นิติรัฐกับอำนาจในการตราพระราชกำหนด

22 ธันวาคม 2547 14:22 น.

                   
        หนังสือเล่มนี้ออกวางตลาดท่ามกลางบรรยากาศร้อนรุ่มของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล (ผู้ชอบออกพระราชกำหนด !) กับนักวิชาการ (ผู้เคารพและยึดมั่นในกระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภา !)ครับ
                   
       หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกมีบทความที่น่าสนใจสองบทความที่เกี่ยวกับการออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตของรัฐบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือ บทความเรื่อง "ปัญหาความ (ไม่) ชอบธรรมของภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมภายใต้โครงสร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับบริการสาธารณะด้านโทรคมนาคมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540" โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ และ "บทเวิคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2546 กรณีพระราชกำหนดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม" โดย ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ รวมทั้งยังมีการนำเสนอคำวินิจฉัยศาล รัฐธรรมนูญที่ 14/2546 และในส่วนที่สองของหนังสือเล่มนี้จะเป็นเรื่องการออกพระราชกำหนดของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2535 เพื่อนิรโทษกรรมผู้ทำผิดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยมีบทความที่น่าสนใจสองบทความอันเป็นบทความที่เขียนขึ้นในสมัยนั้น บทความทั้งสองคือ "บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญกรณีพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฯ ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535" โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และ "ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535" โดย รศ.ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ รวมทั้งยังมีการนำเสนอคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 1/2535 , 2/2545 และ 3/2545 ไว้ด้วย
                   
       เป็นหนังสือที่น่าสนใจมากเพราะเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการต่อกระบวนการออกกฎหมายโดยรัฐสภาที่มักจะถูกละเลยในบางครั้งโดยฝ่ายบริหารครับ
                   
        เสียหายที่หนังสือนี้ออกเร็วไปหน่อย เลยขาดเรื่องเกี่ยวกับพระราชกำหนดปราบปรามผู้ก่อการร้าย ฉบับล่าสุดของรัฐบาลไปครับ
                   
        ขอขอบคุณสำนักพิมพ์วิญญูชนสำหรับหนังสือเล่มนี้ครับ


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=306
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 08:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)