|
 |
พระราชปรารภเรื่อง "คอนสติตูชั่น" ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (เมื่อ พ.ศ.2454) 20 ธันวาคม 2547 17:15 น.
|
ถ้ามีผู้ต้องการ "คอนสติตูชั่น" จริงๆและเปนไปได้จริงๆจะเปนคุณอย่างใดฤาไม่ แต่ถ้าแม้ต่างว่ามีคนอยู่จำพวกหนึ่งซึ่งตั้งใจดี มีความมุ่งดีต่อชาติจริงจะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรงๆขอให้มีคอนสติตูชั่น เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย ตรงกันข้าม เราจะยอมพิจารณาดูว่าจะสมควรยอมตามคำของคนนั้นฤาไม่ (พระราชเจตนาของพระองค์อันแท้จริงมีอยู่เช่นนี้ เปนหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงหวงแหนที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแต่ประการใดเลย แต่ต้องทำอย่างผู้มีความรู้ และประชาชนก็ต้องเข้าใจกติกาของการปกครองพร้อมไปด้วย จึงจะไม่เกิดอันตรายแก่ประเทศชาติอันเปนที่รัก คือ หมายความว่า เปนเหยื่อของคนโกงชาติเปนสำคัญ) เพียงมีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี เพราะเรารู้สึกอยู่แล้วเหมือนกัน ว่าการที่มอบการปกครองไว้ในมือพระเจ้าแผ่นดินคนเดียวผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดนั้น ดูเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่มีสติปัญญาสามารถและมีความตั้งใจมั่นอยู่ว่า จะทำการให้บังเกิดผลดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองฉนี้แล้วก็จะเปนการดีที่สุด จะหาลักษณการปกครองอย่างใดมาเปรียบปานได้โดยยาก แต่ถ้าแม้พระเจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา ขาดความสามารถ ขาดความพยายาม เพลิดเพลินไปแต่ในความสุขส่วนตัว ไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ของตนฉนี้ก็ดี ฤาเปนผู้มีน้ำใจพาลสันดานหยาบดุร้าย และไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบฉนี้ก็ดี ประชาชนก็อาจจะได้รับความเดือดร้อน ปราศจากความสุข ไม่มีโอกาสที่จะเจริญได้ ดังนี้จึงเห็นได้ว่าเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม (ตามจดหมายเหตุส่วนพระองค์ที่ทรงลงบันทึกไว้เช่นนี้ เปนการยืนยันถึงผลดีและผลเสียของการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่ก็บุญหนักหนาที่ประเทศสยามที่ทรงมีพระมหากษัตริย์อย่างรัชกาลที่ 6 ปกครองในเวลานั้น เราจึงดำรงชาติอยู่ได้โดยปลอดภัยมาจนทุกวันนี้)
แสดงคุณแห่งลักษณะปกครอง โดยมี "คอนสติตูชั่น" ส่วนการมีคอนสติตูชั่นนั้น เปนอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือคนๆเดียว ซึ่งถึงแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้มีเสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง เสนาบดี(ในรัชสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เปนต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเปนพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ก็ได้เปลี่ยนชื่อเสนาบดีหัวหน้าผู้บริหารการดำเนินนโยบายของกระทรวงแต่ละกระทรวงเปนข้าราชการฝ่ายการเมือง จึงเรียกชื่อใหม่ในตำแหน่งนี้ว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวง" และพร้อมกันนั้นคำว่า "ปลัดทูลฉลอง" ซึ่งทำหน้าที่เปนผู้รายการกิจการของกระทรวงที่ตนประจำการอยู่ เพื่อกราบบังคมทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองพระบาทก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย โดยไม่ต้องกราบบังคมทูลเหมือนแต่ก่อนอีก จึงใช้คำว่า "ปลัดกระทรวง" ตั้งแต่นั้นเปนต้นมา) ตำแหน่งหน้าที่ปกครองก็รับผิดรับชอบต่อประชาชน จำเปนต้องทำการให้เปนไปอย่างดีที่สุดที่จะเปนไปได้ เพราะถ้าแม้ว่าทำการในหน้าที่บกพร่อง ประชาชนไม่เปนที่ไว้วางใจต่อไปก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกันมากๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาสเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ทำการงานให้ดำเนินไปโดยทางอันสมควรและถูกต้องตามประสงค์แห่งประชาชน เช่นนี้เปนการสมควรอย่างยิ่ง และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลยคงต้องรับว่าดีทั้งนั้น แต่แบบอย่างใดๆถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ เมื่อใช้จริงเข้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏขึ้น ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เปนไปในนานาประเทศ เพราะเหตุหลายประการ จะยกมาว่าแต่พอเปนสังเขปก็มีอยู่ คือ
1. แสดงโทษอันอาจจะมีมาได้ แม้เมื่อใช้ลักษณะการปกครองมี "คอนสติตูชั่น" (คอนสติตูชั่น ได้แก่ รัฐธรรมนูญ)
ประชาชนยังไม่มีความรู้พอที่จะทำการปกครองตนเองได้ เพราะฉนั้นอาจที่จะใช้อำนาจอันมีในมือตนในหนทางที่ผิดวิปลาศ บางสิ่งซึ่งต้องการให้มีขึ้นฤาให้เปนไปจะไม่เปนสิ่งซึ่งนำประโยชน์มาสู่ชาติฤากลับจะให้โทษ แต่ประชาชนมีความเห็นพร้อมๆกันมาก ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของพวกมาก (แบบอย่างทำนองนี้ ย่อมมีการผิดพลาดได้ ดังที่ได้เปนกันอยู่เสมอในสมัยนี้ ที่เรียกกันว่า "กฎหมู่" ก็เกิดผลเสียในด้านเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง) คิดถึงแต่ส่วนการต่อสู้และหวังเอาชัยแก่ศัตรูเท่านั้น ต่อเมื่อสงบศึกแล้ว จึงจะรู้สึกโทษแห่งการสงคราม คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพจะฝืดเคือง การค้าขายซึ่งต้องงดไว้ในระหว่างสงครามนั้น มาจับลงมือทำขึ้นอีกก็ย่อมจะไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน เปรียบเหมือนเครื่องกลไกอันจักร์และใยเคลื่อนที่เสียหมดแล้ว กว่าจะแก้ไขให้เดินดีและเรียบร้อยอย่างเดิมก็เปนการยากนัก ทั้งการปกครองท้องที่ก็ต้องจัดการเอาลงระเบียบอีก เมื่อแลเห็นผลแห่งการสงครามฉนี้แล้ว ประชาชนรู้สึกตัว ถ้ายิ่งในกาลสงครามนั้นได้พ่ายแพ้แก่ศัตรูภายนอกด้วยความลำบากยากเข็ญต่างๆอันจะมีมาเปนเครื่องตามหลังก็จะยิ่งมากขึ้นเปนทวีคูณเปนแน่แท้ ที่กล่าวมาแล้วนี้เปนโทษแห่งการที่ประชาชนอันไม่รู้จักใช้อำนาจจะใช้เองในที่ผิด แต่ยังมีอีกประกาณหนึ่ง ซึ่งควรคำนึงและพิจารณาดูเหมือนกัน คือ
การเปนผู้แทนอย่างให้สินบน
2. ประชาชนรู้สึกตนว่าไม่มีความสามารถพอที่จะถืออำนาจและใช้อำนาจ ทุกๆคนจึ่ง
ไว้ใจมอบอำนาจให้บุคคลบางคนถืออำนาจและใช้อำนาจนั้นแทน บุคคลเหล่านี้คือที่เลือกสรรให้เข้าไปนั่งในรัฐสภา (ปาร์ลีเมนต์) เปนผู้แทนประชาชน ผู้แทนเช่นนี้ ถ้าแม้ว่าประชาชนรู้จักจริง รู้แน่นอนว่าเปนคนดีจริงแล้วจึงเลือกเข้าไปเปนผู้แทนคน ดังนี้ก็จะไม่มีที่เสียหายจะบังเกิดขึ้นได้เลย
แต่ตามความจริงหาเปนเช่นนั้นไม่ตามความจริงนั้น ประชาชนโดยมากก็มีกิจธุระทำมา
หาเลี้ยงชีพอยู่ด้วยกันทุกคน จะมัวสละเวลาเพื่อกระทำความวิสาสะกับผู้ที่จะเปนผู้แทนตนในรัฐสภาก็ไม่ได้อยู่เอง เพราะฉนั้นแบบธรรมเนียมจึงมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาจะต้องเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในรัฐสภา ก็มีคน 2 คนฤา 3 คนนั้น
เมื่อชอบคนไหนก็เลือกคนนั้น โดยต่างคนต่างให้คะแนนของตน ใครได้คะแนนมากก็ได้เข้าไปนั่งในรัฐสภาดังนี้ แต่ถ้ามีผู้มารับเลือกแต่คนเดียวก็นับว่าไม่เปนปัญหา ประชาชนไม่ต้องลงคะแนนคนๆนั้นเปนอันได้เข้าไปนั่งในรัฐสภาทีเดียว
ส่วนการที่จะจัดคนให้มีคนมารับเลือกนั้น ตามคอนสติตูชั่นว่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดในเขตนั้นเปนผู้นำขึ้นว่าผู้ใดควรได้รับเลือกถ้าไม่มีผู้อื่นนำเสนอนามใครอีกคนหนึ่งแล้วคนที่หนึ่งเปนอันได้เข้ารัฐสภาอยู่เอง
แต่ถ้ามีผู้เสนอนามบุคคลใดขึ้นอีกคนหนึ่ง จึงต้องนัดวันให้ประชาชนในเขตนั้นลงคะแนนในระหว่างคนสองคนที่ได้มีผู้เสนอนามขึ้น ดูเผินๆเพียงนี้ก็ยังดีอยู่ แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ว่าใครๆสักแต่เปนมนุษย์แล้วก็จะมีโอกาสได้รับเลือกได้ ผู้ที่หยิบยกตัวบุคคลออกมาให้ราษฎรเลือกนั้น คือ คณะฤาปาร์ตี(ได้แก่ พรรค) ซึ่งมีแบ่งกันอยู่ตั้งแต่ 2 ขึ้นไป
การที่ต้องมีปาร์ตีนั้น เพราะถ้าแม้ผู้ที่เข้าไปนั่งประชุมในรัฐสภา ต่างคนต่างพูดไปแสดงความเห็นไปตามอัตโนมัตของตนทุกคน ก็คงจะไม่มีความตกลงกันได้ในเรื่องใดเลยสักเรื่องเดียว จึ่งต้องเกิดใช้วิธีจัดรวมเปนคณะ คือ ผู้ที่มีความเห็นพ้องกันในปัญหาสำคัญๆรวมกันเข้าเปนคณะหรือปาร์ตี้ เพื่อจะได้ช่วยกันลงความเห็นเหมือนๆกันมาก
ในเมื่อเข้าที่ประชุมรัฐสภาดังนี้เปนที่ตั้ง ครั้นเมื่อเวลาจะมีการเลือกสมาชิกเข้ามาใหม่ต่างคณะก็ย่อมจะต้องมีความประสงค์ที่จะให้ผู้มีความเห็นพ้องกับคณะตนได้รับเลือก ต่างคณะจึงต่างคนดำเนินการให้คนของตนได้รับเลือก วิธีดำเนินอันถูกต้องตามกฎหมายนั้น คือ แต่งสมาชิกแห่งคณะไปพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎรให้แลเห็นผลอันดีที่จะพึงมีมา โดยทางที่ให้คณะได้มีโอกาสทำการโดยสะดวก
เมื่อกล่าวมาถึงแค่นี้แล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งไรที่นับว่าเสียหายอันจะบังเกิดมีมาได้จากการใช้วิธีเช่นนี้ และถ้าความเปนไปเปนจริงแต่เพียงเท่านี้ก็เปนอันไม่มีที่ติ แต่ความจริงมิได้หมดอยู่เพียงแค่นี้ คือ การเกลี้ยกล่อมมิได้ใช้แต่เฉพาะทางเที่ยวพูดจา ไม่ได้ใช้ล่อใจราษฎรแต่ด้วยถ้อยคำเท่านั้น ยังมีล่อใจโดยทางอื่นๆอีก ตั้งแต่ทางเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสะดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ จนถึงติดสินบนตรงๆโดยที่สุด คณะใดมีทุนมากจึ่งได้เปรียบอยู่มาก (แบบที่เปนอยู่ในสมัยนี้คนสมัยใหม่พากันเรียกว่า "เจ้าบุญทุ่ม" ตรงกับพระราชวินิจฉัยของ ร.6) ก็ตกลงรวบรวมใจความว่า ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตนเพราะรู้แน่ว่าเปนคนดีสมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉนี้ตามจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือกฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าผิดความมุ่งหมายเดิมของคอนสติตูชั่นแล้ว คืออำนาจไม่ได้อยู่ในมือประชาชนจริงๆแต่ไปอยู่ในมือแห่งคนส่วนหนึ่งซึ่งเปนส่วนหน้อยแห่งชาติเท่านั้น แต่ถ้าคนเหล่านี้มีความตั้งใจดีอยู่ และเปนผู้ที่มีความรักชาติบ้านเมืองของตน ก็คงจะอุตส่าห์พยายามกระทำการงานไปตามหน้าที่อันได้รับมอบไว้นั้นโดยสุจริต แต่ผู้ที่มีความคิดซื่อตรงต่อชาติฝ่ายเดียว ไม่คิดถึงตนเองฤาผลประโยชน์ของตนมีอยู่บ้างฤาเข้าใจถึงจะมีก็จะไม่มากปานใด
คนโดยมากถึงว่าจะรักชาติบ้านเมืองก็มักจะมีความคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เปนอันมาก คงยังมีความต้องการอำนาจและต้องการผลอันจะพึงมีมาแต่การเปนผู้มีอำนาจ ต้องการโอกาสที่จะได้อนุเคราะห์แก่ญาติมิตรพี่น้องฤาคนชอบพอกันบ้างเปนธรรมดาอยู่ ความประสงค์อันนี้ทำให้เกิดมีผลอันหนึ่งซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ริเริ่มปกครองด้วย "คอนสติตูชั่น" มิได้ตั้งใจไว้ว่าจะให้มีคือ
เกิดความไม่เปนธรรมแก่ข้าราชการประจำ
3. เกิดมีคนจำพวกหนึ่งซึ่งเอาการบ้านเมือง (ปอลิติคได้แก่เล่ห์เหลี่ยมการเมือง) เปนทาง
หาชื่อเสียง เอาเปนงานประจำสำหรับทำเอาเปนทางเลี้ยงชีพทีเดียว ที่มีบุคลทำเช่นนี้ได้ถนัดก็เพราะเหตุอันได้กล่าวมาแล้วในข้อ 2 คือ โดยเหตุที่ประชาชนโดยมากมีธุระและกิจการประจำต้องกระทำอยู่ไม่มีเวลาพอที่จะดูแลฤาดำริห์ในทาง "ปอลิติค" จึงยอมให้ผู้ที่เขามีเวลาจะดำริห์ทาง "ปอลิติค" นั้น นึกแทนพูดแทนไป
การที่มีบุคคลจำพวกหนึ่งซึ่งทำการคิดการทาง "ปอลิติค" ขึ้นนี้ ถ้าจะว่าไปตามตำราก็ต้องว่าไม่สมควร เพราะตำราว่าด้วยการบ้านเมืองให้เปนไปตามแต่ประชาชนจะเห็นชอบพร้อมกันต่างหาก การที่มีบุคคลจำพวกหนึ่งซึ่งหาชื่อทาง "ปอลิติค" มาเปนผู้คิดแทนดังนี้ ก็กลายเปนอำนาจอยู่ในมือคนจำพวกนี้โดยเฉพาะ จำพวกอื่นถึงจะต้องการอะไรๆก็ไม่ได้สมประสงค์ นอกจากที่ความปรารถนาจะไปตรงกันข้ามกับพวกนักเลงปอลิติค
ถ้าจะเถียงว่า การที่เปนเช่นนี้มีทางแก้ได้ง่ายๆ คือจัดหาคนที่ไม่ใช่พวก "ปอลิติเชียน" (ได้แก่ นักการเมือง) เข้าไปรับเลือกเสียบ้างก็แล้วกันฉนี้ไซร้ ก็ต้องตอบว่าขอให้ดูความจริงว่าเปนไปได้ฤาไม่ บุคคลที่เรียกตนว่า "อิสระ" (ได้แก่ พรรคอิสระ) นั้น นานๆจะหลุดเข้าไปนั่งเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาได้สักคนหนึ่งหรือสองคนแต่ถึงเข้าไปได้แล้วก็ไม่เข้าไปทำประโยชน์อะไร เพราะการงานใดๆที่จะบรรลุถึงซึ่งความอะไร เพราะการงานใดๆที่จะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้ก็ปรากฏว่าคนโดยมากเห็นชอบพร้อมกัน คือ เมื่อตั้งปัญหาขึ้นในที่ประชุมปาร์ลิเมนต์แล้ว เมื่อถึงเวลาลงคะแนนกันก็ต้องเปนไปตามความเห็นของคะแนนข้างมาเสมอ ก็ผู้ที่จะลงคะแนนนั้น โดยมากก็คงจะลงคะแนนตามๆกันสุดแต่หัวหน้าแห่งคณะของตนจะบอกให้ลงทางไหน ผู้ที่เรียกตนว่า "อิสระ" นั้นไม่มีพวกพ้องที่จะนัดแนะ เพราะฉนั้นถึงแม้ว่าจะมีความคิดความเห็นดีปานใดก็ตาม แต่ก็คงจะไม่สามารถจะบันดาลให้การเปนไปตามความคิดเห็นของตนได้
เมื่อการเปนอยู่เช่นนี้แล้ว จะหาผู้ที่สมัครเข้าไปเปนสมาชิกอิสระเช่นนั้นก็ยาก ผู้ที่จะประสงค์เข้าปาร์ลิเมนต์ (ได้แก่ รัฐสภา) โดยมากจึงมักแสดงตนว่าเปนผู้เห็นพ้องด้วยปาร์ตีใดปาร์ตีหนึ่งแล้วแต่จะเปนการสะดวกและตรงความเห็นของตนในขณะนั้น ลักษณะการปกครองเช่นนี้จึงมีนามปรากฏว่า "ปาร์ตี ลิสเต็ม" (ลักษณะการปกครองด้วยคณะ) คณะผลัดเปลี่ยนการเข้ารับหน้าที่ปกครอง ฤาเรียกตามภาษาของเขาว่า "รัฐบาล" (เคาเวอร์นเมนต์) อีกคณะหนึ่งเรียกว่าเปน "ผู้คัดค้าน" (ได้แก่ ที่เรียกกันว่า "ฝ่ายค้าน")
คณะที่เปนรัฐบาลนั้น คือ คณะที่มีพวกมากในที่ประชุมปาร์ลิเมนต์ สามารถที่จะเชื่อใจได้อยู่ว่าที่คิดจัดขึ้น แม้ว่าจะเกิดเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมบ้าง ก็สามารถที่จะทำให้ลงคะแนนกันได้โดยไม่ต้องวิตกว่าจะต้องแพ้กันในทางจำนวนคะแนน พอเมื่อใดไม่มีความเชื่อถือได้แน่นอนในข้อนี้แล้ว ฤาเมื่อท้าลงคะแนนกันแล้วแพ้ข้างฝ่ายผู้คัดค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ลาออกจากตำแหน่ง ผู้คัดค้านเข้ารับตำแหน่งแทนต่อไปกลับกันไปมาอยู่เช่นนี้อีกประการหนึ่ง ขณะเมื่อปาร์ตีใดได้รับหน้าที่ปกครอง ฤาพูดตามภาษาอังกฤษว่า "ถืออำนาจ" (อินเปาเวอร์) ปาร์ตีนั้นก็เอาแต่ผู้มีความเห็นพ้องกับตนไปแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆในรัฐบาล เปนทางรางวัลผู้ที่เปนพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังหาอำนาจอยู่นั้นพอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้เข้าถืออำนาจเจ้าหน้าที่ต่างๆก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุดตั้งแต่ตัวเสนาบดี (เสนาบดี สมัยนี้เปลี่ยนเปน "รัฐมนตรี" )ลงไป
การเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั้งชุดเช่นนี้ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มากๆเพราะบางทีคนพวกหนึ่งได้เริ่มคิดไว้แล้ว แต่ยังมิทันจะได้กระทำไปได้สำเร็จก็มีคนอื่นเข้ามารับหน้าที่เสียแล้ว งานการก็เท่ากับต้องริเริ่มกันใหม่ เขาแลเห็นกันอยู่เช่นนี้ทั่วกันจึงต้องจัดให้มีคนจำพวกหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ข้าราชการประจำ" (เปอร์มะเนนต์ ออฟฟิ
เชียล) ไว้ในกระทรวงและกรมทุกแห่ง เพื่อเปนผู้ดำเนินการงานของรัฐบาลไปตามระเบียบเรียบร้อย ซึ่งไม่ผิดอะไรกันกับวิธีจัดระเบียบข้าราชการในรัฐบาลแห่งเมืองอันพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเต็มเปนผู้ปกครองนั้นเอง เสนาบดีฤาพวกหัวหน้ากรมกระทรวงที่ผลัดกันเข้าออกอยู่นั้น เปนแต่ผู้คิดทางการที่จะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อคิดแล้วก็ต้องมอบให้พวกข้าราชการประจำเปนผู้ทำต่อไป จะทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น
พวกข้าราชการประจำเหล่านี้คือผู้ที่ต้องเหน็จเหนื่อยจริงกรากกรำลำบากจริง นั่งออฟฟิศจริง ทำการงานของรัฐบาลจริง แต่พวกเหล่านี้ฤาได้รับบำเหน็จรางวัลลาภยศฤาถานันดรศักดิ์หามิได้เลย ผู้ที่ได้รับบำเหน็จรางวัลคือผู้ที่มาขี่หลัง คือ ผู้ที่เข้ามาครอบ คือผู้ที่เปนพวกพ้องของหัวหน้าปาร์ตีที่ถืออำนาจ ถ้าแม้ใครๆที่มีความรู้พอและพยายามที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอยู่เนืองๆและหมั่นตรวจดูอยู่ว่าผู้ที่ได้รับบำเหน็จมีเลื่อนยศ รับยศใหม่ รับตรา เปนต้น เหล่านี้คือใครบ้าง แล้วและสืบสาวดูว่าบุคคลนั้นๆ ได้กระทำความชอบแก่ชาติบ้านเมืองอย่างไรคงได้แลเห็นว่าในจำพวกที่รับบำเหน็จนั้น มีผู้ที่ปรากฏว่าได้ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองจริงๆเปนส่วนน้อย (และทหารบก ทหารเรือนานๆจะมีนามอยู่ในหมู่ผู้รับบำเหน็จสูงๆสักคราวหนึ่ง) โดยมากเปนผู้มีทรัพย์เท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าการมีทรัพย์นั้นแลเปนเครื่องที่จะบันดาลให้คนได้รับบำเหน็จ ดูๆไปคล้ายๆซื้อบำเหน็จกันได้ วิธีซื้อนั้น ไม่ใช่ซื้อกันตรงๆมักเปนไปทางอ้อม คือทางส่งเงินไปเข้าเรี่ยรายในเงินกองกลางของปาร์ตี ปาร์ตีใช้เงินกองกลางนี้สำหรับใช้จ่ายในเมื่อจัดให้คนพวกของตนไปรับเลือกเปนเมมเบอร์ปาลิเมนต์ (ได้แก่ สมาชิกรัฐสภา) นับว่าเปนอันได้ช่วยโดยทางอ้อมเพื่อให้ปาร์ตีได้ถืออำนาจยกเอาว่าเปนความชอบแก่รัฐบาล จึงได้บำเหน็จเพื่อแสดงความพอใจของปาร์ตี เมื่อเปนเช่นนี้แล้วก็ไม่ผิดอะไรกันกับพระเจ้าแผ่นดินบำเหน็จรางวัลแต่พวกพ้องของตนที่ประจบประแจง บำเหน็จรางวัลก็คงเปนอันไปได้แก่คนหัวประจบอีก ไม่ใช่ได้แก่ผู้ที่ทำงานจริงๆ คราวนี้ก็จะต้องแก้ขึ้นว่า ถึงแม้จะเปนไปได้เช่นนั้นก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏขึ้นว่าคณะซึ่งเปนรัฐบาลมีความลำเอียงฤาประพฤติไม่เปนยุติธรรม ราษฎรก็อาจจะร้องขึ้นได้ และอาจที่จะร้องให้คณะนั้นออกจากหน้าที่รัฐบาลเสียได้
เพราะฉนั้นคณะที่เปนรัฐบาลจำจะต้องระวังอยู่ ข้อนี้จริงและถูกต้องทุกประการตามตำรา แต่ตามความจริงนั้นเปนอยู่อย่างไร? ประชาชนจะร้องทักท้วงขึ้นได้ก็โดยอาศัยปากแห่งผู้แทนซึ่งได้รับเลือกให้เข้าไปเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาอยู่แล้ว ก็ในที่ประชุมปาร์ลิเมนต์นั้น แล้วแต่คะแนนมากและน้อยมิใช่ฤา พวกรัฐบาลเขามีอยู่มากถึงใครๆจะร้องจะว่าเขาอย่างไรๆ เมื่อท้าลงคะแนนกันเข้าเมื่อใดก็ต้องแพ้เขาเมื่อนั้น อีกประการหนึ่งการให้บำเหน็จรางวัลผู้ที่ให้เงิน "ลงขัน" กองกลางของปาร์ตีนั้น มิใช่ว่าจะกระทำอยู่แต่เฉพาะปาร์ตีเดียว ย่อมจะกระทำอยู่ด้วยกันทุกปาร์ตี เพราะฉนั้นปาร์ตีใดจะร้องติเตียนอีกปาร์ตีหนึ่งก็ไม่ใคร่ถนัดเปนเรื่อง "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" อยู่ฉนี้ จึงเปนการยากที่จะแก้ไขให้หายไปได้ ข้อที่แสดงมาแล้วนี้ก็นับว่าร้ายอยู่แล้วแต่ยังมีต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คือ
กลายเปนพรรคเกาะกินเมืองอยู่ตลอดไป
4. คณะปาร์ตีทั้ง 2 ฝ่ายต่างตกลงกันเสียว่าจะผลัดเปลี่ยนกันเข้าเปนรัฐบาล ผลัดเปลี่ยนกันมีโอกาสได้อุดหนุนพวกพ้องของตน เมื่อได้ตกลงกันเช่นนี้แล้วเมื่อใดก็แปลว่าถึงที่สุดแห่งความเลวทราม เพราะเปนอันหมดหนทางที่จะแก้ไขได้ ในระหว่างที่ปาร์ตี "ก" เปนรัฐบาล ก็อุดหนุนพวกพ้องของตนเสียเต็มที่ ฝ่ายปาร์ตี "ข" ก็ไม่คัดค้านจริงจังอันใด จะคัดค้านบ้างก็แต่พอเปนกริยา เพราะนึกอยู่ว่าไม่ช้าก็จะถึงคราวฝ่ายตนได้เข้าไปนั่งกันบ้าง ความเสียหายอันนี้มีอยู่แก่ปาร์ลิเมนต์แทบทุกเมือง แม้แต่ที่เมืองอังกฤษซึ่งนิยมกันว่าเปนประเทศซึ่งมีปาร์ลิเมนต์อันดีที่สุด ก็ยังมีคนอังกฤษร้องติอยู่ว่าในเรื่อง "ขายบำเหน็จ" นั้น ถึงแม้ใครๆจะร้องขึ้นในปาร์ลิเมนต์ก็ไม่เปนผลอันใด เพราะทั้งคณะลิเบลรัลและคอนเซอร์วะติฟพากันตัดรอนปัญหาเสีย มิได้ทันต้องถึงไปปฤกษากันฤาลงคะแนนกันเลย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินนั้นแม้ว่าจะทรงทราบเรื่องนี้ก็ไม่มีอำนาจจะทรงแก้ไขอย่างใดได้ การที่จะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ใด ก็ต้องเปนไปตามความแนะนำของเสนาบดีเปนพื้น จะมีที่เลือกประเองได้บ้างก็แต่พวกข้าราชการในราชสำนักนี้เท่านั้น ก็เมื่อในประเทศอังกฤษเปนเช่นนี้แล้ว ในประเทศอื่นจะเปนอย่างไร
สิ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบันทึกไว้เมื่อ 90 ปีที่ผ่านมาและก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยังคงทันสมัยอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ผู้อ่านทุกคนคงมีคำตอลที่ชัดเจนอยู่ในใจอย่างแน่นอน
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=242
เวลา 21 เมษายน 2568 18:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|