|
|
ครั้งที่ 30 14 ธันวาคม 2547 18:19 น.
|
"คำพิพากษาแรกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"
ระยะเวลา 1 เดือนผ่านไปอย่างรวดเร็วจนแทบไม่น่าเชื่อ เมื่อเดือนที่ผ่านมา
ผมขอหยุด 1 เดือนเพื่อสะสางงานที่ค้างและเริ่มเขียนใหม่ต่อ แต่พอ 1 เดือนผ่านไปถึงได้ทราบว่างานเก่านั้นมีเยอะมากจนยากที่จะทำเสร็จได้ภายใน 1 เดือน เลยส่งผลให้งานใหม่ก็ไม่ได้ทำไปด้วย สรุปแล้วก็คืองานยังเยอะอยู่เหมือนเดิมครับ
หนังสือ "รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net "ได้รับความสนใจอย่างมากจนขณะนี้เข้าใจว่าหนังสือเกือบหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้รับทราบข่าวดีอย่างไม่เป็นทางการมาว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาว่าจะจัดพิมพ์เพิ่มให้ใหม่ ข่าวยืนยันเมื่อใดคงเปิดโอกาสให้ขอกันอีกครับ สำหรับคนที่สั่งจองหนังสือเอาไว้แล้วและยังไม่ได้รับขอความกรุณามารับด้วยตนเองที่ห้อง 203 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันและเวลาราชการ หรือส่งซองขนาด A4 ติดแสตมป์ 15 บาท จ่าหน้าซองให้ชัดเจนส่งมาที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ส่วนผู้ที่ยังมิได้สั่งจอง หากสนใจขอรับหนังสือก็ลองโทรศัพท์มาสอบถามดูก่อนที่ 0-2218-2067 ครับ ผมได้จัดทำรายชื่อผู้ที่สั่งจองหนังสือแต่ยังไม่ได้มารับไว้ด้วยแล้ว เชิญตรวจสอบดูได้ครับ ผมขอให้มารับเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้นะครับ พ้นจากเดือนนี้ไปแล้ว ผมจะถือว่าสละสิทธิและจะขอมอบให้กับผู้อื่นที่จอบเข้ามาในภายหลังแทน สำหรับผู้ที่ได้รับหนังสือไปแล้วหวังว่าคงใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่นะครับแล้วก็อย่าลืมส่งจดหมายไปขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้กรุณาให้ความสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวด้วยครับ
หนึ่งเดือนที่ผ่านมาข่าวคราวด้านการเมืองที่สำคัญมีอยู่หลายประเด็นแต่ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็น "ผลงาน" ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่แม้จะเพิ่งมี "คำพิพากษา" แรก แต่ก็เป็นคำพิพากษาที่ "ถูกใจ" คนเป็นส่วนใหญ่ เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึง "ความสำเร็จ" ของกลไกในการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงภาพในอนาคตของประเทศไทยด้วยว่าน่าจะ "ปลอด" จากการทุจริตได้ภายในระยะเวลาไม่นานนัก หวังว่าในการพิจารณาคดีต่อๆไป เมื่อใดที่ "ปลาตัวใหญ่" ถูกจับได้ เมื่อนั้นจึงจะถือได้ว่าการปฏิรูปการเมืองของเราถึง "จุดสูงสุด" แล้ว
ในสัปดาห์นี้ แม้จะยังไม่มีบทความเรื่องสัญญาทางปกครองตอนต่อไป คือ ตอนที่ 7 (เนื่องจากผมยังหาเวลาว่างทำต่อไม่ได้คงต้องขอเลื่อนเป็นครั้งหน้าครับ) แต่เราก็มีบทความคุณภาพถึง 5 บทความด้วยกัน เริ่มต้นจากบทความแรก บทความที่รองประธานศาลปกครองสูงสุด รศ.ดร.โภคิน พลกุล เรื่อง การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ตอนที่ 1) ที่เขียนขึ้นเพื่อให้ความรู้กับผู้ใช้บริการ pub-law.net ที่จะได้ทราบถึงโครงสร้างและกลไกในการดำเนินงานของการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาลในประเทศไทย รวมทั้งมีการนำเสนอปัญหาที่เข้าสู่การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากเป็นบทความขนาดยาว ผมจึงขอแบ่งลงเป็นสองตอนด้วยกันโดยในตอนแรกจะนำเสนอ หัวข้อที่ 1 ถึงหัวข้อที่ 3 ซึ่งมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความเป็นมา โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ส่วนในคราวหน้าจะนำเสนอหัวข้อที่ 4 คือ ปัญหาสำคัญที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล หัวข้อที่ 5 เรื่องปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลอื่นๆ และภาคผนวกซึ่งเป็นเรื่องการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของประเทศฝรั่งเศส บทความที่สองเป็นบทความของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เขียนเรื่อง "วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลปกครองกรณียกคำฟ้อง 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (253/2545)" ที่กำลังเป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของนักกฎหมายมหาชนอยู่ในเวลานี้ บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง แนวความคิดว่าด้วยรัฐ (ตอนที่ 1) ของ ผศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความนี้เป็นบทความ "เชิงทฤษฎี" ที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าแนวความคิดว่าด้วยรัฐของต่างประเทศมานำเสนออย่างละเอียด เนื่องจากบทความนี้มีความยาวพอสมควรจึงขอแบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 ตอน บทความต่อมาเป็นผลงานของ ผศ.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกเช่นกัน เรื่อง ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (บางประเด็น) ที่มีการนำเสนอ 4 ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนได้รวบรวมมาจากข้อเสนอของบุคคลต่างๆในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพื่อประกอบการพิจารณาขององค์กรผู้มีหน้าที่เสนอความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนบทความสุดท้าย แม้จะไม่ได้เป็นบทความทางด้านกฎหมายมหาชนโดยตรงแต่ก็เป็นบทความที่เขียนเกี่ยวกับ เหตุ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอยู่ในเวลานี้ บทความเรื่อง อภิสิทธิ์ในการกระทำความผิดกับกระบวนการยุติธรรมไทย นี้เขียนโดย รองศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมทางธุรกิจและการฟอกเงิน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากรู้ว่า ใคร คือผู้มี อภิสิทธิ์ ก็ต้องอ่านบทความนี้ครับ
นอกจากบทความทั้ง 5 แล้ว เราได้เพิ่ม คำวินิจฉัย ขององค์กรต่างๆ คือ ศาล
ปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเข้าไปอีกเป็นจำนวนมากเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป เราได้ทำการตอบคำถามจำนวนมากที่มีผู้สนใจถามเข้ามาใน เวทีทรรศนะ ส่วนการปรับปรุงส่วนอื่นๆที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของเราใน มุมค้นคว้า นั้น เราก็ได้ดำเนินการปรับปรุงเพิ่มรายชื่อหนังสือและบทความด้านกฎหมายมหาชนเข้าไปอีกเพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
คงไม่ต้องโฆษณามากไปกว่านี้แล้วนะครับว่า pub-law.net เป็น website ด้านกฎหมายมหาชนที่มีคุณภาพมากขนาดไหน ขอขอบคุณผู้ใช้บริการทุกคนที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ website ของเราพัฒนาไปได้เป็นอย่างดีจนถึงวันนี้
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2545
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=41
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 16:30 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|