การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540)

6 มกราคม 2548 21:44 น.

                   
       การออกเสียงประชามติเป็นกระบวนการสำคัญกระบวนการหนึ่งที่ถูกนำเข้ามา เป็นส่วนเสริมทฤษฎีตัวแทนของประชาชน กล่าวคือ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น ประชาชนจะไปเลือกผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจแทนตนเอง แต่เพื่อให้ประชาชนยังคงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอยู่ ในหลาย ๆ ประเทศจึงกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงได้ด้วยตนเองในเรื่องที่เป็นกิจการสำคัญของประเทศซึ่งก็คือการให้ประชาชนออกเสียงประชามตินั่นเอง สำหรับประเทศไทยนั้นนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็เข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนและมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการ ปกครองประเทศ โดยการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของไทยก็เคยนำเอาระบบประชาธิปไตยทางตรงมาใช้เป็นส่วนเสริมอยู่บ้างโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตยในบางกรณีด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ
                   
       จากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจำนวนทั้งหมด 16 ฉบับ ปรากฏว่ามีรัฐธรรมนูญจำนวน
       5 ฉบับที่กำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตยได้ด้วยวิธีการออกเสียง
       ประชามติ นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 ฉบับปี พ.ศ. 2511 ฉบับปี พ.ศ. 2517 ฉบับปี พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539) และฉบับปัจจุบันคือฉบับปี พ.ศ. 2540 บทบัญญัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับสามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
       
                   
       1. รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก คือ ฉบับปี พ.ศ. 2492 ฉบับปี พ.ศ. 2511 และฉบับปี พ.ศ. 2517 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐสภาและนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยฯ กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศหรือประชาชนและทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น
                   
       ในทางปฏิบัติ ไม่ปรากฏว่ามีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ
       
                   
       2. รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำการยกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยได้มีการกำหนดไว้ให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญกระบวนการออกเสียงประชามติจึงไม่เกิดขึ้น
       
                   
       3. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2540 ได้นำเรื่องระบบการออกเสียงประชามติ
       มาบัญญัติไว้อีกครั้งหนึ่งในมาตรา 214 โดยกำหนดเหตุที่จะต้องมีการออกเสียงประชามติไว้ว่าจะต้องเป็นกิจการในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้ และนอกจากนี้ ผลของการออกเสียงประชามติก็ไม่ผูกพันรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัติตามเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ผลของการออกเสียงประชามติเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีเท่านั้น
       
                   
       เมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับ จะพบว่ามีข้อแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญในอดีตทั้ง 4 ฉบับ กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ ประเด็นในการออกเสียงประชามติที่รัฐธรรมนูญในอดีตทั้ง 4 ฉบับได้กำหนดให้การออกเสียงประชามติเกิดขึ้นได้ในกรณีเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ประเด็นในการออกเสียงประชามติได้แก่กิจการในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน ผู้ริเริ่มให้มีการออกเสียงประชามติที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2517 กำหนดให้การออกเสียงประชามติเกิดขึ้นต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำริเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายกระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศชาติหรือประชาชนและทรงเห็นสมควรให้ประชาชนได้ตัดสิน ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539) ก็ได้กำหนดกลไกในการออกเสียงประชามติไว้ว่าหากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำมาให้ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือ ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอ สำหรับการออกเสียงประชามติตาม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ริเริ่มจะได้แก่คณะรัฐมนตรีที่เห็นว่าสมควรให้ประชาชนออกเสียงประชามติในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน ผลของการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญในอดีตทั้ง 4 ฉบับผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม ในขณะที่ผลของการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่คณะ รัฐมนตรีเท่านั้น
                   
       จากการศึกษาพบว่า ประเด็นในการออกเสียงประชามติเป็นเรื่องสำคัญที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้า กล่าวคือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 214 วรรคแรก ได้บัญญัติ ถึงเรื่องที่ฝ่ายบริหารจะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติไว้ว่าต้องเป็น "กิจการในเรื่องใดที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน" แต่รัฐธรรมนูญก็มิได้
       กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เอาไว้อย่างชัดแจ้ง ประกอบกับรัฐธรรมนูญเองก็บัญญัติให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจในการกำหนดเรื่องให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ดังนั้น จึงเป็น
       "ดุลพินิจ" ของฝ่ายบริหารที่จะพิจารณาว่ากิจการในเรื่องใดเป็นกิจการที่อาจกระทบถึงประโยชน์
       ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้เอง ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงอาจเกิดขึ้นได้จากการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการใช้ดุลพินิจดังกล่าวเพื่อพิจารณาตัดสินว่ากิจการในเรื่องใดที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชนโดยไม่มีองค์กรใดถูกกำหนดให้เข้าไป "ตรวจสอบ" การใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหาร
                   
       จากการศึกษาถึงระบบการออกเสียงประชามติในต่างประเทศ คือ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศฝรั่งเศส พบว่า การออกเสียงประชามติเกิดขึ้นในประเทศทั้งสองกว่า 200 ปีแล้ว และเป็นระบบที่อยู่ตัวและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ การออกเสียงประชามติในทั้งสองประเทศส่วนใหญ่แล้วจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญถึง "ประเด็น" ที่จะนำมาออกเสียงประชามติที่
       เป็นประเด็นที่ "ชัดเจน" โดยในประเทศฝรั่งเศสได้มอบให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (le Conseil
       Constitutionel) ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลตรวจสอบความถูกต้องของวิธีการออกเสียงประชามติและ
       เป็นผู้ประกาศผลการออกเสียงประชามติ ส่วนผลของการออกเสียงประชามติของทั้ง 2 ประเทศ
       นั้น เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมาย ผลของการออกเสียงประชามติจึงส่งผลต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายนั้นโดยตรง คือ ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของประชาชน หากประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายนั้นก็ใช้บังคับได้ ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้หากประชาชนไม่เห็นชอบด้วย
                   
       การศึกษาระบบการออกเสียงประชามติในต่างประเทศทำให้ต้องย้อนกลับมามองถึงระบบการออกเสียงประชามติในประเทศไทย ระบบการออกเสียงประชามติในประเทศไทยที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทั้ง 4 ฉบับในอดีต นับได้ว่าเป็นระบบการออกเสียงประชามติเดียวกับระบบการออกเสียงประชามติที่ใช้กันอยู่ในทุกประเทศ ซึ่งแตกต่างจากระบบการออก
       เสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการขอคำปรึกษาจากประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ (le referendum consultatif) ที่ใช้กันอยู่ในบางประเทศ ข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุดเพียงประการเดียวก็คือ ผลของการออกเสียงของประชาชน โดยหากเป็นการออกเสียงประชามติ ผลก็จะผูกพันให้ต้องดำเนินการตามความเห็นชอบของประชาชนแต่ถ้าหากเป็นการขอคำปรึกษาจากประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ ผลของการออกเสียงของประชาชนไม่ผูกพันให้ต้องดำเนินการตาม เพราะถือว่าเป็นเพียงการขอคำปรึกษาหารือเท่านั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันก็ได้นำระบบการขอคำปรึกษาจากประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติมาบัญญัติไว้
                   
       ส่วนเรื่องสำคัญที่เป็นสมมติฐานของงานวิจัยนี้ คือ การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิได้กำหนด "ประเด็น" ที่จะนำมา ให้ประชาชนออกเสียงประชามติดังเช่นที่เป็นอยู่ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รวมทั้งที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญไทยในอดีตทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น การขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอาจเกิดขึ้นได้จากการกำหนดประเด็นในการให้ประชาชนออกเสียงประชามติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนก่อนที่จะมีการดำเนินการออกเสียงประชามติซึ่งเป็นขั้นตอนที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดประเด็นในการออกเสียงประชามติไปแล้ว โดยอาจมีผู้โต้แย้งว่าเรื่องที่คณะรัฐมนตรีนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามตินั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของ ประเทศชาติหรือประชาชน กรณีดังกล่าวนี้รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้ "องค์กร" ใดทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของรัฐบาลที่จะ "เลือก" ประเด็นที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติเอาไว้
                   
       เมื่อพิจารณาดูอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่ใดเลยที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ แต่ถ้าหากมีการกำหนดประเด็นในการออกเสียงประชามติที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่มาตรา 214 แห่งรัฐธรรมนูญได้วางไว้ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาชี้ขาดได้โดยอาศัยอำนาจ ใกล้เคียงหากประเด็นในการให้ประชาชนออกเสียงประชามติเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องในกรณีดังต่อไปนี้ คือ อำนาจในการวินิจฉัยการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมืองตามมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยว่าการกระทำของบุคคลหรือพรรค การเมืองมีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และอำนาจในการวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจใกล้เคียงทั้ง 2 กรณีนี้เป็นอำนาจอย่าง "จำกัด" ของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่อาจใช้ได้อย่างเต็มที่
                   
       ผู้วิจัยได้นำผลการศึกษาเปรียบเทียบระบบการออกเสียงประชามติของต่างประเทศมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะของงานวิจัยโดยมุ่งแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการออกเสียงประชามติ ที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระดังนี้ คือ
                   
       1. การสร้างระบบการตรวจสอบ เนื่องจากมาตรา 214 แห่งรัฐธรรมนูญมิได้วางกลไกในการตรวจสอบการกำหนด "ประเด็น" ที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติเอาไว้ แต่ได้มอบให้เป็นดุลพินิจของรัฐบาลที่จะกำหนดประเด็นที่จะนำมาขอความเห็นจากประชาชนโดยไม่มีการตรวจสอบหรือมิต้องผ่านความเห็นชอบจากองค์กรใด ดังนั้น การออกเสียงประชามติที่เกิดขึ้นอาจเป็นการออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้หากเรื่องที่คณะ รัฐมนตรีนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามตินั้นเป็นเรื่องที่ข้ดหรือแย้งกับประเด็นวัตถุประสงค์และข้อห้ามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วในมาตรา 214 และนอกจากนี้ เนื่องจากประเด็นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 214 เองก็ไม่ชัดเจนเพราะกำหนดแต่เพียง "กิจการในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน" ที่เป็นถ้อยคำที่มีลักษณะกว้างมาก ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกในการตรวจสอบประเด็นที่จะนำมาให้ประชาชน
       ออกเสียงประชามติก่อนที่จะเกิดการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการออกเสียง
       ประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเนื่องจากในปัจจุบันหากจะใช้กลไกในการตรวจสอบ
       การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยใช้มาตรา 63 และมาตรา 266 แห่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นมาได้หากผู้มีอำนาจ "ส่งเรื่อง" ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ไม่ส่งเรื่อง" ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถที่จะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ กลไกที่มีความสมควรนำมาปรับใช้ที่สุดได้แก่กลไกของการออกเสียงประชามติในประเทศฝรั่งเศส ที่ให้บทบาทในการ "ดูแลตรวจสอบความถูกต้องของวิธีการออกเสียงประชามติ" ให้แก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยการกำหนดให้รัฐบาลต้องปรึกษาหารือกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติก่อนที่จะประกาศ ให้มีการออกเสียงประชาชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีการส่งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบก่อนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเสนอแนะในประการแรกนี้เป็นการเสนอเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 214 วรรคแรก โดยการเพิ่มบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเข้าไป "ตรวจสอบ" ประเด็นที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และนอกจากการแก้ไขมาตรา 214 วรรคแรกแล้ว จะต้องทำการเพิ่มบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่อีกหนึ่งมาตราให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น โดยบทบัญญัติใหม่ควรมีข้อความกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบประเด็นที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติเอาไว้ให้ชัดเจน เหตุผลที่ต้องกำหนดระยะเวลาเอาไว้ก็เพื่อมิให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับศาลรัฐธรรมนูญหากฝ่ายบริหารต้องการให้การออกเสียงประชามติดำเนินการเป็นการเร่งด่วนเพราะเกี่ยวข้องกับความได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน
                   
       ข้อเสนอประการแรกนี้จะทำให้การกำหนดประเด็นในการออกเสียงประชามติเป็นไป
       โดยรอบคอบกว่าเดิม และยังปิดโอกาสที่จะทำให้การออกเสียงประชามติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย
                   
       2. ทบทวนอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไปจนถึงการคัดค้านผลการออกเสียงประชามติ ที่มอบอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด เรื่องดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องที่ ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้โดยตรงและไม่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่สมควรทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ โดยอำนาจนั้นมีอยู่ "ครบวงจร" ตั้งแต่ออกประกาศกำหนดเกณฑ์ในการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ "ไม่ปกติ" ที่มีการกำหนดให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่าย "นิติบัญญัติ" "บริหาร" และ "ตุลาการ" ในองค์กรเดียวกัน สมควรที่จะทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดเพื่อแยก "หน้าที่" ของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่อไป ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่า องค์กรที่สมควรจะเข้าไปมีบทบาทในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       ที่มา : บทสรุปย่อสำหรับนักบริหารของงานวิจัยเรื่อง "การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540)" เสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมิถุนายน 2545
       
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2545

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=395
เวลา 21 เมษายน 2568 18:36 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)