|
 |
การใช้ดุลพินิจ ที่ฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญ 3 มกราคม 2548 17:27 น.
|
ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ ๒๔ เม.ย. ๔๖ มี สว. จากจังหวัดแม่ฮ่องสอนพยายามชี้แจงต่อที่ประชุมและต่อสื่อมวลชนโดยสรุปว่า พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภา ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมวุฒิสภาในวันเวลาดังกล่าว ไม่มีอำนาจหน้าที่ ๆ สามารถดำเนินการประชุมในฐานะประธานได้ ทั้งนี้เพราะได้พ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๘ เม.ย. ๔๖ หากยังคงดำเนินการประชุมต่อไปจะทำให้ผลการประชุมวุฒิสภาในวันนั้นเป็นโมฆะ และได้หยิบยกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกา มาสนับสนุนโดยสรุปว่า การประกาศว่าจะออกจากตำแหน่งก็ถือว่าพ้นจากตำแหน่งแล้วตั้งแต่วันที่ประกาศ จนมีสมาชิก สว. ท่านอื่น ๆ ทำการประท้วง เกิดความวุ่นวายจน สว. จังหวัดแม่ฮ่องสอนผู้เสนอขอหารือที่ประชุมต้องเดินออกประท้วงไม่เข้าประชุม โดยข้อเท็จจริงนี้ได้ปรากฏแจ้งแล้วต่อสื่อมาลชนเมื่อปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา
คำถามมีว่า การใช้ดุลพินิจหรือวินิจฉัยว่า การทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภา พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร จะพ้นจากตำแหน่ง "ประธานวุฒิสภา" นั้นมาจากฐานทางกฎหมายอะไร.? มีรายละเอียดและเงื่อนไขเป็นอย่างไร..? และ ใครมีหน้าที่รับผิดชอบต่อเรื่อง การเข้าดำรงตำแหน่ง หรือ พ้นจากตำแหน่งอย่างไร ? ในกรณีนี้..
องค์กรวุฒิสภา อันประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภา นั้นต่างมีนัยสัมพันธ์ทางกฎหมายต่อกัน เพราะลำพังมีแต่ชื่อองค์กรวุฒิสภาปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีสมาชิกวุฒิสภาอยู่เลยก็ไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นองค์กรวุฒิสภาซึ่งจะมาทำหน้าที่อะไรได้ ขณะเดียวกันการมี สมาชิกวุฒิสภา แต่ขาดรูปแบบ กลไก อำนาจหน้าที่ในการทำงานขององค์กรเอาไว้ การทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาก็จะไม่ก่อผลใด ๆ ในทางกฎหมายเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นความสัมพันธ์ที่มีต่อกันของทั้ง "องค์กรวุฒิสภา" และ "สมาชิกวุฒิสภา" จึงมีรากฐานหรือบ่อเกิดที่มาร่วมกันจาก "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นกติกาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีฐานะเป็นกฎกติกา หรือกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตัวรัฐธรรมนูญจึงเป็นที่มาของหลักการ เงื่อนไข อำนาจหน้าที่ หรือข้อจำกัดใด ๆ ตั้งแต่การก่อตั้ง องค์กร บุคคลซึ่งจะมาทำหน้าที่ในองค์กร การยกเลิกหรือพ้นจากหน้าที่ กระบวนวิธีการเข้าสู่อำนาจหน้าที่ และ พ้นจากอำนาจหน้าที่ในองค์กรวุฒิสภา ล้วนแล้วแต่มาจากรัฐธรรมนูญแทบทั้งสิ้น กรณีอาจจะอาศัยจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองมาเป็นหลักในการพิจารณาได้ หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันเองก็ยืนยันหลักการสำคัญที่ว่านี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติไว้ โดยนัย มาตรา ๗
ผลจากที่รัฐธรรมนูญถือเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรวุฒิสภา และ สมาชิกวุฒิสภา ฉะนั้นการกระทำใด ๆ เพื่อให้เกิดผลในทางกฎหมาย หรือในทางการเมืองใด ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร จึงจำต้องอาศัยหลักการพิจารณา การใช้ดุลยพินิจ วินิจฉัย ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ เป็นหลักพื้นฐาน
กรณีข้อถกเถียงในอำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา ดังกล่าวมาข้างต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติให้การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานวุฒิสภาโดยอาศัย มติของที่ประชุมวุฒิสภา และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา ๑๕๑ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง จนถึงวันก่อนวันเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาใหม่ ตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๕๒ วรรคสอง และ ในกรณีที่จะต้องพ้นวาระในการดำรงตำแหน่งก่อนครบวาระ มาตรา ๑๕๒ วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ใน ๔ กรณีคือ (๑) ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก (๒) ลาออกจากตำแหน่ง (๓) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น และ (๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
การใช้ดุลพินิจ เพื่อวินิจฉัย กรณีการมีอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานวุฒิสภา หรือไม่ ดังที่ สว. จากแม่ฮ่องสอน ยกขึ้นมาพิจารณาเมื่อวันที่ ๒๔ เม.ย. ๔๖ หรือกรณีข้อถกเถียงเรื่องปัญหาการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ของประธาน พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาข้างต้น คือเป็นไปตาม เงื่อนไขในมาตรา ๑๕๑ มาตรา ๑๕๒ วรรคสอง และ วรรคสามหรือไม่ หรือกรณีหากไม่อาจเข้าเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันเลย ก็ต้องไปพิจารณาตามมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญ ฯ คือว่าได้มีประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างไร
จะยกเอาความเห็นของ คณะกรรมการกฤษฏีกา มาวินิจฉัยว่า พล.ต. มนูญกฤติ รูปขจร ประธานวุฒิสภา ได้พ้นจากตำแหน่งนี้ไปแล้ว ตามความเข้าใจของ สว. จากแม่ฮ่องสอน หรือ สว. บางคนที่อาจจะคิดเห็นไปในทำนองนั้น ได้หรือไม่ และจะมีผลอย่างไร
ความเข้าใจหรือการใช้ดุลยพินิจ วินิจฉัย ถึงการพ้นจากตำแหน่งของประธานวุฒิ อันเป็นข้ออ้างตามมา ว่าไม่มีอำนาจหน้าที่นั่งเป็นตำแหน่งประธาน ของ สว. จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นความเข้าใจและเลือกใช้ดุลยพินิจ วินิจฉัยในท้องเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อันเกิดจากความเข้าใจที่สับสนปนเปในทางกฎหมาย ที่จับต้นชนปลายไม่ถูก บางทีอาจจะมาจากความตั้งใจ..ที่ป่วยก็ได้ ทั้งนี้เพราะ ประการแรก เป็นการยกเอาเพียงความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่งมีฐานะเป็นเพียง "ความเห็น" ของหน่วยงานที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล มามีอำนาจบังคับเหนือ (over rule) รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๑ มาตรา ๑๕๒ วรรคสอง และ วรรคสาม ที่ได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์เงื่อนไขการพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาเอาไว้อย่างชัดแจ้ง การพ้นจากตำแหน่งไปโดยอัตโนมัติแทบไม่ต้องพิจารณาเป็นประเด็นเลย ในเมื่อเหตุแห่งที่มาในการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย นอกจากนี้กระบวนการออกหรือพ้นไปจากตำแหน่งของประธานวุฒิสภา ยังต้องมีกระบวนการ ขั้นตอน ตั้งแต่การแสดงเจตนาเป็นหนังสือ ต่อบุคคลผู้มีหน้าที่รับเจตนา และต้องมีการกราบบังคมทูลเพื่อให้พ้นจากตำแหน่งอีกด้วยตามมา กรณีอย่าว่า แต่เป็นเพียงความเห็นเลย ถึงแม้ จะเป็นกฎหมาย ก็ไม่อาจมามีผลบังคับอยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้
ประการที่สอง การใช้กฎเกณฑ์ของรัฐมาปรับตามท้องเรื่องแห่งกรณี เพื่อก่อตั้งหรือให้สิ้นสุดลงในตำแหน่งหน้าที่ ขององค์กรทางการเมือง อย่างประธานวุฒิสภา กับ ตำแหน่งอื่น ๆ ในทางการเมืองนั้นมีความแตกต่างกัน ตามลักษณะความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน สุดแต่ที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศจะได้บัญญัติเอาไว้อย่างไร คงไม่อาจถือเอาหลักมาตรฐานหรือขั้นตอนการพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ หรือตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ มาปรับใช้กับตำแหน่งประธานวุฒิสภาซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในองค์กรที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติความแตกต่างในการพ้นจากหน้าที่ไว้ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการพ้นจากตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ กรณีประธานวุฒิสภานั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง จึงไม่เปิดโอกาสให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์อะไรขึ้นมาใหม่ หรือ กรณีนำบทกฎหมาย วิธีปฏิบัติอื่น ๆ นอกรัฐธรรมนูญมาใช้ได้ กรณีการจะนำหลักการอื่น ๆ นอกรัฐธรรมนูญมาปรับใช้ อาจมีได้ในกรณีเดียวคือ ให้สามารถนำประเพณีทางการปกกครอง โดยนัย มาตรา ๗ มาบังคับใช้เท่านั้น แต่ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่า ไม่สามารถหาหลักการหรือบทบัญญัติใด ๆ ในรัฐธรรมนูญมาปรับใช้ได้ซึ่งกรณีของการพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาหาเป็นเช่นนั้นไม่ ที่สำคัญการพ้นจากตำแหน่งของประธานวุฒิสภา นอกวิถีแนวทางตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ปรากฎว่ามีประเพณีการปกครองที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่อย่างใด.. ยิ่งการหมุนเวียนสลับปรับเปลี่ยน ลักษณะสมบัติผลัดกันชม ในตำแหน่งประธานวุฒิสภาด้วยแล้ว กลับยิ่งไกลเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นประเพณีการปกครอง ตามนัยมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน อันจะสามารถยกขึ้นมาปรับใช้ได้โดยชอบ
สิ่งสำคัญ ประการสุดท้าย "การแสดงเจตนา" เพื่อการลาออกจากตำแหน่งสูงสุดในองค์กรวุฒิสภา จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญเป็นพื้นฐานที่จะขาดเสียมิได้คือ ต้องมาจากความสมัครใจ ปราศจาการบังคับขู่เข็ญ และเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง มุ่งประสงค์ต่อผลที่แสดงเจตนานั้น ๆ อันถือว่าเป็นองค์ประกอบจากฝ่ายผู้แสดงเจตนา และ ผลจากการแสดงเจตนานั้น ต้องมีไปถึงผู้มีอำนาจหน้าที่โดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ในอันที่จะรับเจตนาเพื่อการลาออกจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ
กล่าวโดยสรุปการจะพิจารณาให้ได้ข้อยุติว่า ประธานวุฒิสภาพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ แล้วหรือไม่ อย่างไร จึงจำต้องมาจากการใช้ดุลยพินิจ การวินิจฉัย จากหลักการทางกฎหมายที่ถูกที่ถูกทาง ไม่เป็นการจับแพะชนแกะ โดยต้องมีหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งหลักที่ว่านั้นคือ...รัฐธรรมนูญฉบับปัจุบันนั่นเอง การสร้างหลักการใด ๆ ใหม่ เพื่อการแก้ปัญหานอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ แต่ไม่เกิดผลใด ๆ ในทางกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะสามารถอ้างสิทธิได้โดยชอบ
เชิงอรรถ
*. บทความ ตีพิมพ์ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 46
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2546
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=564
เวลา 21 เมษายน 2568 18:34 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|