|
|
คดีการดักฟังโทรศัพท์และสิทธิในการมีชีวิตส่วนตัว โดยนางสาวพิมพ์ดาว จันทรขันตี 28 ธันวาคม 2547 12:47 น.
|
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการพิจารณาคดีคดีหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากคนฝรั่งเศสโดยทั่วไป นั่นคือ คดีการดักฟังโทรศัพท์ของหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย ( la cellule antiterroriste) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีในขณะนั้น คือ ประธานาธิบดี François Mitterrand และเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีเอง ในคดีนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดักฟังโทรศัพท์จำนวน 11 รายถูกฟ้องในข้อหาละเมิดชีวิตส่วนตัวของผู้อื่น (latteinte à l vie privée) นักหนังสือพิมพ์บางท่านกล่าวว่าคดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้ง ในช่วงที่รัฐอยู่ในภาวะสงบสุขที่ผู้แทนระดับสูงของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดักฟังโทรศัพท์ต้องไปให้ปากคำแก่ศาล ยิ่งไปกว่านั้น คดีนี้ใช้เวลาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่มีการเปิดเผยว่ามีการดักฟังโทรศัพท์ของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายโดยหนังสือพิมพ์ Libération ในปีค.ศ. 1993 จนกระทั่งคดีสามารถนำขึ้นสู่ศาลเพื่อการตัดสินได้ในปี ค.ศ. 2002 ส่วนหนึ่งเพราะในการสืบสวนคดี หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยกเอาความลับเพื่อความมั่นคงของประเทศ (le secret défense) มาเป็นข้ออ้างเพื่อมิต้องให้ข้อมูลกับฝ่ายตุลาการ
เหตุผลที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดักฟังโทรศัพท์ถูกดำเนินคดีในครั้งนี้คือ หน่วยต่อต้านการก่อการร้ายได้ทำการดักฟังโทรศัพท์บุคคลหลากหลายอาชีพ ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายแต่อย่างใด อาทิเช่น ทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง และนักแสดง เป็นจำนวนอย่างน้อย 150 ราย ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 1983 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1986 โดยปราศจากมาตรการที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ถูกดักฟัง นอกไปจากนี้ การดังฟังโทรศัพท์ของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายยังไม่ได้รับการควบคุมตรวจสอบจากหน่วยงานใดทั้งสิ้น การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตส่วนตัวของผู้ที่ถูกดังฟัง
ส่วนสาเหตุที่บุคคลบางกลุ่มถูกดักฟังบทสนทนาทางโทรศัพท์ ทั้งนี้เป็นเพราะมีการเกรงกันว่า บุคคลเหล่านี้จะนำเรื่องบางเรื่อง หรือความลับบางอย่าง อาทิ เช่น เรื่องของ Mazarine ลูกสาวนอกสมรสของประธานาธิบดี François Mitterrand ปัญหาสุขภาพของประธานาธิบดีที่ปกปิดว่าตนเองเป็นมะเร็ง ข้อเท็จจริงของคดี les Irandais de Vincennes ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมผู้ก่อการร้ายชาวไอร์แลนด์พร้อมหลักฐานที่ประกอบไปด้วยระเบิดและอาวุธปืนจำนวนหนึ่ง แต่ปรากฏว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำขึ้น ไปเผยแพร่แก่ประชาชน
ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานบางประการทำให้สามารถระบุได้ว่าการดักฟังบทสนทนาทางโทรศัพท์ของนักหนังสือพิมพ์บางราย ได้รับคำสั่งโดยตรงมาจากตัวประธานาธิบดี François Mitterrand เอง เพราะมีลายเซ็นรับทราบของท่านประธานาธิบดีปรากฏอยู่บนเอกสาร แต่กระนั้นตัวประธานาธิบดีกลับปฏิเสธต่อหน้าผู้สื่อข่าวที่ไปทำการสัมภาษณ์ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี (lElysée) ว่าทำเนียบประธานาธิบดีไม่เคยใช้ระบบการดักฟังโทรศัพท์และโดยส่วนตัวแล้วตนเองไม่เคยได้อ่านบทสนทนาทางโทรศัพท์เหล่านั้นเลย หลังจากนั้นประธานาธิบดีได้พูดตัดบทเพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวที่ไปสัมภาษณ์มีโอกาสถามคำถามที่เกี่ยวกับการดักฟังโทรศัพท์อีกต่อไป โดยบอกว่า ถ้าทราบล่วงหน้าว่าจะมีคำถามเกี่ยวกับคดีนี้ ก็คงไม่ตอบรับให้มีการสัมภาษณ์เกิดขึ้น
ท่าทีและคำพูดดังกล่าวของประธานาธิบดี François Mitterrand ถือเป็นการโกหกที่ร้ายแรงของผู้นำรัฐ ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับคดี Watergate ของสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดี Richard Nixon แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังจากที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดักฟังโทรศัพท์ได้ถูกเปิดโปงออกมา อย่างไรก็ตามการเปิดเผยข้อมูลว่ามีการดักฟังโทรศัพท์ของหน่วยงานของทำเนียบประธานาธิบดีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคฝ่ายขวาได้รับชัยชนะในเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีขึ้นในปี 1986 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลผสม ( la cohabitation) ระหว่างประธานาธิบดีที่มาจากพรรคฝ่ายซ้ายและรัฐบาลที่มาจากพรรคฝ่ายขวา และจะนำมาซึ่งจุดสิ้นสุดของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายในเดือนกันยายน ค.ศ. 1988
การดักฟังโทรศัพท์โดยไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้ที่ถูกดังฟัง และขาดการควบคุมตรวจสอบโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ดังที่หน่วยต่อต้านการก่อการร้ายได้กระทำนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในการที่จะได้รับความเคารพในชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัว ( larticle 8 sur le droit au respect de la vie privée et familiale de la Convention de sauvegarde des Droits de lhomme et des Libertés fondamentales) มาตรา 8 ระบุว่า หากฝ่ายปกครองหรือ หน่วยงานของรัฐจะเข้าไปแทรกแซงในการใช้สิทธิดังกล่าว การแทรกแซงต้องได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐบัญญัติ และการแทรกแซงจะต้องเป็นมาตรการที่จำเป็นต่อความความปลอดภัยของประเทศ(sécurité nationale), ต่อความมั่นคง (sûreté publique), ต่อความปลอดภัยทางเศรษฐกิจของประเทศ (bien-être économique du pays), ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและการป้องกันอาชญากรรม ( défense de lordre et prévention des infractions pénales), ต่อการคุ้มครองสุขภาพและศีลธรรม (protection de la santé ou de la morale), และต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น (protection des droits et libertés dautrui)
กฎหมายภายในของฝรั่งเศสแบ่งการดักฟังโทรศัพท์ออกเป็น 2 ประเภทคือ การดักฟังโดยฝ่ายตุลาการ (Les écoutes judiciaires) และการดักฟังโดยฝ่ายปกครอง (Les écoutes administratives) เพราะฉะนั้นการดักฟังโทรศัพท์โดยบุคคลทั่วไปเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมาตราที่ 226-5 ของประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส มีโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 45000 ยูโร ปัจจุบันนี้รัฐบัญญัติที่เกี่ยวกับการดักฟังโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นโดยฝ่ายตุลาการหรือโดยฝ่ายปกครองคือ รัฐบัญญัติที่ 91-646, 1991-07-10 หรือเรียกสั้นๆ ว่ารัฐบัญญัติ Rocard
ในส่วนของ Les écoutes judiciaires แต่เดิมนั้นระบบการดังฟังโทรศัพท์โดยฝ่ายตุลาการของฝรั่งเศสยังขาดความชัดเจน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขอบเขตอำนาจที่ฝ่ายตุลาการสามารถกระทำได้ ในส่วนของการกระทำผิดที่ส่งผลให้สามารถใช้การดักฟังเข้ามามีส่วนในการสืบสวนสอบสวน และในส่วนของวิธีการดักฟังเอง เป็นเหตุให้ได้รับการลงโทษจากศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (La Cour européenne des droits de lhomme) ในคดี KRUSLIN c. France และในคดี HUVIG c. France เมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1990 อันเป็นที่มาของการแก้ไขกฎหมายภายใน โดยรัฐบัญญัติ Rocard ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1991 และถูกนำไปผนวกเข้าในประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาคดีอาญามาตราที่ 100 ถึง 100-7
เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน การดักฟังโทรศัพท์โดยฝ่ายตุลาการ มีข้อกำหนดอย่างคร่าวๆ ที่ต้องได้รับการเคารพ ดังต่อไปนี้ การดักฟังต้องได้รับการสั่งการจากผู้พิพากษาผู้ทำการสืบสวนคดี (juge dinstruction) หรือนับตั้งแต่รัฐบัญญัติ Perben II จะต้องได้รับการอนุญาตจากอัยการ (magistrat du parquet) ในส่วนของการทำการสืบสวนชั้นต้น (enquêtes préliminaires) การกระทำผิดที่ส่งผลให้มีการดักฟังทางโทรศัพท์ได้คือ ความผิดขั้นอุกฤษโทษ หรือความผิดขั้นมัชฌิมโทษที่มีโทษจำคุกอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป ผู้พิพากษาผู้ทำการสืบสวนคดีสามารถอนุญาตให้มีการดักฟังโทรศัพท์ได้ โดยจะต้องทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรและให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการดักฟัง ระบุระยะเวลาของการดักฟังที่ไม่สามารถเกิน 4 เดือน แต่สามารถขอใหม่ได้อีกครั้งในระยะเวลาเท่าเดิม คือ 4 เดือน ผู้ทำการดักฟังจะต้องทำรายงานการปฏิบัติการออกมา เทปบันทึกการดักฟังจะต้องถูกตีตราประทับและจะต้องถูกทำลายเมื่อคดีหมดอายุความ
เมื่อกล่าวถึง การดักฟังโทรศัพท์โดยฝ่ายปกครอง (Les interceptions de sécurité ou les écoutes administratives) แต่เดิมนั้น กล่าวคือ ก่อน Loi Recard ฝ่ายปกครองสามารถกระทำได้โดยปราศจากรัฐบัญญัติมารองรับ ทำให้มีการดักฟังเกิดขึ้นอย่างมากมาย ส่งผลให้สิทธิในการมีชีวิตส่วนตัวของผู้ถูกดังฟังได้รับการละเมิดอย่างร้ายแรง เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดละการละเมิดขึ้นอีก และเพื่อให้กฎหมายภายในของฝรั่งเศสเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับ la Convention de sauvegarde des Droits de lhomme et des Libertés fondamentales ฝ่ายนิติบัญญัติจึงได้ทำการออกรัฐบัญญัติ Rocard เพื่อระบุถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขที่หน่วยงานที่ทำการดักฟังโทรศัพท์จะต้องปฎิบัติตามเพื่อให้การดักฟังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดังฟัง
เงื่อนไขดังกล่าวประกอบไปด้วย การดักฟังบทสนทนาทางโทรศัพท์จะต้องได้รับการอนุมัติโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรและระบุถึงเหตุผลของการอนุมัติให้มีการดักฟังได้ โดยก่อนหน้านั้นจะต้องมีคำเสนอขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมระบุถึงเหตุผลในการดักฟังโทรศัพท์มาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีที่ดูแลด้านศุลกากร ทั้งนี้เพราะฝ่ายนิติบัญญัติต้องการให้มีการปรึกษาหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีถึงความจำเป็นในการดักฟังโทรศัพท์ เพื่อหลีกเลี่ยงการดักฟังโทรศัพท์ เถื่อน ( les écoutes sauvages) ที่รัฐมนตรีมักกระทำกันโดยไม่มีการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ
นอกไปจากนี้รัฐบัญญัติได้ระบุว่า การดักฟังโทรศัพท์สามารถกระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อคุ้มครองขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจของชาติ เพื่อป้องกันการก่อการร้ายและการก่ออาชญากรรม
เทปที่บันทึกบทสนทนาทางโทรศัพท์จะต้องถูกระบุไว้ในบัญชีที่จัดทำขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี บัญชีดังกล่าวจะครอบคลุมรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดักฟัง และจะต้องถูกทำลายภายใน 10 วันหลังจากที่มีการดักฟังเกิดขึ้น สิ่งเดียวที่สามารถถูกถอดออกมาเป็นข้อความและสามารถเก็บรักษาไว้ได้คือ เทปบันทึกที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของการขอดักฟังโทรศัพท์ เช่น บทสนทนาที่พูดถึงการเตรียมการเพื่อกระทำการก่อการร้ายซึ่งเกี่ยวพันกับวัตถุประสงค์ที่ว่าด้วยความมั่นคงของประเทศและการปราบปรามการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามข้อความที่ถูกถอดออกมาจะต้องถูกทำลายในทันทีที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องเก็บรักษาข้อมูลนั้นไว้อีกต่อไป
รัฐบัญญัติ Rocard ยังได้ก่อตั้งคณะกรรมการควบคุมการดังฟังโทรศัพท์เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (La commission nationale du contrôle des interceptions de sécurité) ซึ่งเป็นองค์กรทางปกครองอิสระ (lautorité administrative indépendante) มีขึ้นเพื่อคอยกำกับดูแลวิธีการที่นายกรัฐมนตรีใช้ในการดักฟังโทรศัพท์ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบไปด้วย ประธานคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เพื่ออยู่ในวาระเป็นเวลา 6 ปี โดยเลือกมาจากรายชื่อที่เสนอมาโดยรองประธานศาลปกครองสูงสุด และโดยรองประธานศาลฎีกา คณะกรรมการอีกสองท่านซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งท่าน และเป็นสมาชิกวุฒิสภาอีกหนึ่งท่าน แต่งตั้งโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่ออยู่ในวาระคราวละ 5 ปี และ 3 ปีตามลำดับ (ทั้งนี้เพราะประเทศฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก 5 ปี และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นจำนวนหนึ่งในสามของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดทุก 3 ปี)
ภารกิจของคณะกรรมการควบคุมการดักฟังโทรศัพท์เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ คือ ต้องได้รับแจ้งให้ทราบถึงการอนุมัติให้มีการดักฟังบทสนทนาทางโทรศัพท์ของนายกรัฐมนตรีภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีการอนุมัติ คณะกรรมการฯ สามารถเข้าไปตรวจสอบการดักฟังโทรศัพท์ของฝ่ายปกครองได้เอง หรือโดยได้รับการร้องขอจากผู้ที่มีส่วนได้เสียกับการดักฟังนั้น หากพบว่าการดังฟังโทรศัพท์ที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการฯ สามารถติดต่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อแนะนำให้ยุติการกระทำดังกล่าว นอกจากนี้ทางคณะกรรมการฯ จะต้องทำสรุปสาธารณะ (rapport public) เสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกด้วย และเมื่อใดก็ตามที่คณะกรรมการควบคุมการดักฟังโทรศัพท์เพื่อความมั่นคงแห่งชาติพบว่ารัฐบาลได้กระทำความผิดทางอาญาโดยมีการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตส่วนตัวของผู้ถูกดักฟัง คณะกรรมการฯ สามารถแจ้งให้ทางอัยการทราบ เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปได้
จะเห็นได้ว่าประเทศฝรั่งเศสได้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิในการมีชีวิตส่วนตัวและสิทธิในการที่จะได้รับความเคารพในชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัวของประชาชน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก la Convention de sauvegarde des Droits de lhomme et des Libertés fondamentales และคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป อีกทอดหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่มีรัฐบัญญัติ Rocard ออกมาประกาศใช้ ประเทศฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการใช้การดักฟังโทรศัพท์เพื่อสืบหาตัวคนร้ายและเพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ ในขณะเดียวกันกับที่สามารถให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการมีชีวิตส่วนตัว
การพิจารณาคดี des écoutes de lElysée จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะมีคำพิพากษาออกมา เมื่อใดที่มีการตัดสินคดีนี้ออกมาแล้ว ผู้เขียนจะนำมาแจ้งให้ทราบต่อไป
บทความชิ้นนี้เป็นงานเขียนทางวิชาการชิ้นแรกของผู้เขียน อาจมีบางประเด็นที่ไม่กระจ่างชัดนัก หรือคำศัพท์บางคำที่อาจจะแปลได้ไม่ตรงตัวนัก ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ และยินดีน้อมรับคำแนะนำและคำติชมจากทุกท่าน หากผู้อ่านท่านใดสงสัยหรืออยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นใดประเด็นหนึ่งสามารถติดต่อมาได้ที่ pimdaw@yahoo.com ผู้เขียนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาให้กับทุกท่านที่สนใจค่ะ
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=560
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|