|
|
ครั้งที่ 98 4 มกราคม 2548 15:56 น.
|
"ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์/รัฐบาลรักษาการ"
ปี พ.ศ. 2547 เป็นปีที่ดูแล้วค่อนข้างจะ สั้น ไปสักหน่อย สำหรับผมเพราะผมมีสิ่งที่ต้องทำมาก มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมาก แต่เวลาเท่าที่มีอยู่ไม่สามารถทำให้ผม จัดการ กับสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้ ก็เลยรู้สึกว่าปี พ.ศ. 2547 เป็นปีที่ สั้น กว่าปีอื่นๆ
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับตัวผมเองที่ก่อนนอนทุกวันมักจะใช้เวลาไม่กี่นาทีคิดทบทวนดูสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า มีปัญหาอุปสรรคหรือความสำเร็จอย่างไร บางครั้งก็คิดเสียใจกับสิ่งที่ ผิด ที่ผมได้ทำไป แล้วก็หาหนทางแก้ไข คิดไปคิดมาก็เลยทำให้นอนไม่หลับไปหลายครั้งหลายหน เช่นเดียวกับที่พอใกล้จะหมดปีก็ต้องมานั่งคิดทบทวนดูว่า ในปีนี้ผมทำอะไรไปบ้างและมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับชีวิตผมบ้าง
ปี พ.ศ. 2547 มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้นกับผมหลายอย่าง ที่น่ายินดีที่สุดก็คือการที่ผมได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ มีหลายต่อหลายคนที่ ไม่เชื่อ ว่าเป็นผมจะได้เป็นศาสตราจารย์ เหตุผลที่ไม่เชื่อก็อาจมาจากหลายเรื่องด้วยกัน บางคนก็ว่าผมยังอายุน้อยเกินไป บางคนก็วิจารณ์การ ใช้ชีวิต ของผมที่ สวนทาง กับการได้ตำแหน่งทางวิชาการ บางคนอาจไม่เชื่อถือความรู้ความสามารถของผม! แต่จริง ๆ แล้วคนที่อยู่ใกล้ชิดผมจะรู้ดีว่า ในชีวิตของการเป็นนักวิชาการของผมนั้น ผมทุ่มเทให้กับงานเขียนมาก และส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเขียนตำราทางวิชาการมากกว่าการทำงานวิจัย ทั้ง ๆ ที่งานวิจัยมี ผลตอบแทน มากกว่าการเขียนตำราทางวิชาการหลายสิบเท่า เหตุผลหลักก็คงไม่มีอะไรมากมาย เพราะผมพอมีทุนส่วนตัวอยู่บ้างที่สามารถทำให้ผมใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก แล้วผมก็เห็นความขาดแคลนตำราวิชาการในบ้านเรา ผมจึงทุ่มเทเวลาและความสามารถทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้กับการผลิตตำราทางวิชาการ ส่วนงานวิจัยนั้นก็ทำบ้างแต่ไม่ได้ทำเป็นงานหลัก ผมจึงมีผลงานทางวิชาการที่เป็นตำราออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวันหนึ่งผมรู้สึก พอใจ กับผลงานทางวิชาการของผม และค่อนข้างมั่นใจว่า น่าจะเพียงพอสำหรับการเสนอขอตำแหน่งศาสตราจารย์ ผมก็ยื่นขอตำแหน่งแล้วก็ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในเวลาต่อมาครับ ดังนั้น คนที่อยู่ใกล้ชิดผมก็จะรู้ดีว่า ผมทำงานมากและหนักแค่ไหนกว่าจะได้ตำแหน่งศาสตราจารย์มาครับ! ส่วนเรื่องน่ายินดีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในปีนี้ผมได้รับรางวัลผลงานวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี 2547 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยครับ โดยได้รับเงินรางวัลจำนวนหนึ่งแล้วก็ในวันคล้ายวันสถาปนาของมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2548 ก็จะได้รับมอบเกียรติบัตรอีกด้วยครับ ก็เป็นสองเรื่องที่น่ายินดีสำหรับชีวิตผมในปี พ.ศ. 2547 ครับ ส่วนผลงานทางด้านวิชาการใน ปี 2547 นั้น แม้ผมจะไม่มีเวลาเขียนหนังสือใหม่ แต่ผมก็ได้แก้ไขปรับปรุงหนังสือ 2 เล่มคือ หลักกฎหมายปกครองเกี่ยวกับบริการสาธารณะ และการปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ส่วนพจนานุกรมศัพท์กฎหมายมหาชนฝรั่งเศส-ไทย ที่ได้เผยแพร่อยู่ใน www.pub-law.net มาเป็นเวลา 2 ปีเศษนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมก็ได้นำมาปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมและให้มีลักษณะเป็น คำอธิบายศัพท์ มากกว่าเป็น คำแปลศัพท์ ผมเข้าใจว่าคงวางตลาดในต้นปี 2548 นี้ครับ คำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชนฝรั่งเศสไทยของผมจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชนครับ สำหรับงานสอนนั้น ในปีที่ผ่านมา ผมเดินทางไปสอนที่ประเทศฝรั่งเศส 2 ครั้ง รวมเวลาประมาณ 3 เดือนครึ่งครับ ที่เล่ามานี้เป็นการใช้เวลาทำงานวิชาการที่สำคัญ ๆ ของผมในปี 2547 ครับ
วันที่ 5 มกราคม 2548 ที่จะถึงนี้ก็จะเป็นวันครบ 4 ปีของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ซึ่งก็จะทำให้อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พอวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เราก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 ตามกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เข้าใจว่ารัฐบาลใหม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเดือนเมษายน 2548 เพราะมาตรา 159 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 202 แห่งรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้เช่นกันว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 159 เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราประกอบกันแล้วจะพบว่า กว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็น่าจะเป็นช่วงเดือนเมษายน 2548 และเมื่อได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว กว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจึงจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ เบ็ดเสร็จแล้วรัฐบาลใหม่คงเริ่มทำงานได้ประมาณกลางเดือนถึงปลายเดือนเมษายน 2548 ครับ
มีหลายคนสงสัยถามผมถึง อำนาจ ของ รัฐบาล ของท่านผู้นำในระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2548 ไปจนถึงวันที่ครม.ชุดใหม่จะถวายสัตย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน 2548 ว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางหลักไว้ในมาตรา 215 วรรค 2 ว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง คณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งมิได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งครับ ส่วนในเรื่องอื่น ๆ ที่คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งและต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะทำได้หรือไม่ได้อย่างไรนั้น มีมติคณะรัฐมนตรีเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538, พ.ศ. 2539, และ พ.ศ. 2543 กำหนดแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งและต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ไว้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้น คณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ สำหรับเรื่องที่เป็นนโยบายซึ่งมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั้น คณะรัฐมนตรีไม่ควรพิจารณา ส่วนเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน หรือเรื่องที่ต่อเนื่อง ให้พิจารณาดำเนินการเป็นเรื่องไป มติ ครม. ดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็น แนวทาง ปฏิบัติที่ดีแนวทางหนึ่งของ ครม.ของท่านผู้นำที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในช่วงระยะเวลา 2-3เดือนก่อนที่จะมี ครม.ชุดใหม่ ที่จะต้องปฏิบัติตาม แม้ท่านผู้นำจะ คาด ว่า ครม.ชุดใหม่จะยังคง เป็นของ ท่านผู้นำอยู่ก็ตามครับ !
ในปี พ.ศ. 2548 www.pub-law.net ของเราจะทำการปรับปรุงหน้าตาใหม่ให้ดูสวยงามและทันสมัยยิ่งขึ้นครับ โดยในช่วงต้น ๆ ของการปรับปรุงอาจจะยังไม่ค่อยสมบรูณ์เท่าไหร่เพราะต้องย้ายฐานข้อมูลทั้งหมดมาเข้าในหน้าตาใหม่ของเรา ผมก็ต้องขออภัยในความขลุกขลักที่อาจจะเกิดขึ้นนะครับ ผมคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2548 ทุกอย่างคงจะเข้ารูปเข้ารอยตามเดิมครับ มีข้อแนะนำประการใดก็ติดต่อมาได้นะครับ
สำหรับบทความวิชาการในสัปดาห์สุดท้ายของปี เรามีรายงานการวิจัยของผมซึ่งนำมาลงเป็นตอนที่ 6 คือ การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ครับ และเช่นเคย ในสัปดาห์นี้เรามีบทความจากนักศึกษาไทยในประเทศฝรั่งเศสเรื่อง คดีการดักฟังโทรศัพท์และสิทธิในการมีชีวิตส่วนตัว ที่เขียนโดย นางสาวพิมพ์ดาว จันทรขันตี นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขา Droit public des activités économiques จากมหาวิทยาลัย Université de Paris XII ลองอ่านดูในอ่านดูใน นานาสาระนักเรียนไทยในต่างแดน นะครับ ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนที่มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการกับ www.pub-law.net ครับ.
ท้ายที่สุด ผมขออวยพรให้ผู้ใช้บริการทุกคนรวมทั้งครอบครัว มีสุขภาพดี มีความสำเร็จและมีความสุขสมหวังในทุก ๆ ด้านตลอดปี 2548 ครับ
พบกันใหม่ ในรูปโฉมใหม่ วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2548 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=662
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|