กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทย [ตอนที่ 2]

6 มกราคม 2548 21:45 น.

       ส่วนที่ 2
       
       ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
       และบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. ….

       
                   
       ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ใช้บังคับได้ไม่นาน ก็ได้มีการดำเนินการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นหุ้นของบริษัทตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจแรกที่ใช้กระบวนการดังกล่าว คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2544 อนุมัติ
       ให้เปลี่ยนทุนของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นหุ้น และจัดตั้งบริษัท ปตท. จำกัด
       (มหาชน) ขึ้นตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และต่อมาก็ได้มีพระราชกฤษฎีกา
       กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 เพื่อ ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544
       จากนั้นไม่นานก็มีการนำหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บางส่วนออกขายให้แก่ประชาชน
                   
       เนื่องจากกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจสิ้นสุดลงแค่มีการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น และจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น กระบวนการต่อไปอันเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างสมบูรณ์ คือ การนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจในรูปบริษัทออกมาขายจนสัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐเหลือ น้อยกว่าร้อยละห้าสิบยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ คงใช้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่แต่เดิม
       คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 เป็นเครื่องมือในการนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจออกมาจำหน่ายให้แก่สาธารณชน
                   
       รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงยกร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ "ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. ...." เพื่อจัดตั้ง "บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ" ให้เป็นองค์กรเฉพาะ ทำหน้าที่รับโอนหลักทรัพย์จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐมาจัดการในเชิงธุรกิจและทำการจำหน่ายหรือกระจาย การถือครองหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชนเพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นผลอย่างสมบูรณ์ และนอกจากนี้ ยังจัดตั้งองค์กรถาวรขึ้นมาองค์กรหนึ่งคือคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (กนร.) ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการและกิจการทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ
       โดยองค์กรนี้ทำหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (กนร.) ที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับหนึ่งชื่อว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2540" ระเบียบฉบับนี้มีขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการติดตามการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแนวนโยบายการบริหารงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล และเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
       โดยในระเบียบดังกล่าวได้จัดตั้ง "คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ" ขึ้น ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายก รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
       ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
       และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ โดยมีปลัดกระทรวง การคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมบัญชีกลางและรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของ รัฐวิสาหกิจเพื่อให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจคล่องตัวมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามเป้าหมายและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาเสนอ
       ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ พิจารณาเสนอ
       แนะแนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอของคณะกรรมการประเมิน ผลงานรัฐวิสาหกิจ ติดตามผลการดำเนินงานตามงบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจ ประสานงานระหว่างรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินงานตามนโยบายการ บริหารงานรัฐวิสาหกิจลุล่วงไปด้วยดี และดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย อย่างไรก็ตาม ในปีเดียวกันนั้นเองรัฐบาลมีนโยบายที่จะทำการ "เพิ่มบทบาทภาคเอกชน ในรัฐวิสาหกิจ" เพื่อเป็นแนวทางและเป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป จึงได้มีการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540" มีขึ้นเพื่อแก้ไขชื่อองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการติดตาม การดำเนินงานตามนโยบายการบริหารงานรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ เป็นคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า กนร. คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกิน 10 คน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 6 คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและ เลขานุการ อธิบดีกรมบัญชีกลางและรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ
       สังคมแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการชุดใหม่นี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้การ บริหารงานของรัฐวิสาหกิจ คล่องตัว มีประสิทธิภาพและคุณภาพ พิจารณาการดำเนินการ เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ กำกับ ดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน พิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ของ รัฐวิสาหกิจ ทั้งในด้านการบริหาร การดำเนินงานและด้านการเงิน และดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
                   
       การเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีประสบปัญหาหลายประการ รวมทั้ง "ความถาวร" และ "สถานะ" ขององค์กรด้วย ดังนั้น เมื่อมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ จึงได้มีการ "แปลง" คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) มาเป็นคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (กนร.)
       
       ก. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. ...."
       
                   
       ร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เป็นร่างกฎหมายที่ถือได้ว่าเป็นส่วนขยายของการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ประการด้วยกัน คือ
       
                   
       1. การจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลและพัฒนารัฐวิสาหกิจ
       
                   
       ในร่างมาตรา 6 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า
       คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (กนร.)
       
                   
        คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็น
       ประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 7 คน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 3 คน และมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติเป็นเลขานุการ
                   
       สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาตินั้นบัญญัติไว้ในร่างมาตรา 11 ดังต่อไปนี้ คือ
                   
        (1) กำหนดนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจ
                   
        (2) กำหนดนโยบาย และแผนการบริหารหลักทรัพย์ที่ส่วนราชการหรือ
       รัฐวิสาหกิจถืออยู่
                   
        (3) อนุมัติการควบ แยก ยุบเลิก หรือลดขนาดกิจการของบริษัทในเครือ 5
                   
        (4) อนุมัติรัฐวิสาหกิจเข้ากระบวนการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วย
       ทุนรัฐวิสาหกิจ
                   
       (5) อนุมัติการโอนหลักทรัพย์ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัท รวมทั้ง
       กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และราคาของหลักทรัพย์
                   
       (6) กำหนดกรอบนโยบายและหลักเกณฑ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เงินลงทุน
       โดยกำหนดกรอบความเสี่ยง ขอบเขตธุรกิจ และประสานกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทในเครือและระหว่างบรรษัทกับบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้อง
                   
       (7) อนุมัติการเพิ่มหรือลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐในรัฐวิสาหกิจและการ
       ถือหุ้นของบรรษัทในบริษัทในเครือ
                   
       (8) กำหนดกรอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ช่วงราคา และวิธีการจำหน่ายหลักทรัพย์
       ของบริษัทในเครือที่บรรษัทถือครองและหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองแก่ประชาชนทั่วไปหรือแก่ ผู้ลงทุนอื่น
                   
       (9) กำหนดนโยบายให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการ
       ทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ
       
                   
       (10) กำกับ ดูแล รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานของบรรษัท ในการปฏิบัติ
       ตามนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการบริหารหลักทรัพย์ที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจถืออยู่
                   
       (11) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
       
                   
        คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ และหน้าที่อื่น ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 18 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาตินี้มีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรม อยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง
       โดยร่างกฎหมายได้กำหนดไว้ในมาตรา 16 ให้ยกฐานะของสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ กรมบัญชีกลาง ให้เป็นสำนักงานดังกล่าว และมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงาน
                   
       2. การจัดตั้งองค์กรเพื่อดำเนินการด้านธุรกิจเกี่ยวกับหลักทรัพย์ของส่วน
       ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ
ร่างมาตรา 19 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (บวช.) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐและให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล
       
                   
       2.1 วัตถุประสงค์ของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ร่างมาตรา 19 กำหนด วัตถุประสงค์ของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติไว้ดังนี้ คือ
       
                   
       (1) รับโอนหลักทรัพย์จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของ
       รัฐมาจัดการในเชิงธุรกิจ
                   
       (2) เป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดโครงสร้างทุนและบริหารจัดการ
       หลักทรัพย์ที่บรรษัทถืออยู่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
                   
       (3) ดำเนินการจำหน่ายหรือกระจายการถือครองหลักทรัพย์ที่บรรษัท
       ถืออยู่ให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไปหรือผู้ลงทุนอื่น
                   
       (4) เป็นเครื่องมือของรัฐในการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับผู้ลงทุนในประเทศ
       หรือต่างประเทศตามนโยบายของรัฐ
       
                   
        2.2 ทุนของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ร่างมาตรา 21 กำหนดให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติมีทุนเรือนหุ้นจำนวน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 100 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
                   
        บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติอาจเพิ่มทุนหรือลดทุนก็ได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นที่ออกใหม่ในการเพิ่มทุนทั้งหมด
       
                   
       2.3 การดำเนินงานของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ร่างมาตรา 25 ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง คือ คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (กวช.) ทำหน้าที่วางนโยบายและกำกับ ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ บวช.
       
                   
       2.3.1 องค์ประกอบของคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
       คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้ง บุคคลจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 4 คน กับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ และให้กรรมการผู้จัดการของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ
                   
       อนึ่ง ในการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ร่างมาตรา 26 ได้
       กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหามีจำนวน ไม่เกิน 5 คน ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ แห่งชาติแต่งตั้งเป็นกรรมการบรรษัท
       
                   
       2.3.2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
       เป็นไปตามร่างมาตรา 28 คือ
       
                   
       (1) กำหนดแผน กลยุทธ์ และเป้าหมายในการจัดการหลักทรัพย์
       ที่บรรษัทหรือบริษัทในเครือถืออยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
                   
        (2) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการกำหนด
       ราคาหลักทรัพย์ที่จะโอนให้แก่บรรษัท ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
       
                   
       (3) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่
       บรรษัทถืออยู่แก่ประชาชนทั่วไปหรือผู้ลงทุนอื่น ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
                   
        (4) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติการโอน
       หลักทรัพย์ของรัฐและรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัท
                   
        (5) กำหนดราคาจำหน่ายหลักทรัพย์ที่บรรษัทถืออยู่ในบริษัทในเครือแก่
       ประชาชนทั่วไปหรือผู้ลงทุนอื่น ภายในช่วงราคาที่คณะกรรมการกำหนด
                   
        (6) อนุมัติการลงทุนหรือร่วมลงทุนในธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
       ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
                   
        (7) พิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณและงบลงทุนประจำปีของ
       บรรษัท
                   
        (8) แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการผู้จัดการ
                   
        (9) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน การบัญชี การ
       จัดซื้อหรือจัดจ้าง ทรัพย์สิน การควบคุม และการตรวจสอบกิจการภายในของบรรษัท
                   
        (10) ออกข้อบังคับหรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่อง
       อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการของบรรษัท
                   
        (11) กำหนดเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของพนักงานและลูกจ้าง
                   
        (12) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย
       
                   
       2.4 ขอบเขตทางกฎหมายของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ มีอยู่สองประการดังที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 23 คือ
       
                   
       (1) ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
       แห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
                   
        (2) มิให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่า
       ชดเชยและการจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสหพันธ์ และกฎหมาย
       ว่าด้วยแรงงงานวิสาหกิจสัมพันธ์มาใช้บังคับกับกรรมการผู้จัดการ พนักงานและลูกจ้างของบรรษัท
                   
       3. การดำเนินการ "แปรรูปรัฐวิสาหกิจ" ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบาย
       รัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ได้กำหนดถึง "กลไก" สำคัญที่มีผลทำให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไว้ 2 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
       
                   
       3.1 ขั้นตอนการเข้าถือหุ้นในบริษัทในเครือหรือบริษัท ร่างมาตรา 38 ถึงร่างมาตรา 40 ได้กำหนดวิธีการดำเนินงานของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติไว้ดังนี้ คือ
       
                   
        (ก) ให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
       นโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติเข้าถือหุ้นในบริษัทในเครือ หรือในบริษัทอื่นที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ
       หรือหน่วยงานของรัฐถืออยู่ โดยให้บรรษัทตกลงราคากับผู้ถือหุ้นโดยคำนึงถึงราคาตลาดที่เป็นธรรมด้วย
                   
        (ข) ให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเข้าถือหุ้นในบริษัทที่แปลงสภาพมา
       จากรัฐวิสาหกิจโดยเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง ถืออยู่ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด
       
                   
        ในการเข้าถือหุ้นทั้ง 2 กรณี ร่างมาตรา 41 กำหนดให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติชำระราคาตามจำนวนเงินที่ตกลงกันโดยจะชำระเป็นเงินสดหรือหลักทรัพย์ของ บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติก็ได้ แต่ในกรณีจำเป็นและเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติแล้ว จะชำระราคาโดยวิธีอื่นก็ได้
       
                   
       3.2 ขั้นตอนการจัดการหลักทรัพย์และการลงทุน เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 42 ถึงร่างมาตรา 47 ดังต่อไปนี้ คือ
       
                   
        (ก) บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติดำเนินการจัดการหลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่
       และลงทุนตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด โดยในกรณีมีเหตุจำเป็นบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติจะมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือคณะบุคคลที่มีความ เชี่ยวชาญในด้านการจัดการหลักทรัพย์หรือการลงทุนกระทำการแทนตามความเหมาะสมก็ได้
                   
        (ข) บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติสามารถจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัท
       ในเครือที่บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติถืออยู่ให้แก่ประชาชนทั่วไปหรือผู้ลงทุนอื่นได้ ตามหลักเกณฑ์
       วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติกำหนดและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
                   
        อนึ่ง ในร่างมาตรา 43 วรรคสอง ได้บัญญัติยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติ
       ของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐมาใช้บังคับแก่การจำหน่ายหลักทรัพย์ดังกล่าว
                   
       (ค) บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติสามารถลงทุนประเภทอื่นนอกเหนือจาก
       การถือหุ้นของบริษัทในเครือได้ โดยบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติต้องดำเนินการตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด
                   
       (ง) เงินที่บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติได้รับจากการจำหน่ายหลักทรัพย์
       ให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาตินำส่งกระทรวงการคลังตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ตราสารหนี้หรือตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด
       
                   
       4. การกำกับดูแล แยกได้เป็นสองส่วน คือ การตรวจสอบและการรายงานกับการกำกับดูแลกิจการ
                   
       4.1 การตรวจสอบและการรายงาน เป็นไปตามร่างมาตรา 48 กับร่างมาตรา
       51 คือ
                   
       (ก) บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติจะต้องจัดให้มีและรักษาไว้ซึ่งระบบบัญชีตาม
       มาตรฐานการบัญชีและที่เหมาะสมกับกิจการของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ และจัดให้มีระบบควบคุมและตรวจสอบภายในที่เหมาะสมและเพียงพอ
                   
       (ข) บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติจะต้องจัดทำและรายงานงบการเงินซึ่งประกอบ
       ด้วยงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสดของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ตลอดจน งบการเงินรวมของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติทุกงวดสามเดือนและวันต้นปีบัญชี
                   
       (ค) คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติอาจแต่งตั้งสำนักงานการ
       ตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่เห็นสมควรเป็นผู้สอบบัญชีของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติได้ และให้เสนอรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติและคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
                   
       (ง) ให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติรายงานกิจการ รายงานทางการเงินและ
       งบการเงินประจำปีซึ่งผู้สอบบัญชีรับรองแล้วต่อคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชี พร้อมทั้งลงประกาศรายงานและงบการเงินดังกล่าวโดยเปิดเผยแก่สาธารณชนด้วย
                   
       4.2 การกำกับดูแลกิจการ เป็นไปตามร่างมาตรา 52 และร่างมาตรา 53
       คือ
                   
       (ก) คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการ
       กำกับดูแลกิจการทั่วไปของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
                   
       (ข) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจยับยั้งการกระทำของบรรษัท
       วิสาหกิจแห่งชาติที่ขัดต่อพระราชบัญญัติ นโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี
                   
       (ค) ในการกำกับดูแลบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ คณะกรรมการบรรษัท
       วิสาหกิจแห่งชาติต้องจัดให้มีระบบและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลที่ดี ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับ
       จริยธรรมธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนและโครงการลงทุนของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยประกาศเป็นนโยบายให้ทราบโดยทั่วไปและดูแลให้มีการปฏิบัติตามโดยสม่ำเสมอ
                   
       (ง) ในการกำกับดูแลบริษัทในเครือบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติอาจวางระบบ
       และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลที่ดี ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนและโครงการลงทุนของบริษัทในเครือได้
       
       ข. ปัญหาของร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
       
                   
       จากการศึกษาสาระสำคัญของร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
       แห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้มีความแตกต่างไปจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจมากนัก ปัญหานั้นได้แก่ การเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากของฝ่ายการเมือง (รัฐบาล) ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       
                   
       (1) โครงสร้างขององค์กรผู้มีอำนาจในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นฝ่ายการเมือง
       มากเกินไป
ร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจ
       แห่งชาติ กำหนดให้ "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" 6 ทำได้ในสองขั้นตอน คือ การโอนหลักทรัพย์ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจไปยัง "บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ" และการนำเอาหลักทรัพย์นั้นไปจำหน่ายหรือกระจายการถือครองให้แก่ประชาชน โดยทั้งสองขั้นตอนที่จะเกิดจากการดำเนินงานขององค์กรสององค์กรคือ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ และบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
       
                   
       (1.1) โครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เช่นเดียวกับกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาให้มีอำนาจทั้ง "การกำกับดูแล" รัฐวิสาหกิจที่ยังมิได้มีการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นตามกฎหมาย ว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ 7 และ "กำกับดูแล" รัฐวิสาหกิจที่มีการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นแล้วตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ8 กล่าวง่ายๆ ก็คือ องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่ "รับผิดชอบ" รัฐวิสาหกิจไทยทุกประเภทนั่นเอง
                   
       คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการจำนวนไม่เกิน 15 คน โดยใน 15 คนนี้สามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าราชการการเมืองมีจำนวนไม่เกิน 8 คน ได้แก่ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 7 คน ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง กลุ่มข้าราชการประจำมีจำนวน 4 คน ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมาย กลุ่มสุดท้ายจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็น ผู้แต่งตั้ง
                   
       เมื่อพิจารณาดูองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า กรรมการที่เป็นฝ่ายการเมืองมีจำนวนมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการ เพราะกลุ่มข้าราชการ การเมืองจำนวนไม่เกิน 8 คนนั้นถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากของคณะกรรมการที่มีจำนวนไม่ เกิน 15 คนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ไม่นับรวมถึงกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็น ผู้แต่งตั้งที่ "อาจ" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการเมืองได้หากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ที่ ผ่าน ๆ มาที่มักมีการแต่งตั้งบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองเข้ามาบริหารรัฐวิสาหกิจ
       
                   
       จริงอยู่ที่องค์ประกอบที่มีเสียงข้างมากเป็นฝ่ายการเมืองจะทำให้การดำเนิน
       การทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล แต่คงต้องพิจารณาใน อีกด้านหนึ่งด้วยว่าหากการดำเนินนโยบายดังกล่าวไปสิ่งที่ "ไม่ถูกต้อง" การถ่วงดุลภายในคณะกรรมการก็ไม่สามารถทำได้เพราะฝ่ายการเมืองที่มีเสียงข้างมากในคณะกรรมการย่อมจะต้องการที่จะให้มีการดำเนินการเพื่อ "สนองนโยบาย" ของรัฐบาลอยู่แล้ว ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติมีความเป็น "การเมือง" มากเกินไป
                   
       นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดูอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
       แห่งชาติที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 11 แล้วก็ยิ่งมีความกังวลมากขึ้นเพราะอำนาจของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติที่มีต่อรัฐวิสาหกิจนั้นมีมาก ไม่ว่าจะเป็นต่อรัฐวิสาหกิจ ทั่ว ๆ ไป หรือรัฐวิสาหกิจที่มีการแปลงทุนเป็นหุ้นแล้วตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงการที่ร่างกฎหมายกำหนดให้มีบทบาทสำคัญในการ "ขายหุ้น" รัฐวิสาหกิจให้แก่ประชาชนด้วย จึงเห็นสมควรที่จะพิจารณาใหม่ถึงความเหมาะสมขององค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
       
                   
       (1.2) โครงสร้างของคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ คณะกรรมการ
       บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเป็นผู้บริหารงานบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (บวช.)
                   
       บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เป็น "สาระสำคัญที่สุด" ของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างครบขั้นตอน กล่าวคือ เมื่อมีการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจแล้ว เมื่อมีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้น หุ้นเหล่านั้นจะถูกโอนมายังบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเพื่อจัดการใน
       เชิงธุรกิจหรือทำการจำหน่ายหรือกระจายการถือครองให้แก่ประชาชนต่อไป และนอกจากนี้แล้ว
       บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติก็ยังมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่น เป็นเครื่องมือของรัฐในการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับผู้ลงทุนทั้งในหรือต่างประเทศตามนโยบายของรัฐ เป็นต้น ดังนั้น จึงอาจ กล่าวได้ว่ากลไกในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สำคัญที่สุดคือการดำเนินงานของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
                   
       คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่เกิน
       9 คน โดย 8 คนจะเป็นผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ จากบุคคลจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจจำนวนไม่เกิน 4 คน และจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นเป็นกรรมการโดยตำแหน่งอันได้แก่กรรมการผู้จัดการของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ 9
                   
       คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากไปกว่านี้เพราะกรรมการทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีส่วน
       "เชื่อมโยง" กับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติทั้งสิ้น และเมื่อคณะกรรมการบรรษัท
       วิสาหกิจแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ "รับผิดชอบ" เกี่ยวกับการวางนโยบายและกำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาและการจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งว่าทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจจำนวนมหาศาลจะอยู่ภายใต้การดำเนินการของบุคคลเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
       
                   
       (1.3) ขั้นตอนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างรวบรัด ในร่างกฎหมาย
       ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ได้กำหนดขั้นตอน
       ที่มีผลเป็นการ "แปรรูปรัฐวิสาหกิจ" ไว้ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนในการเข้าถือหุ้นในบริษัท ในเครือหรือบริษัทอื่นที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐถืออยู่ และขั้นตอนในการจัดการหลักทรัพย์และการลงทุน
       
                   
       (1.3.1) ขั้นตอนในการจัดการเข้าถือหุ้น กำหนดไว้อย่างรวบรัดในร่าง
       มาตรา 38 ถึงร่างมาตรา 41 สรุปความได้ว่า ให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
                   
        (ก) เข้าถือหุ้นในบริษัทในเครือหรือในบริษัทอื่นที่ส่วนราชการ
       รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐถืออยู่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
                   
        (ข) เข้าถือหุ้นในบริษัทที่แปลงสภาพมาจากรัฐวิสาหกิจโดย
       เปลี่ยนทุนเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถืออยู่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติถืออยู่
                   
        ขั้นตอนในการเข้าถือหุ้นทั้งสองกรณีเป็นไปอย่างเรียบง่ายและมี
       ผลทำให้การที่หุ้นของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็น "สมบัติ" ของชาติและอยู่ในความดูแลของ "ระบบราชการ" ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นการอยู่ในความดูแลของ "คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ" ภายใต้ความเห็นชอบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของ "คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ" ซึ่งแม้จะเป็นคณะกรรมการที่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรองรับการจัดตั้งก็ตาม แต่ก็เป็นคณะกรรมการที่มีโครงสร้างเน้นหนักไปทางด้าน "การเมือง" ดังกล่าว ไปแล้วข้างต้น
       
                   
       (1.3.2) ขั้นตอนในการจัดการหลักทรัพย์และการลงทุน กำหนดไว้ในร่างมาตรา 42 ถึงร่างมาตรา 47 สรุปความได้ว่า ให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
                   
        (ก) ดำเนินการจัดการหลักทรัพย์ที่บรรษัทถืออยู่และลงทุนตาม
       นโยบายที่คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด โดยบรรษัทอาจมอบหมายให้สถาบัน
       การเงินหรือคณะบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการหลักทรัพย์หรือการลงทุนทำการแทนตามความเหมาะสมก็ได้
                   
        (ข) จำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัทในเครือที่บรรษัทถืออยู่ให้แก่
       ประชาชนทั่วไปหรือผู้ลงทุนอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติด้วย
       
                   
        การดำเนินการจัดการหลักทรัพย์และการลงทุนดังที่กล่าวไปแล้ว
       คงเป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจตัดสินใจของคณะกรรมการทั้งสองชุดดังเช่นที่ปฏิบัติอยู่ในกระบวนการอื่น ๆ ตามร่างกฎหมายนี้ โดยคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติจะเป็นผู้กำหนดแนวทางในการจัดการหลักทรัพย์และการลงทุนร่วมกันหรือภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด
                   
        อนึ่ง การดำเนินการตามข้อ (ก) ที่กำหนดให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
       สามารถมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือคณะบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการ หลักทรัพย์หรือการลงทุนทำการแทนตามความเหมาะสมได้นั้นดูจะเป็นการ "เสี่ยง" กับ "สมบัติของชาติ" พอสมควรที่กำหนดให้เพียงคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติมอบหมายให้
       สถาบันการเงินหรือคณะบุคคลเข้าดำเนินการแทนโดยปราศจากหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รวมทั้ง "บทลงโทษ" ในกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้คือการ "สูญเสีย" มูลค่าของสมบัติของชาติจากการดำเนินงานที่ผิดพลาดของสถาบันการเงินหรือคณะบุคคลนั้น
                   
       (1.4) เงินที่ได้มาจากการ "ขาย" รัฐวิสาหกิจ เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญคือการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้แก่ประชาชน แต่กลับปรากฏว่ามีการบัญญัติไว้เพียง 2 บรรทัดในร่างมาตรา 45 ว่า เงินที่บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติได้รับจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ ให้นำส่งกระทรวงการคลังตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในตราสารหนี้หรือตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติกำหนด
                   
       การบริหารจัดการ "เงิน" ที่ได้มาจากการ "ขาย" รัฐวิสาหกิจก็เป็น "หน้าที่"ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
       
                   
       (1.5) การตรวจสอบการดำเนินงาน เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 48 ถึงร่างมาตรา 51 สรุปความได้ว่า
       
                   
        (ก) คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติอาจแต่งตั้งสำนักงานการ
       ตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่เห็นสมควรเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทได้ และให้เสนอรายงานผลการตรวจสอบนั้นต่อคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติและคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
                   
        (ข) บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติต้องรายงานกิจการ รายงานทางการเงินและ
       งบการเงินประจำปีซึ่งผู้สอบบัญชีรับรองแล้วต่อคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชี พร้อมทั้งลงประกาศรายงานและงบการเงินโดยเปิดเผยแก่สาธารณชนด้วย
       
                   
        การที่กำหนดให้การดำเนินการ "ขาย" รัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่ามหาศาลถูก "ตรวจสอบ" ด้วยวิธีการดังกล่าวนั้นแม้จะดูเป็นการดำเนินการที่จะมีลักษณะ "โปร่งใส" พอสมควร คือ กำหนดให้มีการรายงานไปจนกระทั่งถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมีการกำหนดให้ต้องลงประกาศรายงานและงบการเงินโดยเปิดเผยแก่สาธารณชนก็ตาม แต่การรายงานให้คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบนั้นคงไม่เกิดผลเป็นการตรวจสอบมากเท่าใดเพราะระหว่างคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ก็มีความ "เชื่อมโยง" และ "เกี่ยวพัน" กันอย่างมากดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนการประกาศรายงานโดยเปิดเผยให้แก่สาธารณชนนั้นก็เช่นเดียวกัน คือ ดูเหมือนจะมีความโปร่งใสในการดำเนินการ แต่ในทางปฏิบัตินั้นการประกาศดังกล่าวอาจทำได้หลายรูปแบบและวิธีการซึ่งในบางรูปแบบก็อาจมีผลทำให้ความโปร่งใสลดน้อยลงไป
                   
        เรามีกฎหมายหลาย ๆ ฉบับที่สร้างความโปร่งใสและสร้างระบบธรรมาภิบาล
       ในการทำงาน เช่น กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 ให้สำนักงานศาลปกครองจัดทำรายงานการปฏิบัติงานของศาลปกครองและของสำนักงานศาลปกครองเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาปีละหนึ่งครั้ง กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ทั้งคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สามารถ "ทราบ" การดำเนินงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองได้ ซึ่งการบัญญัติให้ตัวแทนของประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้การทำงานของหน่วยงานน่าจะเป็นวิธีการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานนั้นได้เป็นอย่างดี คำถามจึงมีว่าสมควรหรือไม่ที่จะให้ "ตัวแทนประชาชน" ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วม "รับรู้" และ "ตรวจสอบ" การขายรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย
       
                   
       (1.6) การนำสาระสำคัญ 2 ประการมาไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ร่างกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ส่วน ที่สามารถแยกออกจากกันได้ คือ ส่วนที่เป็น
       การกำหนดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ "กำกับดูแล" รัฐวิสาหกิจคือคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (กนร.) กับส่วนที่เป็นการกำหนดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ "จัดการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจคือบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (บวช.)"
                   
       การนำสาระสำคัญ 2 ประการมาไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกันแม้จะทำให้
       "ง่าย" ต่อการจัดทำกฎหมาย และไม่ทำให้จำนวนของกฎหมายมากขึ้นเกินความจำเป็น แต่การกระทำเช่นว่านี้ก็ทำให้เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับเข้าไปปะปนกัน และยังส่งผลทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแต่ละฉบับไม่มีความเป็นเอกภาพด้วย
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       5. บริษัทในเครือได้แก่
                   
        (1) บริษัทซึ่งบรรษัทถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียน
                   
        (2) บริษัทซึ่งบริษัทตาม (1) ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียน
                   
       (3) บริษัทซึ่งบรรษัทและบริษัทตาม (1) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียน
                   
       (4) บริษัทซึ่งบรรษัทหรือบรรษัทร่วมกับบริษัทตาม (1) ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละห้าสิบของทุน
       จดทะเบียนลงมา แต่มีสิทธิในการแต่งตั้งกรรมการบริษัทเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       6. แม้ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมิได้กล่าวถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไว้โดยตรงก็ตาม แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่า การขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปลงทุนเป็นหุ้นมาแล้ว หรือการขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดจนสัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐน้อยกว่าร้อยละห้าสิบคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       7. ร่างมาตรา 11 (1) และ (2)
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       8. ร่างมาตรา 11 (3) และ (4)
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       9. ร่างมาตรา 32 กำหนดให้กรรมการผู้จัดการมีที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา
       ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2545

       
       


       ส่วนที่ 3
       ข้อเสนอเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทย

       
                   
       เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจและร่างกฎหมายว่า ด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติแล้ว จะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎหมายและอาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะที่ค่อนข้าง คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ มีการเปิดโอกาสและให้อำนาจ "ฝ่ายบริหาร" เข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆหลายขั้นตอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขึ้นตอนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการ "เลือก" รัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาสู่กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งขั้นตอนอนุมัติและอนุญาตต่างๆด้วย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจและร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติแล้วจะพบว่า กระบวนการทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ไม่โปร่งใสเท่าที่ควรและไม่มีระบบตรวจสอบการดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อมีการกล่าวถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็มักจะถูกคัดค้านด้วยถ้อยคำที่รุนแรงคือการ "ขายชาติ" เพราะความไม่ชัดเจนของกฎหมายนั่นเอง
                   
       ปัญหาที่เกิดจากการให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารอย่างมากและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจยังไม่เป็น "ระบบ" เท่าที่ควร สามารถแก้ไขได้โดยผู้เขียนจะขอเสนอแนวทางที่คิดว่าเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย 2 แนวทางคือ การดำเนินการในระยะสั้นและการดำเนินการในระยะยาว
                   
       3.1 การดำเนินการในระยะสั้น เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจได้ใช้บังคับมาเป็นเวลา 2 ปีเศษ และมีการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายดังกล่าวไปแล้วกับรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ดังนั้น หากจะเสนอขอให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจในขณะนี้ก็คงไม่เหมาะสมเท่าใดนักเพราะรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งยังคงมีอำนาจรัฐอยู่บางประการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ แต่อย่างไรก็ตาม หากการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจยังเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้และรัฐบาล "ประสงค์" จะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจต่อไป เพื่อให้เกิดความ "โปร่งใส" และ "เป็นระบบ" ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจดังกล่าว มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้อง "ปรับ" วิธีการทำงานใหม่ โดยก่อนที่จะมีการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจใดเป็นหุ้นตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลจะต้องเสนอเรื่องดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนโดยมีขั้นตอน "ภายใน" ของรัฐบาลดังนี้คือ
       
                   
        (ก) เมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะ "เลือก" รัฐวิสาหกิจใดมาเพื่อแปลงทุนเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลจะต้องมี "เหตุผล" ที่ชัดเจนประกอบการเลือกรัฐวิสาหกิจนั้น
                   
        (ข) ให้รัฐบาลตั้ง "คณะทำงาน" ขึ้นมาคณะหนึ่งประกอบด้วยบุคคลจำนวนพอประมาณ เป็นบุคคลที่มีความเป็นกลาง อิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง มีความรู้ความสามารถในสาขาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการที่จะทำการแปลงทุนเป็นหุ้น สาขาการเงิน สาขากฎหมาย เป็นต้น
                   
        (ค) คณะทำงานชุดนี้จะต้องจัดทำ "แผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" แห่งนั้นอย่างเป็นระบบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยจัดทำในลักษณะเป็น "กรอบ" ของการดำเนินงานตั้งแต่กระบวนการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัท ไปจนกระทั่งถึงการนำหุ้นออกมาขายจนรัฐหมดความเป็นเจ้าของ กรอบดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยสาระสำคัญคือ เหตุผลที่รัฐบาลเลือกรัฐวิสาหกิจนั้นมาทำการแปลงทุนเป็นหุ้น ระยะเวลาในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งกระบวนการ การดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน สัดส่วนในการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่ง เพดานในการถือครองหุ้นของคนต่างชาติในกิจการนั้นๆ รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ได้แปรรูปไปแล้วเพื่อมิให้เกิดปัญหาแก่ประชาชน
                   
        (ง) คณะรัฐมนตรีสามารถแก้ไข ปรับปรุง แผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่คณะทำงานจัดทำได้ แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องบันทึกเหตุผลในการแก้ไขปรับปรุงของตนไว้ในแผนดังกล่าวด้วย
                   
        (จ) คณะรัฐมนตรีเสนอแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน
                   
        (ฉ) เนื่องจากมาตรา 193 (13) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันกำหนดให้รัฐสภาประชุมร่วมกันได้ในการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 213 ดังนั้น จึงเห็นสมควรใช้กลไกดังกล่าวซึ่งมีความเหมาะสมกว่าการใช้กลไกอื่นเพราะรัฐสภาคือตัวแทนของประชาชน และนอกจากนี้ แม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีเสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วย ดังนั้น การใช้กลไกรัฐสภาจึงเป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด
                   
        อนึ่ง มาตรา 213 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายไม่ได้
                   
        (ช) กลไกตามมาตรา 213 แห่งรัฐธรรมนูญจะช่วยให้รัฐบาลได้รับฟังความคิดเห็นของตัวแทนประชาชนที่มีต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นดังที่รัฐบาลได้เสนอไว้ในแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยในการพิจารณาของรัฐสภานั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน รัฐสภาควรมุ่งเน้นการพิจารณาในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นคือ สัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติกับการจัดให้มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยในระหว่างที่รัฐบาลยังไม่ได้จัดตั้งองค์กรกำกับดูแลนั้น รัฐบาลจะต้องคงความเป็นเจ้าของในกิจการนั้นไว้ก่อนโดยห้ามขายหุ้นในกิจการดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 50
                   
        (ซ) เมื่อรัฐสภาได้แสดงความคิดเห็นต่างๆแล้ว รัฐบาลสมควรที่จะรีบไปปรับปรุงแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้สอดคล้องกับข้อเสนอของสมาชิกรัฐสภาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก จากนั้นจึงค่อยดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจต่อไป
                   
        (ฌ) การดำเนินการของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจนั้น สมควรที่จะยึดถือตามแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่คณะทำงานได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของสมาชิกรัฐสภาแล้ว
       
                   
        การดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวแม้จะเป็นการสร้างภาระและความยุ่งยากให้กับรัฐบาล รัฐสภา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นวิธีการที่ "โปร่งใส" และ "ถูกตรวจสอบ" โดยรัฐสภาก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากมีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ข้อครหาเกี่ยวกับ "การขายชาติ" คงลดลงไปมากเพราะอย่างน้อยรัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนก็ได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นแล้ว
                   
        อนึ่ง หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตาม "ความเห็น"ของสมาชิกรัฐสภาที่มีต่อแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้บัญญัติกลไกในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินไว้ โดยสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรสามารถตั้งกระทู้ได้ตามมาตรา 183 และ 184 อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 185 อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา 186 ส่วนสมาชิกวุฒิสภาก็สามารถเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีชี้แจงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้
       
                   
       3.2 การดำเนินการในระยะยาว ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจมิได้เป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่เป็นกฎหมายที่เตรียมความพร้อมของรัฐวิสาหกิจเพื่อที่จะทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไป ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาตินั้นในขณะนี้ก็ยังอยู่ในขั้นแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมาย จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นระบบครบขั้นตอน
                   
        ข้อเสนอในระยะยาวคงอยู่ที่การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่ให้เป็นระบบ โดยนำเอากฎหมายที่มีอยู่แล้วคือกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจมาปรับปรุงให้เป็นกฎหมายกลางสำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกระบวนการครบขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ
                   
        ผู้ที่เหมาะสมที่จะทำการพิจารณาศึกษาถึงกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐิวิสาหกิจคือ "คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย" ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาและเป็นองค์กรที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เหตุผลที่เสนอให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายเป็นผู้ดำเนินการศึกษาและยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เพราะคณะกรรมการพัฒนากฎหมายนั้นเป็นองค์กรที่ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆสาขาที่มีความสามารถสูงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป การที่มีความเป็นกลางและศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบก่อนที่จะมีการยกร่างกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการจัดทำกฎหมายที่มีความสำคัญเช่นกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       
                   
       ข้อเสนอทั้ง 2 ประการเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานสำคัญคือเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน
       
       บทสรุป
       
                   
       กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจและร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่มีความเกี่ยวพันกันอย่าง แนบแน่นเพราะเป็นการกำหนดถึงการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
       แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาถึงกฎหมายทั้งสองฉบับอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่าเนื้อหาของกฎหมายได้ให้อำนาจแก่ฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็น อย่างมาก
                   
       การเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของฝ่ายการเมืองนี้ หากมองในแง่ดีก็คงกล่าวได้ว่าเพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ดี กระบวนการตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ของฝ่ายการเมืองตามกฎหมายทั้งสองฉบับไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร รวมทั้งการดำเนินการกับเงินที่ได้มาจากการขายรัฐวิสาหกิจก็ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน
                   
       การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะเกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนได้ก็ต่อเมื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน กฎหมายทั้งสองฉบับมิได้ตอบคำถามดังกล่าวว่าประเทศชาติจะได้อะไรจากการขายรัฐวิสาหกิจ จะได้เงินไม่น้อยไปกว่าที่ได้ลงทุนไปหรือไม่ ประชาชนจะได้อะไรบ้างจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ค่าบริการและมาตรฐานของบริการสาธารณะจะเป็นอย่างไร จะแตกต่างจากที่ทำโดยรัฐวิสาหกิจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่กฎหมายทั้งสองฉบับมิได้ตอบ
                   
       การจัดตั้ง "องค์กรกำกับดูแล" รัฐวิสาหกิจที่ได้แปรรูปไปเป็นกิจการของเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบคำถามเหล่านั้นได้ ตราบใดก็ตามที่องค์กรกำกับดูแลยังไม่เกิดขึ้น จึงยังมิใช่ช่วงเวลาที่สมควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2545

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=400
เวลา 21 เมษายน 2568 18:36 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)