|
|
กฎหมายสิ่งแวดล้อม 20 ธันวาคม 2547 14:30 น.
|
อาจารย์นันทวัฒน์ฯ แสดงความดีใจจนออกนอกหน้าเมื่อเห็นหนังสือเล่มนี้เพราะอาจารย์เห็นว่าเป็นหนังสือที่ "เปิดมิติใหม่" ของกฎหมายมหาชนสาขาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่อาจารย์นันทวัฒน์ฯ บอกว่ารอมานานแล้วที่จะให้มีหนังสือดีๆเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมสักเล่มหนึ่ง
หนังสือเล่มโตเล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 10 บท ในบทแรกเป็นความทั่วไปที่ผู้เขียนได้อธิบายถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและสาเหตุสำคัญหลายประการของปัญหาสิ่งแวดล้อม ในบทที่ 2 เป็นนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนในบทที่ 3 ก็เป็นเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ บทที่ 4 ถึงบทที่ 7 เป็นการอธิบายอย่างละเอียดถึงมลพิษประเภทต่างๆพร้อมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ เสียงและความสั่นสะเทือน มูลฝอย สิ่งปฏิกูลและของเสียอันตราย รวมทั้งวัตถุอันตรายด้วย ส่วนในบทถัดมาคือบทที่ 8 ผู้เขียนได้อธิบายถึงมาตรการเสริมในการป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3 มาตรการอันได้แก่ สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กองทุนสิ่งแวดล้อมและมาตรการด้านภาษี ในบทที่ 9 จะเป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่งที่ผู้เขียนได้นำกฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายฉบับที่กล่าวถึงความรับผิดทางแพ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาอธิบาย และในบทสุดท้ายเป็นการกล่าวถึงองค์กรและเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ ส่วนราชการและองค์กรเอกชน ซึ่งผู้เขียนได้นำมากล่าวถึงอย่างละเอียดและเป็นระบบ
นับเป็นหนังสือดีอีกเล่มหนึ่งที่ควรอ่านและทำความเข้าใจกับสาขาใหม่ของกฎหมายมหาชน
pub-law.net ขอขอบคุณสำนักพิมพ์วิญญูชนที่ได้กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=230
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 12:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|