|
 |
วิธีพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส[ตอนที่ 2] 3 มกราคม 2548 17:28 น.
|
2.2 กระบวนการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างกฎหมาย การพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก็เป็นเช่นเดียวกับกระบวนพิจารณาคดีประเภทอื่นๆ คือจะต้องอยู่ภายใต้ วิธีพิจารณาคดี ทั้งนี้เนื่องจากคดีจะเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลหรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้จะต้องมีผู้ฟ้องหรือผู้ร้องขอซึ่งก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุความหรือระยะเวลาในการร้องขอ
2.2.1 รูปแบบในการร้องขอ เนื่องจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ที่มิได้เกี่ยวข้องกับประชาชน ดังนั้น ผู้มีสิทธิร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายจึงมีได้เฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
รูปแบบในการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนั้นเป็นรูปแบบที่มีลักษณะง่าย เพียงจดหมายฉบับเดียวก็สามารถร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาปัญหาดังกล่าวได้แล้ว
(ก) คำร้องต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ โดยปกติแล้วการส่งร่างกฎหมายให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา ผู้ส่งจะดำเนินการทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่ออยู่แล้วเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดถึงตัวบุคคลที่จะสามารถร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น จะมีปัญหาก็อยู่ตรงที่มีการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คน เป็นผู้มีสิทธิร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายได้
ในมาตรา 18 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ได้กำหนดว่า การร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คน อาจทำได้โดยหนังสือฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ได้แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องมีผู้เข้าชื่อร้องขออย่างน้อย 60 คน โดยในกรณีที่มีหนังสือหลายฉบับนั้น ในหนังสือทุกฉบับจะต้องให้เหตุผลในการยื่นขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเหตุผลเดียวกัน
ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่แล้ว การร้องขอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภามักจะทำเป็นหนังสือฉบับเดียวแต่ลงลายมือชื่อจำนวนตั้งแต่ 60 คนขึ้นไป ลายมือชื่อเหล่านี้จะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (le Secrétariat général du Conseil Constitutionnel) อนึ่ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยอมรับการร้องขอให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายทางโทรสาร (télécopie) ภายใต้เงื่อนไขว่า เจ้าของลายมือชื่อเหล่านั้นจะต้องรับรองในภายหลังอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นลายมือชื่อของตน ส่วนการร้องขอโดยผ่านทางไปรษณีย์อิเลคทรอนิค (e-mail) ยังไม่ได้รับการยอมรับทั้งๆที่ในมาตรา 1316-1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งฉบับหนึ่งที่เพิ่งประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 2000 ได้ให้การยอมรับกระบวนการที่ใช้โดยไปรษณีย์อิเลคทรอนิคในระบบกฎหมายเอกชน
(ข) ผู้ลงลายมือชื่อไม่สามารถเพิกถอนการลงลายมือชื่อของตนได้ เมื่อสำนักงานเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบความถูกต้องของลายมือชื่อสมาชิกสภาที่ลงลายมือชื่อในหนังสือขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วย รัฐธรรมนูญของกฎหมายแล้ว ผู้ลงลายมือชื่อจะเพิกถอนการลงลายมือชื่อของตนเองไม่ได้เนื่องจากการร้องขอดังกล่าวเป็นกระบวนการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตรวจสอบร่างกฎหมายที่มีความสำคัญในการบริหารประเทศ ดังนั้น ผู้ลงลายมือชื่อจึงไม่อาจเพิกถอนการลงลายมือชื่อของตนเองได้ แม้การเพิกถอนนั้นจะไม่กระทบกับจำนวนผู้ร้องขอก็ตาม11
อนึ่ง เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องขอให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ กล่าวคือ ในกรณีตามมาตรา 61 ที่บัญญัติให้ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือวุฒิสมาชิกจำนวน 60 คน เป็นผู้มีสิทธิร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วย รัฐธรรมนูญของกฎหมาย เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องขอจากผู้หนึ่งผู้ใดก็จะต้องแจ้งการรับคำร้องนั้นไปยังบุคคลอื่นๆตามมาตรา 61 หรือแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อป้องกันมิให้มีการยื่นคำร้องซ้ำในประเด็นเดียวกัน และนอกจากนี้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังจะต้องแจ้งไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่ในการประกาศใช้บังคับกฎหมายคือประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐและนายกรัฐมนตรีด้วยหากบุคคลทั้งสองมิได้เป็นผู้ยื่นคำร้อง
2.2.2 เหตุผลในการร้องขอ การให้เหตุผลในการฟ้องคดีเป็นเรื่องที่ใช้กันอยู่และกำหนดไว้ในระบบวิธีพิจารณาคดีปกครอง แต่ในการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญนั้นทั้ง รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเรื่องดังกล่าวเอาไว้
ในอดีตนั้น มีการยื่นร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยมิได้ให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไรซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องไว้พิจารณาและดำเนินการพิจารณาจนเสร็จสิ้น12 แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการยื่นคำร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย ก็มักจะมีการทำบันทึกประกอบร่างกฎหมาย (mémoire) นั้นไปด้วยโดยในบันทึกก็จะอธิบายว่ามาตราใดของร่างกฎหมายนั้นขัด รัฐธรรมนูญในประเด็นใด
2.2.3 การประกาศคำร้องขอ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 เป็นต้นมา คำร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายจะถูกส่งไปประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา (Journal officiel) โดยประกาศในหมวดของ ข้อมูลสำหรับสมาชิกรัฐสภา (Informations parlementaires) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา คำร้องขอและความเห็นของรัฐบาลที่มีต่อคำร้องขอ (les observations du Gouvernement) ก็ได้รับการประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาในหมวดของ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionnel) และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นมา คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำร้องขอและความเห็นของรัฐบาลถูกประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาในหมวดของ รัฐบัญญัติ (Lois) โดยทำการลงพิมพ์ไว้ในตอนท้ายของบรรดากฎหมายที่ประกาศใช้บังคับ
การประกาศดังกล่าวจำกัดอยู่เฉพาะเพียงกฎหมายธรรมดา (lois ordinaires) และเฉพาะในการร้องขอของสมาชิกรัฐสภา ส่วนเหตุผลที่ไม่ต้องมีการประกาศการร้องขอของผู้อื่นรวมทั้งการขอให้ตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างข้อบังคับการประชุมสภาก็เพราะการตรวจสอบทั้งหลายนั้นดำเนินการโดยบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งต่างจากการดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือวุฒิสมาชิกจำนวน 60 คน ซึ่งต้องประกาศให้เป็นที่รับทราบว่า บุคคลเหล่านี้ได้ยื่นคำขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาซึ่งการประกาศก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผู้ลงลายมือชื่อไม่สามารถเปลี่ยนความเห็นของตนได้
อนึ่ง นอกจากนี้แล้ว การร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายจะทำให้ระยะเวลาในการประกาศใช้กฎหมายตามมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมายภายใน 15 วันนับแต่วันที่รัฐบาลได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาต้องสะดุดหยุดลงจนกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดตามที่มาตรา 61 วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองเรื่องดังกล่าวไว้
2.2.4 ระยะเวลาในการร้องขอ สำหรับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและร่างข้อบังคับการประชุมสภาที่มาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติบังคับไว้ว่าต้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบนั้น มาตรา 61 ได้กำหนดไว้ว่าการตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องทำก่อนการประกาศใช้บังคับ (la promulgation) ส่วนการตรวจสอบร่างข้อบังคับการประชุมสภาจะต้องทำขึ้นก่อนที่ร่างข้อบังคับนั้นจะมีผลใช้บังคับ (entrée en vigueur) ส่วนการตรวจสอบร่างกฎหมายธรรมดา (les lois ordinaires) ก็เป็นเช่นเดียวกับการตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ในการตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น การส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบจะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายนั้นแล้ว การร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อนหน้านั้นไม่สามารถทำได้ 13 ส่วนระยะเวลาในการส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบนั้นแม้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดแจ้ง แต่มาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญก็กำหนด ถึงระยะเวลาในการประกาศใช้กฎหมายโดยประธานาธิบดีว่าต้องดำเนินการภายใน 15 วันนับ แต่วันที่รัฐบาลได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น ระยะเวลา 15 วันดังกล่าวจึงเป็นระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะต้องส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปยังคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 15 วันดังกล่าวนี้เป็นระยะเวลา อย่างมาก เพราะประธานาธิบดีอาจประกาศใช้บังคับกฎหมายทันทีก็ได้หากเป็นกรณีเร่งด่วนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุมิสภาจะยื่นคำร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวรัฐธรรมนูญก็มิได้กำหนด ทางแก้ เอาไว้ ปัญหาดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายฉบับหนึ่งโดยร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1997 ประธานาธิบดีได้รอเวลาไว้ 1 สัปดาห์ และในวันที่ 28 ตุลาคม ถัดมาประธานาธิบดีก็ได้ลงนามในรัฐกฤษฎีกา (décret de promulgation) ประกาศใช้ร่างกฎหมายนั้น ต่อมาในวันที่ 29 ตุลาคม ก่อนที่จะได้มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายในรัฐกิจจาบุเบกษา สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คน ก็ได้เข้าชื่อร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่งต่อมาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ 97-392 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ไม่รับคำร้องนั้นไว้พิจารณาเนื่องจากเหตุผลว่า กฎหมายที่ลงนามให้ใช้บังคับได้แล้วแม้จะยังมิได้ประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา ก็ไม่อยู่ในอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยเนื่องจากมาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเอาไว้ว่าต้องทำก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้บังคับ
อนึ่ง มีแนวทางปฏิบัติที่ดำเนินการเป็นการภายในของสำนักงานเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คือ เนื่องจากระยะเวลาในการประกาศใช้บังคับกฎหมายของประธานาธิบดีมีอยู่ 15 วันภายหลังจากที่รัฐบาลได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว ระยะเวลา 15 วันเป็นเวลาที่ไม่นานและอาจมีบางกรณีที่ฝ่ายบริหาร อาจ ไม่อยากให้มีการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบหรืออาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการประกาศใช้กฎหมายนั้นอย่างเร่งด่วน มีแนวทางปฏิบัติที่ทำกันโดยไม่มีกฎหมายใดๆรองรับอยู่คือ หากจะมีการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบร่างกฎหมายนั้น ผู้ที่ประสงค์จะร้องขอจะต้องรีบประสานงานไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งส่วนใหญ่จะทำทางโทรศัพท์เพื่อแจ้งให้ทราบว่าตนจะขอใช้สิทธิร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบร่างกฎหมายนั้น เมื่อได้รับแจ้ง สำนักงานเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะประสานงานต่อไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (Secrétariat Gouvernement) เพื่อชะลอการดำเนินการกระบวนการประกาศใช้บังคับร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน
การประกาศใช้บังคับกฎหมายจะทำให้กฎหมายนั้นไม่สามารถถูกตรวจสอบได้โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอีกต่อไป14
2.3 กระบวนการพิจารณาคำร้องขอของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาคดีของศาลนั้น การแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากของการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทุกศาล โดยการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีอาจเป็นหน้าที่ของคู่ความ (ระบบกล่าวหา : accusatorial system) หรือเป็นหน้าที่ของศาล (ระบบไต่สวน : inquisitorial system) แต่อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาคดีโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นจะแตกต่างจากการพิจารณาคดีทั่วๆไปเพราะ คู่ความ หรือ คู่กรณี ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดำเนินคดีเพื่อตนเอง
การพิจารณาคำร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายเป็นหน้าที่ของตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวน (rapporteur) ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกระบวนพิจารณา โดยในการดำเนินการของตุลาการเจ้าของสำนวนจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ และจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการพิจารณาด้วยเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย
2.3.1 ตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวน มาตรา 19 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 กำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย
โดยหน้าที่แล้ว ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวนและในทางปฏิบัติประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะไม่แต่งตั้งตนเองเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวน เมื่อมีการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญผู้ใดเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวน ก็มักจะปกปิดชื่อผู้นั้นโดยให้รู้กันเฉพาะภายในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวนจะต้องถูกกดดันจากภายนอกด้วยวิธีการต่างๆ หากเป็นกรณีที่ต้องรับผิดชอบตรวจสอบร่างกฎหมายที่สำคัญหรือร่างกฎหมายที่มีผลกระทบกับประชาชน
ตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวนทำหน้าที่ศึกษาร่างกฎหมายว่ามีรูปแบบและเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่และจัดทำความเห็นของการที่ได้จากการศึกษาเป็นเอกสาร (rapport) เพื่อนำเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็จะต้องเตรียมร่างคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รายงานของตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวนและร่างคำวินิจฉัยจะถูกส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญล่วงหน้าประมาณ 48 ชั่วโมงก่อนการประชุมคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว อนึ่ง การทำงานของตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวนนี้ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในการค้นหาข้อมูลหรือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นในร่างกฎหมายนั้น
2.3.2 กระบวนพิจารณาที่ไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจง กระบวนพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการพิเศษที่ไม่มีการเปิดโอกาสให้ คู่ความ เข้ามาชี้แจง ซึ่งบรรดานักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสหลายๆคนก็พากันแสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ ไม่โปร่งใส สาเหตุของการที่กระบวนวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นไปโดย ไม่เปิดเผย นี้มีที่มาที่สำคัญอยู่สองประการคือ สาเหตุด้านการเมืองและสาเหตุทางด้านกฎหมาย
2.3.2.1 สาเหตุด้านการเมือง การที่กระบวนพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้ ผู้ร้องขอ ได้มีโอกาสเข้ามาชี้แจง ต่อหน้า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้นั้นมีที่มาจากวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์ทางการเมืองของฝรั่งเศส กล่าวคือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญถูกตั้งขึ้นโดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นองค์กรประเภท ศาล (une juridiction) เช่นศาลอื่น แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญถูกตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นองค์กรกำกับดูแลอำนาจรัฐ (organe régulateur des pouvoirs publics) ซึ่งก็ถือว่าเป็นองค์กรทางการเมืองประเภทหนึ่ง การถือว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรทางการเมืองประเภทหนึ่งก็เพราะนอกจากจะพิจารณาจากเจตนารมณ์ในการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปแล้ว องค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เองก็เป็นสิ่งสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึง สภาพ ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีจำนวน 3 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3 คนและประธานวุฒิสภาจำนวน 3 คน กับตุลาการตามกฎหมายอันได้แก่อดีตประธานาธิบดีทุกคน โดยทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมิได้กำหนดคุณสมบัติใดๆของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญรวมทั้งหลักเกณฑ์หรือกระบวนการในการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญเอาไว้ ดังนั้น การเมือง จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวผู้เข้ามาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นนับได้ว่าเป็น โชคดี ของฝรั่งเศสเนื่องจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งต่างก็พากันแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าไปเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่
การที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีสถานะค่อนข้างเป็น องค์กรทางการเมือง นี้เองทำให้กระบวนการดำเนินงานต่างๆของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ต่างๆที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมทั่วๆไป จึงไม่มีการนำหลักการฟังความสองฝ่ายหรือการเปิดโอกาสให้คู่ความได้ชี้แจงมาใช้ในกระบวนวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1986 ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในขณะนั้นคือ นาย R.Badinter ได้มีหนังสือไปถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อเสนอให้กรรมาธิการผู้รับผิดชอบร่างกฎหมาย (le rapporteur de la commission) ของทั้งสองสภาที่ทำหน้าที่รับผิดชอบร่างกฎหมายที่ถูกร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และตัวแทนของผู้ร้องขอ (un représantant des auteurs de la saisine) 15 ติดต่อกับตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวนเพื่อ ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม ใดๆที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนั้น ซึ่งก็มีความหมายโดยปริยายว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คู่กรณีสามารถชี้แจงต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประธานสภาทั้งสองก็ปฏิเสธไม่รับคำเสนอดังกล่าวของประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยมีเหตุผลคือในประการแรกนั้น กรรมาธิการผู้รับผิดชอบร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการทั้งในสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาไม่มีอำนาจและไม่มีหน้าที่จะแสดงความเห็นหรือแสดงสิ่งใดๆต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้เพราะไม่ได้เป็น ตัวแทน ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา และในประการที่สอง ร่างกฎหมายที่ถูกร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วย รัฐธรรมนูญนั้นผ่านการลงมติโดยรัฐสภาไปแล้ว ดังนั้น เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง สอบถาม หรือ ให้โอกาส รัฐสภาชี้แจงร่างกฎหมายดังกล่าวอีก คำเสนอของประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะให้มีกระบวนวิธีพิจารณาที่เปิดโอกาสให้ คู่ความ มาชี้แจงจึงไม่ได้รับการตอบรับในที่สุด
2.3.2.2 สาเหตุด้านกฎหมาย ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่างก็ไม่มีบทบัญญัติใดๆกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญใช้กระบวนวิธีพิจารณาโดยต้องฟังความสองฝ่าย
ในรัฐธรรมนูญนั้น บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมิได้กล่าวถึงกระบวนวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอาไว้ คงมีเพียงมาตรา 63 ที่บัญญัติถึงการมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดองค์กรของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกระบวนวิธีพิจารณาและระยะเวลาในการเสนอข้อขัดแย้งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งต่อมาก็ได้มีการออกรัฐกำหนดประกอบ รัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เพื่อขยายความบทบัญญัติในมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ
ในหมวด 2 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บัญญัติถึงเรื่องสำคัญๆที่เกี่ยวกับกระบวนวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้หลายเรื่องด้วยกันเช่น การนัดประชุม องค์ประชุม แต่ไม่มีบัญญัติใดๆที่กล่าวถึงการเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้เข้ามาชี้แจงต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม มีบทบัญญัติมาตรา 18 ที่ น่าจะ มีส่วนใกล้เคียงกับกระบวนพิจารณาที่เปิดโอกาสให้คู่กรณีมีโอกาสชี้แจง กล่าวคือ เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องขอให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายใดไว้พิจารณา16 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องรีบแจ้งการรับคำร้องขอนั้นไปยังประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทันที โดยประธานสภาทั้งสองก็จะต้องรีบแจ้งเรื่องดังกล่าวให้สมาชิกสภาของตนทราบโดยทันทีเช่นกัน จริงอยู่ที่แม้การแจ้งดังกล่าวจะเป็นเพียง มารยาท มิใช่เป็นการแจ้งให้ คู่กรณี คือทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติทราบเพื่อที่จะได้โต้แย้ง แต่การแจ้งเรื่องดังกล่าวก็มีผลโดยตรงต่อผู้ที่ถูกรับแจ้งเพราะทุกคนที่กล่าวถึงล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีที่จะต้องเป็นผู้ลงนามในรัฐกฤษฎีกา (décret) ประกาศใช้กฎหมาย นายกรัฐมนตรีผู้ต้องลงนามร่วม (contreseign) กับประธานาธิบดี รวมทั้งประธานสภาทั้งสองและสมาชิกสภาที่เป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมาย จะได้ทราบว่าขณะที่ร่างกฎหมายอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ผู้มีหน้าที่ประกาศใช้กฎหมายจะได้ทราบถึงสถานะของร่างกฎหมายที่ยังไม่สามารถประกาศใช้บังคับได้จนกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จ รวมทั้งรัฐสภาที่จะได้รับทราบว่าการประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านมาพิจารณาจากรัฐสภาล่าช้าเพราะอยู่ในระหว่างการตรวจสอบโดยคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญ
ส่วนการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าต้องผ่านการตรวจสอบความชอบด้วย รัฐธรรมนูญก่อนจึงจะประกาศใช้บังคับได้นั้น มาตรา 17 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำหน้าที่ส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ส่วนข้อบังคับการประชุมสภานั้นก็เป็นหน้าที่ของประธานสภาเจ้าของข้อบังคับที่จะต้องดำเนินการจัดส่งต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้มีหน้าที่ส่งร่างกฎหมายหรือร่างข้อบังคับนั้นเป็น คู่กรณี เพราะผู้ส่งไม่มีเจตนาที่จะเป็น คู่กรณี โดยตัวของตัวเองแต่เป็นการส่งเนื่องจากเป็น หน้าที่ ของตน
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่ากระบวนวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนวิธีพิจารณาที่ ไม่มีคู่กรณี จึงไม่มีบทบัญญัติใดๆที่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจง
2.3.3 ระยะเวลาในการพิจารณาคำร้อง มาตรา 61 วรรคสามบัญญัติให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนในกรณีปกติ และในกรณีเร่งด่วน ที่มีการร้องขอโดยรัฐบาล ให้วินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 8 วัน
ภายในระยะเวลาปกติที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้คือระยะเวลา 1 เดือนนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอิสระที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาวินิจฉัย รวมทั้งกำหนดวันที่จะประกาศคำวินิจฉัยของตนซึ่งส่วนใหญ่แล้วทางสำนักงานเลขาธิการคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญก็จะประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้กำหนด บทลงโทษ กรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ในทางปฏิบัติคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็เคารพบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญในเรื่องระยะเวลา ส่วนการพิจารณาเร่งด่วนที่จะต้องแล้วเสร็จภายใน 8 วัน เป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นกันโดยในคำวินิจฉัยที่ 82-139 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982 อันเป็น คำวินิจฉัยร่างกฎหมายเกี่ยวกับการโอนวิสาหกิจเอกชนมาเป็นของรัฐ (la nationalisation) คณะ ตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเสร็จภายในระยะเวลา 8 วัน โดยในตอนต้นของคำวินิจฉัยได้กล่าวเอาไว้ด้วยว่า เนื่องจากจดหมายของนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982 ขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนตามมาตรา 61 วรรคสามแห่งรัฐธรรมนูญ
2.4 การลงมติและการวินิจฉัย เนื่องจากการร้องขอให้คณะตุลาการ รัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายถือเป็นคดีที่ ไม่คู่กรณี ดังนั้นจึงไม่มีการนัดพิจารณาเพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจงต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำให้การพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการ เปิดเผย ต่อสาธารณะ คือไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังหรืออยู่ด้วยในการวินิจฉัย โดยนอกเหนือจากตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ที่จะอยู่ในห้องพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้คือเลขาธิการสำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมรับผิดชอบในการพิจารณาร่างกฎหมายร่วมกับตุลาการรัฐธรรมนูญเจ้าของสำนวนเท่านั้น
2.4.1 การนัดประชุม เช่นเดียวกับคณะบุคคลทั้งหลายที่ต้องดำเนินการร่วมกัน การประชุมของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การนัดประชุมโดยหลักแล้วเป็นหน้าที่ของประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
มาตรา 13 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 กำหนดให้ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้นัดประชุมและกำหนดวาระการประชุม (lordre du jour) ในกรณีที่ประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ตุลาการ รัฐธรรมนูญผู้มีอาวุโสทำหน้าที่ดังกล่าวแทน
วาระการประชุมของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่แล้วจะมีวาระเดียวคือเรื่องที่จะพิจารณานั้น ในการพิจารณาทั่วไปจะใช้เวลาประมาณครึ่งวันแต่ก็มีบางกรณีที่อาจใช้เวลาหลายวันก็ได้ เช่นการพิจารณาร่างข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้เวลา 3 วัน คือ วันที่ 17 วันที่ 18 และวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1959 หรือการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปที่ใช้เวลา 2 วันคือวันที่ 29 และวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1976 เป็นต้น
2.4.2 เกณฑ์ในการลงมติของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาตรา 14 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 บัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัย (décisions) หรือความเห็น (avis) ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องมีตุลาการรัฐธรรมนูญร่วมออกเสียงด้วยอย่างน้อย 7 คน ซึ่งหมายความว่าจะมีตุลาการรัฐธรรมนูญที่ไม่เข้าร่วมในการพิจารณาได้ไม่เกิน 2 คน
2.4.2.1 การระบุชื่อตุลาการรัฐธรรมนูญผู้ร่วมในการวินิจฉัย การระบุชื่อตุลาการที่ร่วมในการวินิจฉัยเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้ทราบว่ามีใครบ้างที่อยู่ในองค์ประชุมซึ่งจะส่งผลถึงการประชุมที่ ครบ หรือ ไม่ครบ7 องค์ประชุม แต่อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคำร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนั้นไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดกำหนดให้มีการระบุชื่อตุลาการรัฐธรรมนูญผู้ร่วมในการวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยหรือความเห็นของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
2.4.2.2 เสียงชี้ขาดของประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ในการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องมีตุลาการมาประชุมอย่างน้อย 7 คน ในการลงมติของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นก็จะต้องได้เสียงข้างมากของตุลาการ รัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง
มาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในวรรค สามตอนท้ายว่า ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีสิทธิออกเสียงชี้ขาดได้ในกรณีที่มีคะแนน เสียงเท่ากันกล่าวคือ ในกรณีที่คณะตุลาการรัฐะรรมนูญลงมติแล้วมีคะแนนเสียงเท่ากันทั้งสองฝ่าย ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
จากแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 จนถึงปัจจุบัน มีอยู่เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
2.4.3 เกณฑ์เกี่ยวกับการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาตรา 20 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58 1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 กำหนดให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องมีการระบุเหตุผลประกอบการวินิจฉัยหรือการให้ความเห็นนั้นไว้ด้วย (motivée) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องประกาศใน รัฐกิจจานุเบกษา
การให้เหตุผลในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการให้เหตุผลที่ ตอบคำถาม ของผู้ร้องขอให้พิจารณาว่าร่างกฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วยการตอบว่าร่างกฎหมายหรือมาตราหนึ่งมาตราใดของร่างกฎหมายขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลใด
3. การดำเนินการภายหลังการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 วรรคแรกแห่งรัฐธรรมนูญเป็นมาตราเดียวที่ได้บัญญัติถึงการดำเนินการภายหลังการวินิจฉัย ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ว่า บทบัญญัติใดที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อ รัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือไม่อาจมีผลใช้บังคับได้ ส่วนในวรรคสองของมาตรา 62 ก็ได้บัญญัติถึงสถานะของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าเป็นที่สุดและมีผลผูกพันสถาบันทางการเมืองแห่งรัฐตลอดทั้งองค์กรเจ้าหน้าที่ทั้งในทางบริหารและในทางตุลาการ
3.1 บทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่อาจใช้บังคับได้ การร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายมีผลทำให้เกิดการ งดเว้น การบังคับใช้กฎหมายนั้นไปจนกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้มีการวินิจฉัยร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จ เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว กระบวนการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการประกาศใช้บังคับกฎหมายก็จะต้องดำเนินการต่อไป
3.1.1 คำวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมาย สอดคล้อง กับรัฐธรรมนูญ มาตรา 21 แห่ง รัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 กำหนดไว้ว่า การประกาศว่าร่างกฎหมายใดสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญทำให้ระยะเวลาในมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการประกาศใช้กฎหมายที่ได้สะดุดหยุดลงไปเนื่องจากมีการร้องขอให้คณะตุลาการ รัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนั้นเริ่มนับต่อไป17 ดังนั้น เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็เป็นหน้าที่ของประธานาธิบดีที่จะต้องประกาศใช้ร่างกฎหมายนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 10
3.1.2 คำวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือเฉพาะส่วนสำคัญที่ไม่สามารถแยกออกมาจากร่างกฎหมายได้ มาตรา 22 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 บัญญัติว่าร่างกฎหมายนั้นไม่สามารถประกาศใช้บังคับได้
ในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทั้งนี้เพราะในการจัดทำร่างกฎหมายของรัฐสภาก็มีประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณาในวาระเริ่มแรกอยู่แล้วว่าร่างกฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีที่เคยเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐสภาเป็นส่วนใหญ่ เช่น คำวินิจฉัยที่ 79-110 ลงวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1979 ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบร่างกฎหมายงบประมาณของปี ค.ศ. 1980 และวินิจฉัยว่ากระบวนการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีดังกล่าวเมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติก็นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปดำเนินการให้ตรงตามกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนในกรณีที่มีบทบัญญัติมาตราใดมาตราหนึ่งที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและเป็นมาตราที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับเป็น หัวใจ ของร่างกฎหมายนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพราะไม่สามารถที่จะแยกวินิจฉัยเพียงมาตรานั้นได้
3.1.3 คำวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญบางส่วน ในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใดขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 วรรคแรกแห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 กำหนดให้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสามารถประกาศใช้บังคับร่างกฎหมายนั้นได้โดยยกเว้นไม่ประกาศใช้บังคับมาตราที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรืออีกทางเลือกหนึ่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาจขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายนั้นใหม่ก็ได้ โดยในคำวินิจฉัยที่ 85-197 ลงวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1985 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยว่า ประธานาธิบดีสามารถประกาศใช้บังคับร่างกฎหมายได้โดยการตัดบทบัญญัติที่ขัดรัฐธรรมนูญออกหรือแทนที่บทบัญญัติดังกล่าวด้วยบทบัญญัติที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งก็หมายความถึงการขอให้รัฐสภาพิจารณาบทบัญญัติมาตราดังกล่าวใหม่นั่นเอง
3.2 สถานะของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญนับได้ว่าเป็นมาตราที่มีส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ สถานะ ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยมีลักษณะคล้ายกับ ศาล ประเภทหนึ่ง เพราะมีลักษณะผูกพันทุกองค์กร ดังจะเห็นได้จากการที่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมต่างก็นำ หลัก (principes) ต่างๆที่เกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไปใช้ในระบบกฎหมายของตน เช่น หลักว่าด้วยความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ (principe de la continuité de service public) เป็นต้น
การนำหลักที่เกิดจากการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไปใช้ในการพิจารณาคดีทั้งในระบบกฎหมายเอกชนและมหาชน ส่งผลทำให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีสถานะและได้รับการยอมรับประหนึ่งเป็น ศาลสูงสุด ของประเทศฝรั่งเศส
เชิงอรรถ
11. คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 99-421 ลงวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1999.
[กลับไปที่บทความ]
12 คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 71-44 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 ที่ยื่นต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยประธานวุฒิสภา.
[กลับไปที่บทความ]
13. คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 76-96 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1976.
[กลับไปที่บทความ]
14. คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 85-197 ลงวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1985.
[กลับไปที่บทความ]
15. ข้อเสนอของประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นข้อเสนอสำหรับกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คนหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คน เป็นผู้ร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วย รัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย.
[กลับไปที่บทความ]
16. เฉพาะการที่มีการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามมาตรา 54 และมาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญ มิใช่การที่รัฐธรรมนูญบังคับว่าต้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบ.
[กลับไปที่บทความ]
17. มาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ให้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมายภายใน 15 วันนับแต่วันที่รัฐบาลได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ส่วนมาตรา 61 วรรคท้ายบัญญัติไว้ว่าการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยย่อมทำให้การนับระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการประกาศในกฎหมายหยุดลง.
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=405
เวลา 21 เมษายน 2568 18:52 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|