ครั้งที่ 372

15 ตุลาคม 2561 10:06 น.

       "รัฐบาลดิจิทัล"
       
       ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินคำว่า “รัฐบาลดิจิทัล” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย จากการตรวจสอบเอกสารของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว พบว่า มีการให้ความหมายของรัฐบาลดิจิทัลเอาไว้ว่า หมายถึง การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการยกระดับการทำงานภาครัฐให้มีความทันสมัย สร้างบริการที่ดีสู่ประชาชนด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบและร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงสร้างสรรสาระสำคัญที่จำเป็นและสำคัญต่อการให้บริการของภาครัฐ
       มีเอกสารจำนวนมากที่กล่าวถึงเรื่องรัฐบาลดิจิทัลและการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้าไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลซึ่งผมคงไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่ที่จะนำมาดูกันในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็คือ “ร่างกฏหมายว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล”
       ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเป็นองค์การมหาชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทาง มาตรการและมาตรฐานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงให้บริการด้านวิชาการและการบริหารจัดการโครงการด้านเทคโนโลยีสาระสนเทศและการสื่อสารในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนและจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการเปลี่ยน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งยังเป็นองค์การมหาชนอยู่เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการแก้ไขวัตถุประสงค์ของหน่วยงานให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกและให้บริการกับประชาชน
       ในปี พ.ศ.2560 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัลขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและเพื่อยกระดับการดำเนินงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่เป็นระบบ การทำงานและข้อมูลสามารถเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพรวดเร็ว เปิดเผย โปร่งใส ประชาชนได้รับความสะดวกในการรับบริการและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัลตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
       ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน 40 มาตรา แบ่งเป็น 6 หมวด หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หมวด 3 การจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล หมวด 4 การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ หมวด 5 การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล หมวด 6 คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล และท้ายสุดเป็นบทเฉพาะกาล
       ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคมากๆครับ ถ้าเราไปดูในคำนิยามของคำว่า ดิจิทัล ก็จะเริ่มงงแล้วครับ โดยมีการนิยามคำว่า ดิจิทัล ว่าหมายความว่า เทคโนโลยีที่ใช้วิธีการนำสัญลักษณ์ศูนย์และหนึ่งหรือสัญลักษณ์อื่นมาแทนค่าสิ่งทั้งปวงเพื่อใช้สร้างหรือก่อให้เกิดระบบต่างๆเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์
       หัวใจสำคัญของร่างกฏหมายฉบับนี้อยู่ในมาตรา 5 ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของกฎหมายเอาไว้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีความมุ่งหมายเพื่อให้มีการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะโดยปรับปรุงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนและในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณชนและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
       ในส่วนของภาครัฐนั้น เมื่อกฎหมายใช้บังคับ ภาระของหน่วยงานของรัฐก็จะมีอยู่มาก ตัวอย่างเช่นที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 ว่า หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการจัดทำและปรับปรุงกระบวนการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนตามภารกิจให้สอดคล้องกับวิธีการทางดิจิทัลและรองรับการบริหารงานภาครัฐตามมาตรฐานและแนวทางเชื่อมโยงโดยต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นสำคัญ เป็นต้น
       ในร่างกฎหมาย มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคือ คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลมีหน้าที่ที่สำคัญหลายประการ รวมทั้งการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีความชัดเจนสอดคล้องกันระหว่างทุกหน่วยงานของรัฐและมีกรอบการพัฒนาและแผนการดำเนินงานของประเทศ คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีและข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆนั่งเป็นกรรมการอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ก็ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินหกคนเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการก็จะมีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นหน้าที่หลัก โดยมีสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการให้กับคณะกรรมการชุดนี้
       ร่างกฎหมายแม้จะไม่ยาวมากนักแต่ก็มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะครับ ใครสนใจลองไปหาอ่านดูได้นะครับ แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ซับซ้อนและยากมากที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยให้ได้ผลโดยเร็ว จริงๆแล้วเรามีกฎหมายอยู่ค่อนข้างมากที่มีบทบัญญัติที่กฎหมายว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัลจะไปกระทบ เช่น กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล โดยในร่างกฏหมายว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล มาตรา 21 กำหนดเอาไว้ว่ากรณีหน่วยงานของรัฐได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลหรือมีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในความครอบครอง ให้หน่วยงานของรัฐอื่นสามารถขอเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์หรือประมวลผลเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ แต่ห้ามเปิดเผยต่อสาธารณชนและต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลในเรื่องนั้นไว้โดยเฉพาะแล้ว ส่วนมาตรา 22 ก็บัญญัติเอาไว้ว่า การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลใดที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 21 หากเป็นการเปิดเผยโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติและเป็นการเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นที่หน่วยงานของรัฐอีกแห่งหนึ่งต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่และภารกิจของหน่วยงาน ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐที่เปิดเผยข้อมูลไม่ต้องรับผิดตามกฏหมายนั้น นอกจากนี้ยังมีอีกมาตราหนึ่งคือมาตรา 23 ที่บัญญัติเอาไว้น่ากลัวพอสมควรว่า กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม และจำเป็นต้องเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ตามกฏหมายระหว่างหน่วยงานของรัฐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในกรณีนี้ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอาจกระทบหรือขัดต่อหลักการของมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บัญญัติเอาไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
       บทบัญญัติ 3 มาตราที่กล่าวข้างต้นเป็น 3 มาตราที่สำคัญที่จะเข้าไปมีผลกระทบต่อข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ในปัจจุบัน นอกจากจะกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังอาจกระทบต่อกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองข้อมูลข่าวสารและความเป็นส่วนตัวของประชาชน และต่อบทบัญญัติที่อยู่ในร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งให้ความเห็นชอบไปเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมานี่เองครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 1 บทความคือลทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ 
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2048
เวลา 28 มีนาคม 2567 19:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)