แนวความคิดว่าด้วยรัฐ [ตอนที่ 1]

6 มกราคม 2548 21:44 น.

       บทนำ
                   
       แนวความคิดของคำว่ารัฐนั้นเกิดจากการยอมรับคำว่า "อำนาจ" (le pouvoir) ที่เรียกกันว่าอำนาจรัฐ(le pouvoir d'Etat)ซึ่งสืบเนื่องมาจากอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐที่เรียกกันว่า อำนาจอธิปไตย อำนาจรัฐแสดงถึงการมีอำนาจของผู้ปกครองรัฐที่มีอยู่เหนือผู้ที่อยู่ใต้การปกครองหรือพลเมืองของรัฐอันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนของรัฐที่อยู่บนพื้นฐานแห่งความไม่เท่าเทียมกัน แนวความคิดดังกล่าวถือว่าเป็นปรัชญาหรือหัวใจของกฎหมายมหาชนที่กล่าวว่า "ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ก็ไม่สามารถกระทำได้"2 อันที่จริงแล้วรัฐนั้นเป็นแนวคิดทางพุทธิปัญญาที่รวมเอาจิตวิญญาณทั้งหมดของทุกๆคนในรัฐมาไว้ในขอบเขตปริมณฑลของรัฐ นอกจากนี้รัฐยังได้รับมอบอำนาจและหน้าที่เฉพาะที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบสุขของสังคมมากไปกว่าที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่ารัฐเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้และเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและก็ยังดำรงอยู่ในรูปของนามธรรม
                   
       ถ้าศึกษาคำว่ารัฐในขอบเขตของกฎหมายมักจะพบคำดังกล่าวปรากฏในสุนทรพจน์ต่างๆเสมอๆและสุนทรพจน์ต่างๆเหล่านี้ก็อ้างอิงไปยังบทบัญญัติแห่งกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ในการปกครองประเทศซึ่งเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจแห่งความเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญได้ให้ที่ว่างหนึ่งที่ไว้ให้สำหรับคำว่ารัฐโดยความเชื่อที่ว่ารัฐเป็นจุดร่วมของความโชคดีของทุกคน รัฐเป็นตัวที่แสวงหาความมั่นคงและหลักประกันแก่ทุกๆคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและปราศจากความขัดแย้งต่างๆ นอกจากนี้รัฐยังได้สร้างรูปแบบการแทรกแซงต่างๆในกิจกรรมของรัฐและมากไปกว่านั้นรัฐยังต้องคำนึงถึงแนวความคิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วยซึ่งทำให้รัฐนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องสิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ทุกประเทศในสากลโลกต้องให้ความสนใจและคำนึงถึงเป็นกรณีพิเศษ
                   
       ความหมายของคำว่า "รัฐ" (l'Etat)
                   
       คำว่า"รัฐ"นั้นในภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า"Etat"ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า"State"ในภาษาเยอรมันใช้คำว่า “Staat” คำดังกล่าวมาปรากฎอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 15 กับศตวรรษที่16ก่อนหน้านั้นไม่ปรากฎมีการใช้คำดังกล่าวไว้อยู่เลยแต่นักปราชญ์ในยุคก่อนหน้านั้นใช้คำว่า Polis, res publica,civitas,regnum,communitas perfecta ในความหมายว่า โครงร่างทางการเมือง (Le corps politique)หรือใช้คำว่า la Couronne de royaume ในความหมายว่า อาณาจักรแห่งพระราชาซึ่งแสดงให้ถึงการก่อประชาคมของมนุษย์อันเป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองที่ใช้อำนาจบังคับหรือคำสั่งที่มีต่อผู้ที่อยู่ใต้การปกครองและผู้ที่อยู่ใต้การปกครองต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับดังกล่าวนั้น
       คำว่า"Etat" ,"State"และ“Staat” โดยทางนิรุกติศาสตร์คำดังกล่าวมาจากคำลาตินว่า “status” ที่แปลว่า สิ่งที่ยืนขึ้น(ce qui est debout),สถานะหรือสภาพ สันนิษฐานกันว่า คำว่า état (เขียนด้วย e ตัวเล็ก) นั้นมาจากคำว่า estat ที่ใช้อยู่ในสมัยกลางเพื่อเป็นการจัดแบ่งประเภทของคนในสังคม เช่นคำว่า tier état ที่แปลว่า พวกฐานันดรที่สามในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นต้น แต่ไม่ใช่ใช้อยู่ในความหมายว่าประชาคมทางการเมืองหรือ คำว่า “รัฐ” หรือ “Etat”ในยุคต่อมา คำว่า Etat ที่เขียนด้วย E ตัวใหญ่ดังกล่าวนี้เริ่มใช้ในยุคเรอเนสซอง(ค.ศ.1450 จนถึงสิ้นสุดศตวรรษที่ 16) ดังนั้นจากคำลาติน ว่า status จึงมาปรากฎอยู่ในความหมายพิเศษที่ใกล้เคียงกับคำว่า Civitas(ประชารัฐ,รัฐ,รัฐบาล) และ Res publica(สาธารณรัฐ,รัฐ,รัฐบาล)3
                   
       นิโคลาส แมคคีอาเวลี เป็นนักปรัชญาคนแรกที่เขียนคำว่า “รัฐ” ในความหมายปัจจุบันลงในหนังสือ “Le Prince”ในปี ค.ศ.1513ว่า “รัฐทุกรัฐ ซึ่งเคยมีหรือมีอำนาจเหนือมนุษย์ เคยเป็นหรือเป็นสาธารณรัฐหรือราชอาณาจักร”(Tous les Etats, toutes les Seigneuries qui eurent et ont commmandement surles hommes, furent et sont ou République ou Principauté)4 คำว่า รัฐ (Etat)ของแมคคีอาเวลีได้รับการนิยามและมีความหมายเท่ากับคำว่า สาธารณรัฐ(République) และราชอาณาจักร(Principauté)และรัฐนั้นจะต้องมีอำนาจเหนือมนุษย์ ถ้ารัฐไม่มีอำนาจก็ถือว่าปราศจากความเป็นรัฐ นิยามดังกล่าวก็ยังถือว่าไม่สมบูรณ์ ถึงกระนั้นก็ตามก็ได้เป็นการเปิดทางแนวความคิดใหม่ของรัฐว่ารัฐควบคู่กับอำนาจ ต่อมา Le Sécretaire florentin ได้กล่าวถึง รัฐ โดยพิจารณาจากกิจกรรมของรัฐหรือกิจกรรมสาธารณะเป็นหลักในการกำหนดขอบข่ายและจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันของ รัฐ ดังนั้น นิยามความหมายของรัฐจึงชัดเจนขึ้นมาอีกว่า นอกจากรัฐจะมีอำนาจเหนือประชาชนของรัฐแล้ว รัฐยังต้องมีองค์กรของรัฐ สถาบันทางการเมืองของรัฐในการใช้อำนาจ การใช้อำนาจของรัฐดังกล่าวจึงทำให้รัฐจะต้องมีขอบเขตปริมณฑลหรือดินแดนของรัฐดัวย
                   
       ในยุคครึ่งศตวรรษแรกๆของศตวรรษที่ 16 คำว่า “estat” ซึ่งเป็นคำที่ฝรั่งเศสใช้ในยุคกลางนั้นอยู่ในความหมายของคำว่า กลุ่มสังคมหรือระเบียบสังคม ดังนั้นในยุคดังกล่าว กษัตริย์จึงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นหัวหน้าของกลุ่มสังคมหรือระเบียบสังคมที่ประกอบไปด้วยสามชนชั้นหรือฐานันดร(les trois estats) คือ ฐานันดรพระ(clergé) ฐานันดรขุนนาง(noblesse) ฐานันดรที่สาม(tiers état) ผลที่ตามมาก็คือ รูปแบบของราชอาณาจักรฝรั่งเศสในยุคกลางนั้นจึงไม่ได้อยู่ในความหมายของคำว่า “estat” แต่ยังคงใช้คำว่า Res publica หรือ Civitas ในความหมายของคำว่ารัฐเพราะว่าคำดังกล่าวพิจารณาได้ว่าเป็นการจัดสถาบันของราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ตามก็ได้ใช้คำว่า Estat เป็นคำเหมือนของคำว่า กรณีหรือเรื่องทางมหาชน (chose publique)และยิ่งไปกว่านั้นอิทธิพลของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุคนั้นทำให้โยงเข้าไปกับแนวความคิดอำนาจอธิปไตยของกษัตริย์ที่กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและเต็มรูปแบบ ดังนั้นในยุคต่อมา ฌอง โบแดง (Jean Bodin) ได้เขียนในหนังสือ “สาธารณรัฐใน 6 บรรพ” (six livres de la République) ชี้ให้เห็นว่ารัฐจะดำรงอยู่และดำเนินไปได้จะต้องมีอำนาจปกครองสูงสุดในแผ่นดินที่เรียกว่า “อำนาจอธิปไตย” โดยให้นิยามคำดังกล่าวว่า“อำนาจอธิปไตยคืออำนาจสูงสุดเหนือประชาชนในรัฐอันไม่ถูกจำกัดหรือยับยั้งโดยกฎหมายใดๆ…อำนาจอธิปไตยคืออำนาจเหนือพลเมืองของรัฐ เป็นอำนาจเด็ดขาดและเป็นนิรันดร…”5โดยนัยดังกล่าวองค์อธิปัตย์ผู้มีอำนาจสูงสุดจึงอยู่เหนือกฎหมายเพราะตนเป็นผู้ออกและยกเลิกกฎหมายและกล่าวว่าอำนาจดังกล่าวเป็นของพระมหากษัตริย์ โบแดงได้ใช้คำว่า Etat หรือ รัฐ ในรูปแบบใหม่แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังคงใช้คำว่า Estat ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การแต่งตั้งรูปแบบของการปกครอง เช่น การปกครองแบบมหาชน (un estat populaire) การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ (un estat monarchique) การปกครองแบบทรราชย์ (un estat tyrannique)เป็นต้น ในขณะที่ในอังกฤษนั้นคำว่า “State” ดูเหมือนว่าจะมีการใช้คำดังกล่าวอยู่น้อยมากโดยเฉพาะในภาษาทางการเมือง ในศตวรรษที่ 16 โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)และจอห์น ลอค(John Locke)ใช้คำว่า “Commonwealth” สำหรับแปลจากคำภาษาลาติน“Civitas” หรือ “Res publica” แนวความคิดดังกล่าวได้อธิบายอย่างชัดแจ้งถึงอิทธิพลของและความไม่พึงพอใจที่ฝ่ายฝรั่งเศสแปลขึ้นมาและค่อนข้างที่จะเป็นนามธรรมมากๆ ฝ่ายอังกฤษนั้นค่อนข้างให้ความสำคัญและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ปกครองหรือกษัตริย์มากกว่าของรัฐ6
                   
       ทฤษฎีว่าด้วยการก่อกำเนิดรัฐ (les théories de la création de l'Etat)
                   
       ในขอบเขตแห่งปริมณฑลของการสร้างรัฐนั้น มีนักทฤษฎีหลายท่านได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้ที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามต่างก็ได้สร้างสรรผลงานในเรื่องดังกล่าวไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไปและผลงานแห่งการสร้างสรรดังกล่าวยิ่งแสดงให้เห็นถึงความลึกลับของคำว่ารัฐมากยิ่งขึ้น พอจะจำแนกแนวความคิดของการก่อกำเนิดรัฐได้สามประการ คือ ประการแรก รัฐเป็นผลของการทำพันธสัญญา ประการที่สอง รัฐเป็นผลของความขัดแย้ง และประการสุดท้าย รัฐเป็นผลของแนวความคิดของการจัดสร้างสถาบัน
                   
       1.รัฐเกิดจากพันธสัญญาประชาคม(le contrat social)
                   
       ในความคิดเรื่องดังกล่าวนี้ต้องการแสดงหรือพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐมีแหล่งกำเนิดมาจากสัญญา สัญญาดังกล่าวคือสัญญาอะไร แนวความคิดนี้ได้มีนักปราชญ์นามอุโฆษหลายท่านได้แสดงไว้ เช่น Thomas Hobbes, John Locke, Jean Jacques Rousseau แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่านักปราชญ์ที่ได้เอ่ยนามดังกล่าวจะเห็นเหมือนกัน กล่าวคือทุกๆท่านต่างมองว่าผลนั้นคือการก่อเกิดรัฐนั้นเหมือนกันที่ว่าเกิดจากพันธสัญญาแต่ที่มาแห่งพันธสัญญานั้นมีความแตกต่างกันในความคิดของแต่ละท่าน
                   
       ก. โทมัส ฮอบส์ กับ สัญญาประชาคม ตามแนวความคิดของฮอบส์นั้นมองว่าสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นเปรียบเสมือนเป็นหมาป่าที่จะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเองโดยธรรมชาติของตัวมันเองเปรียบดังมนุษย์ต่างก็มีธรรมชาติของการอยู่รอดด้วยตนเองดังเช่นหมาป่าที่ออกล่าเหยื่อ ดังนั้นโดยสัญชาตญานของมนุษย์ย่อมมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง มีความเลวหยาบช้าและโหดร้าย ต่างก็ไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันและต่างก็ต้องระวังว่าตนเองจะถูกทำร้ายจากอีกฝ่ายหนึ่ง ทุกคนต่างปกป้องและรักษาชีวิตของตนเองเพื่อให้มีชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ในสังคมนั้น ต่างก็กำหนดกฎเกณฑ์ของตนเอง ต่างก็เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินข้อขัดแย้งของตนเองกับผู้อื่น ดังที่ฮอบส์ได้กล่าวไว้ว่า"สิ่งที่คนเราต้องการย่อมถือว่าดี ส่วนสิ่งที่คนเราเกลียด ถือว่าเลว ซึ่งในสภาวะธรรมชาติแล้ว จะขึ้นอยู่ที่แต่ละบุคคลจะตัดสินใจเอาเอง จะไม่มีสิ่งใดดีหรือเลวบริสุทธิ์และไม่มีกฎที่จะใช้ร่วมกันได้"7 ดังนั้นการที่จำต้องอยู่ในภาวะดังกล่าวนี้จึงทำให้ทุกคนเปรียบเสมือนตกอยู่ในภาวะที่ต้องสงครามต่อกัน ภาวะดังกล่าวถือว่าเป็นภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นทุกคนจึงมีสิทธิตามธรรมชาติที่จะรักษาตัวเองให้รอดด้วยการคุกคาม การทำร้าย การประหัตประหารผู้อื่นที่มาล่วงละเมิดสิทธิของตน
                   
       แนวความคิดของฮอบส์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองว่ามนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้วต่างมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ต่างทำตามตัณหาของตนเองเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต การที่ทุกคนสามารถกระทำการดังกล่าวได้ก็เพราะว่าทุกคนมีสิทธิตามธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกันดังที่ฮอบส์ได้กล่าวว่า "คนเราตามธรรมชาติมีความเท่าเทียมกัน ธรรมชาติได้สร้างให้คนเรามีความเท่าเทียมกันทั้งในทางกายและในทางใจ ถึงแม้ว่าโดยภายนอกแล้ว บางคนอาจจะมีร่างกายแข็งแรง หรือบางคนดูฉลาดกว่าผู้อื่น แต่โดยรวมคนเราจะไม่แตกต่างกันนัก จนไม่อาจถือเอาประโยชน์ใส่ตนโดยที่ผู้อื่นจะไม่ทำสิ่งนั้นบ้าง จะเห็นได้ว่าคนอ่อนแอก็อาจสังหารคนที่แข็งแรงที่สุดได้ด้วยการใช้เล่ห์กลหรือสมคบกับผู้อื่น ส่วนความฉลาดย่อมเกิดจากประสบการณ์ซึ่งถ้าใช้เวลาพอๆกัน คนทั้งหลายย่อมจะมีสิ่งนั้นได้เท่าๆกัน เราอาจยอมรับว่ามีหลายคนที่มีไหวพริบหรือรู้มากกว่าแต่ก็จะคิดว่ามีอยู่ไม่ก่คนที่ฉลาดเท่ากับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทุกคนพอใจในส่วนแบ่งที่มีอยู่ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันดังกล่าวของมนุษย์นั่นเอง"8
                   
       อย่างไรก็ตาม ฮอบส์เห็นว่า ความเท่าเทียมกันดังกล่าวนี้นำพามาซึ่งความยุ่งยากก่อให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกันโดยทุกคนต่างคิดว่ามีความเท่าเทียมกัน ดังนั้นเมื่อต้องการสิ่งใดมาเป็นของตนเองต่างก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้นโดยต่างหวังอย่างเท่าเทียมกันว่าต่างจะได้มานั่นเอง ในการแก่งแย่งดังกล่าวย่อมต้องมีผู้ผิดหวังและผู้สมหวังปะปนกันไป ทุกคนต่างกลัวการผิดหวัง ดังนั้นต่างก็พยายามหาทุกวิถีทางที่จะทำให้ตนเองสมหวังด้วยการเอาชนะกันและกันให้ได้ สภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดข้อพิพาทกันขึ้นและความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนต่างตกอยู่ในสภาวะอันตราย สภาวะอันตรายดังกล่าวนี้เองที่มนุษย์ไม่มีสังคม เป็นสภาวะตามธรรมชาติที่ไม่มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ใดๆมาควบคุม9เป็นการแปรสภาวะตามธรรมชาติมาเป็นสภาวะทางสงคราม และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงสภาวะดังกล่าวนี้เอง มนุษย์ทุกคนต่างตระหนักและต้องการขจัดสภาวะดังกล่าวให้หายไปและให้เกิดสันติภาพเกิดขึ้น ทุกๆคนในประชาคมนั้นจึงต้องก่อพันธสัญญากันเองขึ้นมาให้ยับยั้งซึ่งกันและกันเพื่อให้มีสันติภาพเกิดขึ้น กล่าวคือทุกคนต้องสละเสรีภาพส่วนที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เสรีภาพส่วนที่สละนี้จะมีค่าเท่ากับสิทธิของตนที่จะไม่ถูกผู้อื่นละเมิด ต่างคนต่างรักษาสิทธิของตน ทุกคนต่างก็เป็นปัจเจกชนไม่สามารถควบคุมการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ ดังนั้นการรักษาสิทธิส่วนนี้ของทุกคนจึงต้องรวมกันเข้าเป็นพลังอันมหาศาลที่จะใช้รักษาสิทธิของทุกคนโดยผ่านรัฐ ผู้ที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นจึงถูกลงโทษด้วยพลังดังกล่าวอันเป็นอำนาจของรัฐนั่นเอง
                   
       ตามความเห็นของฮอบส์แล้ว จะเห็นได้ว่าพันธสัญญาดังกล่าวนี้เป็นพันธสัญญาที่ทุกๆคนในประชาคมนั้นต่างหันหน้าเข้ามาทำสัญญากันเองไม่ใช่เป็นพันธสัญญาที่ประชาชนแห่งประชาคมนั้นทำกับรัฐ รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้ใช้อำนาจตามพันธสัญญาและเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้รักษาตามพันธสัญญาดังกล่าวเท่านั้นไม่ใช่ในฐานะผู้ร่วมก่อพันธสัญญา ดังนั้นรัฐจึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดเหนือทุกๆคนในประชาคมนั้นและเป็นนิรันดร ไม่มีอำนาจใดมาจำกัดได้
                   
       เนื่องจากรัฐเป็นนามธรรม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีบุคคลหนึ่งเป็นตัวแทนของรัฐในการใช้อำนาจดังกล่าวซึ่งเรียกว่ารัฐาธิปัตย์มาทำหน้าที่ดังกล่าว ทุกๆคนในประชาคมนั้นต้องยอมรับและเชื่อฟังรัฐาธิปัตย์ แนวความคิดดังกล่าวนี้ที่สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาสวามิภักดิ์ (Pactum Subjectiones)10 อันเป็นการส่งเสริมระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (la Monarchie absolue)และภาระหน้าที่ของรัฐาธิปัตย์ตามความเห็นของฮอบส์ คือให้ความปลอดภัยแก่ปวงชน11เพื่อก่อให้เกิดเสถียรภาพแก่ทุกๆคนในประชาคมนั้น
                   
       ดังนั้นรัฐจึงเกิดขึ้นจากเจตนาของมนุษย์มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพื่อรักษาสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ รัฐจึงมีหน้าที่คุ้มครองและปกป้องสิทธิตามธรรมชาติดังกล่าวโดยตรากฎหมายมาเป็นกลไกในการคุ้มครองและปกป้องสิทธิตามธรรมชาติของคนทุกคนในประชาคม การตรากฎหมายดังกล่าวรัฐอาจนำกฎธรรมชาติมาบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้เพื่อเป็นการทำให้เนื้อหาของกฎธรรมชาติและเนื้อหาของกฎหมายสอดคล้องกัน
                   
       ข. จอห์น ลอค กับสัญญาประชาคม ในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ความคิดเห็นของลอคแล้วไม่แตกต่างจากฮอบส์เท่าไหร่ กล่าวคือมนุษย์ทุกๆคนต่างคนต่างอยู่ ต่างก็มีเสรีภาพตามธรรมชาติ และต่างก็มุ่งแสวงหาความมั่นคงแห่งชีวิตของตนเองแต่ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างดังนี้
                   
       ประการแรก ลอคจะมองในแง่ที่ดีกว่าฮอบส์ที่ว่าสภาวะธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ได้เป็นสภาวะต่อสู้แข่งขันรบรากันเพื่อที่จะให้บรรลุถึงความปรารถนาของตนเองแต่เป็นสภาวะที่มีแต่ความเสมอภาค มีสันติภาพ ทุกๆคนต่างก็ตระหนักถึงกฏหมายธรรมชาติและเมื่อเกิดการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างกันแล้ว ต่างก็บังคับการตามสิทธิที่ตนมีอยู่ตามธรรมชาติและลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตนเอง12
                   
       ประการที่สอง ตามความคิดเห็นของลอคแล้ว มีสองพันธสัญญาที่ประชาชนทำขึ้น(ในขณะที่ฮอบส์มองว่ามีหนึ่งพันธสัญญาเท่านั้น) พันธสัญญาแรกเป็นพันธสัญญาที่ประชาชนทำกันเองเพื่อหาหนทางแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกันเองและเพื่อความมั่นคงแห่งชีวิตของแต่ละคน ในกรณีดังกล่าวตรงกับแนวคิดของฮอบส์ ส่วนพันธสัญญาที่สองนั้น เป็นพันธสัญญาที่ประชาชนทำกับรัฐ ในกรณีดังกล่าวเป็นจุดแตกต่างกับฮอบส์ กล่าวคือฮอบส์ไม่ได้มองว่าการที่ประชาชนมอบอำนาจให้รัฐไปนั้นเป็นการที่ประชาชนเข้าทำพันธสัญญากับรัฐแต่เป็นกรณีที่ประชาชนนั้นต้องหาคนกลางมาใช้อำนาจสูงสุดดังกล่าว รัฐเป็นคนกลางที่ถูกสมมุติขึ้นเพื่อใช้อำนาจดังกล่าวโดยมีตัวแทนที่เรียกว่ารัฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมระบบสวามิภักดิ์ รัฐจึงมิใช่คู่พันธสัญญาเพราะรัฐมีอำนาจเหนือกว่าทุกๆคนในประชาคม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
                   
       ส่วนลอคนั้นมองว่ามีพันธสัญญาที่สองก็ด้วยเหตุผลที่ว่า พันธสัญญาแรกจะเกิดมรรคเกิดผลได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนในประชาคมต้องยินยอมรับสภาพปกครองและเพื่อให้การยินยอมดังกล่าวไปได้ด้วยดี จึงต้องมีการควบคุมอำนาจของรัฐโดยกฎหมายที่ออกมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐนั้นจะต้องเคารพกฎหมายที่ตราออกมาถ้ารัฐละเมิดกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิที่จะแซงชั่นรัฐได้ ตรงนี้ที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นพันธสัญญาที่สองที่ประชาชนทำกับรัฐๆนั้นไม่ได้อยู่เหนือประชาชนเลย รัฐเข้ามาเป็นคู่พันธสัญญากับประชาชนนั่นเอง พันธสัญญาดังกล่าวจึงเป็นพันธสัญญาสหภาพ(Pactun Unionis)
                   
       ดังนั้นการเกิดรัฐในแนวความคิดของลอคนั้นหมายความว่า รัฐนั้นเกิดขึ้นมาเพราะเพื่อให้มนุษย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ถ้าไม่มีกฎหมายก็ไม่มีเสรีภาพ การมีเสรีภาพนั้นก็คือการพ้นจากการบีบบังคับหรือการทำร้ายโดยคนอื่น กฎหมายจึงเป็นหลักประกันแห่งเสรีภาพ ความเห็นดังกล่าวของลอคแสดงว่าเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องถูกจำกัดโดยกฎหมายเพื่อความสงบและมั่นคงในชีวิตของทุกคน ถ้ามิมีการทำสัญญาประชาคมกันแล้วแล้ว มนุษย์ก็จะใช้เสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขตจนอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในประชาคมนั้นได้ รัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีในพันธสัญญากับประชาชนก็เพื่อที่จะมาควบคุมและคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าวตามกฎหมายและถ้ารัฐไม่เคารพเสรีภาพของประชาชนก็เท่ากับรัฐละเมิดพันธสัญญาดังกล่าวและประชาชนสามารถยกเลิกเพิกถอนรัฐได้
                   
       ค. จาง จาค รุสโซ กับ สัญญาประชาคม ตามแนวความคิดของรุสโซไม่ได้แตกต่างจาก ฮอบส์ในจุดเริ่มต้น กล่าวคือในสภาวะธรรมชาติ ทุกๆคนมีเสรีภาพแห่งการดำรงอยู่ทั้งสิ้น ทุกคนเป็นนายของตัวเอง ไม่อยู่ใต้อาณัติของใครถ้าเขาไม่ยินยอม แต่อย่างไรก็ตามในสภาวะดังกล่าวทุกคนต่างก็ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีความมั่นคงในชีวิตและในเสรีภาพ ก็หมายความว่าทุกคนไม่มีหลักประกันที่แน่นอน จากจุดนี้ที่รุสโซเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่บังคับให้ทุกๆคนจำต้องมารวมตัวกันเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของทุกๆคนในประชาคมนั้นโดยการทำสัญญาประชาคม ดังที่รุสโซได้เขียนไว้ว่า"มนุษย์เกิดมามีเสรี แต่ทุกหนทุกแห่งเขาอยู่ในเครื่องพันธนาการ"13 เป็นการสะท้อนถึงความคิดของรุสโซเป็นอย่างดีว่าเขายอมรับเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนมีอย่างไม่จำกัด เมื่อไม่มีการจำกัดดังกล่าว ทุกคนก็พยายามใช้เสรีภาพตามธรรมชาติของตนเองอย่างไร้ขอบเขต จนก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตของแต่ละคน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ว่าทุกคนในประชาคมนั้นต้องหันหน้าเข้าหากันทำข้อตกลงวางกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นขึ้นมา กฎเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่จำกัดการใช้เสรีภาพอย่างไร้ขอบเขตของทุกคน ดังนั้นเสรีภาพที่แท้จริงของรุสโซนั้นคือเสรีภาพที่เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของประชาคมนั้นๆซึ่งเรียกว่าเสรีภาพในฐานะพลเมือง(civil liberty) สัญญาประชาคมของรุสโซจึงเป็นสัญญาเชิงศีลธรรม(le contrat moral)ซึ่งเป็นสัญญาที่ก่อกำเนิดมาจากทุกๆคนในประชาคมนั้น แต่ละคนมีข้อผูกพันสองประการด้วยกัน คือ ประการแรกเป็นข้อผูกพันกับตนเอง และประการที่สองเป็นข้อผูกพันกับรัฐ
                   
       รุสโซมองว่าการที่เกิดข้อผูกพันกับรัฐนั้นเป็นจุดก่อกำเนิดหรือการสร้างรัฐให้เกิดขึ้นมาเพราะทุกคนต่างเข้าทำสัญญาประชาคมกันนั้นไม่ใช่การที่ทุกคนมอบเสรีภาพของตนเองให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะแต่เป็นการมอบให้รัฐ รุสโซกล่าวว่า "เราแต่ละคนมอบร่างกายและพลังทั้งหมดที่ตนมี เข้าอยู่ภายใต้คำบัญชาสูงสุดของเจตนารมณ์ส่วนรวม และในอำนาจร่วมกันของเรา เราขอรับสมาชิกแต่ละคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งจะแบ่งแยกมิได้ของสังคม"14 ดังนั้นรัฐจึงเป็นการรวมตัวกันของทุกๆคนในประชาคมนั้น เจตนารมณ์ร่วมกันของทุกคนก็คืออำนาจอธิปไตยที่เป็นของทุกๆคน ตามทัศนะของรุสโซอำนาจอธิปไตยไม่สามารถจะจำหน่ายจ่ายโอนไปให้ผู้ใดได้และไม่สามารถแบ่งแยกออกไปได้และจำกัดไม่ได้เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นของคนทุกคนในประชาคมนั้น ตรงจุดนี้นี่เองที่มองว่ารุสโซเป็นผู้ก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและก่อให้เกิดระบอบการปกครองที่เรียกว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทางตรง (la democratie directe) กล่าวคือ รุสโซให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอย่างมากเพราะเกิดจากการเข้าทำสัญญาประชาคมของประชาชนทุกคน กล่าวคือประชาชนเป็นผู้บัญญัติกฎหมายที่มีผลบังคับใช้กับทุกๆคนในประชาคมนั้น ผลที่ตามมาก็คือรุสโซมองว่าฝ่ายบริหารนั้นเป็นอำนาจที่รองลงมาและได้อำนาจมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายตุลาการเป็นเพียงหน้าที่อย่างหนึ่งของรัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลจึงเปรียบเสมือนเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจตนารมณ์ส่วนรวมอันเป็นองค์อธิปัตย์ให้ทำงานเท่านั้น
                   
       รุสโซมีความเห็นที่แตกต่างจากฮอบส์และลอค ฮอบส์ถือว่าประชาชนโอนอำนาจอธิปไตยให้แก่ผู้ปกครอง ส่วนลอคนั้นเน้นเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ รุสโซเห็นด้วยกับลอคในแง่ที่ว่ารัฐบาลเป็นตัวแทนชั่วคราวของประชาชนๆเป็นเจ้าของอำนาจแต่ไม่ถือว่าประชาชนโอนอำนาจไปให้องค์กรรัฐบาลเป็นผู้ใช้โดยแบ่งแยกอำนาจและมีการถ่วงดุลระหว่างอำนาจ15
       
       
       (ติดตามตอนที่ 2 ในคราวถัดไป)
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       2. ปรัชญาดังกล่าวตรงกันข้ามกับปรัชญาของกฎหมายเอกชนที่กล่าวว่า "ถ้าไม่มีกฎหมายห้าม ก็
       สามารถกระทำได้"แนวความคิดดังกล่าวถือว่าเป็นหัวใจของกฎหมายเอกชนซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานความเท่าเทียมกันของคู่สัญญา.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       3. พิชัยศักดิ์ หรยางกูร, รวมศัพท์และภาษิตกฎหมาย, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหา
       วิทยาลัย,2544,หน้า 135,792.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       4. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 1 วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมาย
       มหาชนในยุคต่างๆ,กรุงเทพ,นิติธรรม,2538,หน้า30.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       5. ปรีดี เกษมทรัพย์,นิติปรัชญา,กรุงเทพ,โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะ
       นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2539,หน้า160.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       6. Simone GOYARD-FABRE,L'Etat figure moderne de la politique,Paris,Armand Colin, 1999,p.10.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       7. ทินพันธ์ นาคะตะ, นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ปรัชญาและทฤษฎีการเมือง, กรุงเทพ, โครงการเอกสารและตำรา สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิดา,2541,หน้า58 ถอดความจาก Thomas Hobbes, Leviathan: Or the Matter, Forme and Power of a Commonwealth Ecclesiasticall and Civil, edited by Michael Oakeshot with an introduction by Richard S.Peters, New York: Collier Books,1967, pp 48-49.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       8. เรื่องเดียวกัน,หน้า 59.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       9. ปรีชา ช้างขวัญยืน, ปรัชญาแห่งอุดมการณ์ทางการเมือง, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์
       มหาวิทยาลัย, 2538, หน้า125.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       10. ปรีดี เกษมทรัพย์, นิติปรัชญา,อ้างแล้ว, หน้า189.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       11. ส. ศิวรักษ์, นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง, กรุงเทพ,สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์, 2520, หน้า82.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       12. ปรีดี เกษมทรัพย์, อ้างแล้ว,หน้า196.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       13. จัง จากส์ รุสโซ,สัญญาประชาคม,แปลและเรียบเรียงโดย จินดา จินตนเสรี,กรุงเทพ,ศริพรการ
       พิมพ์, 2522, หน้า21.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       14. ทินพันธ์ นาคะตะ,อ้างแล้ว,หน้า79.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       15. ปรีชา ช้างขวัญยืน,อ้างแล้ว,หน้า136.
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2544

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=295
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 16:29 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)