เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ : บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เล่ม 1

22 ธันวาคม 2547 15:10 น.

       หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนแนวผสมโดยผู้เขียนได้นำเอาทฤษฎีและแนวความคิดด้านเศรษฐศาสตร์มาใช้วิเคราะห์รัฐธรรมนูญ
       คงไม่ต้องกล่าวแนะนำถึงตัวผู้เขียนกันมาก เพราะในแวงวงวิชาการนั้น อาจารย์รังสรรค์ฯ เป็นนักวิชาการระดับแนวหน้าคนหนึ่งของประเทศไทย ที่มีผลงงานจำนวนมาก และเมื่อใดที่อาจารย์รังสรรค์ฯออกมาแสดงความคิดเห็น ก็จะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในสังคม
       หนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยที่อาจารย์รังสรรค์ฯ ทำให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) แต่เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่มีความยาวมาก สำนักพิมพ์มติชนผู้จัดพิมพ์จึงแยกพิมพ์ออกเป็น 3 เล่ม และเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ออกวางจำหน่ายครับ
       สาระสำคัญของหนังสือเล่มแรกนี้มีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน เริ่มจากแนวความคิดและทฤษฎีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและเศรษฐศาสตร์รวมทั้งแนวความคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่อาจารย์รังสรรค์ฯ นำมาใช้ในการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ 2 และ 3 นั้นจะเป็นประวัติความเป็นมาโดยละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมทั้งแนวความคิดทั้งหลายที่สอดแทรกเข้าไปอยู่ในบทบัญญัติต่างๆของรัฐธรรมนูญ โดยในส่วนที่ 3 จะเป็นส่วนที่ต้อง "ติดดาว" ให้กับอาจารย์รังสรรค์ฯ เพราะอาจารย์รังสรรค์ฯ ได้วิเคราะห์เสาะหาแนวความคิดต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญมานำเสนอได้อย่างดีมากและนับเป็นบุคคลแรกที่ได้จัดทำงานเขียนในลักษณะดังกล่าวด้วย
       ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วยภาคผนวกจำนวน 12 เรื่องที่เป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่นับวันก็ยิ่งหาดูได้ยาก ตัวอย่างเช่น ภาคผนวกที่ 1 เป็นข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ของ ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ถือได้ว่าเป็น "จุดเริ่มต้น" ที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองโดยการใช้รัฐธรรมนูญ
       
       ขอแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมากและควรมีไว้เป็นเจ้าของครับ


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=315
เวลา 12 พฤษภาคม 2567 06:45 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)