|
|
100 ปี แห่งการปฏิรูประบบราชการ :วิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจการเมือง 20 ธันวาคม 2547 13:44 น.
|
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เกิดจากงานวิจัยที่อาจารย์ชัยอนันต์ฯได้ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นปีที่มีการพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก
หนังสือแบ่งเป็น 6 บท ในบทที่ 1 ถึงบทที่ 5 จะเป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "รัฐ" กับ "การเมือง" โดยมีการนำเอาทฤษฎีของต่างประเทศมาวิเคราะห์ควบคู่ไปกับการศึกษาถึงระบบต่างๆของไทยทำให้ผู้ผ่านมองเห็นภาพของวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐและอำนาจทางการเมืองอย่างละเอียด โดยทำการศึกษาเริ่มต้นในปี พ.ศ.2435 ซึ่งเป็นปีที่รัชกาลที่ 5 ทรงทำการปฏิรูปการปกครอง โดยในบทที่ 2 นั้นอาจารย์ชัยอนันต์ฯได้กล่าวถึงกลไกรัฐใหม่ในระบอบการเมืองแบบเก่า ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็นการตั้งที่ปรึกษาราชการในพระองค์ (Privy Council) หรือการตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ในปี พ.ศ.2417 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นเวลาถึง 18 ปี และในบทเดียวกันนี้เองอาจารย์ชัยอนันต์ฯได้กล่าวถึง "การสร้างรัฐ" ของรัชกาลที่ 5 ไว้อย่างละเอียดน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ส่วนในบทที่ 3 นั้นเป็นเรื่องกลไกรัฐเก่าในระบอบการเมืองแบบใหม่ ที่มีการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ที่มีการสถาปนาอำนาจการเมืองใหม่ในรัฐเก่า ส่วนในบทที่ 4 นั้นเป็นการศึกษาถึงการปฏิวัติของจอมพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์ โดยภาพรวมในบทดังกล่าวได้มีการทำตารางเปรียบเทียบสาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยราชการบริหารในระหว่างปี พ.ศ.2476 ถึง พ.ศ.2534 ไว้อย่างละเอียด ซึ่งทำให้เราทราบถึง "วิวัฒนาการ" ของผู้ใช้อำนาจในการบริหารประเทศว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการจัดโครงสร้างการปกครองประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในบทนี้ก็คือ การนำเสนอเรื่องราวของอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศไทยในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ซึ่งอ่านดูแล้วก็จะได้รับทราบ "ข้อมูล" สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของไทยในอดีตได้อย่างลึกซึ้ง และในบทสุดท้าย อาจารย์ชัยอนันต์ฯก็ได้กล่าวถึง "รูปแบบ" ที่ควรเป็นของการปฏิรูประบบราชการในศตวรรษที่ 21 ว่าควรเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม ความเป็นตัวแทนและความเป็นผู้แทน
ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2535 แล้วคงแปลกใจว่าทำไมบทสรุปของอาจารย์ชัยอนันต์ฯจึง "ตรง" กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน คงไม่ต้องสงสัยอะไรทั้งนั้น เพราะอาจารย์ชัยอนันต์ฯเป็นคนเพียงไม่กี่คนที่มีความสามารถ "มอง" เหตุการณ์บ้านเมืองได้อย่างแม่นยำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=216
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 11:42 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|