ครั้งที่ 365

24 มิถุนายน 2561 15:48 น.

       การประหารชีวิตในประเทศฝรั่งเศส
       
            สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้ออกข่าวการประหารชีวิตนักโทษคนหนึ่งหลังจากที่ไม่เคยมีการประหารชีวิตนักโทษมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ข่าวการประหารชีวิตนักโทษนี้เกิดเป็นกระแสโต้เถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วว่า ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไปหรือควรยกเลิกโทษประหารชีวิต การโต้เถียงที่เห็นส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้ความรู้สึกแต่ก็มีบางคนที่แม้จะไม่ได้อยู่ในแวดวงวิชาการแต่ก็มีความเป็นนักวิชาการอย่างมากเพราะนำเสนอความเห็นโดยมีหลักกฏหมาย หลักสิทธิมนุษยชนมาอ้างอิงซึ่งผมต้องขอชมเชยคนเหล่านั้น ในขณะที่นักวิชาการด้านที่เกี่ยวข้องผมแทบจะไม่เห็นใครออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งทางบวกและทางลบให้สังคมได้รับรู้รับทราบว่า เรื่องโทษประหารชีวิตนี้ นานาอารยประเทศทำกันอย่างไรบ้าง แล้วทำไมในประเทศไทยถึงยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ กฎหมายของไทยหลายฉบับก็มีการบัญญัติถึงเรื่องการกระทำความผิดที่ต้องลงโทษประหารชีวิต (แม้กระทั่งความผิดฐานกบฏตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญาก็ยังมีโทษประหารชีวิต) เนื่องจากผมไม่ได้เป็นอาจารย์ที่สอนและทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยในด้านกฎหมายอาญา กฎหมายสิทธิมนุษยชน หรือศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโทษประหารชีวิต จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีงานเขียน งานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ในสาขาที่เกี่ยวกับเรื่องการประหารชีวิตอยู่มากมายขนาดไหน แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นเท่าที่ปรากฏตามสื่อต่างๆยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการลงโทษด้วยการประหารชีวิต เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของนักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและนักวิชาการที่อยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องนำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลงโทษประหารชีวิตให้แก่สังคมโดยในการนำเสนอนั้นคงต้องหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่ปราศจากฐานอ้างอิงทางวิชาการ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมพยายามต่อสู้มาตลอดว่า นักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ควรจะต้องเขียนให้มากกว่าพูดเพราะการเขียนนั้น นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจในเรื่องดังกล่าวสามารถแสวงหาความรู้ได้จากงานเขียนอย่างเป็นรูปธรรมและนำไปใช้อ้างอิงได้ สามารถนำไปต่อยอดในเรื่องต่างๆได้ การเขียนจะแตกต่างไปจากการพูดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเตรียมตัว ผู้เขียนที่ดีมักจะต้องมีความพร้อมในด้านข้อมูลและวิธีการนำเสนออย่างละเอียดลึกซึ้งจึงจะออกมาเขียนเป็นบทความหรือหนังสือทางวิชาการได้ บทความหรือหนังสือทางวิชาการนี้จะคงอยู่ต่อไปเป็นเวลานานและที่สำคัญที่สุดก็คือหากผู้เขียนเขียนไม่ถูกต้องหรือเขียนไม่ลึกซึ้ง งานเหล่านั้นจะถูกตรวจสอบโดยนักวิชาการอื่นซึ่งสามารถตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาได้ซึ่งแตกต่างไปจากการพูดเพราะการพูดในลักษณะเชิงอภิปรายหรือสัมมนานั้น การอภิปราย 3 ชั่วโมงโดยเชิญคนมาพูด 5 คนวิพากษ์วิจารณ์กันเล็กน้อย พูดอะไรที่มันหวือหวาหรือไม่ก็พูดไปหัวเราะไป พอครบ 3 ชั่วโมงก็เลิกกันไป วิธีการแบบนี้อาจเรียกว่าเป็นการให้บริการวิชาการกับสังคมได้หากการให้บริการในลักษณะนี้มีการจัดทำเอกสารประกอบการอภิปรายที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ หาไม่แล้วก็จะเป็นเพียงการฉกฉวยประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมมาทำให้เป็นข่าวเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองหรือหน่วยงานโดยผู้ที่เสียเวลามาเข้าร่วมรับฟังก็จะไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่เท่ากับการอ่านเอกสารทางวิชาการที่จัดทำโดยนักวิชาการที่มีความรู้ครับ แต่เรื่องนี้คงพูดกันลำบากเพราะก็เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่นะครับนักวิชาการรุ่นหลังมักจะไม่ค่อยเขียนหนังสือหรือบทความกันเท่าไรนัก
            ในฐานะที่เป็นผู้ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายอาญาหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนรวมไปถึงด้านศาสนา ขอเขียนเล่าให้ฟังแต่เพียงการลงโทษประหารชีวิตในฝรั่งเศสที่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้วโดยจะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องความเหมาะสมของการมีโทษประหารชีวิตหรือการยกเลิกโทษประหารชีวิตเพราะเป็นเรื่องที่มีผู้ถูกเถียงกันมากมายพอสมควรแล้วในสื่อต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ คงต้องปล่อยให้บรรดาผู้รู้ทั้งหลายถกเถียงกันต่อไปดีกว่าครับ แต่ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมอยากจะเล่าให้ฟังถึงกระบวนการประหารชีวิตในประเทศฝรั่งเศสที่มีวิธีการค่อนข้างน่าสะพรึงกลัวครับ
            การลงโทษขั้นสูงสุดด้วยวิธีการประหารชีวิตในประเทศฝรั่งเศสนั้นมีมานานมากแล้ว ขอย้อนกลับไปแค่ในปี ค.ศ. 1791 ที่ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสบัญญัติเอาไว้ในมาตรา 3 ว่าใครก็ตามที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตจะต้องถูกตัดศีรษะ เนื้อความดังกล่าวปรากฎอยู่ในกฏหมายอาญาฝรั่งเศส ต่อเนื่องมาจนกระทั่งมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1981
            ระยะเวลาเกือบ 200 ปีที่ผ่านมานั้น เคยมีความพยายามที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตมาหลายครั้งแล้ว ความพยายามครั้งสำคัญที่สุดที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1908 โดยก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 ประธานาธิบดีในขณะนั้นซึ่งไม่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิตได้ให้อภัยโทษแก่นักโทษทุกคนที่ต้องโทษประหารชีวิต รวมไปถึงการอภัยโทษให้นักโทษคนหนึ่งซึ่งข่มขืนและฆ่าเด็กผู้หญิงอายุ 11 ขวบโดยวิธีการทารุณ เรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่เกิดการต่อสู้กันทางด้านความคิดในสังคมเป็นอย่างมากถึงความจำเป็นของการยกเลิกโทษประหารชีวิตและการคงโทษประหารชีวิตเอาไว้ เมื่อรัฐบาลเสนอร่างกฏหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในปี ค.ศ. 1908 รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 330 ต่อ 201 ให้คงโทษประหารชีวิตเอาไว้
            กลับมาในช่วงเวลาปัจจุบันคือในช่วงเวลาสาธารณรัฐที่ห้าของฝรั่งเศสซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1958 นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ไปจนถึงปี ค.ศ. 1981 ซึ่งเป็นปีที่มีกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิต มีนักโทษ 19 คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าว ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะขอเล่าให้ฟังในสองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประหารชีวิต เรื่องแรกเป็นเรื่องกระบวนพิจารณาเพื่อนำไปสู่การประหารชีวิตและเรื่องที่สองเป็นเรื่องวิธีการประหารชีวิต
            กระบวนการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การประหารชีวิต มีอยู่สองขั้นตอนด้วยกันคือ ขั้นตอนในการพิจารณาคดีของศาลและขั้นตอนในการพิจารณาอภัยโทษของประธานาธิบดี เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาโดยเสียงข้างมากพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต ผู้ถูกลงโทษประหารชีวิตมีเวลา 5 วันที่จะทำการฎีกาโทษดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 604 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของฝรั่งเศส (ยกเลิกไปแล้วหลังจากมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต) มาตรา 604 ดังกล่าวกำหนดให้ศาลพิจารณาตัดสินให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันได้รับเอกสาร เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนยันโทษประหารชีวิต การประหารชีวิตจะทำได้ก็ต่อเมื่อประธานาธิบดีมีคำวินิจฉัยไม่อภัยโทษให้กับนักโทษดังกล่าว เรื่องการอภัยโทษประหารชีวิตนี้ แม้นักโทษจะไม่ขออภัยโทษ แต่ประธานาธิบดีก็จะต้องพิจารณาโดยประธานาธิบดีจะต้องมีคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา การพิจารณาอภัยโทษของประธานาธิบดีทำอย่างเป็นระบบประธานาธิบดีจะได้รับเอกสารพร้อมความเห็นประกอบจากหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีที่จะมีการประหารชีวิต กฎหมายกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องปรึกษากับคณะกรรมการตุลาการ (Conseil supérieur de la Magistrature)ในทุกคดี สำนักงานอภัยโทษที่ตั้งอยู่ในกระทรวงยุติธรรมจะต้องให้ความเห็นประกอบและนอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องพูดคุยกับทนายจำเลยโดยตรงด้วย
            ในกรณีที่ประธานาธิบดีเห็นควรอภัยโทษ รัฐบาลก็จะออกแล้วรัฐกฤษฎีกา (décret) อภัยโทษโดยมาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของฝรั่งเศสบัญญัติให้ต้องมีการลงนามร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่สำหรับกรณีที่ประธานาธิบดีไม่อภัยโทษก็จะมีคำวินิจฉัย (décision) ที่ลงนามโดยประธานาธิบดีที่เขียนไว้อย่างสั้นๆว่า ให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไป
            ในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่อภัยโทษ การประหารชีวิตต้องดำเนินการภายใน 2 วันนับแต่วันที่ประธานาธิบดีมีคำวินิจฉัย เครื่องมือประหารชีวิตคือ กิโยติน (guillotine) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้อยู่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงมีการยกเลิกประหารชีวิต กิโยตินถูกเก็บไว้ในคุกใหญ่กลางเมือง Paris ที่ชื่อว่า prison de la santé เมื่อมีการประหารชีวิตก็จะต้องนำเครื่องกิโยตินไปยังคุกที่ขังนักโทษที่จะทำการประหารชีวิต มีกฎหมายห้ามทำการประหารชีวิตในวันเสาร์และวันอาทิตย์ วันชาติฝรั่งเศสคือวันที่ 14 กรกฎาคมและวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ก็ยังมีกฎหมายห้ามอีกหลายอย่างเช่น ห้ามตีพิมพ์คำวินิจฉัยของประธานาธิบดีหรือความเห็นของคณะกรรมการตุลาการในกรณีที่การประหารชีวิตหรือการอภัยโทษยังไม่เสร็จเรียบร้อยอย่างเป็นทางการ ห้ามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กระทำการหรือแสดงกิริยาอาการใดๆให้นักโทษรับรู้หรือรับทราบว่าตัวเองจะถูกประหารชีวิต นักโทษจะรับทราบว่าตัวเองไม่ได้รับการอภัยโทษจากผู้คุมเรือนจำในวันประหารโดยในตอนเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ผู้อำนวยการเรือนจำก็จะเดินโดยใส่เฉพาะถุงเท้าเพื่อให้เงียบไปถึงประตูห้องนักโทษเพื่อไม่ให้ไม่นักโทษได้ยินเสียง จากนั้นก็จะแจ้งให้นักโทษทราบว่าไม่ได้รับการอภัยโทษ ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้คุมจะพานักโทษไปยังห้องข้างๆห้องประหารชีวิตที่มีเครื่องกิโยตินตั้งอยู่และให้นักโทษเขียนจดหมายถึงญาติหรือแถลงด้วยวาจาในเรื่องอื่นๆ พูดคุยกับพระ สารภาพบาป สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอลล์อย่างแรง เมื่อทุกกระบวนการเสร็จสิ้น ผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตก็จะใช้เชือกมัดขาและเข่านักโทษ มัดมือไขว้หลัง ตัดผมที่ปิดต้นคอออกให้หมด ตัดคอเสื้อจนถึงบ่าเพื่อให้มีดจากเครื่องกิโยตินตัดคอได้อย่างสะดวก กระบวนการตั้งแต่แจ้งให้นักโทษทราบจนกระทั่งถึงการประหารชีวิตแล้วเสร็จใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที มีพยานประมาณ 10 คนที่จัดให้เข้าไปนั่งอยู่ในห้องประหาร เมื่อการประหารชีวิตเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งให้ญาติมารับร่างไปทำพิธีซึ่งส่วนใหญ่การทำพิธีก็จะทำอย่างเงียบๆ แต่ถ้าไม่มีญาติมารับ รัฐก็จะเป็นผู้จัดการพิธีศพให้
            การประหารชีวิตในฝรั่งเศสใช้วิธีตัดคอด้วยเครื่องกิโยติน นักโทษคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตเป็นชายหนุ่มอายุ 27 ปีถูกประหารชีวิตเนื่องจากทรมานและฆ่าคนรักของตัวเองในปี ค.ศ. 1977
            ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า การประหารชีวิตในประเทศฝรั่งเศสดำเนินการมาจนกระทั่งถึงในปี ค.ศ. 1981 ถึงได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต การยกเลิกโทษประหารชีวิตมีที่มาจากในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของประธานาธิบดี François Mitterand เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1981 ท่านได้แถลงอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต เมื่อประธานาธิบดี François Mitterand เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1981 ก็ได้อภัยโทษให้กับนักโทษประหารชีวิตคนหนึ่งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1981 เป็นนักโทษคนสุดท้ายที่ได้รับการอภัยโทษ ผู้ที่มีบทบาทเป็นอย่างสูงในการยกเลิกโทษประหารชีวิตร่วมกับประธานาธิบดีคือนาย Robert Badinter รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายในนามรัฐบาลเพื่อขอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.1972 นาย Robert Badinter เคยเป็นทนายความและว่าความให้กับลูกความคนหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจับตัวประกันในคุก แม้ในการจับตัวประกันนั้นจะไม่มีการล้มตาย แต่ลูกความของเขาก็ต้องโทษประหารชีวิต เมื่อนาย Robert Badinter เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ร่วมกับประธานาธิบดีเสนอให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1981 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เสนอร่างกฏหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตต่อรัฐสภา วันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1981 ร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรลงมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.1981 เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต 363 เสียงและเห็นควรให้มีโทษประหารชีวิตอยู่ 117 เสียง ในชั้นวุฒิสภา วุฒิสภามีมติ 161 เสียงให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ส่วนอีก 126 เสียงไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต วันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ.1981 รัฐบัญญัติประกาศในรัฐกิจจานุเบกษายกเลิกโทษประหารชีวิต การลงโทษด้วยการประหารชีวิตในประเทศฝรั่งเศสจึงสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ตามมาด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ.2007 โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 66-1 ว่าห้ามรัฐฝรั่งเศสลงโทษประหารชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมานับแต่มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตจนกระทั่งปัจจุบัน มีผู้เสนอร่างกฎหมายเพื่อขอให้นำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่อยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการก่อการร้าย ผู้คนจำนวนมากมักจะหวนคิดถึงโทษประหารชีวิตเพื่อนำมาใช้ในการลงโทษประหารชีวิตผู้ก่อการร้าย รวมไปถึงเวลามีคดีร้ายแรงเกิดขึ้น มักมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงการที่จะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่สำหรับโทษร้ายแรงเช่น ยาเสพติด ฆาตกรรมอย่างทารุณ ข่มขืน ทุจริตต่อประเทศ เป็นต้น
            จริงๆแล้วเรื่องโทษประหารชีวิตนี้เป็นเรื่องเก่าที่มีประเด็นปัญหาหลายประการไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิมนุษยชน ด้านศาสนา มีหนังสือและงานวิจัยอยู่จำนวนมากทั้งของไทยและของต่างประเทศที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต นักวิชาการด้านที่เกี่ยวข้องน่าจะออกมาเขียนเอกสารทางวิชาการให้ความรู้กันมากกว่านี้นะครับ เขียนดีกว่าพูดเพราะข้อเขียนของนักวิชาการที่ดีที่เกิดจากการค้นคว้าและเขียนอย่างเป็นระบบเป็นการสร้างความรู้ให้กับประชาชนและสังคม สามารถค้นคว้าได้ตลอดเวลา ดีกว่าออกมาพูดหรือเขียนอะไรเล็กๆน้อยๆที่ไม่มีสาระทางวิชาการครับ !!!
            ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน ทั้ง 2 บทความเขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความแรกคือบทความเรื่อง ความรับผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมือง และบทความที่ 2 คือบทความเรื่อง 24 มิถุนา 2475 : ชิงสุกก่อนห่าม ? ผมขอขอบคุณคุณชำนาญฯ เป็นอย่างสูงครับ
       
            พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ครับ
       
            ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2032
เวลา 28 มีนาคม 2567 19:04 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)