จากรัฐชาติสู่รัฐตลาด

20 ธันวาคม 2547 13:50 น.

                   
       หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของอาจารย์ชัยอนันต์ฯที่เพิ่งจะมีการ "เปิดตัว" ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมานี้เองที่โรงแรม Regent
                   
       ต้องยอมรับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมาก อ่านไปก็ชื่นชมผู้เขียนไปตลอดเวลา สำหรับนักกฎหมายมหาชนทั่วไปแล้วควรอ่านเป็นอย่างยิ่งเพราะในส่วนต้นที่พูดถึงความสัมพันธ์ในอดีตที่เกิดขึ้นระหว่างโลกตะวันตกกับประเทศไทยโดยใช้ "สัญญา" มาเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์โดยเริ่มตั้งแต่ความสัมพันธ์ทางการค้าไปจนกระทั่งสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่อาจารย์ชัยอนันต์ฯเห็นว่าสัญญาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝรั่งนำเข้ามา "กำหนดกรอบความสัมพันธ์รูปแบบใหม่" ที่ต้องอาศัยหลักกฎหมายที่ประเทศไทยในอดีตไม่เคยต้องใช้มาก่อน นอกจากนี้มีการกล่าวถึงที่มาของกฎหมายสัญชาติในปี พ.ศ.2456 ไว้อย่างละเอียดรวมถึงการมีกฎหมายให้คนต่างชาติถือครองที่ดินในไทยได้ในสมัยรัชการที่ 4 และ 5 ในตอนกลางของหนังสือมีการพูดถึงกระบวนการที่ไทยใช้ในการปรับเปลี่ยนสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น มีการพูดถึงคำว่า "อำนาจอธิปไตย" ที่ใช้ในประเทศไทยในอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ขึ้นทำให้ระบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเมือง วัฒนธรรม สังคม กฎหมาย และเศรษฐกิจต้องแปรเปลี่ยนไปโดยระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมืองนั้นมี "ระบบกฎหมาย" ที่เป็นตัวเชื่อมต่อและทำให้เกิด "รัฐตลาด" ขึ้น ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์ฯก็ได้พูดถึงทฤษฎี "กฎหมายเส้นรุ้ง" และ "กฎหมายเส้นแวง" ที่หากนักกฎหมายอยากรู้ว่าคืออะไรก็คงจะต้องไปหาอ่านเอาเอง
                   
       ในส่วนสุดท้ายของหนังสือเป็นการพูดถึงอำนาจอธิปไตยกับการใช้อำนาจรัฐที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐโดยที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะผู้เขียนอธิบายได้ดีเหลือเกิน
                   
       สำหรับหนังสือเล่มนี้ ขอแนะนำอย่างจริงจังว่า สมควรมีไว้เป็นเจ้าของเป็นอย่างยิ่ง
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=219
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 10:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)