ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่

1 ตุลาคม 2561 13:15 น.

       ปัญหาอมตะที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนาน นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆจนหลายคนรู้สึกถอดใจกับปัญหานี้ เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่เข้าสู่วงการที่มีการใช้อำนาจล้วนแล้วแต่เดินเข้าสู่บ่วงของปัญหานี้กันทั้งสิ้น ปัญหาที่ว่านี้ก็คือ ปัญหาคอร์รัปชันหรือในพากษ์ไทยเรียกว่า “การฉ้อราษฎร์ บังหลวง” นั่นเอง
       อันที่จริงแล้วปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายได้วิเคราะห์วิจัยไว้อย่างมากมาย สามารถรวบรวมเป็นตำราเล่มโตๆ ได้หลายเล่ม โดยสรุปถึงมูลเหตุของการเกิดคอร์รัปชันได้ ดังนี้
       1.ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ รายได้ไม่พอรายจ่าย
       2.ความบกพร่องของระบบบริหารราชการมีช่องว่างเปิดโอกาสให้แสวงหาผลประโยชน์
       3.ความต้องการที่จะได้รับความนิยมทางสังคม ลุ่มหลงในลัทธิวัตถุนิยม ใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย
       4.การถูกบังคับ เช่น ถูกบีบจากผู้บังคับบัญชา หรืออิทธิพลทางการเมือง
       5.ความอ่อนแอของระบบการตรวจสอบ
       คำว่า คอร์รัปชัน (Corruption) ภาษาอังกฤษหมายถึง "เน่าเปื่อย" ทำให้เน่าเปื่อยไปในทางชั่ว ไม่บริสุทธิ์ ทำให้เลวลง ทำให้เขว การเลียนแบบอย่างผิดๆ การให้สินบน การทุจริต
       แต่คนไทยนำมาใช้แต่เพียงความหมายว่า การรับสินบนหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้น จึงเกิดปัญหาในการตีความขึ้นว่า แค่ไหนเพียงใดจึงจะถือว่า เป็นการคอร์รัปชัน การให้โดยเสน่หา การให้ของขวัญในวันเกิด การยืมทรัพย์สิน จะถือเป็นการคอร์รัปชันหรือไม่ ข้าราชการจะคอร์รัปชัน เมื่อมีโอกาสเสมอไปจริงหรือ
       ข้าราชการนั้นไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำ หรือข้าราชการการเมืองในความเป็นจริงก็คือ คนธรรมดานั่นเองย่อมมีกิเลส ตัณหา มีโลภ มีหลงเหมือนคนอื่น ข้าราชการจึงย่อมมีดีมีชั่วมากน้อยปะปนกันไปเหมือนสังคมอื่นๆ แม้กระทั่งพระสงฆ์องคเจ้าใช่ว่าจะบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ด่างพร้อยไปเสียทั้งหมดก็หาไม่ สังคมของครูบาอาจารย์หรือสื่อมวลชนก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงมิใช่มีเฉพาะข้าราชการประพฤติตนเป็นคนเลว ที่สำคัญ ก็คือการคอร์รัปชันต้องมีทั้งคนให้และคนรับ เหมือนกับการปรบมือข้างเดียวจะดังได้อย่างไร
       ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตอันที่จริงนั้นก็ยังมีเหลืออยู่ แต่น่าสงสารเป็นยิ่งนัก ฐานะค่อนข้างยากจน มีหนี้มีสิน ออกจากราชการไม่มีบ้านจะอยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และข้าราชการที่ตงฉินนั้น เมื่ออยู่ในราชการก็ไม่ช่วยใคร ไม่ทำอะไรที่ผิดธรรมเนียมว่าไปตามแบบแผนอย่างเคร่งครัด ใครผิดว่าไปตามผิด เมื่อพ้นตำแหน่งข้าราชการไปแล้ว จึงเงียบเหงาว้าเหว่ยิ่งนัก
       สังคมข้าราชการนั้น เป็นสังคมประหลาด เป็นสังคมหนึ่งต่างหากจากโลกของชาวบ้าน ท่านจะได้เห็นคนแก่อายุคราวพ่อ ต้องมายืนตัวงอคอยโค้งคำนับให้กับเจ้านายที่อายุรุ่นราวคราวลูกคราวหลาน ที่บังเอิญมาเป็นผู้บังคับบัญชา การเลี้ยงรับเลี้ยงส่งถือเป็นของธรรมดา การอวยพรวันเกิดวันขึ้นปีใหม่เป็นของสำคัญที่ลูกน้องจะขาดไม่ได้ เจ้านายนั้นบางทีก็สำคัญกว่าพ่อ แม่ ลูก เมีย เสียอีก
       ฉะนั้น โรคคอร์รัปชันหากเกิดจากจุดเล็ก ข้าราชการตัวเล็ก ก็เหมือนโรคหิด โรคกลาก โรคเกลื้อนที่น่ารังเกียจ แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ ไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่ถ้าเกิดแก่จุดใหญ่ๆ ข้าราชการตัวโตก็เหมือนกับโรคมะเร็งรักษายาก ถึงแม้ผ่าตัดแล้วก็ลุกลามไปสู่จุดอื่นๆ อีก
       ข้าราชการส่วนใหญ่เมื่อแรกจบการศึกษาเข้ารับราชการ ก็มักจะมีอุดมคติสูง ไปทำงานแต่เช้ากลับหลังเลิกงาน อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ มองข้าราชการอื่นๆ ด้วยความไม่พอใจว่า ทำไมถึงไม่อุทิศตนให้แก่ราชการเหมือนตนเอง แต่พออยู่ไปนานๆ เข้า ก็มักจะถูกครอบงำด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งจากภายนอกและภายในตัวของข้าราชการผู้นั้น ซึ่งก็คือความโลภนั่นเอง
       ปัญหาคอร์รัปชันจะไม่มีวันแก้ไขได้เลยเป็นอันขาด ถ้าตราบใดการปกครองของบ้านเรา ยังปกครองด้วยระบบธนาธิปไตยและอัตตาธิปไตย ใช้อำนาจเงินและอาวุธกรุยทางเข้าสู่ความเป็นใหญ่ทั้งในทางการเมืองและราชการประจำ คนที่อยู่ในวงราชการที่กินแต่เงินเดือนนั้นก็พออยู่ได้ แต่ทว่าไร้เพื่อนพ้อง ไร้บริวาร บางทีก็มีอันตราย เพราะไปขัดขวางผลประโยชน์หรือขัดใจเพื่อนฝูง ขัดใจผู้บังคับบัญชา ขัดใจนักการเมือง ไม่ว่าในระดับชาติหรือในระดับท้องถิ่น
       แล้วเราจะแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้อย่างไรนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ข้าราชการไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมืองนั้น อันที่จริงก็เป็นลูกหลานชาวบ้าน เมื่อต้นแบบหรือสังคมส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ผลที่ได้ก็เป็นเช่นนั้น ป่วยการที่จะโทษกันไปโทษกันมา ถ้าสังคมหรือต้นแบบมีคุณธรรม จริยธรรมแล้ว ข้าราชการซึ่งเป็นผลผลิตของสังคมก็จะดีด้วย
       แน่นอนว่าการแก้ปัญหาด้วยคุณธรรมและจริยธรรมนั้นทำได้ค่อนข้างยากเพราะเป็นเรื่องนามธรรม แต่ในยุคสมัยใหม่ที่เราสมารถใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น ในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันก็เช่นกัน เราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือ เช่น การทำรัฐโปร่งใสด้วยการใช้Bแlockchainเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น
       Blockchain คืออะไร?
       Blockchain เป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน เรารู้ว่าใครมีสิทธิและเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain) เมื่อธุรกรรมต่างๆ ถูกบันทึกในบล็อกเหล่านี้แล้ว เราจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ได้ เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่กับตัว จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่ใครจะมาปลอมแปลงข้อมูล โดยปราศจากการรับรู้จากผู้คนส่วนใหญ่
       เหตุผลที่Blockchain ถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบหรือเข้าถึงการจดบันทึกธุรกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานของแต่ละองค์กร แต่ยังสามารถช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้กับทุกๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
       ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเร่งให้การศึกษาทั้งทางด้านจริยธรรมและความมีระเบียบวินัย สร้างความเข้าใจแก่สังคมให้เห็นว่า การคอร์รัปชันนั้น แม้แต่เพียงการรับสินน้ำใจก็เป็นความผิดแล้ว และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติ ประกอบเข้ากับการนำ Blockchainเข้ามาช่วย การคอร์รัปชันก็ย่อมจะทุเลาลงได้ ถึงแม้จะใช้เวลาบ้างก็ตาม อย่าลืมว่าแต่เดิมฮ่องกง ไต้หวัน ก็ขึ้นชื่อในเรื่องของการคอร์รัปชัน แต่ปัจจุบันนี้อัตราการคอร์รัปชันน้อยลงอยู่ในอันดับต้นๆของโลกแล้ว
       -----------
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2045
เวลา 24 พฤศจิกายน 2567 19:19 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)