|
 |
วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลปกครอง เรื่อง ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการตัดการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม(คำสั่งที่ 645/2545) 6 มกราคม 2548 21:44 น.
|
ตามที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีในคดีที่มีการฟ้องคดีขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการตัดการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม โดยศาลปกครองกลางได้ให้เหตุผลในการวินิจฉัยว่า "
มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและนำมาฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนั้น แม้จะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ก็มีลักษณะเป็นการแสดงความตั้งใจว่าจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในอนาคต และเป็นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น หามีผลกระทบอย่างใด ๆ ต่อผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ เฉพาะแต่การกระทำตามมติดังกล่าวเท่านั้นที่จะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือนร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากมติดังกล่าวที่จะมีสิทธินำมติดังกล่าวมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอน ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้"
จากเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลปกครองกลางดังกล่าว มีข้อน่าพิจารณาในทางวิชาการ ดังต่อไปนี้
1. ตามเหตุผลของศาลปกครองกลางที่ให้เหตุผลว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี
เป็นเพียงการแสดงความตั้งใจว่าจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในอนาคตและเป็นการ
กระทำภายในของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น หามีผลกระทบ
อย่างใดต่อผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ แต่กรณีมีข้อน่าพิจารณาว่า ทศท. มีมติในเรื่องดังกล่าวและ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าจะตัดการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมในส่วนของผู้ฟ้องคดีในวันที่ 28 เมษายน 2545 ดังนั้น หากการกระทำในลักษณะดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ จะถือได้หรือไม่เป็นกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น
กล่าวโดยสรุปคือเรื่องที่เป็นการภายในของหน่วยงานของรัฐก็จริง แต่หากก่อให้เกิดความเสียหายในความเป็นจริงจะถือว่าเป็นความเดือดร้อนหรือเสียหายในนัยของมาตรา 42 แห่งพรบ. จัดตั้งศาลปกครองฯหรือไม่
2. หากจะพิจารณาว่าความเสียหายตามความเป็นจริงที่เกิดในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีมติที่จะตัดการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้ฟ้องคดีในวันที่ 28 เมษายน 2545 มิใช่เป็นความเสียหายในทางกฎหมายที่จะทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่ยังมีข้อพิจารณาว่า ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า "ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือนร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
" กรณียังมีข้อพิจารณาตามมาตรา 42 ที่บัญญัติว่า "
หรืออาจจะเดือนร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
" การที่ผู้ฟ้องคดีจะถูกตัดการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม ในวันที่ 28 เมษายน 2545 จะถือได้หรือไม่ว่า เป็นกรณีที่อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้นเป็นการกำหนดภายใต้เงื่อนเวลา ซึ่งเงื่อนเวลาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือวันที่ 28 เมษายน 2545 เป็นเงื่อนเวลาที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น กรณีนี้จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นกรณีที่อาจจะเดือดร้อนโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หากเป็นคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้มีผลในอนาคต ศาลจะใช้เกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร
3. นอกจากบทบัญญัติตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ จะได้บัญญัติรับรองสิทธิในการฟ้องคดีเพื่อปกป้องคุ้มครองความเสียหายรายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บทบัญญัติในมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ในส่วนของการกำหนดคำบังคับของศาลยังได้บัญญัติไว้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 72 (4)ซึ่งบัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ "(4) สั่งให้ถือปฏิบัติตามสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีการฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิหรือหน้าที่นั้น" กรณีตามมาตรา 42 ประกอบกับมาตรา 72 (4) เป็นกรณีที่จะนำมาใช้กับกรณีดังกล่าวได้หรือไม่ การที่ผู้ฟ้องคดีจะรอจนกว่าให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตัดการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมแล้วมาฟ้องคดี กรณีดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในแง่ของการประกอบกิจการ กรณีนี้ผู้ฟ้องคดีน่าจะมีสิทธิที่จะฟ้องคดีที่เรียกว่า การฟ้องคดีในเชิงการป้องกันสิทธิของตนได้หรือไม่ และในการวินิจฉัยของศาลในกรณีกำหนดคำบังคับอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็โดยการพิจารณาจากสิทธิหรือหนาที่ของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีในข้อพิพาทเรื่องนั้น ๆ ว่ามีอยู่เช่นใด ซึ่งศาลก็สามารถมีคำวินิจฉัยโดยให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีนี้ศาลก็จะมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิหรือหน้าที่นั้น ตามมาตรา 72 (4) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การใช้และการตีความกฎหมายในทิศทางดังกล่าวจึงเป็นการสอดคล้องกับระบบการคุ้มครองสิทธิของบุคคลและระบบการฟ้องที่เรียกว่าการฟ้องเชิงป้องกันสิทธิ ทั้งนี้ ก็เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิผลในการที่จะคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ไปขอพึ่งความยุติธรรมจากองค์กรศาล
เชิงอรรถ
* อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
[กลับไปที่บทความ]
1. คดีระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดี
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2545
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=393
เวลา 21 เมษายน 2568 18:39 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|