|
|
คุณสมบัติของตุลาการศาลปกครอง 28 ธันวาคม 2547 14:44 น.
|
ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กล่าวคือ
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐ ศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ศป. กำหนด และ
(4) มีคุณสมบัติอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) รับราชการหรือเคยรับราชการเป็นพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน หรือเลขานุการกรรมการร่างกฎหมายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่น้อยกว่าสามปี
(ข) รับราชการหรือเคยรับราชการไม่น้อยกว่าสามปีในตำแหน่ง พนักงานคดีปกครองในระดับที่ ก.ศป.กำหนด
(ค) รับราชการหรือเคยรับราชการไม่น้อยกว่าสามปีในตำแหน่งไม่ต่ำ กว่าผู้พิพากษาศาลแพ่งหรือศาลอาญาหรือเทียบเท่า หรือตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารกลาง
(ง) รับราชการหรือเคยรับราชการไม่น้อยกว่าสามปีในตำแหน่งอัยการ จังหวัดหรือเทียบเท่า
(จ) รับราชการหรือเคยรับราชการไม่น้อยกว่าสามปีในตำแหน่งไม่ต่ำ กว่าข้าราการพลเรือนระดับ 8 หรือตำแหน่งอื่นในหน่วยงานของรัฐหรือเทียบเท่า ทั้งนี้ ตามที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด
(ฉ) เป็นหรือเคยเป็นผู้สอนวิชาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือวิชาที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในสถาบันอุดมศึกษา และดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์หรือ รองศาสตราจารย์พิเศษไม่น้อยกว่าสามปี
(ช) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนและรับ ราชการในหน่วยงานของรัฐนับแต่สำเร็จการศึกษาระดับดังกล่าวไม่น้อยกว่าสิบปี หรือสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขากฎหมายมหาชนและรับราชการในหน่วยงานของรัฐนับแต่วันสำเร็จการศึกษาระดับดังกล่าวไม่น้อยกว่าหกปี
(ซ) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความไม่น้อยกว่าสิบสองปี และมีประสบการณ์ในคดีปกครองตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด
นอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นยังต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามในขณะดำรงตำแหน่ง ดังต่อไปนี้
(1) เป็นข้าราชการอื่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใด
(3) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(4) เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ
(5) เป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก ก.ศป.
(6) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือที่ปรึกษา หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มี ลักษณะงานคล้ายกันในห้างหุ้นส่วนบริษัท
(7) เป็นทนายความหรือประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างอื่นหรือดำรงตำแหน่ง หรือประกอบการใดๆอันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่ ก.ศป. กำหนด
หากผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้นผู้ใดมีลักษณะ ต้องห้ามข้างต้น ผู้นั้นต้องลาออกจากการเป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามหรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อได้ว่าตนได้เลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือการใดๆอันมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวก่อนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้น
ซึ่งเมื่อพิจารณาคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดข้างต้นแล้ว ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้นจึงไม่จำต้องมีคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่มีคุณวุฒิในสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ดี ผู้มีคุณวุฒิดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติตามประกาศ ก.ศป. เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ดังนี้
ข้อ 1 ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นต้อง
(1) เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ หรือเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาสังคมศาสตร์อื่นๆ โดยได้รับปริญญาสังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์ ที่เน้นการศึกษาวิชาเกี่ยวกับนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง หรือสังคมวิทยาจากสถานศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่ ก.พ. รับรอง และ
(2) ผ่านการอบรมหลักสูตรพนักงานคดีปกครองหรือหลักสูตรกฎหมายปกครองหรือหลักสูตรกฎหมายมหาชนที่ ก.ศป.รับรอง
ข้อ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นต้อง
(1) เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปและดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งบริหารที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารตามพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็น ข้าราชการ พ.ศ. 2538 มาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี และ
(2) ผ่านการอบรมหลักสูตรพนักงานคดีปกครองหรือหลักสูตรกฎหมายปกครองหรือหลักสูตรกฎหมายมหาชนที่ ก.ศป. รับรอง
อนึ่ง ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศ ก.ศป.ดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ทรงคุณวุฒิข้างต้นจะได้รับยกเว้น ไม่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพนักงานคดีปกครอง หรือหลักสูตรกฎหมายปกครอง หรือหลักสูตรกฎหมายมหาชนที่ ก.ศป. รับรอง และหากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิเกิดขึ้น ก.ศป. เป็น ผู้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=585
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 07:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|