ครั้งที่ 36

14 ธันวาคม 2547 18:20 น.

       "ตีเมียตายไม่ติดคุก"
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลยุติธรรมที่ “ไม่” ลงโทษ “จำคุก” แก่ผู้ที่ฆ่าภรรยาของตนที่นับได้ว่าเป็นข่าวสำคัญที่ "กระเทือน" กระบวนการยุติธรรมของไทยพอสมควรและเป็นข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจกันมาก สังเกตได้จากข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ที่แม้ขณะที่ผมกำลังเขียนบทบรรณาธิการอยู่นี้ก็มีการสัมภาษณ์สมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก่อนหน้านี้ก็มีกลุ่มจากมูลนิธิและเครือข่ายผู้หญิงแสดงความเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน คำพิพากษาศาลยุติธรรมในเรื่องนี้เป็นคำพิพากษาที่สร้างข้อกังขาให้กับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเป็นอันมากว่า “เหตุผล” ของการไม่ตัดสินลงโทษจำคุกผู้ฆ่าภรรยาของตนเป็นเหตุผลที่ "โปร่งใส" หรือไม่ จากการประมวลข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์จะพบว่า ผู้ที่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้จะไม่ค่อย “พอใจ” กับคำพิพากษาเพราะเห็นว่าเกิดความ “เหลื่อมล้ำ” ในกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ มีการให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมสูง มีการศึกษาสูง รวมทั้งยัง “ยอมรับ” การกระทำรุนแรงของสามีที่มีต่อภรรยาว่าเป็นความขัดแย้งภายในที่มีเหตุผล โดยมีการกล่าวด้วยว่าคำพิพากษาดังกล่าวนอกจากจะขัดสามัญสำนึกของคนทั่วๆไปแล้วยังขัดต่อมาตรา 53 แห่งรัฐธรรมนูญด้วย
       สองวันก่อนหน้านี้มีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสได้โทรศัพท์มาหาผม เพื่อนคนนี้เป็นอาจารย์เช่นกันและเป็นสุภาพสตรีที่ค่อนข้าง “หัวรุนแรง” เล็กน้อย เธอรู้สึกไม่พอใจกับคำพิพากษาศาลยุติธรรมในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกับคนอื่นๆและต้องการที่จะเขียนบทความเพื่อ “วิพากษ์” คำพิพากษานี้ เธอได้หารือกับผมถึงประเด็นด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีดังกล่าว เมื่อคุยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วผมก็มานั่งทบทวนถึงสิ่งที่คุยกันไปก็รู้สึก “ท้อใจ” เพราะสิ่งที่ผมแนะนำเธอไปก็คือ อย่าเพิ่งเขียนอะไรทั้งสิ้นจนกว่าจะได้อ่านคำพิพากษาตัวจริงก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วคงเป็นที่ทราบกันดีว่าแทบจะไม่มีทางได้เห็นคำพิพากษานี้เลยเพราะระบบของศาลยุติธรรมไม่เหมือนกับระบบของศาลปกครอง (หรือศาลรัฐธรรมนูญ) ที่มีการเปิดเผยคำพิพากษาแม้จะเป็นคำพิพากษาชั้นต้นก็ตาม ความท้อใจจึงเกิดขึ้นเพราะในอดีตที่ผ่านมาหลายปีแล้วผมเคย “พยายาม” ที่จะหาคำพิพากษาศาลยุติธรรมในบางเรื่องแต่ก็สามารถหาได้สำเร็จ น่าแปลกใจเหลือเกินว่าวันนี้เราอยู่ในยุคของข้อมูลข่าวสาร เราอยู่ในยุคของความโปร่งใส เราเห็นองค์กรต่างๆถูกตรวจสอบด้วยความเข้มข้น เราเห็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำงานด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตัวกับสิทธิและเสรีภาพที่มีขึ้นอย่างมากภายหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ทำไมเราจึงยังไม่สามารถ “รับทราบ” ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องเช่นคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ยังไม่มีการ “เปิดเผย” ในลักษณะและวิธีการเช่นที่เป็นอยู่ในศาลปกครอง ผมคงไม่สามารถกล่าวอะไรได้มากไปกว่านี้ครับ สังคมคงต้องช่วยกัน “ตัดสิน” ในเรื่องดังกล่าวด้วยครับ
       เรื่องปฏิรูประบบราชการก็ยังคงดำเนินต่อไป ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภาครับ ผมมีโอกาสได้เห็นร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วครับ ดูดีขึ้นกว่าที่เห็นก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรพอสมควรครับ ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงนี้เงียบไปไม่ค่อยได้รับทราบข่าวคราวเลยว่าจะมีการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง คงต้องรอฟังข่าวกันต่อไปครับ
       สาระสำคัญของ pub-law.net สำหรับสัปดาห์นี้คงมีเพียงบทความ 2 บทความ คือ บทความของผมเรื่อง “สัญญาทางปกครองของไทย ตอนที่ 2” กับบทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “อิทธิพลของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 และคำปรารภของ
       รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ.1946 ที่มีต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948” ผมมีข้อสังเกตเล็กน้อยเกี่ยวกับผลงานช่วงหลังๆของอาจารย์เกรียงไกรฯ ว่าเป็นบทความที่เน้นหนักไปทางด้านสิทธิและเสรีภาพ คงต้องแสดงความชื่นชมไว้ ณ ที่นี้ด้วย นักกฎหมายมหาชนที่ “เล่น” เรื่องสิทธิเสรีภาพในบ้านเมืองเรามีน้อยมากครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2545 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=53
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:52 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)