คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)กับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ

23 ธันวาคม 2547 13:45 น.

                   
       หนังสือเล่มนี้คืองานวิจัยที่คณาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำขึ้นโดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
                   
       สาระสำคัญของหนังสือแบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคแรก เป็นเรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 5 บทใหญ่ ๆ ประกอบด้วย สาระสำคัญเกี่ยวกับความเป็นมา โครงสร้างการจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. การไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช. และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. ส่วนในภาคที่สองเป็นเรื่องบทบาทของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แบ่งออกเป็น 7 บทใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่ของ ป.ป.ช. คือ การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน การถอดถอนจากตำแหน่ง การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ การร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐและกฎหมายว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี
                   
       ในตอนท้ายของแต่ละบทในภาคสอง คณะผู้วิจัยได้สอดแทรกปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่องเอาไว้อย่างน่าสนใจมาก พร้อมทั้งได้ทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเอาไว้ด้วย สำหรับบทสุดท้ายของภาคสองก็เป็นบทสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้จากงานวิจัย โดยคณะผู้วิจัยได้สรุปปัญหาของ ป.ป.ช. ว่ามี 2 ประการ คือ ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง การจัดองค์กรและระบบการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับปัญหาเฉพาะในกระบวนการใช้อำนาจแต่ละกรณีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะผู้วิจัยก็ได้มีข้อเสนอแนะ 4 ประการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
                   
       อ่านดูแล้วรู้สึกดีมาก ๆ ครับที่ได้มีโอกาสพบเห็นงานวิจัยคุณภาพดีเช่นนี้ ก็ต้องขอปรบมือดัง ๆ แสดงความชื่นชมคณะผู้วิจัยและขอแสดงความยินดีกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติด้วยที่ได้รับผล “เกินคุ้ม” กับการสนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้ครับ


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=330
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 21:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)