การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

20 ธันวาคม 2547 16:49 น.

       สารบัญบทความ
       บทนำ
       
       
                   
       1. หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
       
                   
       2. ประเภทของการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
       
                   
       3. การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญไทย
       
                   
       3.1 การควบคุมและตรวจสอบที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการริเริ่ม
       
                   
       3.2 การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรของรัฐ
       
                   
       3.2.1 การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรศาล
       
                   
       3.2.2 การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรอื่น ๆ
       
                   
       4. ปัญหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ควบคุมและตรวจสอบ
       
                   
       การใช้อำนาจรัฐด้วยกัน
       
                   
       4.1 ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
       ที่ไม่ใช่องค์กรทางการเมือง
       
                   
       4.2 ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมและตรวจสอบที่ไม่ใช่องค์กร
       
                   
       ทางการเมืองกับองค์กรตุลาการ
       
                   
       บทสรุป
       
       บทนำ
                   
       โดยที่ “รัฐ” เป็นนิติบุคคล รัฐจึงไม่สามารถกระทำการใด ๆ ด้วยตนเองได้
       การกระทำทั้งหลายของรัฐจึงต้องกระทำการโดยผ่านบุคคลธรรมดาทั้งหลายที่ดำรงตำแหน่ง
       เป็นบุคคลของรัฐทั้งสิ้น เพียงแต่กฎหมายให้ถือว่าการกระทำของบุคคลธรรมดาเหล่านั้น
       หากได้กระทำภายในขอบเขตและเงื่อนไข หรือวิธีที่กฎหมายกำหนดแล้ว ให้ถือว่าการ
       กระทำนั้นเป็นการกระทำของรัฐ ซึ่งหมายความว่า หากการกระทำนั้นก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ
       สิทธิดังกล่าวนั้นย่อมตกได้แก่รัฐ และในขณะเดียวกันหากการกระทำนั้นก่อให้เกิดหน้าที่
       บางประการ หน้าที่ดังกล่าวนั้นก็ตกเป็นหน้าที่ของรัฐมิใช่หน้าที่เป็นการส่วนตัวของบุคคล
       ผู้กระทำการแทนรัฐ
       
                   
       การกระทำที่จะถือว่าเป็นการกระทำของรัฐมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
       ก. การกระทำของรัฐต้องเป็นการกระทำของบุคคลธรรมดาซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
       เป็นองค์กรของรัฐ ข. ต้องเป็นการกระทำของบุคคลธรรมดาซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่เป็นองค์กร
       ของรัฐอันได้ทำลงในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐ กล่าวคือ เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับ
       ตำแหน่งหน้าที่ที่ตนดำรงอยู่ และ ค. การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับหน้าที่นั้นจะต้องกระทำลง
       เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวม โดยที่การกระทำของรัฐหรือการใช้อำนาจของรัฐเป็น
       การใช้อำนาจมหาชนโดยผ่านบุคคลธรรมดา ด้วยเหตุนี้เองการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวจึงอาจ
       มิได้กระทำการอยู่ภายในขอบเขต เงื่อนไข หรือวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือการใช้
       อำนาจรัฐโดยผ่านบุคคลธรรมดานั้น อาจจะกระทำโดยมีเจตนาที่จะทุจริตต่อหน้าที่ หรือ
       มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หรือพยายามบิดเบือน
       การใช้อำนาจรัฐเพื่อตนเองหรือกลุ่มของตนเอง การใช้อำนาจรัฐในลักษณะดังกล่าว ล้วนแต่
       เป็นการกระทำที่มีความบกพร่องทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและตรวจสอบ
       การใช้อำนาจรัฐในแง่หนึ่งเพื่อควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐดำเนินไปเพื่อบรรลุภารกิจของรัฐ
       ทั้งหลายในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อป้องกันการใช้อำนาจอย่างบิดเบือน การใช้อำนาจตามอำเภอใจ
       ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐดังกล่าว
       
       
                   
       ในการศึกษาเรื่องการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอาจแบ่งหัวข้อ
       ออกเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้ 1. หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจ
       รัฐ 2. ประเภทของการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 3. การควบคุมและตรวจสอบ
       การใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญไทย และ 4. ปัญหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร
       ที่ควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วยกัน
       1. หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
       
                   
       หากพิจารณาถึงบรรดารัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายจะพบว่ามีหลักการที่สำคัญ
       2 หลักการ กล่าวคือ หลักประชาธิปไตย(das demokratische Prinzip) และหลักนิติรัฐ(das
       Rechtsstaatsprinzip) หลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐเป็นหลักที่มีความเกี่ยวพันซึ่งกัน
       และกัน จนอาจกล่าวได้ว่าหลักประชาธิปไตยเป็นหลักที่เอื้อให้ผิดหลักนิติรัฐและขณะเดียวกัน
       หลักนิติรัฐก็เป็นหลักที่ส่งเสริมสนับสนุนต่อหลักประชาธิปไตย แต่หากจะกล่าวถึงประเด็น
       เรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น หลักการที่บทบาทสำคัญคือหลักนิติรัฐ
       โดยที่หลักนิติรัฐเป็นหลักใหญ่ที่เป็นหลักการพื้นฐานในที่นี้จึงสามารถแบ่งหลักย่อยของ
       หลักนิติรัฐที่เกี่ยวกับเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ 3 หลักย่อย ดังนี้
       1.1 หลักการแบ่งแยกอำนาจ(das Prinzip der Gewaltentrennung) 1.2 หลักความชอบด้วย
       กฎหมายของฝ่ายปกครองและฝ่ายตุลาการ(Gesetzmaessigkeit von Verwaltung und Justiz) และ 1.3 หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน(die Gewaehrleistung persoenlicher Grundrechte)
                   
       1.1 หลักการแบ่งแยกอำนาจ(das Prinzip der Gewaltentrennung)
       
                   
       หลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นพื้นฐานที่สำคัญของหลักนิติรัฐ เพราะหลักการ
       นิติรัฐไม่สามารถจะสถาปนาขึ้นมาได้ในระบบการปกครอที่ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ
       ไม่มีการควบคุมตรวจสอบซึ่งกันและกันระหว่างอำนาจ ภายใต้หลักการแบ่งแยกอำนาจ
       ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยหลักการแล้วต้องสามารถควบคุม ตรวจสอบและยับยั้งซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ เพราะอำนาจทั้งสามมิได้แบ่งแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดหากแต่มีการถ่วงดุลกัน(check and balance) เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้ จะต้องไม่มีอำนาจใดอำนาจหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกอำนาจหนึ่ง
       อย่างเด็ดขาด หรือจะต้องไม่มีอำนาจใดอำนาจหนึ่งที่รับภาระหน้าที่ของรัฐทั้งหมด และ
       ดำเนินการเพื่อให้บรรลุภารกิจดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น หลักการแบ่งแยกอำนาจ
       จึงเป็นหลักที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบอำนาจ
       และการถ่วงดุลอำนาจ
                   
       หากพิจารณาหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างเป็นระบบ อาจแยกพิจารณา
       การแบ่งแยกอำนาจในแง่ของความแตกต่างตามอำนาจหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่ง
       แยกองค์กรตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน หรือเรียกกันว่า “การแบ่งแยกอำนาจ
       ตามภารกิจ” (funktionelle Gewaltenteilung) และ “การแบ่งแยกอำนาจในแง่ของตัวบุคคล”
       (personelle Gewaltenteilung) ซึ่งเรียกร้องให้อำนาจหน้าที่ของรัฐที่มีการแบ่งแยกนั้นต้องมี
       เจ้าหน้าที่ของตนเอง อันมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐองค์กรอื่นด้วย โดยวิธีการแบ่งแยกอำนาจ
       ของรัฐเช่นนี้ รวมทั้งการกำหนดให้องค์กรอื่น ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการแต่งตั้ง
       บุคคลเข้าสู่อำนาจใดอำนาจหนึ่ง หรือการให้มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านอำนาจอื่นหรือสิทธิ
       ในการควบคุมตรวจสอบทั้งในแง่ของการแบ่งแยกอำนาจตามภารกิจ(funktionelle
       Gewaltenteilung) และในแง่ของตัวบุคคล (personelle Gewaltenteilung) แล้ว กรณีก็จะ
       ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจต่าง ๆ ในการยับยั้งซึ่งกันและกัน และทำให้เกิด
       ความสมดุลระหว่างอำนาจไม่ทำให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมีอำนาจโดยเบ็ดเสร็จ
       ในขณะเดียวกันก็จะไม่ทำให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งอยู่ภายใต้อำนาจอื่นโดยสิ้นเชิง ด้วย
       สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับวามคุ้มครองอันเป็น
       ความมุ่งหมายประการสำคัญของหลักนิติรัฐ
                   
       1.2 หลักความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองและฝ่ายตุลาการ(Gesetzmaessigkeit von Verwaltung und Justiz)
       
                   
       หลักความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครองหรือเรียกว่า
       “หลักความผูกพันต่อกฎหมายของฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครอง” หลักในเรื่องนี้เป็นการ
       เชื่อมโยงหลักความผูกพันต่อกฎหมายของฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครองเข้ากับหลัก
       ประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน กล่าวคือ การใช้กฎหมายของฝ่ายตุลาการก็ดี หรือฝ่าย
       ปกครองก็ดีจะต้องผูกพันต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่ออกโดยองค์กรนิติบัญญัติอันเป็น
       องค์กรที่มีพื้นฐานมาจากตัวแทนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติของกฎหมาย
       ที่เป็นการกระทบต่อสิทธิหรือจำกัดสิทธิของประชาชนนั้นจะกระทำได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข
       ของรัฐธรรมนูญ โดยผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชนก่อน ดังนั้น การใช้
       กฎหมายของฝ่ายตุลาการหรือฝ่ายปกครองที่เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนจึงมีผลมาจาก
       กฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชนแล้ว ซึ่งอาจแยกพิจารณาความ
       ผูกพันต่อกฎหมายของฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครองได้ดังนี้
                   
       (1) ความผูกพันต่อกฎหมายของฝ่ายตุลาการหรือหลักความชอบด้วยกฎหมาย
       ของฝ่ายตุลาการ(Gesetzmaessigkeit von Justiz) ความผูกพันของฝ่ายตุลาการต่อการใช้
       กฎหมายเป็นไปตามหลักความเสมอภาคของการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยถือว่า
       เป็นหลักความเสมอภาคในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรูปแบบของการใช้กฎหมายตาม
       หลักความเสมอภาคดังกล่าวมี 3 รูปแบบ ดังนี้
                   
       (1.1) ฝ่ายตุลาการจะต้องไม่พิจารณาพิพากษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้แตกต่าง
       ไปจากบทบัญญัติของกฎหมายหรือเรียกว่า ความผูกพันของฝ่ายตุลาการในทางปฏิเสธ
       กล่าวคือ เป็นความผูกพันที่จะต้องไม่พิจารณาพิพากษาให้แตกต่างไปจากบทบัญญัติของ
       กฎหมาย ซึ่งหมายความว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเรียกร้องมิให้มีการใช้กฎหมายให้แตกต่าง
       ไปจากบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นบทบัญญัติในลักษณะของการบังคับในเรื่องนั้น ๆ
       กล่าวคือ ฝ่ายตุลาการจะต้องใช้กฎหมายให้เป็นไปตามองค์ประกอบและผลของกฎหมาย
       ในเรื่องนั้น ๆ
                   
       (1.2) ฝ่ายตุลาการมีความผูกพันที่จะต้องใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือ บุคคลย่อมมีสิทธิเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกันในการที่จะให้ฝ่ายตุลาการใช้บทบัญญัติกฎหมายให้ตรงกับข้อเท็จจริงในกรณีของตน ในกรณีนี้เป็นการเรียกร้องให้ฝ่ายตุลาการยอมรับการผูกพันตนอย่างเคร่งครัดต่อกฎหมาย แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงอันเป็นลักษณะพิเศษในกรณีใดกรณีหนึ่งก็ตาม
                   
       (1.3) ฝ่ายตุลาการมีความผูกพันที่จะต้องใช้ดุพินิจโดยปราศจากข้อบกพร่อง
       ในกรณีนี้หมายความว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกันต่อฝ่ายตุลาการในกรณี
       ที่กฎหมายกำหนดให้มีการใช้ดุลพินิจโดยเรียกร้องให้ฝ่ายตุลาการใช้ดุลพินิจโดยปราศจาก
       ข้อบกพร่องใด ๆ ทั้งสิ้น
       
                   
       (2) ความผูกพันต่อกฎหมายของฝ่ายปกครองหรือ “หลักความชอบด้วยกฎหมาย
       ของฝ่ายปกครอง” (Gesetzmaessigkeit der Verwaltung) ซึ่งแบ่งเป็นหลักย่อยได้ 2 หลัก คือ หลักความมาก่อนของกฎหมาย(der Gurndastz des Vorrangs des Gesetzes) และหลักเงื่อนไขของกฎหมาย (der Grundsatz des Vorbehalts des Gesetzes)
       
                   
       (2.1) หลักความมาก่อนของกฎหมาย(der Gurndastz des Vorrangs des
       Gesetzes) ซึ่งหมายความว่า การกระทำของรัฐที่ออกมาในรูปบทบัญญัติของกฎหมาย
       ย่อมอยู่ในลำดับที่มาก่อนการกระทำต่าง ๆ ของรัฐทั้งหลาย รวมทั้งการกระทำของ
       ฝ่ายปกครองด้วย ดังนั้น การกระทำของรัฐ(รวมทั้งการกระทำของฝ่ายปกครอง) ทั้งหลาย
       จึงไม่อาจขัดแย้งกับบทบัญญัติของกฎหมายได้ หลักนี้เรียกร้องในทางปฏิเสธว่าการกระทำ
       ของฝ่ายปกครองหรือมาตรการอันใดอันหนึ่งของฝ่ายปกครองจะขัดหรือแย้งกับกฎหมาย
       ทั้งหลายที่มีอยู่ไม่ได้ ดังนั้น หากการกระทำของฝ่ายปกครองหรือมาตรการอันใดของ
       ฝ่ายปกครองขัดหรือแย้งกับกฎหมาย การกระทำหรือมาตรการนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
                   
       (2.2) หลักเงื่อนไขของกฎหมาย(der Grundsatz des Vorbehalts des Gesetzes) ในขณะที่หลักความมาก่อนของกฎหมายเรียกร้องให้ทางปฏิเสธมิให้ฝ่ายปกครองจะมีอำนาจกระทำการอันใดที่เป็นการขัดแย้งกับกฎหมายที่มีอยู่ แต่หลักเงื่อนไขของกฎหมายกลับเรียกร้องว่าฝ่ายปกครองจะมีอำนาจกระทำการอันใดอันหนึ่งได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำของฝ่ายปกครองที่เป็นการกระทบสิทธิของปัจเจกบุคคล
       หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำการดังกล่าว การกระทำของฝ่ายปกครองนั้น
       ย่อมไม่ชอบด้วยหลักเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว
       
                   
       
       1.3 หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน(die Gewährleistung
       persönlicher Grundrechte)

       
                   
       หลักนิติรัฐมีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่งกับสิทธิในเสรีภาพของบุคคล
       (Freiheitsrecht) และสิทธิในความเสมอภาค(Gleichheitsrecht) สิทธิทั้งสองประการ
       ดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นพื้นฐานของ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในรัฐเสรีประชาธิปไตย
       ทั้งหลายยอมรับหลักความเป็นอิสระของปัจเจกบุคคลในการที่จะพัฒนาบุคลิกภาพของ
       ตนเองไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้น ดังนั้น เพื่อเห็นแก่ความเป็นอิสระของปัจเจก
       บุคคลในการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้น ดังนั้น
       เพื่อเห็นแก่ความเป็นอิสระของปัจเจกบุคคลในการพัฒนาบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล
       รัฐจึงต้องให้ความเคารพต่อขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การแทรกแซง
       ในสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล โดยอำนาจรัฐจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายซึ่งผ่าน
       ความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชนตามหลักความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยได้
       ให้ความเห็นชอบแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถกระทำได้ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
       ของปัจเจกบุคคลมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงได้มีการนำหลักการแบ่งแยกอำนาจมาใช้
       เพื่อความมุ่งหมายจะให้อำนาจแต่ละอำนาจควบคุมตรวจสอบซึ่งกันและกันก็เพื่อให้สิทธิ
       และเสรีภาพของประชาชนได้รับความรับรองคุ้มครอง นอกเหนือจากหลักการแบ่งแยกอำนาจ
       แล้วได้มีการบัญญัติหลักการต่าง ๆ อีกหลายประการเพื่อเป็นการให้หลักประกันแก่สิทธิและ
       เสรีภาพของปัจเจกบุคคลมิให้ถูกละเมิดจากรัฐ เช่น การจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องมีผลบังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง (Allgemeinheit und Einzelfallverbot) การกำหนดให้ระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ(Zitiergebot) หลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพมิได้(Wesengehaltagarantie) และหลักประกันที่สำคัญคือหลักประกันการใช้สิทธิในทางศาล(Rechtsschutzgarantie) ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคล เพราะการคุ้มครองหรือหลักประกันทั้งหลายจะปราศจากความหมาย หากไม่ให้สิทธิแก่ปัจเจกบุคคลในการโต้แย้งการกระทำของรัฐ เพื่อให้องค์กรศาลซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางเข้ามาควบคุมตรวจสอบการกระทำของรัฐที่ถูกโต้แย้งว่าละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล
       
       2. ประเภทของการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
                   
       หากแบ่งวัตถุหรือสิ่งที่มุ่งที่จะควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐออกเป็น
       2 ลักษณะคือ ก. การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายและการควบคุมความชอบด้วย
       วัตถุประสงค์ และ ข. การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจในแง่ของการทุจริตต่อหน้าที่
       หรือการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หากแบ่งการควบคุมและตรวจสอบการใช้
       อำนาจรัฐดังกล่าวสามารถแบ่งประเภทของการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
       ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่คือ 2.1 การควบคุมและตรวจสอบภายในองค์กร และ
       2.2 การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรภายนอก
       
                   
       2.1 การควบคุมและตรวจสอบภายในองค์กร
       
                   
       การควบคุมภายในองค์กรเฉพาะองค์กรฝ่ายปกครองเท่านั้นที่มีการควบคุม
       ทั้ง 2 ลักษณะ กล่าวคือ การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วยวัตถุประสงค์
       กับการควบคุมในแง่ของการทุจริตหรือการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่วนองค์กรนิติบัญญัติก็ดี หรือองค์กรตุลาการก็ดี การควบคุมภายในองค์กรนั้นจะมีการควบคุมเฉพาะการควบคุมในแง่ของการทุจริตหรือการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งในบทความชั้นนี้จะไม่เน้นเรื่องการควบคุมและตรวจสอบภายในองค์กร
       
                   
       2.2 การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรภายนอก
       
                   
       การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกอาจแบ่งออกเป็น 2.2.1 การ
       ควบคุมและตรวจสอบโดยทางการเมือง 2.2.2 การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ
       ต่าง ๆ และ 2.2.3 การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ
       
                   
       2.2.1 การควบคุมและตรวจสอบโดยทางการเมือง
       
                   
       การควบคุมและตรวจสอบโดยทางการเมืองเป็นการเยียวยาความบกพร่อง
       ในการปฏิบัติราชการวิธีหนึ่ง เพราะโดยหลักการแล้วองค์กรนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ 2 ประการคือ หน้าที่ในทางนิติบัญญัติอันได้แก่การออกกฎหมายและหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติราชการของฝ่ายบริหารทั้งในฐานะรัฐบาลและในฐานะฝ่ายปกครองให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาและตามกฎหมาย บทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติในเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของระบอบการปกครองของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ เช่น ในระบบรัฐสภาอาจใช้วิธีการขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือการตั้งกระทู้ถาม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การควบคุมและตรวจสอบโดยทางการเมืองมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น การที่ฝ่ายบริหารคุมเสียงข้างมากในสภาก็ดี หรือการที่พรรคฝ่ายค้านจะสนใจต่อความบกพร่องเฉพาะที่ทำให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้น การควบคุมและตรวจสอบโดยทางการเมืองจึงมีความเหมาะสมเฉพาะกับการตรวจสอบในเชิงนโยบาย หรือควบคุมและตรวจสอบเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญ ๆ เท่านั้น
       
                   
       2.2.2 การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรอิสระต่าง ๆ
       
                   
       การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรอิสระต่าง ๆ เป็นการมอบหมายให้
       องค์กรอิสระดังกล่าวมีอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบภายในขอบเขตอำนาจขององค์กร
       นั้น ๆ เช่น ผู้ตรวจเงินแผ่นดินก็จะมีอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบเรื่องการเงินการคลัง
       ของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ หรือกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะมีอำนาจในการ
       ตรวจสอบการกระทำขององค์กรของรัฐทั้งหลาย ส่วนขอบเขตอำนาจของผู้ตรวจแผ่นดิน
       ของรัฐสภาจะมีอำนาจมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับการกำหนดให้องค์กรนั้น ๆ มีอำนาจ
       เพียงใด ตัวอย่างขององค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น
       Control Yuan หรืออำนาจควบคุมตามรัฐธรรมนูญของไต้หวัน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน(Auditor
       General) และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา(Ombudsman) เป็นต้น
       
                   
       2.2.3 การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ
       
                   
       การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการเป็นการควบคุมและ
       ตรวจสอบที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นระบบการควบคุมและตรวจสอบที่ให้หลักประกันกับ
       ประชาชนให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกล่าวกันว่ารัฐใดรัฐหนึ่งไม่อาจถือได้ว่าเป็น
       “นิติรัฐ” หากรัฐนั้นปราศจากการควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ ทั้งนี้ เพราะ
       องค์กรตุลาการขององค์กรอิสระที่มีการประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา นอกจากนี้
       องค์กรตุลาการยังมีวิธีพิจารณาเพื่อเป็นการคุ้มครองความเป็นธรรมในการดำเนินกระบวน
       พิจารณาต่าง ๆ การควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการนั้นอาจแยกออกได้ 2 ระบบ
       คือระบบศาลเดี่ยวและระบบศาลคู่ นอกจากการแยกเป็นระบบศาลเดี่ยวและศาลคู่แล้ว
       ในบางประเทศยังกำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษ ซึ่งนอกจากศาลรัฐธรรมนูญ
       จะมีภาระหน้าที่หลักในการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายแล้ว
       ศาลรัฐธรรมนูญยังอาจมีบทบาทสำคัญในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของ
       องค์กรต่าง ๆ
       
       3. การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญไทย
       
       
                   
       หากศึกษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจากคำปรารภจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้
       มีความมุ่งหมายที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ มุ่งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
       ของประชาชน มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
       เพิ่มขึ้น และมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
       เพื่อให้เจตนารมณ์ดังกล่าวของรัฐธรรมนูญบรรลุความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจึงได้
       จัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
       แห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา รวมทั้งศาลปกครอง
       และศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วน
       ร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วย เช่น การเข้าชื่อถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง
       ทางการเมือง เป็นต้น
       
                   
       การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อาจแยก
       การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ 3.1 การควบคุม
       ตรวจสอบโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการริเริ่ม และ 3.2 การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กร
       ของรัฐ
       
       
                   
       3.1 การควบคุมตรวจสอบโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการริเริ่ม
       
                   
       การควบคุมตรวจสอบโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการริเริ่มอาจแยกออกได้
       2 กรณี คือ 3.1.1 การเข้าชื่อถอดถอนให้ออกจากตำแหน่ง และ 3.1.2 การเสนอเรื่องไปยัง
       ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
       
                   
       3.1.1 การเข้าชื่อถอดถอนให้ออกจากตำแหน่ง
       
                   
       การเข้าชื่อถอดถอนให้ออกจากตำแหน่งอาจแยกอกได้เป็น 2 ระดับ คือ
       ก. ระดับการปกครองส่วนกลาง และ ข. ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น
       
                   
       ก. ระดับการปกครองส่วนกลาง
       
                   
                   
       ตามมาตรา 304 ของรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน
       ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติตาม
       มาตรา 307 ให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง หรืออัยการ
       สูงสุด ที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่ง
       หน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจ
       หน้าที่ใดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ออกจากตำแหน่งได้ โดยคำร้องขอ
       ดังกล่าวต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อ ๆ
       ให้ชัดเจน ส่วนรายละเอียดในการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ
       ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542
       
                   
                   
       ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ
       ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในหมวด 5 “การถอดถอนจากตำแหน่ง” ได้กำหนด
       รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 58 ผู้ใด
       มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
       ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่
       ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจดำเนินการผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้
       ผู้ดำรงตำแหน่งที่อาจถูกถอดถอนได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 58 มีดังนี้ 1. นายกรัฐมนตรี
       2. รัฐมนตรี 3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4. สมาชิกวุฒิสภา 5. ประธานศาลฎีกา 6. ประธาน
       ศาลรัฐธรรมนูญ 7. ประธานศาลปกครองสูงสุด 8. อัยการสูงสุด 9. กรรมการการเลือกตั้ง
       10. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา 11. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 12. กรรมการตรวจเงิน
       แผ่นดิน 13. รองประธานศาลฎีกา 14. รองประธานศาลปกครองสูงสุด 15. หัวหน้าสำนัก
       ตุลาการทหาร 16. รองอัยการสูงสุด 17. ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
       
                   
                   
       กรณีที่ประชาชนร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 58
       ออกจากตำแหน่ง ต้องมีผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อจำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยคนเพื่อดำเนินการ
       จัดทำคำร้องและรับรองลายมือชื่อของประชาชนที่เข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน
       โดยผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อและผู้เข้าชื่อต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบ
       รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยผู้ริเริ่ม
       รวบรวมรายชื่อและผู้เข้าชื่อต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
       การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อต้องไป
       แสดงตนต่อประธานวุฒิสภาก่อนเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอ
       
                   
                   
       เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องขอให้ถอดถอนแล้ว ให้ประธานวุฒิสภา
       ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาว่าคำร้องขอถูกต้องและครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่
       หากเห็นว่า ถูกต้องและครบถ้วนแล้วให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกัน
       และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว เมื่อ
       คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาที่มาจากการเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติ
       ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งมีมูลและได้รายงานไปยังวุฒิสภาแล้ว ให้ประธาน
       วุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณามีมติโดยเร็ว
       
                   
       ข. ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น
       
                   
                   
       ตามมาตรา 286 ของรัฐธรรมนูญ ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนผู้มีสิทธิ
       เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิ
       เลือกตั้งที่มาลงคะแนน เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กร
       ปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร
       ท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งได้ โดยการลงคะแนนเสียงดังกล่าวคงต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
       มาลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
       
                   
                   
       สำหรับรายละเอียดการเริ่มต้นกระบวนการในการนำชื่อถอดถอนนั้น
       ได้กำหนดรายละเอียดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิก
       สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
       ได้กำหนดให้มีการเข้าชื่อร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อดำเนินการให้มีการลงคะแนนเสียง
       ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้ใดหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
       เพราะเหตุที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กร
       ปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งดังนี้
       
                   
                   
       (1) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกินหนึ่งแสนคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่ง
       ในห้าของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
       
                   
                   
       (2) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินหนึ่งแสนคนแต่ไม่เกินห้าแสนคน ต้องมีผู้เข้าชื่อ
       ไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
       
                   
                   
       (3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าห้าแสนคนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านคน ต้องมี
       ผู้เข้าอไม่น้อยกว่าสองหมื่นห้าพันคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วน
       ท้องถิ่นนั้น
       
                   
                   
       (4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าหนึ่งล้านคน ต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า
       สามหมื่นคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
       
                   
                   
       เมื่อผู้ว่าราชการได้รับคำร้องให้ดำเนินการส่งคำร้องนั้นให้แก่บุคคล
       ที่จะถูกลงคะแนนถอดถอนจัดทำคำชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาตามคำร้องยื่นต่อผู้ว่าราชการ
       จังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งคำร้องจากผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากนั้นให้
       ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับคำชี้แจง
       เพื่อดำเนินการจัดให้มีการลงคะแนนถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต่อไป
       
                   
       3.1.2 การเสนอเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
       
                   
                   
       นอกเหนือจากการเข้าชื่อถอดถอนของประชาชนแล้ว ประชาชนยังอาจ
       ทำการเสนอเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ หากข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นเป็นเรื่อง
       ที่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กล่าวคือ
       
                   
                   
       ก. เป็นเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจ
       หน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
       หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
       
                   
                   
       ข. เป็นเรื่องการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของราชการ พนักงาน
       หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
       ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่ชอบธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบ
       หรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
       
                   
                   
       โดยที่ระเบียบของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้กำหนดให้ผู้พบเห็น
       เหตุการณ์อาจร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ ดังนั้น การเริ่มต้นกระบวนการ
       สอบสวนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงอาจเริ่มต้นได้ ไม่เพียงเฉพาะกรณีที่เกิดจากการ
       ร้องเรียนของผู้เสียหายเท่านั้น การให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์สามารถร้องเรียนได้ จึงเป็นการเปิด
       โอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
                   
       3.2 การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรของรัฐ
       
                   
       การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรของรัฐอาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
       3.2.1 การควบคุมโดยองค์กรศาล และ 3.2.2 การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรอื่น ๆ
       3.2.1 การควบคุมโดยองค์กรศาล
       
                   
                   
       การควบคุมโดยองค์กรศาลอาจแบ่งออกได้ดังนี้
       
                   
                   
       (1) ศาลรัฐธรรมนูญ (2) ศาลปกครอง (3) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ
       ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ (4) ศาลยุติธรรม
       
                   
                   
       (1) ศาลรัฐธรรมนูญ
       
                   
                   
       รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กร
       ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐองค์กรอื่น
       แต่สำหรับการควบคุมตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งอันเป็นการตรวจสอบใน
       ลักษณะเฉพาะตัวบุคคลมีกำหนดไว้ในกรณีต่อไปนี้
       
                   
                   
       ก. อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิก
       รัฐสภา(มาตรา 96) ซึ่งการตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาดังกล่าวตามาตรา 96 นั้น
       ได้เชื่อมโยงกับการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 110 วรรคแรก1 หรือมาตรา 1112 ของ
       รัฐธรรมนูญ
       
                   
                   
       ข. อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเป็นการ
       เฉพาะตัว ตามมาตรา 216 ทั้งนี้ โดยได้เชื่อมลักษณะที่ห้ามมิให้รัฐมนตรีกระทำการใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 110 3
       
                   
                   
       ค. อำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการการเลือกตั้ง
       หรือมีการกระทำอันต้องห้ามหรือไม่ ตามมาตรา 142
       
                   
                   
       ง. อำนาจในการวินิจฉัยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจ
       ยื่นรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
       หรือจงใจยื่นเอกสารดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
       แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือไม่(มาตรา 295)
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       1. มาตรา 110 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้อง
                   
        (1) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ
       ตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ นอกจากข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรี
                   
        (2) ไม่รับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญา
       กับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว
                   
        (3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ
       นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสากิจปฏิบัติกับบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       2. มาตรา 111 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทน
       ราษฎรเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       3. อ้างแล้ว, โปรดดูเชิงอรรถที่ 1
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2544

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=241
เวลา 12 ธันวาคม 2567 04:03 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)