ครั้งที่ 37

14 ธันวาคม 2547 18:20 น.

       "เงินเดือนกับภาระงาน"
       
เดือนสิงหาคมนี้เป็นเดือนที่ 18 ที่ pub-law.net เริ่มให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป พอถึงสิ้นเดือนนี้เราก็จะมีอายุครบหนึ่งปีครึ่งพอดี
       หนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับวงการกฎหมายมหาชนค่อนข้างมาก มีหน่วยงานของรัฐหลายๆแห่งที่เริ่มเปิดให้บริการข้อมูลทาง internet พร้อมๆกับเรา แม้ว่า “จำนวน” ผู้ใช้บริการ website ของหน่วยงานเหล่านั้นจะมากกว่าจำนวนผู้ใช้บริการ pub-law.net อยู่หลายเท่าและเทียบกันไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราภูมิใจอยู่เสมอและอยู่ตลอดเวลาก็คือ สาระใน website ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ในฐานะบรรณาธิการผมจะคอยพยายาม "สอดส่อง" website ด้านกฎหมายทั้งหลายอยู่เสมอว่า website ไหนมีสาระอะไรบ้าง ส่วนใหญ่แล้ว website ของหน่วยงานก็จะมีสาระที่เกี่ยวข้องกับงานในหน่วยงานของตนเป็นหลัก จะมีเสริมบ้างแต่ก็ไม่มากมายอะไรนัก ผมเข้าใจว่าการจัดทำ website ของหน่วยงานของรัฐคงต้องผ่านกระบวนการของระบบราชการที่ webmaster คงไม่สามารถทำอะไรได้ดังใจปรารถนาทุกอย่าง ซึ่งแตกต่างจาก pub-law.net เพราะผมสามารถกำหนดแนวทางและรูปแบบของ website ได้ตามที่ผมต้องการ ดังนั้น จึงทำให้ในวันนี้ สาระต่างๆที่ปรากฏใน pub-law.net ของเราโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวครับ
       ข่าวการขอขึ้นเงินเดือนของสมาชิกรัฐสภาเป็นข่าวที่น่าสนใจมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมคงไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องนี้แต่อยากจะชี้ให้เห็นเพียงเล็กน้อยว่า ในปัจจุบันนอกเหนือจากเงินเดือนส่วนตัวของสมาชิกรัฐสภาแล้ว สมาชิกแต่ละคนยังมี “ผู้ช่วย” อีกหลายคนที่ได้รับเงินเดือนจากรัฐอีกด้วยนะครับ พูดถึงเรื่องเงินเดือนแล้ว ผมมีความเห็นส่วนตัวซึ่งผู้อื่นอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ คือ สังคมเราในวันนี้ตกอยู่ภายใต้ระบบ "เงินเดือน" นะครับ หน่วยงานไหนตั้งใหม่มีการกำหนดเงินเดือนให้สูง คนก็แห่กันไปสอบเข้า แน่นอนที่ส่วนหนึ่งอยากมีความก้าวหน้าและได้ทำงานที่ดีกว่า แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกส่วนหนึ่งนั้นมีเป้าหมายอยู่ที่เงินเดือน จริงๆแล้วในระบบปกติ เงินเดือนกับความสามารถและภาระงานเป็นของคู่กัน การกำหนดเงินเดือนให้สูงแต่ยังไม่ทราบว่าคนเหล่านั้นทำงานได้หรือไม่ ดูจะเป็นการ “เอาเปรียบ” ประเทศชาติและประชาชนเกินไปครับ ที่ดีน่าจะมีระยะเวลาทดลองงานสัก 2-3 ปี โดยให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิมไปก่อน พอผ่านการทดลองงานแล้วเห็นว่ามีความสามารถ “คุ้มค่า” กับเงินค่าจ้างค่อยปรับเงินเดือนให้สูงขึ้นตามความสามารถครับ และนอกจากนี้ ในการปรับเงินเดือนควรดูองค์ประกอบเรื่องภาระงานด้วยว่า มีภาระงานอย่างไร ภาระงานเป็นเรื่องของแต่ละคนไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานเท่ากัน การปรับเงินเดือนทั้งหมดย่อมมีบางส่วนที่ “โชคดี” ทำงานน้อยเท่าเดิมแต่ได้เงินมากเท่าผู้อื่น ฉะนั้นในการพิจารณาปรับเงินเดือนคงต้องดูหลายๆเรื่องประกอบกันครับ ไม่ควรตัดสินใจอย่างรีบเร่งเพราะขึ้นเงินเดือนไปแล้วภายหลังจะมาลดคงไม่มีทางครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความของผม 2 เรื่องที่นำมาลง บทความแรกก็คือ สัญญาทางปกครองของไทย ตอนที่ 3 ซึ่งมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่เพราะผมไม่ค่อยมีเวลาครับ แต่ในคราวหน้าจะพยายามลงให้ได้มากกว่านี้ ส่วนบทความที่ 2 นั้นเป็นบทสรุปของงานวิจัยที่ผมทำให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ที่ผมถือโอกาสนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ นอกจากนี้ ผมได้รับหนังสือดี 3 เล่มจากสถาบันพระปกเกล้าก็เลยนำมาแนะนำไว้ใน หนังสือตำรา เช่นเดียวกันครับ ส่วนอื่นๆก็มีการปรับปรุงตามปกติเพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
       ท้ายที่สุด ขอแจ้งข่าวว่า หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ pub-law.net” ที่ได้แจกให้แก่ผู้ใช้บริการไปแล้วกว่าพันเล่มนั้น ขณะนี้มีการตกค้างอยู่อีกเกือบ 30 เล่ม เป็นจำนวนสุดท้ายที่มีอยู่นะครับ ผู้ที่ยังไม่ได้รับและสนใจจะขอรับกรุณาติต่อที่ 0-2218-2067 ในวันและเวลาราชการครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=54
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)