|
|
ความหมายของ "ตุลาการ" และ "ผู้พิพากษา" 30 ธันวาคม 2547 10:20 น.
|
คำว่า ตุลาการ มีสองความหมายใหญ่ๆ คือ ตุลาการ ที่มีความหมายอย่างกว้าง หมายถึงบุคคลผู้ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลทั้งหมด ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญา จะใช้ถ้อยคำเรียก เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตุลาการทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งผู้พิพากษา และตุลาการ
คำว่า ผู้พิพากษา นั้นจะใช้กับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเท่านั้น ส่วนของศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญจะใช้คำว่า ตุลาการ ซึ่งตุลาการในที่นี้เป็นความหมายอย่างแคบ คือหมายถึง "ผู้พิพากษา" ของสองศาลนี้เท่านั้น
กฎหมายที่รับรองอำนาจของตุลาการศาลปกครองและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หมวด 2 ทั้งหมวด โดยเฉพาะมาตรา 34 มาตรา 34 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ตุลาการศาลปกครองเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเนื่องจากไม่มีกฎหมายก่อตั้ง จึงถือตามรัฐธรรมนูญมาตรา 259 วรรค 3 ที่กำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย
อนึ่ง ทั้งผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะพิจารณาพิพากษาคดีภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์เหมือนกัน
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=619
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 01:45 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|