ครั้งที่ 366

8 กรกฎาคม 2561 20:30 น.

       20 ปีศาลรัฐธรรมนูญ : ผลงาน ประสบการณ์และความคาดหวัง
       
       เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เข้าร่วมการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อเรื่อง 20 ปีศาลรัฐธรรมนูญ : ผลงาน ประสบการณ์และความคาดหวัง
       ผมขอนำสิ่งที่ผมได้อภิปรายในวันนั้นมาเล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งนี้โดยในตอนต้นของการเกริ่นนำ ผมได้เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวผมเองกับศาลรัฐธรรมนูญและ www.public-law.net สรุปความได้ว่า ในช่วงต้นที่ผมเตรียมทำ www.public-law.net เมื่อปี 2543 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาแล้ว ส่วนศาลปกครองกำลังเตรียมตัวจัดตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นที่สนใจและติดตามของผมกับบรรดานักกฏหมายมหาชนอื่นๆ
       
       ในตอนต้นของการเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 15 คน ไม่มีใครเป็นนักกฎหมายมหาชนเลย มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแปลกๆออกมาจำนวนพอสมควร เช่นวินิจฉัยว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเพราะมีชื่อกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังจำได้ว่าในตอนนั้นผมออกมาให้สัมภาษณ์และเขียนบทความทำนองว่า หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำผิดเราก็สามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ แต่ถ้าหากมีคำวินิจฉัยผิดพลาด เราจะทำอย่างไรกัน !!! วิจารณ์บ่อยเข้า ศาลรัฐธรรมนูญก็ให้เจ้าหน้าที่ออกมาตอบโต้ แต่ในที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็จบลงอย่างดีเพราะเมื่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือมาขอร่วมมือทางวิชาการกับ www.public-law.net ต่อมาเราก็ทำหลายอย่างร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการขอทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหลายคน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญพิมพ์หนังสือรวมบทความให้เพื่อนำไปแจกจ่ายซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนรู้จัก www.public-law.net มากขึ้น ก็ต้องขอขอบพระคุณคุณนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นไว้ ณ ที่นี้ด้วย
       
       หนังสือรวมบทความและรวมบทบรรณาธิการจาก www.public-law.net นับเป็นแหล่งค้นคว้าทางวิชาการที่ดีมาก ผมเขียนบทบรรณาธิการเดือนละสองหนเป็นเวลาติดต่อกัน 13 ปี บทบรรณาธิการแต่ละครั้งเขียนขึ้นจากเหตุการณ์ด้านกฎหมายมหาชนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขียนแล้วผมก็วิเคราะห์วิจารณ์ไปตามความสามารถ เมื่อสามปีที่ผ่านมาผมได้จัดพิมพ์บทบรรณาธิการทั้งหมดที่เขียนมา 13 ปี รวมเล่มออกมาได้ 4 เล่มขนาดใหญ่ทำเป็นกล่องสวยงามมีจำนวนไม่มากและมอบให้กับผู้ที่เคารพนับถือและผู้ที่สนใจ มีหลายคนบอกว่าบทบรรณาธิการที่ผมเขียนมีประโยชน์ในการสืบค้นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆทำให้ทราบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนเกิดขึ้นในเรื่องใดบ้าง ในการเตรียมตัวเพื่อเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ ผมก็ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบทบรรณาธิการที่เขียนมาในอดีตทั้งหมดและพบว่ามีการเขียนเกี่ยวกับการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญอยู่มากโดยผมจะขอไล่เป็นประเด็นสั้นๆ ดังนี้คือ
       
       มิถุนายน 2544 คดีซุกหุ้น มีการพูดถึงว่าจะใช้หลักรัฐศาสตร์หรือหลักนิติศาสตร์ในการตัดสินคดี
       สิงหาคม 2544 วินิจฉัยคดีซุกหุ้น โดยเสียง 8 ต่อ 7 วินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่ซุกหุ้นซึ่งก็มีปัญหาเกิดขึ้นจากการนับคะแนน ถ้าผมจำไม่ผิด มีการนับคะแนนคนที่เห็นว่าซุกหุ้น 7 คนส่วนที่เหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนไม่รับเรื่องไว้พิจารณาก็ไปถูกนับรวมกันเข้ากับคนที่ เห็นว่าไม่ซุกหุ้น นอกจากนี้แล้วในคดีซุกหุ้นนี้เองที่คำวินิจฉัยของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ คุณประเสริฐ นาสกุลเขียนเอาไว้ดีมาก นำไปใช้สอนหนังสืออยู่หลายปี
        2545 วินิจฉัยว่าประธานกรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากกระบวนการสรรหาโมฆะ
       2546 วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สาระสำคัญก็คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิด หน่วยงานไล่เจ้าหน้าที่คนนั้นออก เจ้าหน้าที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเปลี่ยนโทษ ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยว่าเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้วินิจฉัยแล้วเป็นที่ยุติ ต้องปฏิบัติตาม
       2546 วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตสองฉบับไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
       2546 วินิจฉัยให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเท็จพร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมืองห้าปี
       2547 วินิจฉัยว่ากระบวนการได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วยกฏหมาย
       2549 ไม่รับคำร้องกรณีซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรีภาคสอง
       2549 วินิจฉัยเพิกถอนการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การจัดการเลือกตั้งมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดผลการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ
       19 กันยายน 2549 เกิดการรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบ
       2549 รัฐธรรมนูญชั่วคราวตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่
       2550 วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์สมาชิกพรรคจำนวน 111 คน
       2551 วินิจฉัยยุบ 3 พรรคการเมืองคือพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิ์สมาชิกพรรคพลังประชาชนอีก 109 คน
       2551 วินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติจากการจัดรายการชิมไปบ่นไปทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง
       2553 วินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ 2 กรณี
       2555 วินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
       2556 มีข้อครหากรณีสลับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญกับข้อครหากรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งลูกชายตัวเองเป็นหน้าห้องแล้วลาไปเรียนต่อต่างประเทศแต่ยังได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
       2557 วินิจฉัยกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกล่าวไว้ว่าการกู้เงินอาจเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับลูกหลาน รัฐมนตรีมาแล้วก็ไป เห็นว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับคนไทยและเป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน
       2557 วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะเพราะไม่ได้เลือกวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
       2557 วินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวกรณีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงคนหนึ่ง
       พฤษภาคม 2557 เกิดการรัฐประหารรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถูกยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา
       เมษายน 2560 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ มีการปรับโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญใหม่โดยเหลืออาจารย์ด้านกฎหมายเพียงหนึ่งคนเท่านั้น
       
       ทั้งหมดที่กล่าวไปคือผลงานและประสบการณ์ของศาลรัฐธรรมนูญโดยสังเขปที่ผมได้เคยเขียนไว้ในบทบรรณาธิการของ www.public-law.net
       
       นอกจากการพูดถึงผลงานและประสบการณ์ของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นแล้ว ในการอภิปราย ผมยังได้กล่าวถึงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่เพื่อไม่ให้บทบรรณาธิการครั้งนี้ยาวเกินไปจึงไม่ขอนำเรื่องดังกล่าวมาเขียนไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       ในส่วนของความคาดหวังนั้น ผมได้กล่าวในงานอภิปรายว่าผมไม่มีความคาดหวังใดๆทั้งสิ้นเพราะดูแล้วน่าจะลำบากไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญหรือเรื่องอื่นๆ แต่ผมได้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทำเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติพอสมควรครับ โดยเมื่อตอนที่ผมเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและมีโอกาสได้อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญที่ทำโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ผมมีข้อเสนอว่า การบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งสองฉบับคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นมีที่มาจาก 2 กรณีคือตัวบทรัฐธรรมนูญมีปัญหาไม่ชัดเจนกับอีกกรณีหนึ่งคือผู้ใช้รัฐธรรมนูญแปลความหรือเข้าใจบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญผิดปัญหาที่เกิดขึ้นบางปัญหาก็นำไปสู่วิกฤติทางการเมืองหลายต่อหลายครั้งและทุกอย่างก็จบลงโดยไม่มีการหวนกลับไปพิจารณาหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา ผมจึงได้เสนอให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อเก็บรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญแล้วนำมาศึกษาวิเคราะห์โดยนักวิชาการที่เป็นกลางและมีความสามารถสูง ถ้าเป็นไปได้ควรศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับของต่างประเทศด้วย เมื่อได้ข้อยุติแล้วจึงค่อยเสนอความเห็นดังกล่าวไปยังองค์กรที่มีอำนาจ ถ้าเห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องดำเนินการในขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตีความหรือให้ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรจะต้องทำความเห็นที่ถูกต้องและเสนอไปเพื่อให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระทั้งหลายรับทราบและถือปฏิบัติร่วมกัน
       
       ในการอภิปรายเมื่อวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมได้เสนอความเห็นแบบเดิมโดยพิจารณาจากพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมว่า หากเป็นไปได้ควรแก้ไขโดยเพิ่มอำนาจให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญสามารถตั้งหน่วยงานภายในขึ้นมารองรับการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญด้วยแต่ก็ต้องวางระบบให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรให้เจ้าหน้าที่หรือคนภายในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ควรให้ทำโดยนักวิชาการและคนนอกที่มีความาชำนาญและมีความเป็นกลาง เมื่อได้ข้อยุติแล้วหากเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งความเห็นของนักวิชาการนั้นไปยังองค์กรที่ผมเห็นว่าหากเป็นที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็คงจะเหมาะสม หากที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่หากที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีความเข้าใจในตัวบทของรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน ก็ให้ทำความเห็นเสนอไปยังรัฐบาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐทั้งหมดเพื่อวางเกณฑ์ให้วิธีปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
       
       นี่คือข้อเสนอและเป็นบทสรุปที่ผมคิดว่าเป็นความคาดหวังของผมที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยเราก็จะมีองค์กรที่เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและเตรียมพร้อมที่จะหาทางออกจากประเด็นปัญหาเหล่านั้นโดยนักวิชาการที่ เป็นกลางและมีความชำนาญครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสามบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ คุณณัฐวุฒิ สุขแสวง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ที่เขียนเรื่อง "ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง" บทความที่สองเป็นบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง "เอาผิดคณะรัฐประหาร ?" บทความที่สาม เป็นบทความเรื่อง "รัฐสภาอัจฉริยะ (Smart Parliament) กับการส่งเสริมหลักนิติธรรม: กรณีศึกษาของออสเตรเลียและข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับประเทศไทย" ที่เขียนโดย คุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ แห่งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2033
เวลา 16 เมษายน 2567 18:42 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)