การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่น : สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย

21 ธันวาคม 2547 13:19 น.

       สองสัปดาห์ก่อน ผมเจอกับอาจารย์วิรัชฯ เมื่ออาจารย์วิรัชฯ บอกว่าออกหนังสือเล่มใหม่ (อีกแล้ว) ผมก็รู้สึกแปลกใจมากที่ทำไมอาจารย์วิรัชฯ ถึงได้ "สามารถ" ออกหนังสือได้บ่อย แถมยังเป็นหนังสือที่ดี มีสาระและมี "จำนวนหน้า" ค่อนข้างมาก คำตอบที่ได้จากอาจารย์วิรัชฯ คือ ผมนอนน้อยแต่ทำงานเยอะ !
       ก่อนจะแนะนำหนังสือคงต้องขอกล่าวชื่นชมอาจารย์วิรัชฯ สักเล็กน้อยที่ "เลือก" ทำงานวิชาการลักษณะนี้มากกว่าทำงานวิชาการอื่นที่มีรายได้มากกว่า การเขียนหนังสือแต่ละเล่มต้องใช้เวลานานและมีรายได้น้อย แต่อาจารย์วิรัชฯ ก็เลือกที่จะเขียนหนังสือเพื่อประโยชน์ของสังคมครับ
       หนังสือเล่มนี้มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเมืองหลวงที่ส่วนใหญ่แล้วในหลายๆประเทศจะมีระบบการบริหารที่แตกต่างไปจากการบริหารท้องถิ่นอื่นๆเพราะเมืองหลวงเป็นที่ประทับของประมุขของประเทศ เป็นที่ทำการของรัฐบาลและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจต่างๆจึงต้องมีระบบบริหารงานที่แตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นๆ ผู้เขียนแบ่งการนำเสนอความรู้ในเรื่องดังกล่าวออกเป็น 6 บท มีการกล่าวถึงทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่น มีการนำเสนอรูปแบบของการบริหารเมืองหลวงและการบริหารส่วนท้องถิ่นของต่างประเทศรวม 4 ประเทศด้วยกันคือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มีการนำเสนอวิวัฒนาการของการบริหารเมืองหลวงของไทยตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบัน และในบทท้ายๆ ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบการบริหารเมืองหลวงของต่างประเทศและของไทยไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง
       อนึ่ง เพื่อให้ง่ายกับการทำความเข้าใจ ผู้เขียนได้ทำภาพและตารางกว่า 60 ชิ้นมานำเสนอประกอบไว้ในแต่ละส่วนของหนังสือด้วยแล้ว
       เป็นหนังสือดีเล่มสุดท้ายของปีนี้ที่เราขอแนะนำครับ


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=273
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 11:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)