การใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่น (ตอนที่ 1) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

20 ธันวาคม 2547 17:15 น.

       สารบัญบทความ
       บทนำ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       (พ.ศ. 2540)

                   
       1. สิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)
                   
                   
       1.1 การกำหนดให้มีการเคารพต่อศักดิ์ศรีตามเป็นมนุษย์ และสิทธิขั้นพื้นฐาน
                   
                   
       1.2 การรับรองสิทธิและเสรีภาพ
                   
                   
       1.3 การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการใช้สิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลหากถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน
                   
                   
       1.4 ความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
                                            
       1.4.1 สิทธิและเสรีภาพที่ไม่อาจถูกลิดรอนได้
                                           
       1.4.2 สิทธิและเสรีภาพที่อาจถูกจำกัดได้
                   
       2. สิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในส่วนอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญ
                   
                   
       2.1 สิทธิในการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐหรือสร้างเจตจำนงค์ ทางการเมือง (สิทธิทางการเมือง)
                                           
       2.1.1 สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
                                           
       2.1.2 สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง
                                           
       2.1.3 สิทธิในการเสนอร่างกฎหมาย
                                           
       2.1.4 สิทธิในการออกเสียงประชามติ
                                           
       2.1.5 สิทธิเข้าชื่อร้องขอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยวุฒิ
        สภา
                                           
       
        2.1.6 สิทธิในการเข้าชื่อร้องขอถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น
        หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น                                     
        2.17 สิทธิในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
                               
        2.2 สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา                                     
        2.2.1 การพิจารณาคดีของศาล                                     
        2.2.2 สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา
                                           
        2.2.3 การคุ้มครองสิทธิของบุคคลเรื่องการค้นในที่รโหฐาน                                     
        2.2.4 สิทธิของผู้ต้องหาในการขอประกันตัวชั่วคราว
                                           
        2.2.5 สิทธิของผู้ถูกคุมขังที่จะร้องขอต่อศาลว่าการคุมขังมิชอบ
                                           
        2.2.6 สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาในการสอบสวนพิจารณา
                                           
        2.2.7 สิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในคดีอาญา                                     
        2.2.8 สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง                                     
        2.2.9 สิทธิได้รับความคุ้มครองในฐานะพยานในคดีอาญา                                     
        2.2.10 สิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา                                     
        2.2.11 สิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายจากการตกเป็น
        จำเลยในคดีอาญา                                     
        2.2.12 สิทธิขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่                         
        2.3 สิทธิในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญ                                     
        2.3.1 สิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อผู้ตรวจการ
        แผ่นดินของรัฐสภา                                     
        2.3.2 สิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ
        สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ                                     
        2.3.3 สิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อศาลปกครอง
       บทที่ 1 ประชาธิปไตยทางตรง
                               
        1.1 ประชาธิปไตยทางตรงระดับชาติ                                     
        1.1.1 การเสนอร่างกฎหมาย                                     
        1.1.2 การออกเสียงประชามติ                                     
        1.1.3 การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง                         
       
        1.2 ประชาธิปไตยทางตรงระดับท้องถิ่น                                     
        1.2.1 การถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น
                                           
        1.2.2 การเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
       บทที่ 2 ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ
                               
        2.1 ประเทศสวิสเซอร์แลนด์                         
        2.2 ประเทศสหรัฐอเมริกา                         
        2.3 ประเทศอิตาลี
       
       บทที่ 3 การเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่นในประเทศไทย
                               
        3.1 การเข้าชื่อเสนอกฎหมายระดับชาติ                                     
        3.1.1 บุคคลผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
                                           
        3.1.2 ประเภทของร่างกฎหมายที่ประชาชนสามารถเสนอได้
                                           
        3.1.3 รูปแบบของร่างกฎหมายที่เสนอ                                     
        3.1.4 วิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย                                                 
        3.1.4.1 การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง                                                 
        3.1.4.2 การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยการจัดการ
        ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง                                     
        3.1.5 การถอนการเข้าชื่อ                                     
        3.1.6 กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย                                     
        3.1.7 กระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย
        ของการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย                                                 
        3.1.7.1 ในกรณีที่ประชาชนเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ
        เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย                                                 
        3.1.7.2 ในกรณีที่ประชาชนมีคำขอให้คณะกรรมการ
        การเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อ
        เสนอกฎหมาย                                     
        3.1.8 บทกำหนดโทษ                         
        3.2 การเข้าชื่อเสนอกฎหมายระดับท้องถิ่น                                     
        3.2.1 ประเภทของข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ประชาชนเสนอได้                                     
        3.2.2 กระบวนการใช้สิทธิและการเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น
                                           
        3.2.3 การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น
        ที่ประชาชนเสนอ                                     
        3.2.4 กระบวนการพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น                                     
        3.2.5 บทกำหนดโทษ
       บทที่ 4 ปัญหาอันเกิดจากการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และข้อบัญญัติท้องถิ่น                         
        4.1 การนำเสนอข้อเท็จจริงของการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย                                      4.1.1 ร่างกฎหมายที่เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
                                            4.1.2 ร่างกฎหมายที่เสนอมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
                               
        4.2 การนำเสนอปัญหาและอุปสรรคของการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
                                           
        4.2.1 เนื้อหาสาระของกฎหมาย                                      4.2.2 การพิจารณาร่างกฎหมาย
       
       
       บทนำ
       สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       (พ.ศ. 2540)1
       
                   
       สิทธิและเสรีภาพของประชาชนดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) นั้น มีวิวัฒนาการที่ผันแปรไปตามยุคสมัยแห่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ จะ
       เห็นได้จากนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
       ฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ก็ได้มีการกำหนดถึงสิทธิเสรีภาพ ต่างๆ ของประชาชนไว้รวมๆ ในมาตราเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับถัดมาก็เริ่มมีการขยายถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามบรรยากาศแห่งยุคสมัยของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ
                   
       เมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น
       ประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพของตนมากขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงได้มีการขยายบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้นและปรับปรุงสิทธิเดิมให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยบัญญัติไว้ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญจำนวน 40 มาตรา และนอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวแทรกไว้ในหมวดอื่น ๆ อีกหลายมาตรา
       
       1. สิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)
                   
       บทบัญญัติของหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ได้กำหนดถึง
       เรื่องสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้เป็นจำนวนมาก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ
                   
       1.1 การกำหนดให้มีการเคารพต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐาน
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)ได้กำหนดถึงการเคารพต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานไว้ในมาตรา 26 ดังนี้
                   
       “มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
                   
       บทบัญญัติมาตรานี้ได้กำหนดให้การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐทุกองค์กรจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันและรับรองถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่รัฐและองค์กรของรัฐทุกองค์กรจะต้องตระหนักและเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ทั้งในหมวด 3 และในที่อื่น ๆ ด้วย
                   
       1.2 การรับรองสิทธิและเสรีภาพ
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดถึงการรับรองสิทธิไว้ในมาตรา 27 ดังนี้
                   
       “มาตรา 27 สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง”
                   
       บทบัญญัติมาตรานี้ เป็นการขยายการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานไว้กว้างกว่าเดิม โดยรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานนอกเหนือจากที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้โดยชัดแจ้งและโดยปริยายแล้ว ยังรวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยได้กำหนดให้ได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง
       
                   
       1.3 การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการใช้สิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการใช้สิทธิทางศาล หรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลหากถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน
                   
       
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดไว้ในมาตรา 28 ว่า
                   
       “มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
                   
       บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญที่รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เพื่อให้บุคคลสามารถอ้างในเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของตน และในการใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ตราบเท่าที่ ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และนอกจากนี้ หากมีการกระทำละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์หรือสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ บุคคลผู้ถูกกระทำย่อมสามารถนำมาฟ้องคดีได้หรือยกเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้โดยอาศัยบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว
                   
       1.4 ความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดบทบัญญัติเพื่อป้องกันมิให้เกิดการใช้อำนาจเบี่ยงเบนไว้ในมาตรา 29 ว่า
                   
       “มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้น
                   
       กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย
                   
       บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม”
                   
       บทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักประกันในเรื่องความมั่นคงแห่งสิทธิขั้นพื้นฐานไว้ โดยกำหนดว่าหากจะมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้จะต้องเป็นเหตุตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอนุญาตไว้เท่านั้น ถ้าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมิได้อนุญาตไว้ รัฐจะจำกัดสิทธิเหล่านั้นมิได้

                   
       จากบทบัญญัติในมาตรา 29 นี้เอง จึงทำให้สามารถแยกพิจารณาถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เป็น 2 ประเภท คือ สิทธิและเสรีภาพที่เป็นเด็ดขาดไม่อาจถูกตัดรอนหรือจำกัดโดยกฎหมายที่อาจจะออกมาภายหลังได้ และสิทธิและเสรีภาพที่อาจถูกริดรอนสิทธิได้2 โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
                   
       1.4.1 สิทธิและเสรีภาพที่ไม่อาจถูกริดรอนได้ ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพต่าง ๆที่มีผลเป็นสิทธิเสรีภาพเด็ดขาด (absolute right) ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ คือ
                   
       (ก) ความเสมอภาคในทางกฎหมายและการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดในเรื่องความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติไว้ในมาตรา 30 ดังนี้
                   
       “มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
                   
       ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
                   
       การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
                   
       มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักในการรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนว่ามีความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง อีกทั้งยังกำหนดถึงการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (กรณีที่กระทำไปโดยไม่เป็นธรรมนั้นต้องมีเหตุผลสนับสนุนในการเลือกปฏิบัติด้วยว่ามีความเป็นธรรมเหมาะสมกับการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดหรือไม่จึงจะกระทำได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในภารกิจบางอย่างของรัฐที่อาจมีเหตุผลที่จำเป็นอันจะต้องเลือกปฏิบัติโดยเป็นธรรม)3 เอาไว้ด้วย
                   
       (ข) การรับโทษทางอาญา
                   
       
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดไว้ในมาตรา 32 ดังนี้
                   
       “มาตรา 32 บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมาย
       ที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่จะ
       ไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายอาญาที่มีผลเป็นการย้อนหลังและรับรองถึงการที่จะกำหนดโทษที่จะ ลงแก่บุคคลนั้นหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิดไม่ได้
                   
       (ค) ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคดีอาญา
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)ได้กำหนดในเรื่องข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคดีอาญาไว้ในมาตรา 33 ดังนี้
                   
       “มาตรา 33 ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
                   
       ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยยืนยันถึงสิทธิของบุคคลดังกล่าวว่าถือว่าเป็นผู้ไม่มีความผิดจนกว่าศาลจะมี คำพิพากษา และนอกจากนี้ หากศาลยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่แสดงว่าบุคคลนั้นเป็น ผู้กระทำผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนเป็นบุคคลผู้กระทำความผิดไม่ได้
                   
       (ง) สิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัว
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดในเรื่องสิทธิของบุคคลในครอบครัวไว้ในมาตรา 34 ดังนี้
                   
       “มาตรา 34 สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง
                   
       การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักในการคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลในครอบครัวทั้งทางด้านเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมตลอดถึงการกล่าวหรือแพร่หลายภาพ ข้อความ ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดๆ ซึ่งมีผลเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลเอาไว้ โดยมีข้อยกเว้น คือ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ตัวอย่างเช่น ในกรณีไขข่าวเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่เป็นสาธารณะ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ฯลฯ
                   
       (จ) เสรีภาพในการนับถือศาสนา
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กล่าวถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ในมาตรา 38 ดังนี้
                   
       “มาตรา 38 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
                   
       ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐ
       กระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา
       นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวเป็นหลักประกันถึงเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนานิกาย ลัทธิทางศาสนาและในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน
                   
       เสรีภาพในลัทธินิยมทางศาสนาในมาตรานี้จะใช้ได้ต่อเมื่อไม่ขัดต่อ “หน้าที่”
       ของพลเมืองและในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดเอาไว้แล้วถึงหน้าที่ของพลเมืองว่าบุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย 4
                   
       (ฉ) เสรีภาพในทางวิชาการ
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กล่าวถึงเสรีภาพในทางวิชาการไว้ในมาตรา 42 ดังนี้
                   
       “มาตรา 42 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ
                   
       การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลัก
       วิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้เสรีภาพในทางวิชาการตลอดจนถึงการ
       ศึกษาอบรม การเรียน การสอน การวิจัย ตลอดจนการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ โดยการใช้เสรีภาพในมาตราดังกล่าวนี้จะต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
                   
       (ช) สิทธิในการเข้ารับการศึกษาอบรม
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดถึงสิทธิในการเข้าศึกษาอบรมไว้ในมาตรา 43 ดังนี้
                   
       “มาตรา 43 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อย
       กว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
                   
       การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครอง
       ส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
                   
       การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแล
       ของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวได้ขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 9 ปี เป็นไม่น้อยกว่า12 ปี โดยยืนยันถึงสิทธิของบุคคลอย่างเสมอกันในการเข้ารับการศึกษาหลักสูตรพื้นฐานเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยในการจัดการศึกษานั้นรัฐจะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนตามที่กฎหมายกำหนดรวมถึงการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับ ดูแลของรัฐด้วย
                   
       (ซ) เสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดถึงเสรีภาพของประชาชนในการรวมตัวจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองไว้ในมาตรา 47 ดังนี้
                   
        “มาตรา 47 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองเพื่อ
       สร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
                   
       การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้อง
       สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
                   
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหาร
       ของพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม รัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
                   
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับนั้นเป็นอันยกเลิกไป”

                   
       บทบัญญัติมาตรา 47 เป็นการกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง โดยกำหนดให้เป็นเสรีภาพของประชาชนโดยสมบูรณ์เพื่อความเข้มแข็งและเพื่อความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง 5
       
                   
       (ฌ) สิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดสิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวไว้ในมาตรา 53 ดังนี้
                   
       “มาตรา 53 เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม
                   
       เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมจาก
       รัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กล่าวรับรองถึงสิทธิของเด็ก เยาวชน และ
       บุคคลในครอบครัวว่าได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนถึงเด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลย่อมมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและรับการศึกษาอบรมจากรัฐด้วย
                   
       (ญ) สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดในเรื่องสิทธิต่อต้านโดยสันติไว้ในมาตรา 65 ดังนี้
                   
       “มาตรา 65 บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”
                   
       บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการนำหลักเรื่องสิทธิในการต่อต้านการใช้กำลังทำรัฐประหารเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาประกอบในการยกร่าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการที่ประชาชนสามารถต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มิใช่วิถีทางที่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตยได้
                   
       1.4.2 สิทธิและเสรีภาพที่อาจถูกจำกัดได้ โดยหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ
       ที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้จะทำมิได้ดังได้กล่าวมาแล้วในข้อ 1.4.1 ส่วนในข้อ 1.4.2 นี้จะเป็นสิทธิและเสรีภาพที่อาจถูกจำกัดได้เฉพาะกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นโดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะกระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ได้
                   
       (ก) สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดถึงสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายไว้ในมาตรา 31 ดังนี้
                   
       “มาตรา 31 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
                   
       การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้
       มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้
                   
       การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิ
       และเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักสำคัญถึงสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลไว้ว่า ผู้ใดจะมาละเมิด การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมมิได้ การจับ คุมขัง ตรวจค้นบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพก็อาจกระทำได้เช่นกัน โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่น ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็จะกำหนดไว้ว่าการจะตรวจค้น จับกุม คุมขังโดยไม่มีหมายศาลนั้นจะกระทำได้ในกรณีใดบ้าง
                   
       (ข) เสรีภาพในเคหสถาน
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดถึงเสรีภาพในเคหสถานไว้ในมาตรา 35 ดังนี้
                   
       “มาตรา 35 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน
                   
       บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถาน
       โดยปกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการตรวจค้นเคหสถานจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นการรับรองถึงสิทธิของบุคคลว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพ
       ในเคหสถานของตนรวมทั้งย่อมได้รับความคุ้มครองในที่อยู่อาศัยและการครอบครองเคหสถาน
       โดยปกติสุข การที่บุคคลอื่นจะเข้าไปโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครองหรือการเข้าไป
       ตรวจค้นเคหสถานจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการให้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น
                   
       (ค) เสรีภาพในการเดินทาง
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดถึงเสรีภาพในการเดินทางไว้ในมาตรา 36 ดังนี้
                   
       “มาตรา 36 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือก
       ถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร
                   
       การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตาม
       บทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์
                   
       การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้บุคคล
       ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการเดินทาง การ
       เลือกถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ใดก็ได้ภายในราชอาณาจักรไทย เว้นแต่จะมีกฎหมายมาจำกัดโดยเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อ สวัสดิภาพของผู้เยาว์ และนอกจากนี้ ยังมีการห้ามการปฏิบัติต่อบุคคลสัญชาติไทยด้วยการเนรเทศหรือห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
                   
       (ง) เสรีภาพในการสื่อสาร
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดถึงเสรีภาพในการสื่อสารไว้ในมาตรา 37 ดังนี้
                   
       “มาตรา 37 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วย
       กฎหมาย
                   
       การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการ
       กระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกันจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวให้เสรีภาพแก่บุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
       โดยมีการห้ามการตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน เว้นแต่อาศัยตามบทกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
                   
       (จ) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการคุ้มครองสื่อมวลชน
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ในมาตรา 39 ดังนี้
                   
       “มาตรา 39 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน
       การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
                   
       การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพ
       ของประชาชน
                   
       การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอน
       เสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
                   
       การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือ
       พิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือการรบ แต่ทั้งนี้ จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง
                   
       เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้
       ตามที่กฎหมายบัญญัติ
                   
       การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของ
       เอกชน รัฐจะกระทำมิได้”

                   
       ในบทบัญญัติมาตรา 39 นี้ เป็นบทบัญญัติที่ส่งเสริมในเรื่องการแสดงความ
       คิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น โดยรัฐจะ
       จำกัดเสรีภาพมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ ความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งใน
       มาตรา 39 นี้ยังคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชน เพราะในอดีตมักมีการสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุ
       กระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้โดยมีคำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาล แต่ตามบท
       บัญญัติดังกล่าวการจะสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อลิดรอน
       เสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลที่เป็นจริงและอีกทั้งยังห้ามมิให้รัฐแทรกแซงหรือมีอิทธิพลเหนือการทำงานของสื่อมวลชนด้วยการให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนของเอกชนด้วย
                   
       (ฉ) การใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติ
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดถึงทรัพยากรสื่อสารของชาติไว้ในมาตรา 40 ดังนี้
                   
       “มาตรา 40 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ
       วิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
                   
       ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และ
       กำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้
       ตามที่กฎหมายบัญญัติ
                   
       การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนใน
       ระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม”

                   
       มาตรา 40 เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ในการส่งวิทยุ
       กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่
       เป็นหลักการใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยังกำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่
       จัดสรรและทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติโดยการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งในเรื่องการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมด้วย
                   
       (ช) เสรีภาพในการเสนอข่าวและความคิดเห็น
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดถึงเสรีภาพในการเสนอข่าวและความคิดเห็นไว้ในมาตรา 41 ดังนี้
                   
       “มาตรา 41 พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์
       วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น
       ภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
       รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ
       
                   
       ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ
       รัฐวิสาหกิจ ในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง”

                   
       มาตรา 41 เป็นบทบัญญัติที่ให้เสรีภาพแก่พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่
       ประกอบกิจการเกี่ยวกับการกระจายข่าวสาร รวมตลอดจนถึงข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ มาตรานี้มีผลเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะได้ทราบถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นธรรม ถูกต้อง ไม่บิดเบือน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนตรวจสอบการทำงานของรัฐได้โดยทางหนึ่งด้วย
                   
       (ซ) การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กำหนดถึงเรื่องการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้ในมาตรา 49 ดังนี้
                   
       “มาตรา 49 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ
       ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกัน
       ประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม
       การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
       และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอด”

                   
       มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงการรับรองสิทธิที่มีเหนืออสังหาริมทรัพย์
       ของเอกชนว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อที่รัฐจะสามารถ จัดทำบริการสาธารณะประเภทต่าง ๆ ได้ รัฐจึงอาจมีอำนาจที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนได้เฉพาะที่มีกฎหมายกำหนดเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ และนอกจากนี้ ในการเวนคืนรัฐยังต้องกำหนดค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันสมควรให้
       แก่ประชาชนด้วย
                   
       (ฌ) เสรีภาพในการชุมนุม
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กล่าวถึงเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนไว้ในมาตรา 44 ดังนี้
                   
       “มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
                   
       การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตาม
       บทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”

                   
       ในมาตรา 44 นี้มีการบัญญัติเพื่อรับรองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุม
       ได้ แต่จะต้องกระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจะจำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและ
       ปราศจากอาวุธจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่บ้านเมืองมีสภาวะ ฉุกเฉิน
                   
       (ญ) เสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะ
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กล่าวถึงเสรีภาพของบุคคลที่จะรวมตัวกันเป็นหมู่คณะได้ไว้ในมาตรา 45 ดังนี้
                   
       “มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์
       สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
                   
       การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตาม
       บทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความ
       สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ”

                   
       ในมาตรา 45 นี้เป็นหลักการในการให้เสรีภาพแก่ประชาชนที่จะรวมตัวกันเป็น
       สมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่นในการดำเนิน
       การในทางเศรษฐกิจ เว้นไว้แต่การรวมตัวดังกล่าวนี้อาจถูกจำกัดโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ
       แห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือเพื่อมิให้มีการผูกขาดในทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือประชาชน
                   
       (ฎ) สิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น
                   
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
       ได้กล่าวถึงสิทธิในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ ดังนี้
                   
       “มาตรา 46 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์
       หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ
       และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและ
       สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

                   
       สิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตาม
       รัฐธรรมนูญโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นให้รู้สึกรักและหวงแหนท้องถิ่นของตนซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม จารีตประเพณี
       ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ โดยการให้ชุมชนในท้องถิ่น
       ดั้งเดิมนั้นมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       1. ที่มา คัดมาจากส่วนหนึ่งของรายงานการวิจัยเรื่อง “ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำของบุคคล ตามมาตรา 198 ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ เสนอต่อสำนักงานศาล รัฐธรรมนูญ, ธันวาคม 2543
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       2. ถาวร เกียรติทับทิว, “สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ”,
       วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 2 เล่มที่ 4, หน้า 44-47.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       3. บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 22 เมษายน 2540
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       4. บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 22 เมษายน 2540
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       5. คณิน บุญสุวรรณ, สิทธิเสรีภาพของคนไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2542), หน้า 47.
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=244
เวลา 24 พฤศจิกายน 2567 22:17 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)