|
|
อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม 20 ธันวาคม 2547 12:22 น.
|
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นนักประวัติศาสตร์ ไทย ที่ดีคนหนึ่งซึ่งเป็นคนต่างชาติ หนังสือเล่มนี้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้เขียนที่ทำไว้ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลในสหรัฐอเมริกา และได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 โดยหลักฐานต่างๆที่ผู้เขียนนำมาใช้ในการศึกษาจัดทำงานเขียนส่วนใหญ่ได้จากหอสมุดแห่งชาติที่ประเทศไทยและจากหอจดหมายเหตุการฑูตของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยสำหรับหนังสือเล่มนี้ที่ได้บรรจุเอาข้อมูลของไทยที่อยู่ในต่างประเทศเอาไว้ด้วย
ในคำอาลัย (ผู้เขียนถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2539) ที่ปรากฏอยู่ในตอนต้นของหนังสือ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ว่า
.หนังสือของเบน (เบนจามิน เอ.บัทสัน) น่าจะเป็นหนังสือที่ดีที่สุดก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเทียบกับงานเช่นนี้ทั้งในภาษาไทยและภาษาเทศ ความเป็นนักวิชาการที่แท้จริง ความเชี่ยวชาญในภาษาไทยทั้งอ่าน เขียน พูด ทำให้เบนสามารถที่จะค้นคว้าจากเอกสารเก่าทั้งจากหอสมุดต่างๆ (ทั้งไทยและเทศเช่นกัน) และที่สำคัญ คือ การค้นลึกลงไปในเอกสารชั้นต้นของหอจดหมายเหตุฯ และนี่ก็ทำให้งานเขียนของเบนล้ำลึก สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัชกาลที่ 7 ที่จะนำสถาบันและระบอบการปกครองสมัยใหม่มาสู่สยามต้องล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง ทั้งความปั่นป่วนและความขัดแย้งในหมู่เสนาบดีของพระองค์เอง เป็นผลทำให้คณะราษฎรยึดอำนาจได้สำเร็จ งานเขียนของเบนกลายเป็น งานมาตรฐาน ของเรื่องราวของรัชสมัยสุดท้ายแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
.
สาระสำคัญของหนังสือแบ่งเป็น 8 บท มีการกล่าวถึงปีแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งผู้เขียนได้อ้างถึงคำกล่าวของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไว้ในหน้า 35 ว่า เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ (พระเจ้าอยู่หัว) ทรงได้รับมรดกน่าเศร้าเพราะพระราชวงศ์ตกต่ำราษฎรหมดความเคารพเชื่อถือ สมบัติเกือบหมดพระคลัง รัฐบาลฉ้อฉล การบริหารราชการยุ่งเหยิง จากนั้นก็ได้มีการวิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของไทย มีการกล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งภาวะทางการเงินที่ฝืดเคืองของไทยนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนในบทสุดท้าย คือ อวสานของระบอบเก่านั้น ผู้เขียนได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจของการจบสิ้นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศไทยที่มีที่มาจากเอกสารและความเห็นจากต่างประเทศ ส่วนในภาคผนวกนั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆอีกสิ่งหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ มีการนำเอาพระราชบันทึกของ ร.7 ที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2469 เกี่ยวกับปัญหาของสยามบางประการซึ่งรวมถึงการ จะมี การปกครองระบบรัฐสภาและการมีรัฐธรรมนูญในอนาคตด้วย และในตอนท้ายของภาคผนวกจะพบพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติซึ่งไม่ว่าจะอ่านเมื่อใดก็พบแต่ความประทับใจในเนื้อความโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่มักจะมีผู้กล่าวถึงอยู่เสมอ คือ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
คงไม่ต้องแนะนำอะไรมากไปกว่านี้สำหรับหนังสือดีที่น่าอ่านเล่มนี้
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=210
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 11:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|