คู่มือศึกษาคดีรัฐธรรมนูญ

21 ธันวาคม 2547 12:47 น.

                   
       เดิมหนังสือเล่มนี้ชื่อ "คู่มือสอบเนติบัณฑิตไทย กฎหมายรัฐธรรมนูญ" จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2544 แต่ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 ผู้เขียนได้เปลี่ยนชื่อใหม่เพราะชื่อเดิมนั้นจำกัดเฉพาะการสอบเนติบัณฑิต ซึ่งทำให้มีผู้สนใจในวงแคบ
                   
       วิธีเขียนหนังสือเล่มนี้ คือ ผู้เขียนอธิบายทฤษฎีตามหัวข้อที่กำหนด จากนั้นก็จะนำเอาคำวินิจฉัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำหนดมานำเสนอ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการศึกษาและการทำความเข้าใจ ข้อท้วงติงคงมีเล็กน้อยคือการย่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นในบางเรื่องยังยากต่อการทำความเข้าใจเพราะย่อสั้นเกินไป
                   
       สาระสำคัญของหนังสือแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือความเป็นกฎหมายสูงสุดของ รัฐธรรมนูญ ที่มีการแบ่งซอยออกเป็น 5 หัวข้อย่อยคือ การควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ , พระราชกำหนดไม่เป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง , กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับองค์กรต่างๆตาม รัฐธรรมนูญ , การควบคุมมติของพรรคการเมืองไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาสถานภาพของการเป็นรัฐมนตรี และสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา ส่วนที่ 2 คือเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่มีการแบ่งออกเป็น 10 หัวข้อคือ การจำกัดสิทธิเสรีภาพ , ความเสมอภาค , สิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด , เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม , สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ , เสรีภาพในการประกอบการ , สิทธิของผู้บริโภค , สิทธิได้รับการสอบสวนพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม , การอ้างว่ากฎหมายขัดต่อสิทธิเสรีภาพ แต่สิทธินั้นรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองไว้ และการอ้างว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และส่วนที่ 3 เป็นเรื่องคดีพิเศษในศาลรัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อคือ คดีเลือกตั้ง และการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและเอกสารประกอบ ในแต่ละหัวข้อนั้น ผู้เขียนได้นำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆมาสรุปไว้ด้วย
                   
       นับเป็นหนังสือที่ "รวบรวม คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ "ฉบับย่อ" ไว้ครบและมีการแบ่งคำวินิจฉัยเหล่านั้นเป็นกลุ่ม ทำให้ง่ายต่อการศึกษาค้นคว้า


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=268
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 12:30 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)