|
|
ครั้งที่ 50 14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
|
"ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช."
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงข่าวกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับผู้ใช้บริการ pub-law.net ที่อยู่ต่างประเทศหรือไม่ได้ติดตามข่าวเรื่องนี้ก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า พลาดประเด็นที่น่าสนใจไปประเด็นหนึ่งครับ แต่ไม่เป็นไร ผมพอสรุปข้อเท็จจริงให้ฟังได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ผู้หนึ่งมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นก็ได้ลงโทษไล่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นออกจากราชการ แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นก็ได้อุทธรณ์คำสั่งของผู้บังคับบัญชาไปยัง ก.พ. และ ก.พ. ก็เห็นว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง จึงให้ลงโทษเพียงแค่ทำทัณฑ์บนเท่านั้น ซึ่งภายหลังคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นกลับเข้ารับราชการได้ ปัญหาจึงมีอยู่ว่า อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 301 (3) แห่ง รัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดหรือไม่
เรื่องดังกล่าวหากพิจารณาดูมาตรา 301 แห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นมาตราที่กำหนดถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพบว่า มีอำนาจหน้าที่หลายประการ กล่าวคือในส่วนที่เกี่ยวกับการถอดถอนจากตำแหน่งและการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญได้ สร้าง หน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้มีความเป็น ศาลไต่สวน คือ ทำหน้าที่เฉพาะไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นเพื่อเสนอเรื่องการถอดถอนจากตำแหน่งไปยังวุฒิสภาและเสนอเรื่องการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นั้น มาตรา 301 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ กลับกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ได้บัญญัติขยายความกรณีดังกล่าวไว้ในมาตรา 92 ว่าให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และให้ถือว่ารายงานและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัย แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ถูกลงโทษเห็นว่าระดับโทษไม่เหมาะสม มาตรา 96 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็บัญญัติให้สิทธิผู้ถูกลงโทษที่จะอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาได้
เมื่อพิจารณาจากตัวบทรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องนี้ ไม่น่า ที่จะเป็นเรื่องยุ่งยากเลย ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยก็จบเรื่อง หากผู้ถูกลงโทษเห็นว่าระดับโทษไม่เหมาะสม เช่น ไม่ควรไล่ออก ควรลงโทษแค่ปลดออก ซึ่งเป็นโทษในระดับเดียวกัน ก็สามารถทำได้ แต่เรื่องดังกล่าวนี้กลับไปยุ่งเอาก็ตรงที่ เมื่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ถูกลงโทษได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาที่สั่งตามผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยัง ก.พ. และ ก.พ. ก็ได้หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ให้ความเห็นว่า ก.พ. มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกลงโทษได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือ มาตรา 92 แห่งรัฐธรรมนูญที่กล่าวไปแล้วข้างต้นมิได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นที่สุด ดังนั้น ก.พ. จึงสามารถพิจารณากลับฐานความผิดจากความผิดวินัยร้ายแรงเป็นวินัยไม่ร้ายแรงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเรื่องนี้ก็จบลงอย่างสวยงามและถูกใจบรรดานักกฎหมายที่ รักษาความเป็นธรรม ทั้งหลาย เพราะเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้หารือเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 301 (3) ที่ไต่สวนและวินิจฉัยแล้ว ถือเป็นอันยุติหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการเสียงข้างมาก 8 คน ก็ได้มีคำวินิจฉัยว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและวินิจฉัยแล้วเป็นอันยุติ องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยแล้วไม่ได้
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว สื่อมวลชนบางฉบับได้กล่าว ลงโทษ รัฐบาลว่า รัฐบาลทำผิดในกรณีนี้ที่พยายาม อุ้ม คนของตนให้ถูกลงโทษสถานเบาและยังสามารถกลับเข้ารับราชการได้ใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ก่อนที่ ก.พ. และรัฐบาลจะดำเนินการใดๆก็ได้มีการหารือไปยัง ที่ปรึกษากฎหมาย ของฝ่ายปกครอง คือคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ก.พ. มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้รวมทั้งยังให้ความเห็นว่าไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นที่สุด ดังนั้น จึงมีการดำเนินการต่อมา โดย ก.พ. พิจารณากลับฐานความผิดวินัยร้ายแรงเป็นวินัยไม่ร้ายแรง และคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมิใช่ ความผิด ของรัฐบาลเพราะรัฐบาลได้ ทำตามความเห็น ของที่ปรึกษากฎหมาย แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดจากการ อ่าน กฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกากับศาลรัฐธรรมนูญที่ ไม่ตรงกัน นั่นเองครับ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในวงการนิติศาสตร์ของเราที่นักกฎหมายที่มาจาก สำนักความคิด ที่ต่างกันก็มักจะคิดมักจะเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น นิติปรัชญา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักกฎหมายทุกคนพึงเรียนรู้ เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจหรือให้ความเห็นหรอกครับ เจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของการมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว หากจะถือว่าเรื่องดังกล่าวมีข้อบกพร่องก็คงจะต้องเริ่มตั้งแต่การที่ผู้ถูกลงโทษพยายามอุทธรณ์คำสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาในลักษณะที่เป็นการแสดงความ ไม่ยอมรับ ต่อสถานะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปจนถึงการให้ความเห็นโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ ไม่ยอมรับ ต่อสถานะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ผู้ถูกลงโทษกลับเข้ารับราชการอันเป็นการกระทำที่ ไม่ยอมรับ ต่อสถานภาพของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครับ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เราคงต้องมานั่ง ทบทวน บทบาทของหน่วยงานต่างๆกันอีกครั้งหนึ่งแล้วล่ะครับ
กลับมาสู่วิถีชีวิตแบบเดิมๆของเราดีกว่าครับ การแจกหนังสือ รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.netเล่มที่ 2 ขณะนี้ยังติดขัดอยู่อีกนิดหน่อยครับ ผมเข้าใจว่าในคราวหน้าผมคงแถลงข่าวเรื่องนี้อย่างเป็นทางการได้ อดใจหน่อยนะครับ ปีนี้ช้านิดหน่อยกว่าจะได้แจกหนังสือกันก็คงเป็นเดือนพฤษภาคมนะครับ
ในคราวนี้เรามีบทความสามบทความ เริ่มจากบทความแรกเป็นตอนจบของบทความที่ได้ลงตอนแรกไปในครั้งที่แล้ว คือบทความของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เรื่อง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บทความที่สองเป็นตอนแรกของบทความเรื่อง รัฐธรรมนูญในแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม โดย ผศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในคราวหน้าเราจะลงตอนจบของบทความนี้ครับ ส่วนบทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง อาชญากรรมบนบัตรพลาสติก โดย รศ.วีระพงษ์ บุญโญภาส แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนแต่ก็ขอถือโอกาสนำเสนอสักครั้งนะครับ
ในคราวนี้เช่นกันที่เรามีการตอบคำถามในเวทีทรรศนะและแนะนำหนังสือในหนังสือตำราจำนวนมาก ซึ่งในคราวนี้เราได้ทำการแนะนำหนังสือกฎหมายมหาชนจำนวน 12 เล่มที่จัดพิมพ์โดยสวัสดิการสำนักงานศาลปกครองครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 ครับ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=67
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 07:24 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|