|
 |
แนวคิดการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ 3 มกราคม 2548 17:28 น.
|
แนวคิดการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 ประเด็น คือ แนวคิดการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. แนวคิดการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน กล่าวคือ โดยหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือการออกกฎหมายและการควบคุมการบริหารของรัฐบาล แต่ในฐานะประชาชนทราบกันดีว่างานหลักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ งานบุญ งานศพ งานแต่งงาน มาพบชาวบ้านเพื่อที่จะฟังว่าชาวบ้านมีปัญหาเดือดร้อนอะไร และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าใครมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการ อำเภอ ป่าไม้ ตำรวจ ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการดูแล ให้บอกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้กับกลไกอำนาจรัฐ มีสถานะทางสังคมที่จะไปพูดกับนายของฝ่ายปกครอง เช่น ตำรวจในพื้นที่ หรือป่าไม้ในพื้นที่ซึ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เรื่องนี้แม้ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่ถือเป็นงานหลักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาโดยตลอด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนดูแลคนในพื้นที่เลือกตั้งของตนเองหลายแสนคน ในเขตจังหวัดบางจังหวัดเป็นล้านคน แต่ละคนมีเรื่องรวมกันแล้วหลายคนก็หลายเรื่อง สุดท้ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาลืม หรือมีเรื่องมากเกินกว่าที่จะทำได้ ในช่วงแรกๆ ก็ทำได้ เช่น โทรศัพท์ไปหาผู้ว่าการประปา บอกว่าขอประปาแล้วไม่ได้ โทรศัพท์ไปหาอธิบดีกรมตำรวจบอกว่าเรื่องนี้ขอประกันตัวแล้วช้า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกตำรวจดึงเรื่องเอาไว้ แต่เมื่อนานวันเข้ามีเรื่องเข้ามาอีกหลายเรื่อง บางเรื่องต้องติดตามทางโทรศัพท์ ถ้าอีก 3 เดือนยังไม่จัดการให้ เมื่อกลับไปเขตเลือกตั้งพบกับชาวบ้านคนเดิม ก็จะกล่าวว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับปากแล้วทำไมไม่ทำอะไรให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอยู่คนเดียว มีผู้ช่วย 2 - 3 คน อยู่กรุงเทพมหานคร แล้วจะไปรับเรื่องทุกหน่วยงานได้อย่างไร
ดังนั้นจึงมีแนวคิดเกิดขึ้นในสวีเดนซึ่งเป็นประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียว่า ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ต้องหาหน่วยงานกลางมารองรับเรื่องนี้ โดยเรื่องร้องเรียนที่ไม่เป็นทางการ ไม่ได้ร้องไปที่หน่วยงาน แต่ร้องโดยอาศัยความที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาซึ่งอยู่ใกล้ประชาชน และเป็นที่รู้จักในส่วนกลาง มีอำนาจบารมี แต่ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง ต้องหาหน่วยงานมารับเรื่อง จึงเป็นที่มาของระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (Ombudsman) ในทุกประเทศ หน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนของประชาชน ใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา" ซึ่งประวัติศาสตร์บางแห่งกล่าวถึง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่าเป็นคนของรัฐสภาที่จะไปตรวจการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร หลายคนคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะไปตรวจการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ฟังคล้าย ๆ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ผู้ตรวจราชการส่วนท้องถิ่น ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้น เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงต้องตรวจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำอะไรหรือไม่ มาประชุม ลงคะแนนหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่นั้น ความหมายจริง ๆ คือ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่แทนสมาชิกรัฐสภา ในเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน แทนที่จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ 500 คน ดำเนินการเอง
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการก่อตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่ในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ช่วยดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มางานบวช หรืองานศพ และท่านได้ร้องเรียนแล้ว หลังจากนั้นไม่นานจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามาติดต่อท่านว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนซึ่งมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะในกฎหมายว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเขียนเอาไว้ว่า ให้รับเรื่องร้องเรียนโดยผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาได้ ซึ่งดีกว่าในหลายประเทศที่เขียนเอาไว้ในกฎหมายว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่พอใจไม่มีอำนาจไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาโดยตรง ต้องร้องเรียนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น แต่ในประเทศไทยสามารถร้องเรียนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และประชาชนสามารถร้องเรียนเองได้ ขอบเขตจึงกว้างกว่าหลายประเทศที่เป็นแบบอย่างของระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
อย่างไรก็ดี เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ขับเคลื่อนหรือผลักดันให้เกิดระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยเฉพาะ คือแนวคิดเรื่องการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายการเมือง คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการประจำระดับสูง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายต่าง ๆ ที่มาใช้อำนาจของรัฐ จุดเด่นที่สุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 คือ แนวคิดในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีองค์กรอิสระเกิดขึ้นมาหลายองค์กร ซึ่งมีพื้นฐานความคิดข้อเดียวที่ตรงกันคือ ต่อไปนี้จะตรวจสอบโดยจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ เพื่อจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่เคยมียุคสมัยใดที่ ประชาชนจะได้รับความคุ้มครองมากเท่ากับยุคสมัยของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไม่เพียงแต่การวางหลักเกณฑ์ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วม การป้องกันสิทธิส่วนบุคคล ความเสมอภาค เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้สร้างกลไกตรวจสอบที่ไม่เคยมีมาก่อน องค์กรอิสระที่มาร่วมจัดงานสัมมนาในวันนี้ต่างก่อตั้งขึ้นมาใหม่ อายุไม่เกิน 5 ปี เพราะตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และองค์กรเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเดิมคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) มาก่อน แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ และมีขอบเขตการตรวจสอบที่จำกัด ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปัจจุบันซึ่งมีอำนาจหน้าที่กว้างกว่าและถือได้ว่าเป็นองค์กรใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่สามารถตรวจสอบได้มากกว่า
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบว่าการเลือกตั้งมีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชนะเลือกตั้งแล้ว หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ หรือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาไปแล้ว 1 ปี ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบพบว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ออกจากตำแหน่งและมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแต่เดิมการชนะการเลือกตั้งจะถือตามผลที่ได้ ไม่ว่าจะได้มาโดยวิธีใด แต่ในปัจจุบันการชนะการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ต้องชนะการเลือกตั้งโดยกระบวนการที่ได้รับการตรวจสอบว่าสุจริต ไม่มีการใช้อามิสสินจ้าง ไม่มีการจูงใจโดยมิชอบ นี่คืออานิสงส์ของการมีองค์กรตรวจสอบขึ้น
ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบการตรวจสอบ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะดูแลว่ากระบวนการออกกฎหมาย การใช้อำนาจตามกฎหมายต้องไม่ขัดกับหลักที่รัฐธรรมนูญวางไว้ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญต้องได้รับการรับรองคุ้มครอง และมีอำนาจหน้าที่อีกหลายประการ
ศาลปกครองเกิดขึ้นเพื่อที่จะควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับที่ต่ำลงมากว่าฝ่ายการเมือง กรณีของฝ่ายการเมืองจะให้รัฐสภาตรวจหรือให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ต่ำกว่าฝ่ายการเมืองโดยเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นมาเพื่อควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐ ว่าใช้จ่ายไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับหรือไม่ หากทำไม่ถูกระเบียบข้อบังคับ ต้องคืนเงิน ถูกปรับ และยึดทรัพย์
นั่นคือ แนวคิดการสร้างระบบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจ เป้าหมายมีเรื่องเดียว คือ ไม่ต้องการให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิด
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเกิดขึ้นในกรอบความคิดนี้เช่นเดียวกัน คือเกิดขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีองค์กรของรัฐมากมายที่ทำภารกิจเช่นนี้ หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าองค์กรเหล่านี้ทำงานกันอย่างไร แย่งกันทำหรือไม่ ศาลปกครองรณรงค์ให้รีบไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ออกสปอตวิทยุ โทรทัศน์ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญจัดพบประชาชนในภูมิภาค คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาร่วมด้วย บอกให้มาร้องเรียน มีองค์กรมากเกินไปหรือไม่ จนกระทั่งแย่งกันทำงานอย่างเดียวกันหรือไม่ และไม่รู้ว่าจะไปหาใคร
ขอเรียนว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดูเผิน ๆ เหมือนองค์กรเหล่านี้ซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากมีลูกค้าอยู่กลุ่มเดียว คือประชาชนที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เหมือนกับว่าใคร ๆ ก็มาดึงประชาชนให้ไปหา เพื่อที่จะเข้าไปดูแลเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน ไม่ได้รับความคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ความเป็นจริงแล้วองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมตรวจสอบต่าง ๆ นั้น มีอำนาจหน้าที่ ลักษณะงาน รวมถึงลักษณะการสั่งการ และการทำงานที่ต่างกันพอสมควร ถ้าเหมือนกันรัฐธรรมนูญไม่ต้องตั้งขึ้นมาให้เปลืองงบประมาณ จะมีเจ้าหน้าที่ซ้ำซ้อนกันแย่งกันทำงานอย่างที่เป็นอยู่ เพราะทั้งหมดนี้เป็นองค์กรของรัฐเหมือนกัน และใช้งบประมาณแผ่นดิน
การที่ตั้งมาหลายองค์กรมีขอบเขตการทำงานที่แยกกันพอสมควร ตัวอย่าง กรณีองค์กรที่มักจะถูกสงสัยหลายองค์กร คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำงานซ้ำกับศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่ เพราะจะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งนั้น ซึ่งความจริงไม่ซ้ำ มีหลายเรื่องที่เข้าองค์กรนี้ไม่ได้ ต้องเข้าองค์กรอื่น หลายเรื่องที่องค์กรนี้รับไว้แล้วแต่ต้องให้องค์กรอื่นทำเพราะไม่มีอำนาจหน้าที่
หลักการทั่ว ๆ ไป เกี่ยวกับความเหลื่อมกันของอำนาจขององค์กรเหล่านี้ คือ ศาลปกครอง มีหน้าที่หลักในเรื่องการควบคุมว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ดิน เกษตร อุตสาหกรรม หรือใครก็ตามที่มีอำนาจตามกฎหมาย ศาลปกครองจะรับได้เฉพาะประเด็นเดียวเท่านั้น คือ คนที่มาสั่งมีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ กฎหมายเขียนอย่างหนึ่ง แต่ไปทำอีกอย่างหรือไม่ ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไปฟ้องศาลปกครองแล้ว หากเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายและใช้ถูกต้องแล้วถือว่าจบ ศาลปกครองก็ยกฟ้อง แต่ที่ชอบด้วยกฎหมายเจ้าหน้าที่รับไป 10% ด้วยหรือไม่ ศาลปกครองไม่เกี่ยว บางทีที่พูดกันว่าตามน้ำทวนน้ำ อาจจะเป็นไปด้วยกฎหมาย เมื่อไรพูดว่าตามน้ำก็คือ ทำถูกทุกอย่างแต่เสร็จแล้วแบ่งมา 10% อย่างนี้ศาลปกครองรับเรื่องขึ้นมาเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งและเป็นการสั่งการที่ถูกต้องแล้ว จะต้องการอะไรกับเจ้าหน้าที่อีก ศาลจึงยกฟ้อง แต่เรื่องอย่างนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ยกฟ้อง เมื่อไปพบเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ มีการสั่งการที่ถูกต้องแล้ว ออกใบอนุมัติให้ถูกทุกอย่าง แต่มีคนบอกว่าเจ้าหน้าที่ได้ 10% มีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีจากบริษัทนี้เข้าบัญชีเจ้าหน้าที่ ให้อธิบายว่า 10% ได้มาอย่างไร นี่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งจะไม่สนใจว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร แต่จะตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ ทุจริต อาจจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สั่งการก็ไม่ชอบ แกล้งคนที่ขอใบอนุญาตถูกต้องแล้วแต่เก็บเรื่องไว้ 6 เดือน ขอ 10% ก่อน อย่างนี้ไม่สั่ง ซึ่งเป็นการไม่ชอบ ให้ไปสั่งการโดยเร็ว แต่ศาลปกครองจะไม่ดูเรื่อง 10% หรือมีเรื่อง 5% ไม่ใช่หน้าที่ ศาลปกครองสั่งเจ้าหน้าที่ดึงเรื่องไว้ 6 เดือนแล้ว บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เจ้าหน้าที่ต้องสั่งแล้วศาลปกครองจะพิพากษาให้สั่ง ถ้าไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็จะบอกว่าเจ้าหน้าที่สั่งถูกหรือไม่ถูกนั้นไม่รู้ มีการสั่งตามเวลาหรือไม่ก็ไม่สนใจ แต่จะสนใจว่าเจ้าหน้าที่ทุจริต ได้รับประโยชน์ที่มิชอบจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่ามีอะไรเหลื่อมกันอยู่ ถ้ารับ 10% แล้วไปฟ้องศาลปกครองโดยที่เจ้าหน้าที่ถูกแล้ว ศาลต้องยกฟ้อง จะมาฟ้องเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจถูกต้องตามกฎหมาย แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติบอกว่าเจ้าหน้าที่ถูกแล้วก็จะจัดการ เพราะหน่วยงานมีหน้าที่ตรวจสอบทุจริตโดยตรง
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะไม่สนใจว่าใช้อำนาจถูกหรือไม่ แกล้งชาวบ้านหรือไม่ อย่างไร แต่จะตรวจสอบว่าที่ใช้จ่ายเงินไปนั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องตามระเบียบต้องมีคนรับผิดชอบ มีคนหาเงินมาคืน ต้องถูกปรับ ประชาชนจะได้ประโยชน์ก็ไม่ได้ ต้องไปออกระเบียบก่อน ต้องไปวางหลักเกณฑ์ ไม่เช่นนั้นจะมีเจ้าหน้าที่หลายคน บอกว่าตนทำผิดระเบียบแต่ช่วยเหลือประชาชน เห็นประชาชนเดือดร้อนจึงทำ นี่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำบลทุกอำเภอทำเช่นนี้ ก็ไม่มีใครตรวจสอบอะไรได้ ดังนั้น ต้องวางหลักเกณฑ์ให้ถูกต้อง ต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนถึงจะใช้จ่ายเงินได้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะดูตรงความถูกต้องชอบธรรมตามระเบียบข้อบังคับเรื่องการใช้จ่ายเงิน ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน ช่วยประชาชนหรือรังแกประชาชน ก็ไปคอยดูกำกับการใช้เงินตามระเบียบ เพราะเป็นเงินแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนทุกคน
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีงานหลัก ซึ่งเป็นช่องว่างที่หน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระทำไม่ได้หรือไม่มีอำนาจดู คือ งานตรวจสอบความเหมาะสมของการใช้อำนาจ เช่น จังหวัดกำหนดแนวทางเพื่อจะสร้างถนนเลี่ยงเมือง อธิบดีกรมทางหลวงออกประกาศกำหนดแนวที่จะเวนคืนสร้างถนน ชาวบ้านเดือดร้อนจากการสร้างถนนเลี่ยงเมืองผ่านบ้าน โดยที่ชาวบ้านอยู่กัน 40 - 50 หลังคาเรือน ซึ่งจะถูกเวนคืนหมด จึงไปฟ้องศาลปกครอง ว่าอธิบดีกรมทางหลวงออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ศาลปกครองได้สอบถามไปยังอธิบดีกรมทางหลวงเรื่องที่เสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนนั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการถูกต้อง โดยได้มีการศึกษาวิเคราะห์ถนน มีการใช้อำนาจตามขั้นตอนการประกาศกำหนดแนวทางเจรจาตกลงกันก่อน ไม่มีอะไรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมาฟ้องศาลปกครอง ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง
เมื่อไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าเจ้าหน้าที่ทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการเรียกอธิบดีกรมทางหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัดมาไต่สวน ตรวจบัญชีทรัพย์สิน ไม่มีใครได้ประโยชน์ ไม่มีใครขอมีส่วนได้ 20% ในค่าเวนคืน เงินชดเชยที่จ่ายให้ ไม่มีใครเรียกประโยชน์จาก ประชาชน ทำไปโดยสุจริตตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีใครทุจริตในเรื่องนี้ ไปร้องสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก ได้ตรวจดูการจ่ายเงินก็มีการจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าทดแทนการเวนคืน ไม่จ่ายช้า เร็ว หรือมากแต่อย่างใด ไม่มีใครผิด
เหลืออยู่ที่เดียวที่ต้องไป คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งมีหน้าที่ดูความเหมาะสมของการสั่งการ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ได้เชิญอธิบดีกรมทางหลวงมาปรึกษาเรื่องที่กำลังจะออกพระราชกฤษฎีกาประกาศแนวแล้วชาวบ้านเดือดร้อน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยับแนวถนนออกไป 100 เมตรอ้อมกว่าเดิม แต่ตรงบริเวณนั้นเวนคืนแค่ 2 หลัง หรือไม่ต้องเวนคืนเลยเพราะเป็นที่สาธารณะ แทนที่จะตัดถนนตรง ๆ ผ่านเข้าไปในหมู่บ้านซึ่งต้องเวนคืน 40 - 50 หลังคาเรือน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แน่นอนว่าเบี่ยงแนวถนนงบประมาณต้องเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จะคุ้มหรือไม่กับความเดือดร้อนของชาวบ้าน 40 - 50 หลังคาเรือน งานอย่างนี้ที่จะไปช่วยตรวจสอบดุลพินิจดูความเหมาะสมการทำงานของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้คอรัปชั่น ไม่ได้ผิดระเบียบการเงิน สิ่งนี้ที่เป็นความมุ่งหวังของรัฐธรรมนูญที่จะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไปช่วยดูตรวจสอบความเหมาะสมในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเดือดร้อน สิ่งนี้คือส่วนที่เป็นงานหลักของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่ไม่ซ้ำกับใคร มีอำนาจลงไปดูที่เนื้อหาของเรื่องนั้นว่าเหมาะสมหรือไม่ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ถ้าไม่เป็นธรรมก็ไปเจรจา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจไปสั่งอธิบดีกรมทางหลวง ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และรัฐธรรมนูญได้เขียนความเป็นอิสระเอาไว้ ไม่ได้เป็นลูกน้องของฝ่ายบริหารไม่ต้องฟังคำสั่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่ใต้รัฐมนตรี แต่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ บทบาทของความเป็นองค์กรที่มาจากรัฐสภาทำให้องค์กรนี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ สามารถเขียนรายงานสู่รัฐสภาได้ถึงแม้ว่าจะไม่มีเรื่องกฎหมาย เดือนมีนาคมของทุกปีต้องทำรายงานทั่วไปเสนอต่อรัฐสภา เพื่อจะได้รู้ว่าการทำหน้าที่ของข้าราชการนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร สถิติการร้องเรียนกรมใดมีมากที่สุด และได้แก้ไขปัญหาให้เขาหรือไม่ บางกรณีมีเรื่องร้องเรียนเข้ามามาก เช่น เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจ มีมากเพราะมีตำรวจสองแสนกว่าคน แต่กรมบางกรมมีคนอยู่สองสามร้อยกว่าคน และไม่มีหน่วยงานในภูมิภาคที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน อาจจะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาน้อย แสดงให้เห็นว่าการมีเรื่องร้องเรียนมากก็มิได้หมายความว่าหน่วยงานนั้นแย่ ฉะนั้นจึงต้องรายงานด้วยว่ามีเรื่องร้องเรียนอยู่หนึ่งพันเรื่อง เก้าร้อยเรื่องได้รับการแก้ไขแล้วจึงจะสามารถแสดงได้ว่าหน่วยงานนั้นมีประสิทธิภาพ
หลักที่รัฐธรรมนูญให้ความเป็นอิสระกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอีกด้านหนึ่ง คือ เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล รับงบประมาณแผ่นดิน เจ้าหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่เป็น ข้าราชการ ไม่อยู่ในระบบราชการ คือ ไม่สังกัด กระทรวง ทบวง กรมใด มีผู้บังคับบัญชา คือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และความไม่เป็นราชการนี้ก็เปิดโอกาสให้มีการจัดระบบบริหารงานเพื่อรองรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ จะจัดเจ้าหน้าที่ที่มีคุณสมบัติอย่างไร มีกี่อัตรา ไม่ต้องผ่านการพัฒนาของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องการเจ้าหน้าที่ที่จบระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเพื่อมารับเรื่องร้องเรียน และจดบันทึกเสนอแนะได้อย่างถูกต้อง เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาโดยเฉพาะว่าจะบริหารงานบุคคลอย่างไร จะใช้วิธีรับเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องไปตรวจสอบเอง หรือจะประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งหมดนี้คือความเป็นอิสระและคล่องตัวในการบริหารงาน
นอกจากความคล่องตัวที่มีขึ้นจากความเป็นอิสระแล้ว สิ่งที่ตามมาและเป็นสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งทำให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นองค์กรที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ แนวคิดเรื่องการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญและเป็นเรื่องที่ทำให้งานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่เหมือนงานของศาล หลายท่านบอกว่าถ้ามีเรื่องที่ต้องปะทะกันในกรณีที่ราษฎรถูกกลั่นแกล้งจากข้าราชการ พนักงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจควรไปฟ้องศาล เพราะศาลมีคำพิพากษาและสามารถใช้บังคับได้ แต่เรื่องเดือดร้อนหรือเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องบางเรื่องคำพิพากษาก็ทำอะไรให้ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ท่านไปยื่นคำร้องขอไฟฟ้า การไฟฟ้าบอกว่าจะต้องรอประมาณ 6 เดือน ศาลรับคำฟ้องแล้วอีก 3 เดือนต่อมา หรืออีก 5 เดือนต่อมาศาลจึงจะออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานไฟฟ้าอนุญาตให้มีไฟฟ้าได้ ซึ่งเลยเวลาที่ท่านต้องการใช้ไฟฟ้าไปแล้ว ระหว่าง 3 เดือน 6 เดือนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาท่านจะต้องจุดเทียนอยู่ที่บ้านไปก่อน ฉะนั้นเรื่องบางเรื่องโดยสภาพแล้วคำพิพากษาของศาลไม่ได้แก้ปัญหาให้ท่านได้
ปัญหาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องรับ คือ เรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้าน แนวทางของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรที่เป็นศาล เพราะศาลต้องมีฝ่ายหนึ่งแพ้ฝ่ายหนึ่งชนะ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่ได้มีหน้าที่พิพากษา แต่มีหน้าที่หลัก คือ ทำให้ทุกข์ของผู้ร้องเรียนถูกปัดเป่าถูกบำบัด การแก้ทุกข์ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบอกว่าเรื่องนี้องค์การโทรศัพท์แพ้ การไฟฟ้าแพ้ เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงไม่ทำคำวินิจฉัย ไม่มีหน้าที่ต้องตัดสินว่าใครถูกใครผิด แต่เป็นการไปแก้ไขทุกข์ของประชาชน ถ้าประชาชนไปขอติดตั้งไฟฟ้าแล้วการไฟฟ้าบอกว่า ไม่อยู่ในข่ายที่ติดตั้ง ถูกปฏิเสธ ความเดือดร้อนคืออะไร ความเดือดร้อนคือไม่มีไฟฟ้าใช้ ไปฟ้องศาลได้เหมือนกัน อีก 1 ปีจึงจะได้คำพิพากษา เพียงแต่ท่านโทรศัพท์หมายเลข 1676 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะให้เจ้าหน้าที่ประสานงานสอบถามการไฟฟ้า องค์การโทรศัพท์ หรือการประปา ว่าเรื่องนี้ผู้ร้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ท่านจะแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างไร หลักการ คือ การไกล่เกลี่ยประนีประนอม การไฟฟ้าบอกว่าเรื่องนี้จะให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ร้อง และจะติดตั้งไฟฟ้าให้ภายใน 3 - 7 วัน เรื่องสามารถจบได้โดยไม่ต้องมีใครได้หน้าหรือเสียหน้าว่ามีการแพ้คดี หรือก่อให้เกิดการอาฆาตว่ามีคนมาฟ้อง งานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คือ งานไกล่เกลี่ยประนีประนอม แก้ไขทุกข์ ไม่มีคำพิพากษา ไม่มีการตัดสินปัญหา ถ้าชาวบ้านเดือดร้อนเกี่ยวกับการตัดถนน ไปคุยกับอธิบดีกรมทางหลวงช่วยแก้ไขได้หรือไม่ แก้ไขสำเร็จผู้ร้องก็กลับบ้านด้วยความพอใจ ฝ่ายปกครองหรือรัฐวิสาหกิจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีความรู้สึกว่าแพ้คดี
อีกประเด็นที่เป็นเรื่องที่ทำให้งานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีประสิทธิภาพ คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภารับเรื่องทุกเรื่อง ท่านเดือดร้อนอะไรไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของ รัฐสภาได้ทั้งหมด แต่มิได้หมายความว่าจะรับได้หมดทุกเรื่อง ท่านมีปัญหาทุกข์ยากไม่พอใจเจ้าหน้าที่ของรัฐมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ ถ้าเรื่องไหนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาบอกว่ารับเรื่องร้องเรียนไม่ได้ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจ หากเรื่องนี้ควรจะส่งและมีประโยชน์ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เช่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดินของ รัฐสภาสามารถส่งต่อไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้
การติดต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่หมายเลข 1676 เป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือความเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ หากมาร้องเรียนแล้วไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จะส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ และจะแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบว่าเรื่องนี้กฎหมายห้ามไว้
เรื่องที่กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภารับไว้พิจารณามีไม่มาก คือ
1. เรื่องนโยบายของรัฐบาล เช่น รัฐบาลมีนโยบายต่างประเทศกับประเทศพม่าถูกต้องหรือไม่ หรือนโยบาย 30 บาทของรัฐบาลดีแล้วแต่ควรจะทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย เรื่องแบบนี้ไม่สามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลกำหนดนโยบาย เรื่องที่รัฐบาลแถลงนโยบายเอาไว้กับรัฐสภา จะให้ชาวบ้านควบคุมก็ไม่ถูกเพราะมีระบบควบคุมโดยรัฐสภาอยู่แล้ว
2. เรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือเป็นคดีอยู่ในศาล เพราะว่าศาลเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน เมื่อศาลตัดสินแล้วมาร้องว่าศาลตัดสินไม่เป็นธรรม ต้องไปอุทธรณ์ไปฎีกาซึ่งมีขั้นตอนเฉพาะอยู่แล้ว หรือถ้าองค์กรอิสระอื่นตัดสิน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้ว่ารัฐมนตรีทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมีพฤติกรรมทุจริต สมควรดำเนินคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รัฐมนตรีจะมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่าข้าพเจ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม จะไปคัดค้านคำพิพากษาของศาลเพราะเห็นว่าศาลตัดสินไม่เป็นธรรมไม่ถูกต้องไม่ได้
3. เรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของรัฐ เพราะเรื่องที่เกี่ยวกับวินัยและการบริหารงานบุคคลเป็นเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้แล้ว หากเป็นข้าราชการพลเรือนให้ไปสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตำรวจไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการครูไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และหากไม่พอใจ ใครใน 3 หน่วยงานนี้ให้ไปฟ้องศาลปกครองได้ จึงเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย ที่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนและมีองค์กรที่มารองรับโดยเฉพาะ ฉะนั้นถ้าเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐมาร้องเรื่องวินัย มาร้องเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายไม่ได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภารับเฉพาะเรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อน ถ้าข้าราชการ พนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจถูกโยกย้ายให้ไปใช้ขั้นตอนภายใน เรื่องที่ร้องว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตต้องไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายก็กำหนดว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้
2. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าหลักในการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คือ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนโดยเฉพาะ ซึ่งประโยชน์ของการเป็นองค์กรรับเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะนี้จะส่งผลให้เกิดการจัดระบบรับเรื่องร้องเรียนที่ดี สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ ต้องส่งเสริมให้มีการร้องเรียนเพราะปัญหาของระบบราชการมีอยู่มากที่ไม่มีทางออกสำหรับประชาชน จะไปฟ้องศาลแล้วเขียนคำฟ้องอย่างเดียวก็ยาก ต้องจ้างทนาย ต้องมีค่าธรรมเนียม และกว่าศาลจะตัดสินเป็นเรื่องหญ้าปากคอก ขอไฟฟ้า ประปา ได้ล่าช้า หรือขอโทรศัพท์เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีคู่สาย เรื่องนี้จะไปฟ้องศาลจึงต้องคิดให้ดี ต้องเตรียมเงินจ่ายค่าทนาย จะเขียนคำฟ้องอย่างไร เมื่อพูดถึงกระบวนการแล้วอย่าฟ้องศาลดีกว่า ฉะนั้น หากมีกลไกที่ง่ายกว่า คือมีองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ โทรศัพท์ก็ได้ บางเครือข่ายโทรฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นั่นคือประโยชน์โดยตรงที่มีองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ประโยชน์อีกประการที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยอย่างยิ่ง คือ การลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ คงไม่มีใครที่อยากไปทะเลาะกับนายอำเภอ ตำรวจ หรือการประปา ตามธรรมเนียมไทยคืออย่ามีเรื่องกันเลย เมื่อเกิดความเดือดร้อน รัฐต้องทำให้แต่รัฐไม่ทำ ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขความทุกข์ร้อนอันนี้ได้โดยไม่ต้องทะเลาะกัน ระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นคนกลางเข้ามารับเรื่องร้องเรียน และผู้ร้องโทรศัพท์ไปร้องเรียนได้ ต้องบอกว่าท่านเป็นใครแต่ไม่ต้องบอกกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ที่ท่านร้องเรียน โดยสภาพของสังคมไทยไม่มีใครต้องการขัดแย้ง ไม่ว่าจะขัดแย้งกันเองหรือขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นการสร้างคนกลางขึ้นมาทำหน้าที่อย่างเดียว คือ รับเรื่องร้องเรียนไปแก้ไขลดบรรยากาศของการเผชิญหน้า ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และที่สำคัญ คือ ทำให้ความทุกข์ ความเดือดร้อนของประชาชนถูกขจัดปัดเป่าไปได้โดยระบบการบังคับบัญชาภายในระบบของเจ้าหน้าที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่ได้ไปสั่งการกับหน่วยงานโดยตรง แต่เป็นการขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา นี่คือลักษณะของการมีองค์กรที่ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อขัดแย้งในสังคม
ประโยชน์ในการระงับข้อพิพาทต่าง ๆ หรือระงับข้อขัดแย้งต่าง ๆ ได้โดยเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกเรื่องที่เป็นกระบวนการที่เป็นทางการ การฟ้องคดีต้องเสียค่าใช้จ่าย หากไม่เสียค่าธรรมเนียมศาลก็ต้องเสียค่าทนาย บางเรื่องที่อาจจะไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น ไปร้องต่อรัฐมนตรีโดยตรง แต่เสียเวลา รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีไม่มีเวลามาตามเรื่อง แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ระบบประสานงานซึ่งทำอยู่ทุกวันนี้คือประสานงานกับองค์กรเกี่ยวกับโทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปาให้หารือกับผู้ว่าการของหน่วยงานจะติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์กับผู้จัดการสาขาที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง โดยขอข้อมูลเบื้องต้นถ้ามีมูลแล้วจะติดต่อขอให้ช่วยพิจารณาให้ใหม่
ด้วยความเป็นองค์กรอิสระที่มาจากรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและต้องทำรายงานเสนอรัฐสภา จึงทำให้องค์กรของรัฐต่าง ๆ ให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของท่านทั้งหลายได้โดยเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่าย ระบบศาลในปัจจุบันถึงแม้จะเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดบางกรณีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมด้วย แต่ระบบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อาจจะเสียค่าโทรศัพท์ ค่าแสตมป์ หรือเสียค่าเดินทาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายปกติ
เรื่องที่จะร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีขอบเขตกว้างมาก เพราะอำนาจหน้าที่เขียนไว้ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่ไม่ถูก หรือทำหน้าที่ไปแล้วก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ถ้าทำให้ประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ ดังนั้นบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงเป็นบทบาทที่กว้างกว่าองค์กรอำนาจอื่นที่เป็นศาล เพราะศาลจำกัดไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองต้องพิพากษาว่าใครแพ้ใครชนะ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่ต้องตัดสิน กฎหมายเขียนไว้ 2 ประเด็น คือ 1) เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง 2) เจ้าหน้าที่ไม่ทำหน้าที่
แม้จะไปเข้าข้อยกเว้นบางเรื่อง เช่น เป็นเรื่องวินัย หรือเรื่องทุจริต มีการให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบโดยตรงได้ แทนที่จะไปฟ้องศาลว่าเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง เจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมายอาญาตามมาตรา 157 หรือจะไปฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งเบื้องต้น การนึกถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก่อนจะทำให้ไม่เสียเวลา ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะเปิดช่องเอาไว้กว้างมาก ถึงแม้ว่ามาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแล้วไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แต่สามารถส่งเรื่องไปที่อื่นได้ ไม่ตัดสิทธิ์ในการที่ท่านไปฟ้องศาล เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นองค์กรที่จะจัดการปัญหาเบื้องต้น หากจัดการปัญหาไม่ได้จะไปฟ้องศาลก็ได้ เพราะฉะนั้น อำนาจประการหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 เขียนเอาไว้ชัดเจนว่านอกจากช่วยแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ทำหรือไม่ทำแล้ว หากปรากฏว่ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามา แล้วในเรื่องนั้นปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำอะไรโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีกฎหมายให้อำนาจไว้ตามมาตรา 198 กำหนดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภารับเรื่องร้องเรียนแล้วเห็นว่ามีปัญหาการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีปัญหาที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้แล้วกฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง นี่เป็นอำนาจที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถึงแม้ว่ามีกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพเอาไว้ก็ตาม แต่ช่องทางที่ใครจะไปหาศาลรัฐธรรมนูญมีค่อนข้างจำกัด เพราะประชาชนธรรมดาทั่วไปเกือบจะไปไม่ได้ ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อ ต้องให้องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอ ต้องเป็นกรณีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจึงจะมาร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าโดยอาศัยช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องมีประเด็นว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งไปล่าสุด เรื่องคนพิการเป็นโปลิโอสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาและคณะกรรมาธิการตุลาการบอกว่า คนเป็นโปลิโอเดินไม่ค่อยถนัด ถ้าให้เป็นผู้พิพากษาแล้วไม่สง่างามดูไม่เหมาะกับการเป็นตุลาการ ไม่รับสมัครเพราะถือว่าขาดคุณสมบัติ ไม่ใช่ว่าสอบตก มีผู้มาร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาว่ามีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
นอกเหนือจากการแก้ไขทุกข์ของท่านอย่างรวดเร็วแล้ว โดยการที่เป็นอิสระ มีสถานะตาม รัฐธรรมนูญ มีหน่วยงานธุรการที่มีประสิทธิภาพและมีหน้าที่หลักเรื่องเดียวคือรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์และแก้ไขทุกข์ให้ประชาชน งานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นงานที่ทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่มีกระบวนการพิจารณาที่ยุ่งยาก และไม่สร้างบรรยากาศของความขัดแย้งในการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายขึ้นมาและอาจจะโยงไปถึงการเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ถ้ามีปัญหาความชอบเรื่องรัฐธรรมนูญ
สรุปภาพรวมแนวทางในการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามาจากรัฐธรรมนูญ และมาจากแนวคิดในการเยียวยาความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของประชาชนทำหน้าที่แทนรัฐสภา และมีการจัดระบบเป็นองค์กรที่มีหน่วยงานรองรับชัดเจน มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มีงบประมาณรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เพราะฉะนั้น ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในสังคมไทยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม จะหันมาใช้ช่องทางที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ก่อนที่จะไปสู่ช่องทางอื่นที่มีความซับซ้อนยุ่งยากกว่า ถ้าข้อมูลข่าวสารเรื่องเหล่านี้ไปถึงประชาชนได้มากขึ้น จะมีเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เข้ามาสู่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องจัดองค์กรรองรับเพราะเป็นช่องทางหลักสำคัญที่จะทำให้ทุกข์ หรือความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการปัดเป่าทำให้สิทธิเสรีภาพที่ รัฐธรรมนูญหวังว่าจะคุ้มครองได้รับการรองรับตามความเป็นจริง
เชิงอรรถ
*. บทความนี้ปรับจากการบรรยายเรื่อง แนวคิดการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ในการสัมมนา เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพบประชาชนในส่วนภูมิภาค วันที่ 7 มิถุนายน 2545 ณ โรงแรมลอง บีช จังหวัดเพชรบุรี
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2546
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=611
เวลา 21 เมษายน 2568 19:06 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|