แนวความคิดว่าด้วยรัฐ [ตอนที่ 2]

6 มกราคม 2548 21:43 น.

                   
       2 รัฐเกิดจากความขัดแย้ง(les conflits)
                   
       ทฤษฎีที่ว่าด้วยรัฐเกิดจากการขัดแย้งถือได้ว่าเป็นรากฐานของการก่อกำเนิดรัฐและเน้นให้เห็นถึงสภาวการณ์ทางกฎหมายให้เด่นชัดขึ้นโดยสังเกตได้จากกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งในสังคมนั้นหรือไม่ก็โดยจากปัจเจกชนในสังคมนั้นที่ครอบคลุมอยู่เหนือทุกๆกลุ่มเพื่อให้เกิความมั่นคงและความเป็นระเบียบของสังคมนั้น
                   
       ในเรื่องดังกล่าวปรากฎว่าได้มีนักทฤษฎีหลายท่านที่วิเคราะห์เพื่อที่จะอธิบายถึงการก่อกำเนิดรัฐขึ้นโดยตั้งอยู่บนฐานของการรับรู้ของมนุษย์โดยตรงบนขอบเขตปริมณฑลของอำนาจทางการเมือง(le pouvoir politique)
                   
       ท่านแรกที่จะกล่าวถึงก็คือมองเตสกิเออร์(Montesquieu)ที่ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวในหนังสือ "เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย" (De l'esprit des lois)ว่าการปกครองแบบราชาธิปไตยก็ดี การปกครองแบบการผูกขาดอำนาจไว้ที่บุคคลคนเดียวก็ดีหรือการปกครองของระบบอังกฤษก็ดีและอำนาจรัฐก็ดีต่างก็อยู่บนหลักเกณฑ์ของกฎแห่งการขัดแย้งซึ่งเป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์ มองเตสกิเออร์ได้พูดถึงการปกครองในระบอบราชาธิปไตยว่าในระบบการปกครองดังกล่าวจะต้องมีเกียรติศักดิ์(l'honneur)เป็นตัวจำกัดอำนาจและเป็นตัวที่มีอำนาจเหนือทุกๆคนและนอกจากนี้ยังเป็นตัวที่สร้างเขตแดนกันการปกครองแบบราชาธิปไตยออกจากการปกครองที่ผูกขาดอำนาจอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียวหรือที่เรียกว่าระบบเผด็จการ (despotisme)โดยการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อการดังกล่าวและเกียรติศักดิ์เป็นตัวที่ให้พวกขุนนางได้ใช้อำนาจที่เป็นกลาง (les pouvoirs intermediares)เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และราษฎร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งต่างที่เกิดขึ้นในรัฐนั้นจะได้รับการแก้ไขก็ด้วยแต่เกียรติศักดิ์เท่านั้น สภาพการณ์การณ์ดังกล่าวนั้นเป็นการป้องกันมิให้เกิดรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการที่จะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นเพราะว่าระบบการปกครองแบบเผด็จการนั้นจะต้องมีความเกรงกลัวนั่นเองและการแก้ไขความขัดแย้งในระบบดังกล่าวก็มีแต่การใช้กำลังอย่างรุนแรงและป่าเถื่อน16 มุมมองของมองเตสกิเออร์เป็นมุมมองที่มองว่าการลดหรือการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในรัฐราชาธิปไตยนั้นต้องมีตัวเชื่อมตรงกลางระหว่างกษัตริย์กับประชาชนโดยผ่านพวกขุนนางที่ใช้เกียรติศักดิ์เป็นกันชนมิให้กษัตริย์ได้ใช้อำนาจจนเกินไปจนอาจจะเป็นระบบเผด็จการไปได้และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นมาได้
                   
       นอกจากนี้ยังมีรุสโซ(Rousseau)และลอค(Locke)อีกสองท่านที่ได้พูดถึงทฤษฎีความขัดแย้งขึ้นโดยมองว่าพันธสัญญาที่เกิดขึ้นในประชาคมเป็นหนทางที่เข้ามาแก้ไขความขัดแย้งซึ่งพบว่าเป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของรัฐ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าการที่ประชาชนในประชาคมนั้นเข้าทำสัญญาประชาคมก็เพราะต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะมีขึ้นระหว่างปัจเจกชนด้วยกันเองโดยให้ใช้สัญญาหรือพันธสัญญาดังกล่าวเป็นตัวที่ควบคุมมิให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ในรัฐนั้น ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็เท่ากับเป็นการทำลายพันธสัญญานั่นเอง
       อย่างไรก็ดีผู้ที่กล่าวถึงทฤษฎีความขัดแย้งอย่างแจ้งชัดมากที่สุดคือเฮเกล(Hegel)และตามมาด้วยมาร์กซ(Marx) ถึงแม้ว่าแนวความคิดของมาร์กซแม้จะเดินตามเฮเกลก็ตามแต่บทสรุปนั้นแตกต่างกัน เฮเกลกล่าวว่ารัฐเป็นผลผลิตของพัฒนาการแห่งความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ของสังคมและเป็นผลของการถกเถียงที่เกี่ยวกับเสรีภาพและอำนาจ จากแนวความคิดดังกล่าว รัฐจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำทางความคิดทางวัตถุวิสัย และจากความคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่การวิเคราะห์สังคมในมิติทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมไม่ใช่ในมิติทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว
                   
       สำหรับมาร์กซนั้นไม่เห็นด้วยกับกรอบทางความคิดทางอุดมคติของเฮเกลเพราะเขาเห็นว่าขบวนการที่สำคัญๆทางประวัติศาสตร์นั้น ไม่ใช่เรื่องของโลกทางความคิด แต่เป็นเรื่องของโลกทางวัตถุหรือพลังของการผลิต ซึ่งตรงกันข้ามกับที่เน้นเรื่องอุดมคติ ถึงแม้อาจจะโต้แย้งได้ว่าพลังของการผลิตก็เป็นผลผลิตของจิตใจมนุษย์และเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาก็ตาม แต่มารกซ์เห็นว่าการขัดแย้งกันไม่ใช่สภาพสะท้อนของความคิด แต่เกิดจากการขัดแย้งกันของพลังทางวัตถุซึ่งสัมผัสได้ ส่วนความคิดเป็นเพียงผลของพลังทางวัตถุ การศึกษาประวัติศาสตร์จึงต้องเน้นที่ตัววัตถุซึ่งเป็นรูปธรรม แต่จิตใจนั้นเป็นนามธรรมซึ่งสัมผัสไม่ได้17
                   
       ศาสตราจารย์ ยอร์ช บรูโด กล่าวว่าคำอธิบายของลัทธิมาร์กซิสม์เกี่ยวกับที่มาของรัฐนั้นเหมือนกันหรือไปได้ด้วยกันกับ"ทฤษฎีว่าด้วยการขัดกัน" คือรัฐเป็นผลของการต่อสู้ แต่มิใช่ว่าเป็นการต่อสู้อะไรก็ได้การต่อสู้ซึ่งมาร์กถือเป็นสิ่งสำคัญในทางการเมืองคือ"การต่อสู้ระหว่างชนชั้น"18
                   
       ดังนั้นรัฐในความคิดของมาร์กซจึงอยู่ในฐานะที่เป็นรูปแบบทางการเมือง พอจะจำแนกความคิดดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้ ประการแรก รูปแบบและสถาบันทางการเมืองต่างๆเป็นเพียงผลสะท้อนของเทคนิคและวิธีการผลิตแบบต่างๆอันเป็นโครงสร้างเบื้องล่างของสังคม ดังนี้จึงเป็นการมองว่ารัฐนั้นอยู่เหนือสังคมพลเมืองโดยเอาความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจเข้าแทนที่
                   
       ประการที่สอง เมื่อมองจากแนวสังคมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรัฐขึ้นแล้ว จะเห็นได้ว่าพัฒนาการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดมีการแบ่งแยกชนชั้นและนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างชนชั้น แต่ละชนชั้นก็จะสถาปนาอำนาจของตนตามฐานะทางเศรษฐกิจและก็จะกลายเป็นวัฏจักรเช่นนี้ที่แต่ละชนชั้นก็พยายามที่ให้ตนเองอยู่เหนือชนชั้นอื่นต่อไป และก็จะกลายเป็นผู้กดขี่ข่มเหงผู้อื่น ดังนั้นกลไกของรัฐจึงเป็นเพียงเครื่องมือแห่งการกดขี่ระหว่างชนชั้น นั่นก็คือการเกิดของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะสังคมนั้นอยู่ภายใต้ความขัดแย้งที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้19 จึงต้องอาศัยอำนาจบังคับของรัฐที่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆเหล่านี้อยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย รัฐจึงเป็นชนชั้นทางการเมืองที่คุมอำนาจชนชั้นอื่นในสังคมอีกทีหนึ่ง รัฐจึงมีตัวแทนของรัฐซึ่งตัวแทนเหล่านี้ที่เป็นชนชั้นนายทุนใช้อำนาจรัฐกดขี่ข่มเหงชนชั้นที่ด้อยกว่าที่เราเรียกว่าชนชั้นกรรมาชีพ
                   
       จากมุมมองของมาร์กซจะเห็นได้ว่ามาร์กซได้ปฎิเสธหรือไม่รับรู้การมีอยู่ของ"รัฐ"(la negation de l'Etat par le marxisme) กล่าวคือการกดขี่ระหว่างชนชั้นจะหมดไปก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกชนชั้นในสังคม ความขัดแย้งก็จะไม่บังเกิดขึ้น การยกเลิกดังกล่าวไม่ว่าจะเรียกว่าการปฏิวัติหรือปฏิรูปก็ตามนั้นจะนำพาสังคมนั้นไปสู่ระบบสังคมนิยมและในที่สุดก็นำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐเพราะรัฐเกิดขึ้นจากผลแห่งความขัดแย้งในประชาคมนั้นที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้
                   
       3.รัฐและแนวคิดว่าด้วยการจัดสร้างสถาบัน(L'Etat et la notion d'institution)
                   
       แนวความคิดดังกล่าวได้รับการเสนอโดย Maurice Hauriou ภายใต้ทฤษฎีที่เรียกว่า ทฤษฎีแห่งการจัดตั้งสถาบัน(La th?orie de l'Institution) 20 โดยเสนอว่ารัฐเป็นนิติบุคคล (la personne morale)และเนื่องจากความเป็นนิติบุคคลของรัฐๆจึงได้จัดตั้งสถาบันที่อยู่ภายใต้รัฐขึ้นมา การเป็นนิติบุคคลของรัฐเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเป็นกฎปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน มีความสัมพันธ์ อย่างใกล้ชิดกับการเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งระบบของรัฐและความคิดชี้นำที่เป็นพื้นฐานขององค์กร แนวความคิดเรื่องการเป็นนิติบุคคลของรัฐทำให้กล่าวได้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างในรัฐที่อยู่ในปัจเจกชนที่ประกอบกันเป็นรัฐ ทั้งในด้านความสำคัญในระยะเวลา สิ่งนั้นก็คือแนวความคิดแห่งการดำเนินการร่วม(l'id?e d'entreprise) ซึ่งเป็นพื้นฐานของรัฐ21และจากความเป็นนิติบุคคลของรัฐๆจึงเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันภายใต้รัฐขึ้น รัฐมีสถานภาพและมีความเป็นอิสระในการดำเนินการต่างๆ
                   
       ตามแนวคิดของ Maurice Hariou นั้นจะเห็นได้ว่า รัฐและความเป็นนิติบุคคลของรัฐนั้นเกิดจากผลผลิตตามธรรมชาติตามแนวความคิดของสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติ ขณะเดียวกันนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองเห็นว่าความเป็นนิติบุคคลของรัฐนั้นไม่ได้เป็นผลผลิตมาจากธรรมชาติแต่เกิดจากการที่มนุษย์ช่วยกันสร้างขึ้นมาโดยรับรองความเป็นรัฐและความเป็นนิติบุคคลของรัฐโดยกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง
                   
       จากแนวความคิดของHariouดังกล่าวจึงเกิดปัญหาว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกฎหมายนั้นยากที่จะแยกออกจากกันได้ Leon Dugiut จึงได้สร้างมาตรฐานที่แบ่งแยกผู้ปกครองออกจากผู้ที่อยู่ใต้การปกครองให้เกิดขึ้น22การอธิบายการเกิดของรัฐนั้นเกิดจากคำถามที่เกี่ยวกับสภาวะทางกฎหมายของรัฐรวมทั้งอำนาจของรัฐด้วย การที่กำหนดให้รัฐเป็นสถาบันขึ้นนั้นเท่ากับเป็นการหลุดพ้นจากขอบเขตแห่งเกณฑ์ของรัฐและเป็นการมอบหมายให้รัฐเทียบเท่าและมากกว่าสภาวะทางกฎหมายอื่นๆแต่ก็แตกต่างที่ว่ารัฐนั้นเป็นสถาบันที่เป็นองค์อธิปัตย์23นอกจากนี้รัฐยังเป็นมวลรวมของทุกคนในชาตินั้นแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างเจตนารมณ์ทางกฎหมายขึ้นกล่าวคือเป็นผลผลิตที่บริสุทธิ์ของการจินตนาการที่ยังคงอยู่ในเจตนารมณ์ของสิ่งที่อยู่ภายใต้การจัดการของรัฐ ข้อสงสัยจึงเกิดขึ้นว่าจินตนาการที่เป็นมวลรวมที่เรียกว่ารัฐนั้นสามารถแสดงออกในการกระทำของรัฐได้อย่างไร คำตอบก็คือการแสดงออกของรัฐนั้นก็คือการแสดงออกของผู้ปกครองรัฐ24จะเห็นได้ว่าแนวความคิดเรื่องรัฐเป็นสถาบันนั้นเป็นกลไกของการจำกัดอำนาจของรัฐโดยอาศัยอำนาจของกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติงานที่นิติบุคคลจะต้องกระทำตาม เช่น แนวความคิดในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของนิติบุคคล แนวความคิดในเรื่องสถานะของนิติบุคคลซึ่งสองสิ่งนี้เป็นเสาหลักทางกฎหมายของสถาบัน25 มุมมองที่มองรัฐเป็นสถาบันเป็นมุมมองที่มองจากด้านสูง ขณะที่ฝ่ายที่เห็นว่ารัฐเกิดจากความขัดแย้งนั้นเป็นมุมมองที่มองจากด้านล่างขึ้นไป เมื่อนำแนวความคิดของทั้งสองฝ่ายมาพบกันได้สร้างแนวคิดที่ทำให้รัฐนั้นต้องมีความเป็นกลาง อย่างไรก็ตามแนวความคิดเรื่องสถาบันนั้นได้เป็นเรื่องอดีตไปแล้ว แนวความคิดของรัฐสมัยใหม่จึงเป็นแนวความคิดทางกฎหมายที่ปรากฏขึ้นเพราะทำให้เกิดการแยกระหว่างอำนาจและปัจเจกชนที่ได้รับมอบอำนาจมา
       
                   
        สรุปและวิเคราะห์ จากการที่ได้ศึกษาในเรื่องแนวความคิดในการก่อกำเนิดรัฐข้างต้น จะทำให้เห็นได้ว่าถ้าวิเคราะห์การกำเนิดรัฐแล้ว เราจะพบว่าการที่รัฐจะดำเนินการต่อไปได้นั้นจะต้องมีอำนาจซึ่งเราอาจเรียกว่า อำนาจรัฐ(le pouvoir d'Etat) หรือ อำนาจทางการเมือง(le pouvoir politique)ก็แล้วแต่ ในที่นี้ขอใช้คำว่า อำนาจทางการเมือง
                   
       ถ้ามองการกำเนิดรัฐในแง่ของสัญญาประชาคมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างเป็นพื้นฐานอย่างที่ปฏิเสธกันไม่ได้ ก็คงต้องถามต่อไปว่ามองในแง่ทฤษฎีสัญญาประชาคมแบบไหน ก่อนที่จะก้าวล่วงไปถึงประเด็นดังกล่าวนั้น คงต้องมองอย่างหยาบเรื่องการกำเนิดรัฐตามทฤษฎีสัญญาประชาคมว่า ประชาคมนั้นมีแต่ความขัดแย้ง ทุกๆคนในประชาคมนั้นต่างก็ต้องการความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง จึงจำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากันเข้ามาทำพันธสัญญากันขึ้นโดยทุกคนต่างมอบอำนาจที่ตนเป็นเจ้าของอยู่นั้นให้แก่รัฐโดยมีผู้แทนของรัฐที่ทุกๆคนในประชาคมนั้นให้การยอมรับเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวในฐานะที่เป็นหัวหน้าที่กล้าหาญและเข้มแข็ง ผู้ที่ใช้อำนาจดังกล่าวนั้นก็เป็นผู้ทรงสิทธิในการใช้อำนาจอธิปไตยและเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองด้วยในตัว ซึ่งตรงกับการสนับสนุนแนวความคิดศักดินาสวามิภักดิ์และการปกครองแบบราชาธิปไตยตามลำดับ จะเห็นได้ว่าในยุคนั้นผู้ปกครองที่ได้รับการยอมรับให้ใช้อำนาจดังกล่าวแทนทุกๆคนในประชาคมนั้นเป็นเจ้าของอำนาจทางการเมือง
                   
       ดังนั้นอำนาจนี้จึงเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ปกครองที่เห็นชัดเจนว่าเป็นตัวคน คือเป็นสิทธิของผู้นั้นที่จะใช้อำนาจนั้นหรือไม่ใช้ จะใช้อย่างไร โดยวิธีใด เพื่ออะไรก็ได้และเป็นเอกสิทธิ์เพราะคนอื่นไม่มีอำนาจนั้น เฉพาะผู้ปกครองเท่านั้นที่มี26 จะเห็นได้ว่าอำนาจรัฐในยุคดังกล่าวอยู่ที่ตัวบุคคลเป็นสำคัญที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวเท่านั้นไม่ได้มีการแยกอำนาจออกจากตัวบุคคลคนนั้นเลย ถ้าบุคคลนั้นสูญสิ้นคุณสมบัติแล้ว อำนาจทางการเมืองของบุคคลนั้นก็สิ้นไปด้วย การที่อำนาจอยู่ที่ตัวบุคคลนั้นจึงทำให้บุคคลนั้นมีอำนาจมากและอาจใช้อำนาจตามอำเภอใจได้จนเป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองนั้น
       ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลเสียโดยการสร้างแนวความคิดเรื่องการแยกอำนาจทางการเมืองออกจากบุคคลไปให้สถาบัน (l'institutionalisation du
       pouvoir) โดยตั้งสมมติฐานว่า อำนาจทางการเมืองนั้นเป็นของสถาบันที่เรียกว่า รัฐ เป็นการกระทำที่เป็นการจัดสถาบันให้อำนาจทางการเมือง ทำให้อำนาจทางการเมืองเป็นสถาบันอิสระออกมาจากตัวบุคคล และเป็นของนิติบุคคลที่เรียกว่ารัฐ27 ดังนั้นตามแนวความคิดดังกล่าวจึงทำให้อำนาจการเมืองกลายมาเป็นของรัฐ ไม่ว่าในยุคดังกล่าวจะมีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยก็ตาม กษัตริย์หรือผู้นำประเทศที่ใช้อำนาจทางการเมืองก็เป็นเพียงตัวแทนที่ทำการแทนรัฐ อำนาจทางการเมืองก็ยังอยู่ที่รัฐนั่นเอง ปัจจัยที่แสดงว่ามีการแยกอำนาจออกจากตัวบุคคลมายังรัฐนั้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรกได้แก่ ปัจจัยทางกฎหมาย กล่าวคือการเข้าสู่ตำแหน่งอาศัยความชอบธรรมแห่งกฎหมาย มิได้อาศัยความเก่งกาจ ความกล้าหาญหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวต่อไป ปัจจัยที่สองคือความต่อเนื่องของอำนาจทางการเมืองๆจะต้องมีความต่อเนื่องเพื่อแสดงถึงความคงอยู่ของตัวมันเองซึ่งถ้าอำนาจทางการเมืองยังอยู่ที่ตัวบุคคล ความต่อเนื่องของอำนาจทางการเมืองอาจจะสะดุดหยุดลงด้วยก็ได้เพราะถ้าบุคคลผู้นั้นหมดสิ้นซึ่งคุณสมบัติแล้ว อำนาจที่เป็นของบุคคลคนนั้นก็ต้องหยุดลงด้วย ปัจจัยที่สาม ความมีเหตุผลของรัฐ กล่าวคือผู้ปกครองรัฐจะต้องทำการใดไปนั้นจะต้องทำไปเพื่อส่วนรวมอันจะทำให้ทุกคนในประชาคมนั้นเห็นว่าทำไปเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ทำไปเพื่อตนเอง และเหตุผลของรัฐจึงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือทุกๆคนในประชาคมนั้น
                   
       ณ.จุดนี้ถ้าลองวิเคราะห์ลงไป จะพบว่าในสังคมดั้งเดิมนั้น เมื่อทุกคนเกิดความกลัวกันขึ้น จึงต้องหันหน้าเข้าหาตัวแทนของตนที่มีอำนาจ ความกล้าหาญที่พอจะปกป้องทุกคนในประชาคมนั้นได้ อำนาจทางการเมืองในยุคนั้นจึงอยู่ที่ตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้า ถามต่อไปว่า อำนาจนั้นเป็นอำนาจสูงสุดหรือไม่ (la souverainet?) หรือที่เรียกกันว่า อำนาจอธิปไตยมีหรือไม่ในยุคนั้น ในยุคดังกล่าวจะเห็นได้ว่าความไม่แน่นอนในสถานะภาพของหัวหน้าประชาคมนั้นยังมีอยู่เพราะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง ความกล้าหาญของคนๆนั้น ตราบใดที่เขายังมีคุณสมบัติดังกล่าวอยู่ การยอมรับในตัวคนนั้นของคนในประชาคมก็ยังคงมีอยู่ แต่ถ้าปรากฏว่าวันหนึ่งมีผู้ที่เข้มแข็งกว่าแล้ว เขาก็จะถูกแทนที่โดยคนใหม่ที่กล้าหาญและแข็งแรงกว่าที่พร้อมที่จะมาทำหน้าที่ปกป้องทุกคนในประชาคมนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบุคคลนั้นยังขาดอำนาจสูงสุดอยู่เพราะอำนาจของเขานั้นยังสามารถถูกท้าทายโดยบุคคลอื่นได้อยู่ ผลที่ตามมาก็คืออำนาจนั้นจึงไม่ใช่อำนาจสูงสุดในความหมายของคำว่าอำนาจอธิปไตย
                   
       ถามต่อไปว่าที่เรียกกันว่า"อำนาจอธิปไตย"นั้นเกิดขึ้นตอนไหนกันแน่ ก็คงต้องตอบว่าเมื่อเกิดมีรัฐขึ้นมา ดังได้ทราบว่ารัฐเป็นสิ่งที่ถูกสมมติขึ้นมาให้เป็นนามธรรมและให้เป็นนิติบุคคล ลองคิดต่อไปอีกว่าทำไมจึงต้องสร้างรัฐขึ้นมา ก็คงได้คำตอบว่าเนื่องจากเกรงกลัวว่าอำนาจทางการเมืองจะถูกผูกขาดโดยบุคคลเพียงคนเดียวจึงจำเป็นต้องแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลและมอบอำนาจทางการเมืองนั้นแก่รัฐโดยให้บุคคลนั้นใช้ในนามของรัฐ ซึ่งแสดงว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจนั้น ดังนั้นจะเปลี่ยนผู้ปกครองรัฐไปกี่คนก็ตาม อำนาจทางการเมืองนั้นก็ยังเป็นของรัฐอยู่ทุกครั้งไป ผู้ปกครองรัฐจะทำการใดลงไปก็ต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ในประชาคมนั้นไม่ใช่ทำเพื่อสนองความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง จะเห็นได้ว่ารัฐเป็นกรอบที่คอยกำหนดพฤติกรรมของผู้ปกครองด้วย"เหตุผลของรัฐ"(la raison d'Etat)นั่นเองซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดคำว่า อำนาจอธิปไตย (la souveraineté)เกิดขึ้น
                   
       จึงกล่าวได้ว่าการเกิดอำนาจอธิปไตยนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดของรัฐเมื่อมีการสร้างรัฐและแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลไปให้แก่รัฐ คงสงสัยแล้วถามต่อไปว่าทฤษฎีต่างๆที่กล่าวว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ เป็นของประชาชนเหล่านี้อันสะท้อนรูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการปกครองแบบประชาธิปไตยตามลำดับนั้นคืออะไรกันแน่ก็เมื่อบอกว่าอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐ คงต้องขยายความ ณ.ที่นี้ว่าอำนาจสูงสุดนั้นอยู่ที่และเป็นของรัฐแต่กษัตริย์ในการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือประชาชนในการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวแทนรัฐ ดูแล้วบางครั้งก็กล่าวได้ว่าอำนาจนั้นเป็นของกษัตริย์หรือเป็นของประชาชนแต่ในความเป็นจริงรากฐานแห่งอำนาจนั้นเปลี่ยนไปแล้วกล่าวคือรากฐานอำนาจแต่ดั้งเดิมนั้นได้เปลี่ยนมายังรัฐไปแล้วแต่เนื่องจากรัฐแสดงออกทางการกระทำไม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่ถูกสมมติขึ้นมาจึงต้องมีการหาบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาทำการแทน จึงต้องกล่าวว่าที่กล่าวว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์หรือของประชาชนนั้นเป็นการแสดงออกที่ต้องการให้เห็นเป็นรูปแบบของการปกครองโดยเหล่านักคิดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วรากฐานแห่งอำนาจที่แท้จริงนั้นเป็นของรัฐ แต่ผู้ใช้อำนาจนั้นเป็นตัวแทนของรัฐ
       
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       *. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       16. มองเตสกิเออร์, เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย, แปลและเรียบเรียงโดย วิภาวรรณ ตุวยานนท์, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ, 2528,หน้า 41,45,48.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       17. ทินพันธ์ นาคะตะ, อ้างแล้ว,หน้า 98.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       18. ไพโรจน์ ชัยนาม,สถาบันการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาค ความนำทั่วไป,โครงการตำรา ชุดตำราลำดับที่ 5 คณะกรรมการสัมมนาและวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพ,2524,หน้า268.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       19. วี.ไอ.เลนิน,รัฐกับการปฏิวัติ, สำนักพิมพ์นกฮูก, กรุงเทพ,ม.ป.พ, หน้า 7-14.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       20. Maurice Hariou, Principes de droit constitutionnel, ed, Sirey, 1910; Precis de droit constitutionnel, ed.Sirey, 2ed., 1929 (reed.CNRS 1965) .
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       21. โภคิน พลกุล, เอกสารประอบการบรรยายวิชาหลักกฎหมายมหาชน,กรุงเทพ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์,2526,หน้า 80.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       22. L. Sfez, Duguit et la th?orie de l'Etat in Genese et declin de l'Etat: APD, 1976, p.111et s.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       23. O.Beaud, op.cit., p.133.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       24. B.Chanebout, L'Etat, opcit.,p.54 .
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       25. V.A.Brimo, Le doyen Maurice Hariou et l'Etat: APD, 1976, op.cit.,p.98et s.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       26. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, แม่บทความคิดเรื่องรัฐ, เอกสารโรเนียวประกอบคำบรรยาย, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ป.ด., หน้า44.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       27. เรื่องเดิม, หน้า 45.
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2544

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=296
เวลา 21 เมษายน 2568 21:20 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)