อาชญากรรมบนบัตรพลาสติก

3 มกราคม 2548 17:28 น.

                   
       เมื่อกล่าวถึง "อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ" นอกเหนือไปจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่กระทำต่อตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมากมายมหาศาลแล้ว อาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเภทอื่นๆก็ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเช่นกัน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้นได้แก่ อาชญากรรมแชร์ลูกโซ่ , อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ , อาชญากรรมเกี่ยวกับการฉ้อโกงทางธุรกิจข้ามชาติ , การล้มละลายโดยฉ้อฉล , และการฉ้อโกงประกันภัย ฯลฯ หนึ่งในจำนวนอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายต่อวงการธุรกิจอย่างมากคือ "อาชญากรรมบัตรเครดิต" บัตรเครดิต หรือ Credit Card คือเครื่องมือในการชำระค่าสินค้าที่ทำให้ผู้ถือบัตรสามารถใช้สินค้าหรือบริการจากร้านค้าโดยไม่ต้องใช้เงินสด โดยผู้ออกบัตรตกลงรับชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้า และลูกค้า (ผู้ถือบัตร) มีหน้าที่ชำระเงินคืนให้แก่ผู้ออกบัตรตามเงื่อนไขที่ได้มีการตกลงกันไว้ และในบางกรณี บัตรเครดิตก็สามารถนำไปเบิกเงินสดได้ด้วย
                   
       ถึงแม้ว่าบัตรเครดิตจะมีประโยชน์และสร้างความสะดวกให้กับธุรกิจการค้า รวมถึงประชาชนนานับประการ แต่ก็มีอาชญากรรมที่กระทำต่อบัตรเครดิต หรืออาศัยบัตรเครดิตเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชญากรรมในหลายรูปแบบ คือ
                   
       1. บัตรขโมย (Stolen Card) หรือบัตรหาย (Lost Card) คือการขโมยบัตรของผู้อื่น หรือเก็บบัตรของผู้อื่นที่ลืมทิ้งไว้ หรือสูญหาย แล้วนำไปใช้โดยผู้ที่เอาไปใช้นั้นแสดงตนว่าเป็นผู้ว่ามีชื่อตามบัตรดังกล่าว เมื่อใช้บัตรดังกล่าวกับร้านค้าแล้ว ก็จะปลอมลายเซ็นบนเซลล์สลิปว่าเป็นชื่อของเจ้าของบัตรที่ลักเอามา หรือเก็บตกได้
                   
       2. บัตรปลอม (Counterfeit Card) เป็นการทำบัตรปลอมขึ้นทั่วไป คือทำขึ้นเพื่อให้เหมือนบัตรที่แท้จริง การปลอมบัตรต้องใช้ความชำนาญและเทคโนโลยีเข้าช่วย และที่สำคัญก็คือ ผู้ปลอมต้องมีข้อมูลบัตรของผู้ที่จะถูกปลอมด้วย
                   
       3. บัตรแปลงข้อมูลจากบัตรจริง (Altered Card) เป็นการเอาบัตรของตนเองที่หมดอายุแล้ว หรือเอาบัตรของผู้อื่นไม่ว่าจะได้มาจากการขโมยหรือเก็บตกได้ นำมาเปลี่ยนแปลงข้อมูลด้วยวิธีการรีดความร้อนลงบนบัตรให้ข้อมูลที่เป็นตัวนูนเรือนลง จากนั้นก็จะปั๊มข้อมูลที่ต้องการลงบนบัตร (ข้อมูลของผู้อื่นที่ใช้ได้อยู่) ลงในบัตรซึ่งเรียกว่า Re-Embossed หรือมีการบันทึกรหัสแม่เหล็กของผู้อื่นลงในแถบแม่เหล็ก ซึ่งเรียกว่า Re-Embossed Card และแถมลายเซ็นหลังบัตรนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วย
                   
       4. บัตรพลาสติกขาว (White Plastic Card) ผู้กระทำความผิดจะนำเอาพลาสติกธรรมดาสีขาว และมีความหนาเท่ากับบัตรจริง มาตัดให้มีสัดส่วนเท่ากับบัตรจริง จากนั้นเอาข้อมูลที่ปรากฏอยู่ด้านหน้าของบัตรที่แท้จริง ชื่อผู้กระทำความผิดจะหาซื้อมาจากร้านค้าที่ร่วมมือด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม ซึ่งจะถ่ายเอกสาร Sales Slip จากนั้นก็นำเอาข้อมูลจริงของบัตรที่ตนได้มาปั๊มลงในบัตรพลาสติกสีขาวนั้น แล้วก็นำไปใช้ตามร้านค้าที่รู้เห็นเป็นใจด้วย
                   
       5. การปลอมเอกสารในการสมัครเป็นผู้ถือบัตร (Fraudulent Application) โดยปกติแล้ว ก่อนจะได้มาซึ่งบัตรเครดิต ผู้มีความประสงค์จะถือบัตรต้องแสดงความจำนงต่อผู้ออกบัตรเสียก่อน โดยต้องกรอกแบบฟอร์มพร้อมหลักฐานที่ฝ่ายผู้ออกบัตรต้องการ แต่สำหรับผู้กระทำความผิดแล้วจะหลอกลวงผู้ออกบัตรด้วยวิธีการปลอมบัตรประจำตัวประชาชน หรือปลอมสำเนาทะเบียนบ้าน จากนั้นไปเช่าห้องพัก และให้ที่อยู่นั้นแก่ผู้ออกบัตร เมื่อมีการอนุมัติบัตรแล้ว ก็จะนำเอาบัตรประจำตัวปลอมไปรับและนำบัตรไปใช้ โดยไม่ต้องชำระเงินให้แก่ผู้ออกบัตร
                   
       6. ผู้ถือบัตรทุจริตในการซื้อ (Credit Runaway) วิธีนี้เจ้าของบัตรที่แท้จริงทุจริตในการใช้บัตรเครดิต โดยผู้ถือบัตรมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตตั้งแต่ต้น แต่ผู้ถือบัตรจะขอทำบัตรเครดิตกับผู้ออกบัตรหลายๆแห่งพร้อมกัน แล้วจะนำไปใช้อย่างรวดเร็ว และพยายามหลีกเลี่ยงการซื้อที่ต้องขออนุมัติวงเงิน แล้วนำเอาสินค้าไปขายเพื่อแลกเป็นเงินกลับมา เมื่อผู้ออกบัตรเรียกเก็บเงินก็จะหลบหนี
                   
       สำหรับรูปแบบของอาชญากรรมบัตรเครดิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้กล่าวได้ว่า มีเกือบครบทุกรูปแบบ แต่ที่กำลังเกิดขึ้นมากได้แก่การใช้ข้อมูลของบุคคลอื่นไปขอมีบัตรเครดิต และการปลอมบัตรเครดิต วิธีการแรก เกิดขึ้นจากการที่บรรดาบริษัทผู้ออกบัตรต่างแข่งขันกันเพื่อหาลูกค้าโดยสร้างเงื่อนไขในการอนุมัติให้มีบัตรแข่งกัน ทำให้เกิดมีระบบเซลล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในบรรดาเซลล์เหล่านี้ก็มีทั้งสุจริตและทุจริต พวกที่ทุจริตจะนำเอาข้อมูลของลูกค้าที่ตนหามาไปขอมีบัตรโดยแสดงตนว่าเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านั้น ในขณะเดียวกันก็ใช้ลายเซ็นที่ตนเขียนเองว่าเป็นลายเซ็นของผู้มีบัตร จากนั้นเมื่อได้บัตรมาแล้ว ก็จะนำบัตรไปใช้ โดยผู้ที่ถูกเรียกเก็บเงินก็คือเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง ส่วนวิธีที่สอง มีการตั้งบริษัททำธุรกิจแอบแผง เบื้องหลังรับทำบัตรเครดิตปลอม สุดแล้วแต่ว่าลูกค้าตองการบัตรเครดิตอะไร ปัญหาที่ตามมาก็คือพนักงานสอบสวนบางแห่งไม่ยอมรับแจ้งความทำให้เกิดความสับสนขึ้นในบรรดาผู้เสียหาย คำตอบในเรื่องนี้ก็คือ
       1. อาชญากรรมบัตรเครดิต เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น
       กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่โดยตรงในการรับคำร้องทุกข์ หรือรับแจ้งความ
       2. ในกรณีที่ลักษณะของการกระทำความผิดไม่ซ้ำซ้อน และมูลค่าความเสียหายไม่ถึง
       5 ล้านบาท กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ อาจส่งไปยังสถานีตำรวจท้องที่ที่เหตุเกิดเพื่อรับแจ้งความในเบื้องต้น
                   
       3. การที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าไม่รับแจ้งความเพราะยังไม่ปรากฏผู้เสียหายที่ชัดเจนวระหว่างผู้ออกบัตรหรือผู้ถือบัตร เช่นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะการปลอมบัตรเครดิตเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนทราบเรื่องก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการแล้ว
                   
       
                   
       สำหรับสถิติคดีอาชญากรรมบัตรเครดิตตั้งแต่ปี 2543-2545 มีดังนี้
                   
       ปี 2543 : ความผิดเกี่ยวกับบัตรเครดิตและ ATM (ฉ้อโกง-ปลอมแปลง) เกิดขึ้น 40 คดี จับได้ 24 คดี ผู้ต้องหา 38 คน มูลค่าความเสียหายจากการกระทำความผิด 8,529,421.69 บาท
                   
       ปี 2544 : ความผิดเกี่ยวกับบัตรเครดิตและ ATM (ปลอมแปลง) เกิดขึ้น 31 คดี จับได้ 25 คดี ผู้ต้องหา 47 คน มูลค่าความเสียหายจากการกระทำความผิด 12,747,741 บาท
                   
       ปี 2545 : ความผิดเกี่ยวกับบัตรเครดิตและ ATM (ปลอมแปลง) เกิดขึ้น 20 คดี จับได้ 11 คดี ผู้ต้องหา 13 คน มูลค่าความเสียหายจากการกระทำความผิด 5,822,708 บาท
       
                   
       ดังนั้นเพื่อป้องกันหรือตัดโอกาสการกระทำความเสียหายเกี่ยวกับอาชญากรรมบัตรเครดิตจึงควรใช้เซลล์ของผู้ออกบัตรเองโดยมีมาตรการเข้มงวดในการควบคุม นอกจานี้ ควรหลีกเลี่ยงการส่งบัตรให้กับลูกค้าทางไปรษณีย์ แต่ควรให้ลูกค้าเข้ารับบัตรเอง ณ ที่ทำการของผู้ออกบัตร
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       * ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมทางธุรกิจ และการฟอกเงิน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=406
เวลา 21 เมษายน 2568 18:57 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)