|
|
ไตรลักษณรัฐกับการเมืองไทย 20 ธันวาคม 2547 13:47 น.
|
หนังสือเล่มสำคัญอีกเล่มหนึ่งที่พูดถึงเรื่อง "รัฐ" โดยเน้นที่การขยายกรอบความคิดของอาจารย์ชัยอนันต์ฯที่ได้เขียนเอาไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือเรื่อง "รัฐ" นั่นคือ แนวความคิดเรื่อง "ไตรลักษณรัฐ"
ในบทแรกจะเป็นการกล่าวถึง "ไตรภาคของเหตุผลแห่งรัฐ" โดยอาจารย์ชัยอนันต์ฯเห็นว่ารัฐเกิดจาก ความกลัวของมนุษย์ ความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่รอดอย่างมีความสุขและความต้องการที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์ฯ เห็นว่า เหตุทั้ง 3 ประการนี้เองเป็นจุดที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม คือ ความกลัวก็จะต้องทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย ความสุขก็จะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิต และความมีศักดิ์ศรีก็จะต้องให้มีส่วนร่วม ไตรภาคของเหตุผลแห่งรัฐทั้ง 3 คือ การพัฒนา การมีส่วนร่วมและความมั่นคง ซึ่งก็คือ "ไตรลักษณรัฐ" ในความหมายของอาจารย์ชัยอนันต์ฯนั่นเอง
ในบทที่ 2 นั้นอาจารย์ชัยอนันต์ฯได้นำเสนอไตรลักษณรัฐกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย โดยมีการพูดถึงลักษณะเด่นของรัฐและสังคมไทยเอาไว้ซึ่งก็เป็นการศึกษาถึงวิวัฒนา การในประวัติการเมืองการปกครองไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ส่วนในบทที่ 3 ก็จะเป็นการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในช่วงปี พ.ศ.2500 ถึง พ.ศ.2539 โดยมีการนำเสนอแผนภูมิเรื่อง "วงจรอุบาทว์ใหม่ของการเมืองไทย" ไว้อย่างน่าสนใจและเข้าใจว่ายังเป็นแผนภูมิที่ใช้ได้ดีในปัจจุบันด้วย ส่วนในบทสุดท้ายจะเป็นเรื่องการกำหนดและบริหารนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาคซึ่งมีการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "เศรษฐกิจ" กับ "การเมือง" ไว้อย่างน่าสนใจ
นับเป็นหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่งของอาจารย์ชัยอนันต์ฯที่นักกฎหมายมหาชนควรอ่าน
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=217
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 10:36 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|