงานทางการเมือง ทักษะความสามารถเฉพาะทาง ความเป็นมืออาชีพของ นักการเมือง รวมทั้งการปรับกรอบนโยบายของพรรคด้วย
       ๖. การปรับรูปแบบของระบบพรรคการเมือง
                   
       ระบบพรรคการเมืองกำลังเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการและบรรยากาศของการแข่งขันอย่างเข้มข้นมากขึ้น ความเป็นตัวแทนมีความคมชัดและเปิดเผย ภาระผูกพันและความรับผิดชอบของพรรคที่มีต่อกลุ่มผลประโยชน์เพิ่มความซับซ้อน ใกล้ชิดและมีความเจาะจงมากขึ้น ขณะเดียวกันกระบวนการคัดสรรภาวะผู้นำของพรรคได้รับอิทธิพลจากกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย ขีดความสามารถในเชิงบริหารแบบมืออาชีพ ผลงาน และความสำเร็จจะเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของผู้นำ การวัดผลความสำเร็จจะมีมาตรฐานการชี้วัดที่เป็นรูปธรรมและมีความหมายสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะพันธมิตรของพรรค จะถูกกำหนดโดยกลุ่มตัวแทนผลประโยชน์ที่พรรคเข้ามีบทบาทร่วมในการตอบสนองผลประโยชน์และร่วมทำงานด้วย (cooperation) มากกว่าเพียงแต่ความเป็นตัวแทนทางสัญลักษณ์หรือการแสดงออกเฉพาะทางกรอบนโยบายของพรรคเพียงด้านเดียว
       ๗. การปรับภาระความรับผิดชอบของพรรคการเมือง
                   
       ภาระความรับผิดชอบของพรรคการเมือง เป็นความรับผิดชอบของทั้งองค์กรที่เป็นบทบาทในเชิงสถาบัน (organization accountability) ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการทางสังคม – การเมืองภายนอกองค์กรพรรคมากกว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล (individual accountability) เฉพาะในองค์กรพรรคเท่านั้นไม่ว่าตัวผู้นำหรือแกนนำของพรรค การเติบโตและความสำเร็จของผู้มีอำนาจในพรรคจะต้องพิสูจน์จากปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายในพรรค ขอบเขตภาระความรับผิดชอบต้องมีลำดับความสำคัญตามกรอบของเป้าหมายนโยบายพรรคและแนวร่วมพันธมิตรมากกว่ารวมศูนย์การตัดสินใจ ที่ตัวผู้นำและกลุ่มแกนนำอีกต่อไป พร้อมกันนั้น ศักยภาพของพรรคก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในเชิงสถาบันขององค์กร (organization competence) มากกว่าความสามารถของตัวบุคคล (individual competence) ด้วยเช่นกัน
       ๘. การปรับบทบาทของพรรคการเมือง
                   
       บทบาทใหม่ของพรรคการเมืองจะต้องมีการขยายและจัดสรรให้ครอบคลุมทั้งบทบาทในการ แข่งขัน ช่วงชิงอำนาจ บทบาทในการบริหาร - การจัดการองค์กรของพรรคให้มีความเป็นสถาบัน และบทบาทในการบริหารประเทศ นอกจากนี้ศูนย์รวมอำนาจของพรรค ก็จะต้องกระจายออกนอกศูนย์กลางมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความสำคัญและอิทธิพลของหัวคะแนนก็จะถูกถ่ายเทไปสู่อิทธิพลของสื่อและกระแสสาธารณชนมากขึ้น พร้อมกันนั้นบทบาทใหม่ของพรรคก็จะต้องอยู่เหนือบทบาทของ ส.ส. ในกรอบที่ความเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่ม และการครองความนิยมในระดับชาติมีความสำคัญมากกว่าความเป็นตัวแทนในพื้นที่เป้าหมายของตัว ส.ส. ด้วย
       ๙. การใช้และบริหารทรัพยากรของพรรคการเมือง
                   
       ทรัพยากรบุคคลโดยเฉพาะคุณสมบัติ และความสำเร็จในความเป็นมืออาชีพทางการเมือง จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับทรัพยากรเงิน ทำให้การสั่งสมฐานทรัพยากรต้องดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาวมากขึ้น การจัดสรรทรัพยากรและระบบการบริหาร – การจัดการจะไม่ถูกผูกโยงกับระดับ ทุนทรัพย์ของสมาชิกเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และปัจจัยกำหนดความได้เปรียบของทรัพยากรก็มิได้ ผูกขาดอยู่ที่ฐานทุนทรัพย์เพียงแหล่งเดียว
       ๑๐. การนำเสนอกรอบนโยบายของพรรคการเมือง
                   
       นโยบายพรรคการเมืองต้องมีขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาประชาชนได้ ผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกมิติ มีความฉับไว ลึกซึ้งและกว้างขวางรอบด้าน มีความเป็นสากลสูง ขณะเดียวกันนโยบายพรรคจะต้องมีขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศและพัฒนาประเทศได้ บรรลุสู่เป้าหมายสูงสุดของชาติได้ มีความเป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่คมชัด เจาะจงลงไปถึงปัจเจกบุคคล ซึ่งพรรคจะต้องสามารถใช้นโยบายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างพลังสนับสนุนทางการเมือง โดยแปลงนโยบายให้เป็นรูปธรรม มีเครื่องชี้วัดทั้งในส่วนของสารัตถะ กระบวนการนำไปปฏิบัติ ผลลัพธ์ เป้าหมาย ผลได้ ผลกระทบ และสามารถประเมินผลสุดท้ายในบั้นปลายให้สาธารณชนได้รับรู้ มองเห็นและสัมผัสเข้าถึงได้ นอกจากนั้น นโยบายจะต้องมีความทันสมัยตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ซึ่งต้องมีความครอบคลุมวิถีชีวิตของประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งมีความอ่อนไหวละเอียดอ่อนต่อภาวะจิตวิทยา และมีมิติทางวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์สากล สิ่งแวดล้อม ชุมชนนานาชาติในประชาคมโลก การดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติและสิทธิมนุษยชน
       ๑๑. การสร้างภาวะผู้นำของพรรคการเมือง
                   
       ภาวะผู้นำใหม่ของพรรคการเมือง ต้องสร้างภาวะผู้นำในการสร้างความสามารถทางการเมือง – การปกครอง (political & administrative competence) ซึ่งเป็นภาวะผู้นำที่พรรคการเมืองต้องมีความ กระตือรือล้นและมีขีดความสามารถที่เพียงพอในการแบกรับภาระความรับผิดชอบทางการเมืองแบบครบทุกส่วน ซึ่งพรรคจะต้องพัฒนาพร้อมๆ กันทั้งความสามารถในการแข่งขันทางอำนาจ ความสามารถในการพัฒนาความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรค และความสามารถในการบริหารประเทศ ในการนี้ พรรคจำเป็นจะต้องจัดโครงสร้างรองรับการเข้ามีส่วนร่วมของขบวนการทางสังคม – การเมือง โดยเฉพาะในการระดมการสนับสนุนของฐานมวลชนกลุ่มใหญ่ และฐานกลุ่มยุทธศาสตร์กลุ่มเล็ก ขณะเดียวกันพรรคจะต้องจัดโครงสร้างสนับสนุนระบบงานด้านความชำนาญการเฉพาะทาง (นักวิชาการ ฐานข้อมูล การวิจัย – พัฒนา) ให้ครอบคลุมในทุกภารกิจของกระทรวง ทบวง กรมได้ด้วย หรืออย่างน้อยต้องมีในส่วนของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และการต่างประเทศ
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2547

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=671
เวลา 21 เมษายน 2568 14:45 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)