คำอธิบายพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 "กฎหมายฮั้ว"

20 ธันวาคม 2547 11:51 น.

       ก่อนจะ "วิจารณ์" เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้ขอ "วิจารณ์" ชื่อหนังสือก่อน คำว่า "ฮั้ว" นั้นไม่ใช่คำไทยและไม่ปรากฏว่ามีคำดังกล่าวอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทย การนำคำ "ต่างชาติ" ที่แม้เป็นคำภาษาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมาเป็นชื่อหนังสือ (ดูจากสันปกหนังสือใช้คำว่า "กฎหมายฮั้ว" แต่เพียงอย่างเดียว) ดูจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่สำหรับ "หนังสือกฎหมาย" เพราะนอกจากจะไม่เหมาะสมในรูปแบบของการเป็นหนังสือทางด้านวิชาการแล้ว ในด้านภาษา ยังดูประหนึ่งเป็นการ "แพร่หลาย" คำต่างชาติให้เข้ามามีอิทธิพลในภาษาไทยและในภาษากฎหมายของไทยด้วย
       เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้เป็นการนำเอาบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการ "สมยอม" (ไม่ใช่ "ฮั้ว") ในการซื้อขายสิ่งของต่างๆกับทางราชการอันทำให้ทางราชการเสียประโยชน์มหาศาลในแต่ละปีมาอธิบายอย่างละเอียดโดยก่อนที่จะเข้าไปสู่การอธิบายสาระสำคัญของกฎหมายนั้น ในบทนำผู้เขียนได้นำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ จากนั้นในบทต่อๆมาได้มีการนำเสนอกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวกับความผิดอาญาที่เอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ทำรวมทั้งกระบวนการบังคับใช้กฎหมายด้วย ส่วนในบทสุดท้าย ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงของกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐกับกฎหมายอื่น เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุและกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น
       ในตอนท้ายของหนังสือ ผู้อ่านจะพบภาคผนวกซึ่งได้มีการนำเอาตัวกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาใส่ไว้ด้วยเพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน
       หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักกฎหมายและผู้สนใจในปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่จะได้ทราบถึงกระบวนการในการ "ป้องกัน" การทุจริตกระบวนการหนึ่งของประเทศไทยที่ไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงกันมากนัก
       pub-law.net ขอขอบคุณสำนักพิมพ์วิญญูชนที่ได้กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=204
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 12:50 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)