|
 |
การบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ทรงอิทธิพลในประเทศไทย 3 มกราคม 2548 17:27 น.
|
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ปัญหาที่บ่อนทำลายประเทศชาติมาเป็นเวลานานและยังไม่หมดสิ้นไปในปัจจุบัน คือปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาผู้ทรงอิทธิพล ปัญหาเหล่านี้ได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และยากที่จะปราบปรามให้หมดสิ้นไปได้ การที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศนโยบายในการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง จนปรากฏผลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ได้สร้างความชื่นชอบแก่คนไทยในระดับหนึ่ง เพราะยาเสพติดได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทย และคนไทยมานานหลายศตวรรษ และยังคงสร้างปัญหาอยู่ต่อไปถ้าไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังสำหรับนโยบายในการปราบปรามผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องของรัฐบาลในการปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงของประเทศนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงขานรับนโยบายน้อย แต่ในความเป็นจริงคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีคำถามค้างคาใจกับผลสำรวจของนโยบายนี้
สำหรับความหมายของ "ผู้ทรงอิทธิพล" นั้น หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท. 0207/ว.33 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ได้ให้ความหมาย "ผู้ทรงอิทธิพล"ไว้ว่า คือผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง เป็นผู้ใช้ จ้างวาน สนับสนุน โดยกระทำงานอยู่เหนือกฎหมาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย กดขี่ ข่มเหง รังแกประชาชน บ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และการกระทำดังกล่าวเป็นปกติธุระ และได้กำหนดพฤติการณ์ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในข่ายเป็นผู้ทรงอิทธิพลไว้ว่า
1)ตั้งบ่อนการพนัน เป็นปกติธุระโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ
2)ตั้งซ่องโสเภณี สถานบริการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยการทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่น บังคับ ขู่เข็ญ หรือหลอกลวงหญิง หรือเด็กเพื่อมาค้าประเวณี
3)ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การขุดแร่เถื่อน
4)สมคบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือใช้อิทธิพลของทางราชการ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
5)เรียกค่าคุ้มครองบุคคล ทรัพย์สิน หรือกิจการต่างๆ เช่น รถเมล์ รถประจำทาง รถโดยสาร หรือเรือโดยสาร
6)ประพฤติตนเป็นนักเลงอันธพาล หรือเป็นธุระจัดหามือปืนรับจ้าง หรือหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน รังแก ข่มเหง หรือกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิชอบให้ผู้อื่นเกรงกลัว
7)สะสมอาวุธ เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ไม่ว่าชนิดใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้เพื่อการค้า หรือการตระเตรียมการกระทำความผิดอย่างอื่น
8)เป็นผู้ค้า หรืออยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดรายใหญ่
9)เป็นผู้ค้าของเถื่อน ของหนีภาษี
10)เป็นนายทุนที่แสวงหาผลประโยชน์จากทางราชการโดยมิชอบ เช่น กักตุนสินค้า หรือผูกขาดการค้า โดยเอารัดเอาเปรียบประชาชน เพื่อค้ากำไร หรือขึ้นราคาโดยมิชอบ
11)ลักลอบฆ่าสัตว์ และค้าสัตว์ผิดกฎหมาย
12)ใช้อำนาจ หรือ อิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่ แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
นอกจากนี้ หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ มท. 0214/206 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2534 เรื่องการสำรวจรายชื่อผู้มีอิทธิพล และมาตรการลดผู้มีอิทธิพล ได้อธิบายพฤติการณ์ของ ""ผู้ทรงอิทธิพล"ไว้ในลักษณะกว้างๆ ดังต่อไปนี้
1) เป็นบุคคลซึ่งตนเอง หรือบริวารสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยมีพฤติการณ์แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น เป็นผู้ค้า หรืออยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดรายใหญ่ การค้าของเถื่อน บ่อนการพนัน และเจ้ามือสลากกินรวบ คนมีฐานะร่ำรวยสามารถสร้างอิทธิพลในทางการเมือง ในหมู่ราชการ และประชาชน
2) นักการเมืองท้องถิ่น และกลุ่มการเมืองระดับชาติที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
3) กลุ่มเศรษฐกิจนายทุนที่แสวงหาผลประโยชน์จากทางราชการโดยมิชอบ เช่น กักตุนสินค้า หรือผูกขาดทางการค้า โดยเอารัดเอาเปรียบประชาชน
สำหรับนโยบายในการปราบปรามผู้ทรงอิทธิพลของรัฐบาลในครั้งนี้ ได้มีการแบ่งกลุ่มพฤติกรรมผู้มีอิทธิพลออกเป็น 15 กลุ่มด้วยกันคือ 1) การฮั้วประมูล, 2)การรับผลประโยชน์ของแก๊งคุมวินมอเตอร์ไซด์, 3)การคุมบ่อนการพนัน, 4)การค้าหวยใต้ดิน, 5)การต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว, 6)การคุมตู้เกมส์ไฟฟ้า, 7)การเรียกค้าคุ้มครองจากร้านค้า, 8)คุมสถานบริการ, 9)แก๊งทวงหนี้, 10)แก๊งบริการทางเพศหญิงและเด็ก, 11)ซุ้มมือปืน, 12)แก๊งลักลอบขนของหนีภาษี, 13)ขบวนการลักลอบนำคนออกนอกประเทศ หรือ ช่วยคนหลบหนีเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย, 14)ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม, 15)บุกรุกที่สาธารณะ ซึ่งทั้ง15กลุ่มนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมความหมายของผู้ทรงอิทธิพลที่แท้จริง โดยเฉพาะผู้ทรงอิทธิพลที่มาจากนักการเมือง
จากการวิจัยของศูนย์ข้อมูลอาชญากรรม และการฟอกเงิน "ได้แยกประเภทกลุ่มของผู้ทรงอิทธิพลออกเป็น 4 กลุ่มคือ
1.กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลระดับท้องถิ่น ซึ่งมักจะมาจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ประกอบธุรกิจอาชญากรรมระดับพื้นฐาน เช่นคุมหวยเถื่อน บ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี หรือเป็นแขนเป็นขาให้กับนักการเมืองระดับชาติ บางครั้งก็พัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่นักการเมืองระดับชาติ
2.กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลประเภทเป็นข้าราชการ หรือบุคคลผู้มีสี กลุ่มนี้มักจะรับส่วยจากผู้ประกอบอาชญากรรมประเภทต่างๆ รับจ้างทวงหนี้ รับจ้างคุมสถานบันเทิง รับทำงานเป็นมือปืนรับจ้าง เรียกค่าคุ้มครอง ข่มขู่ รีดไถ กลุ่มนี้กฎหมายบ้านเมืองมักจะเข้าไปไม่ถึงเพราะมีภูมิคุ้มกันสูง
3.กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งมักจะประกอบธุรกิจการค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ ผิดกฎหมาย โดยมีกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือนักการเมืองส่วนท้องถิ่นหนุนหลัง บางครั้งกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มนี้มักจะสนับสนุนนักการเมืองระดับชาติอยู่ด้วย
4.กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลซึ่งพัฒนาตนเองมาจากนักเลงหัวไม้ คุมบ่อนการพนัน คุมซ่องโสเภณี เป็นเจ้ามือหวยเถื่อน ในที่สุดด้วยบารมีทางการเงินได้นำไปสู่ความเป็นผู้มีอิทธิพล บางครั้งก็มีโอกาสไต่เต้าไปเป็นนักการเมืองระดับชาติด้วยก็มี สถิติการจับกลุ่มผู้กระทำความผิดในกลุ่มที่ 4 นี้ได้แก่
ประเภทความผิด ปี พ.ศ.2544 ปี พ.ศ.2545
บ่อนการพนัน 8,492 ราย
(32,057 คน) 9,533 ราย
(32,677 คน)
สถานบริการ 1,485 ราย
(95% ตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต
5%ดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมาย) 969 ราย
(90%ตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต
10%ดำเนินการฝ่าฝืน กฎหมาย)
การค้าประเวณี 8,457 ราย
(8,588 คน) 9,538 ราย
(9,684 คน)
ซีดี เทป ภาพยนต์ลามก และสิ่งลามกอื่นๆ 1,536 ราย
(1,568 คน) 1,452 ราย
(1,452 คน)
วิเคราะห์กฎหมายที่ใช้บังคับต่อผู้ทรงอิทธิพลในประเทศไทย :
เนื่องจากลักษณะของการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลส่วนใหญ่แล้ว เป็นความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้นกฎหมายที่สามารถนำมาใช้บังคับได้แก่
1.ประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของความผิดที่เกี่ยวกับความสุขของประชาชน ความผิดฐานอั้งยี่ (มาตรา 209) และความผิดฐานซ่องโจร (มาตรา 210) และถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมด้วยก็จะมีบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ บัญญัติเป็นความผิดและลงโทษไว้
2.กฎหมายภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสรรพากร ศุลกากร หรือสรรพสามิต ก็สามารถนำมาลงโทษผู้ทรงอิทธิพลได้ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ ประกอบธุรกิจอาชญากรรม โดยใช้ธุรกิจอื่นบังหน้า ดังนั้นการดำเนินการทางภาษีที่ถูกต้องจึงเกิดขึ้นไม่ได้
3. กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เนื่องจากข้อจำกัดสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้มีอิทธิพลของนานาประเทศ คือ การพิสูจน์ความผิด เพราะผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงมักจะมีวิธีที่แนบเนียนในการปกปิดความผิดของตน ไม่ว่าจะเป็นการตัดตอนการกระทำความผิด การกำจัดพยาน การให้ผลประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ในขณะที่จะลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดได้นั้น จะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ผู้นั้นได้กระทำความผิดจริง ดังนั้นแนวความคิดในการทำลายทรัพย์สินขององค์กรอาชญากรรมและผู้ทรงอิทธิพลจึงเกิดขึ้น มาตรการนี้ไม่ต้องพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำความผิด แต่เจ้าทรัพย์ หรือผู้ครอบครองทรัพย์ที่มูลเหตุเชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิด ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ที่ไปที่มาของทรัพย์ตน พิจารณาความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งประกอบด้วยความผิดมูลฐาน 7 ความผิดมูลฐาน คือ 1) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 2) ความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิง-ค้าเด็ก 3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน 4) ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกงซึ่งกระทำโดยผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจสั่งการของสถาบันการเงิน 5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม 6) ความผิดฐานกรรโชกรีดเอาทรัพย์โดยอ้างอำนาจอั้งยี่ ซ่องโจร 7) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และมีความผิดมูลฐานที่มีการขอเพิ่มเติมอีก 5 ความผิดมูลฐานคือ 1) การเปิดบ่อนการพนันผิดกฎหมาย 2) การค้าอาวุธสงคราม 3)การค้ามนุษย์ 4)การหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ 5) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนความผิดฐานก่อการร้ายนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาของสภา (ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรเพิ่มเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย เพราะอาชญากรรมข้ามชาติกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย มากกว่าปัญหาเรื่องการก่อการร้าย) เมื่อพิจารณาความผิดมูลฐานที่มีอยู่ 7 ความผิดมูลฐาน และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีก 5 ความผิดมูลฐานแล้วเห็นว่า สามารถครอบคลุม ลักษณะความผิดทั้ง 15 ความผิดที่ใช้เป็นฐานดำเนินการในเรื่องของผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งถ้าได้มีการดำเนินการด้วยกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างจริงจัง ก็สามารถทำลายเครือข่ายเกี่ยวกับเงินได้ขององค์กรอาชญากรรมที่มีผู้ทรงอิทธิพลอยู่เบื้องหลังลงได้ เพราะปราศจากเงินเหล่านี้แล้วการดำรงอยู่ของผู้มีอิทธิพลก็คงจะเป็นไปได้ยาก เป็นการทำลายเครือข่ายผู้ทรงอิทธิพลทางอ้อมนั่นเอง
สืบเนื่องการลงนามรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ค.ศ.2000 ของรัฐบาลไทย ทำให้ประเทศไทยเกิดความผูกมัดที่จะต้องอนุวัติกฎหมายภายในเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับนี้ และหนึ่งในกฎหมายดังกล่าวนี้ก็คือ พระราชบัญญัติองค์กรอาชญากรรม พ.ศ.... ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ใช้ดำเนินการกับองค์กรอาชญากรรมภายในประเทศ และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติโดยตรง โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้จะใช้มาตรการพิเศษเพื่อดำเนินการกับองค์กรอาชญากรรม ตามแบบกฎหมาย RICO และ CCE ของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น การถือเป็นความผิดตั้งแต่ขั้นสมคบ, การผลักภาระการพิสูจน์ในเรื่องทรัพย์สินแก่องค์กรอาชญากรรมและผู้ทรงอิทธิพล, การฟ้องคดีธุรกิจอาชญากรรมหลายประเภทขององค์กรอาชญากรรมและผู้ทรงอิทธิพล สามารถฟ้องหลายๆคดีพร้อมกันและใช้พยานหลักฐานร่วมกันได้, การจัดให้มีการสืบพยานล่วงหน้าในคดีองค์กรอาชญากรรมและผู้ทรงอิทธิพล เพื่อลดความกดดันของพยาน, การกำหนดให้ราษฎรสามารถเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดองค์กรอาชญากรรม และผู้ทรงอิทธิพล ถ้าตนเองได้รับความเสียหายโดยตรง จะทำให้ราษฎรมีอำนาจในการแจ้งคดีร้องทุกข์ สามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้ จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากขึ้น เพราะประชาชนจะคอยสอดส่องดูแลความสงบสุขในสังคมของเขาได้ด้วยตัวเอง และการให้ประชาชนฟ้องได้เองจะเป็นการลดการครอบงำเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ส่วนหนึ่งด้วย
เป็นที่คาดหวังกันว่า นโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพลของรัฐ จะสามารถประสบความสำเร็จพอๆ กับนโยบายปราบปรามยาเสพติด ถ้ารัฐบาลสามารถขจัดประโยคต่อไปนี้ออกจากแรปราบปรามได้ คือ "ลูบหน้าปะจมูก" , "พี่ไม่ฆ่าน้อง" , และ "แมลงวันไม่ตอมกันเอง" มิฉะนั้นแล้วการปราบปรามผู้ทรงอิทธิพลในครั้งนี้ ก็จะสามารถดำเนินการได้เฉพาะหัวหน้าบ่อน หัวหน้าซ่องโสเภณี หรือหัวหน้าผู้คุมมอเตอร์รับจ้างเท่านั้น.
เชิงอรรถ
*. ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมทางธุรกิจ และการฟอกเงิน, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=565
เวลา 21 เมษายน 2568 18:32 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|