ครั้งที่ 19

14 ธันวาคม 2547 15:27 น.

       "ฝรั่งเศสรณรงค์ให้คนหันมาเคารพนับถือกัน"
       ผ่านไปแล้วสำหรับภารกิจของผมในประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ผมได้กลับมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้วและก็เริ่มสะสางงานที่คั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมากในขณะที่ผมไม่อยู่
       ว่าไปแล้วหนึ่งเดือนที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลายพอสมควรสำหรับผม ไม่มีเรื่องตื่นเต้น ไม่มีเรื่องให้เครียดหรือหงุดหงิด ชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายและปกติในช่วงสัปดาห์สุดท้ายที่ฝรั่งเศสนั้นผมได้เดินทางไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่เคยเป็นผู้ช่วยผมและปัจจุบันเรียนอยู่ที่เมือง Starsbourg ที่นั่นผมได้พบกับลูกศิษย์อีกหลายคน รวมทั้งบรรดานักเรียนทุนรัฐบาลไทยรุ่นเยาว์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งถูกส่งไปเรียนระดับปริญญาตรีที่นั่นและก็มีหลายคนที่กำลังเรียนกฎหมายอยู่และมีหน่วยก้านดี และนอกจากนี้ผมก็ยังได้รับข่าวคราวทางโทรศัพท์จากลูกศิษย์ที่ Toulouse ทำให้ทราบว่าที่นั่นก็มีนักเรียนไทยอีกหลายคนกำลังเรียนกฎหมายอยู่เช่นกัน ผมรู้สึกยินดีที่มีนักเรียนไทยจำนวนมากกำลังศึกษาหาความรู้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านกฎหมายซึ่งผมก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งคนเหล่านั้นคงกลับมา “ตั้งใจ” รับใช้สังคมเช่นเดียวกับ “รุ่นพี่ๆ” ที่กำลังทำอยู่ในวันนี้
       ระยะเวลาร่วมหนึ่งเดือนที่ผ่านมาในประเทศฝรั่งเศสมีสิ่งหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำ คือ การดูโทรทัศน์ ผมสังเกตว่ามีการโฆษณาอยู่ประเภทหนึ่งบ่อยมากในทุกสถานี คือ
       การรณรงค์ให้มีการสร้าง “ความเคารพนับถือ” ในโรงเรียน โดยในโฆษณาก็จะมีนักร้อง ดารา มาพูดถึงการประพฤติปฏิบัติตนให้ดีในโรงเรียน ตอนท้ายของโฆษณาก็จะมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาพูดว่า “le respect , ça change l’ école” ซึ่งน่าจะหมายความถึงการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนโดยเริ่มต้นจากเด็กนักเรียนก่อน คือ ความพยายามที่จะให้มีการแสดงความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน ผมรู้สึกสนใจในโฆษณานี้มากจึงได้สอบถามจากบรรดาเพื่อนชาวฝรั่งเศส ทราบว่า รัฐบาลได้กำหนดให้มีการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกทางด้านวัฒนธรรมแก่ชาวฝรั่งเศสโดยจัดทำเป็นโฆษณา 3 ชุด ชุดแรกออกอากาศระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน 2544 ตามสถานีโทรทัศน์และวิทยุโดยมีคำขวัญว่า การแสดงความเคารพนับถือกันจะเป็นทางแก้ไข (antidote) ความโหดร้าย (violence) ที่เกิดขึ้นในสังคม รัฐบาลจึงได้เร่งรณรงค์ในโรงเรียนก่อนโดยพยายามให้นักเรียนรู้จักที่จะแสดงความเคารพนับถือ (le respect) กันในโรงเรียน คือ นักเรียนรุ่นเด็กเคารพนับถือนักเรียนรุ่นโต นักเรียนรุ่นเดียวกันเคารพนับถือกัน และนักเรียนทุกคนเคารพนับถือครู โดยในการโฆษณาชุดแรกนี้มุ่งหวังผลที่สร้างจิตสำนึกให้มีการเคารพนับถือซึ่งกันและกันในหมู่นักเรียนก่อน ซึ่งหลังจากวันที่ 4 พฤศจิกายน ก็จะมีการรณรงค์ชุดที่ 2 และ 3 ตามมาโดยในการรณรงค์ชุดที่ 2 จะเป็นการสร้างความเคารพนับถือในกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ (le respect de la loi et des règles) ส่วนชุดที่ 3 จะเป็นเรื่องการแจ้งให้ทราบว่าทุกคนต่างก็มีหน้าที่และข้อผูกพันต่อชาติและเพื่อนร่วมชาติ (nous avons tous des devoir et des obligations) เมื่อทำการรณรงค์ครบ 3 ชุด ดังกล่าวก็จะถือเป็นการสร้างความคิดใหม่ให้แก่เด็กที่จะต้อง “รู้จักนิ้วก้อย หัวแม่มือ” และไม่แก้ปัญหาด้วยความโหดร้าย ผมรู้สึกชอบใจแนวความคิดนี้พอ
       สมควร แต่ก็ไม่ได้คิดจะนำมาเป็นแบบอย่างอะไรทั้งนั้นเพราะในปัจจุบันสังคมไทยเราก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว คือ เรามีความเคารพซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา ที่นำมาเล่าให้ฟังก็เพราะต้องการให้เห็นว่า สิ่งดีๆที่เรามีอยู่แล้วควรรักษาเอาไว้ เพราะประเทศอื่นที่เขา “ไม่มี” หรือ “ไม่รู้จัก” สิ่งเหล่านี้เขาก็ต้องลำบาก “สร้าง” สิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติในวัฒนธรรมของชาติอื่นขึ้นมา ดังนั้น จงภูมิใจในสิ่งที่เรามีอยู่และใช้สิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มากที่สุด
       วันสุดท้ายใน Paris ก่อนเดินทางกลับนับได้ว่าเป็นวันที่ค่อนข้างวุ่นวายพอสมควร ความเครียดเริ่มเข้าครอบงำเพราะคนเยอะมากและมีตำรวจกับทหารถืออาวุธปืนขนาดใหญ่รักษาความปลอดภัยอยู่เต็มไปหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสถานีรถไฟใต้ดิน แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในวันนั้นผมขึ้นรถไฟใต้ดิน 5 เที่ยว ทุกเที่ยวจะพบวณิพกซึ่งเล่นดนตรีขอเงินเลี้ยงชีพ วณิพก 3 กลุ่มต่างก็เลือกเล่นเพลงของ Louis Armstrong ที่ชื่อ What a wonderful world ผู้อ่านที่เคยฟังเพลงดังกล่าวคงทราบว่า เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะและมีเนื้อร้องที่มีความหมายดี ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่บรรดาวณิพกทั้งหลายต่างพากันเลือกเล่นเพลงนี้เพื่อให้ความบันเทิงกับผู้คนในขณะกำลังเดินทางและยังเป็นการให้กำลังใจกับผู้คนที่กำลังอยู่ในภาวะหวาดกลัวต่อการเกิดสงคราม เพราะอย่างน้อยโลกใบนี้ก็ยังมีความสวยงามอยู่มากดังเช่นที่ได้บรรยายไว้ในเพลง
       สัปดาห์นี้เราไม่มีบทความจากบรรดานักวิชาการมาลงเพราะผมเพิ่มเดินทางกลับมาแล้วก็ไม่มีเวลาเขียนเองหรือขอบทความจากเพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม
       ลูกศิษย์ที่ช่วยทำ website นี้อยู่ได้นำเอาเอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งผมเก็บไว้เป็นเวลานานมาพิมพ์เพื่อลงใน pub-law.net โดยผมเองก็เห็นด้วย เอกสารดังกล่าว คือ พระราชปรารภเรื่อง “คอนสติตูชั่น” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงบันทึกไว้ในปี พ.ศ.2454 ภายหลังจากที่
       พระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติได้เพียงปีเดียว พระราชปรารภนี้เสนอผ่านทางหนังสือ “พระบรมราโชบายทางการเมือง” พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประพันธ์โดยจมื่นอมรครุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ที่จัดพิมพ์โดยองค์การค้าคุรุสภาเมื่อปี พ.ศ.2519 แต่พระราชปรารภดังกล่าวแม้จะทรงบันทึกไว้เป็นเวลา 90 ปีแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากพิเคราะห์ดูอย่างดีแล้วจะเห็นได้ว่าบางเรื่องก็ยังคงเป็นเรื่องที่ “สร้างปัญหา” ให้กับสังคมไทยอยู่ตลอดมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน นอกเหนือจากเอกสารดังกล่าวแล้ว ในสัปดาห์นี้เรายังได้นำคำพิพากษาศาลปกครองและคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีอีก 2 เรื่องมาลงเพิ่มเติมไว้แล้วใน “คำวินิจฉัย” ในส่วนอื่นๆที่เป็นข้อมูลพื้นฐานเราก็ได้ปรับแก้ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาอันเป็นการดำเนินการตามปกติของเราอยู่แล้ว และสำหรับการแนะนำหนังสือใหม่นั้น อาทิตย์ที่ผ่านมาผมพยายามเข้าออกศูนย์หนังสือจุฬาอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่พบว่ามีหนังสือใหม่ด้านกฎหมายมหาชนออกมา จึงขอพักการแนะนำหนังสือใหม่ไว้ก่อนจนกว่าจะมีการออกหนังสือใหม่ที่มีคุณภาพดีในท้องตลาดอีกครั้งหนึ่ง
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2544
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=30
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:30 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)