|
|
รัฐ 20 ธันวาคม 2547 13:41 น.
|
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2530 ในครั้งนั้นอาจารย์นันทวัฒน์ฯยังอายุน้อยและเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศใหม่ๆ อาจารย์เล่าว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของอาจารย์ชัยอนันต์ฯที่อ่าน จากนั้นก็เลยกลายมาเป็นแฟนหนังสือของอาจารย์ชัยอนันต์ฯ และ 4 ปีต่อมาเมื่อได้รู้จักกับอาจารย์ชัยอนันต์ฯ ก็เลยทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งปัจจุบัน
แนวความคิดเกี่ยวกับรัฐของอาจารย์ชัยอนันต์ฯเป็นแนวความคิดที่ยิ่งใหญ่และต่อเนื่องไม่รู้จบจนเป็นที่มาของหนังสือเกี่ยวกับรัฐเล่มอื่นๆที่ติดตามออกมาหลายๆเล่ม ใน "รัฐ" เราจะพบถึงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับรัฐในหลายๆแบบ โดยในบทแรกจะเป็นการศึกษา "ภาพรวม" ของรัฐทั้งหมดว่ารัฐคืออะไร มีความสัมพันธ์กับ "สังคม" อย่างไร ในบทที่ 2 อาจารย์ชัยอนันต์ฯ ได้บรรยายถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับ "รัฐทุนนิยม" โดยนำแนวความคิดของปราชญ์ต่างประเทศหลายๆคนมาวิเคราะห์ไม่ว่าจะเป็น Althusser ,Gramsci หรือแม้กระทั่ง Carl Marx ซึ่งแนวความคิดทั้งหลายของปราชญ์เหล่านี้ในปัจจุบันได้กลายมาเป็น "ส่วนหนึ่ง" ของหลักกฎหมายมหาชนที่ปรากฏอยู่ใน "กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ" ของยุโรป สำหรับบทที่ 3 นั้น จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐอำนาจนิยมรูปแบบต่างๆซึ่งมีสาระที่น่าสนใจหลายประการรวมทั้งการบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมกับระบอบประชาธิปไตย ส่วนในบทที่ 4 นั้น เป็นการนำเสนอกลไกของรัฐในรูปแบบต่างๆรวมทั้งกลไกของรัฐในทฤษฎีมาร์กซิสก์ด้วย ส่วนในบทที่ 5 ที่เป็นบทสุดท้ายนั้น อาจารย์ชัยอนันต์ฯได้กล่าวถึง "ไตรลักษณรัฐ" (Three-Dimensional State) เอาไว้เป็นครั้งแรก โดยอาจารย์ได้ให้คำจัดความของไตรลักษณรัฐเอาไว้ว่าหมายถึง รัฐที่ประสานเหตุผลของรัฐสามด้านเข้าไว้ด้วยกัน คือ ด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนาและด้านประชาธิปไตย โดยมิติทั้งสามด้านของรัฐจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนให้มากที่สุด
ในภาพรวม แม้จะยากกับการทำความเข้าใจ แต่หนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือดีเล่มหนึ่งที่นักกฎหมายมหาชนทั้งหลายควรอ่าน แล้วก็จะเข้าใจได้ว่า "รัฐ" ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์นั้นมีความ "ละเอียด" กว่า "รัฐ" ในมุมมองของนักกฎหมายมาก
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=215
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 11:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|