ครั้งที่ 18

14 ธันวาคม 2547 15:27 น.

       "อาการหวาดระแวงผู้ก่อการร้ายที่ paris"
       บทบรรณาธิการครั้งนี้นั่งเขียนอยู่ที่โรงแรมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งกลางกรุง Paris อากาศกำลังสบายไม่หนาวเท่าไหร่ ทุกครั้งที่ได้กลับมา Paris ผมรู้สึกสบายใจและมีความสุขเพราะคุ้นเคยกับที่นี่พอสมควร เนื่องจากเคยใช้เวลาเรียนหนังสืออยู่หลายปี เมื่อใดมีโอกาสได้กลับมาจึงรู้สึกว่าเหมือนกับได้กลับบ้านเก่า ประกอบกับการมาทุกครั้งทำให้ไม่ต้องคิดหรือกังวลถึงปัญหาหรืองานต่าง ๆ ที่ค้างอยู่หรือที่ต้องทำที่กรุงเทพฯ เลยทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิตที่ Paris พอสมควร แต่อย่างไรก็ตามครั้งนี้มีความรู้สึก “ไม่ปกติ” เท่าที่ควร ตลอดระยะเวลาสิบวันที่ผ่านมาผมอยู่ที่เมือง Nantes ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ และสงบก็ไม่รู้สึกผิดปกติเท่าไหร่ พอมาถึง Paris ก็เริ่มรู้สึกผิดปกติเพราะมีแต่ตำรวจเต็มไปหมด เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายยังไม่ยุติ คนเริ่มระวังระแวงซึ่งกันและกัน ตามสถานีรถไฟใต้ดินมีการประกาศแทบจะทุก 5 นาทีว่าหากใครพบเห็นกล่อง ถุง หรือกระเป๋าที่วางไว้โดยไม่มีเจ้าของ ให้รีบแจ้งตำรวจที่มีอยู่ทุกสถานี ถังขยะทุกใบถูกปิดหมดเพราะเกรงว่าจะมีคนเอาระเบิดไปใส่ไว้เลยทำให้เมืองสกปรกมากขึ้น รัฐสภากำลังเร่งรีบพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการก่อการร้าย โดยมีการเพิ่มอำนาจในการตรวจค้นตัวบุคคล สถานที่ รถยนต์ให้มากขึ้น รวมทั้งยังจะอนุญาตให้มีการดักฟังโทรศัพท์ได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ นอกจากนี้ก็ยังมีการกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน (financement) แก่ผู้ก่อการร้ายอีกด้วย เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้คนและเมืองหมดความสุขไปพอสมควรเพราะต้องคอยระวังภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
       เมื่อเดือนที่แล้ว ฝรั่งเศสได้ประกาศใช้บังคับประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการพัสดุ (code des marchés publics) ฉบับใหม่โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขประเด็นสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการพัสดุฉบับเดิมที่ใช้บังคับมาหลายสิบปีแล้ว ประเด็นที่มีการแก้ไขส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการวางกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวกับฝ่ายปกครองที่เป็นผู้ซื้อผู้จ้างและฝ่ายเอกชนที่เป็นผู้ขายหรือผู้ให้บริการ เช่นประเด็นเกี่ยวกับวิธีการคำนวณเงินต่าง ๆ การเลือกคู่สัญญาและการจัดทำสัญญา เป็นต้น การแก้ไขประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการพัสดุครั้งนี้มีขึ้นเพื่อ “ปิดช่องโหว่” ที่ยังมีอยู่ในการจัดซื้อจัดจ้างอันเป็นที่มาของการทุจริต รวมทั้งยังเป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุค e-commerce และการรวมยุโรปเข้าด้วยกัน การแก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าวทำให้ผมต้องย้อนกลับมาดูบ้านเราที่ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุซึ่งแม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงมาเป็นระยะแต่ก็ยังเป็นเพียง “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี” ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหารอยู่ การจัดซื้อจัดจ้างในบ้านเรานั้นเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่ามี “ช่องโหว่” ค่อนข้างมาก และมีข้อบกพร่องหลายประการที่ไม่เกิดผลดีในทางปฏิบัติ ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังสมควรที่จะลองมองดูสิ่งต่าง ๆ ที่ต่างประเทศเขาทำกันอยู่เพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงให้เกิดผลดีขึ้นกับระบบจัดซื้อจัดจ้างในบ้านเราต่อไป
       สำหรับ pub-law.net ในสัปดาห์นี้เรามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากเนื่องจากผมยังอยู่ต่างประเทศ เรามีบทความคุณภาพ 2 บทความที่จะนำเสนอแก่ผู้ใช้บริการ pub-law.net คือ “แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในประเทศไทย” ของ ผศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และ “การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” ของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่งสำนักงานศาลปกครอง มีการแนะนำหนังสือใหม่ 2 เล่ม และมีการนำเอาคำพิพากษาศาลปกครองและคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีเพิ่มเข้าไปอีก 2 เรื่องด้วยกัน ส่วนตัวผมเองนั้นผมจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ มาคราวนี้ซื้อหนังสือและหาบทความดี ๆ ได้มากพอสมควร คงนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลงานให้ผู้ใช้บริการ pub-law.net ได้อีกนาน
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2544
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=29
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:10 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)