ครั้งที่ 363

27 พฤษภาคม 2561 16:54 น.

       "ร่างกฎหมายว่าด้วยภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ"
       กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับร่างกฏหมายฉบับหนึ่งคือร่างกฎหมายว่าด้วยภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างกฏหมายดังกล่าว
       ผมได้อ่านเนื้อหาของร่างกฏหมายฉบับนี้แล้วเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นเนื้อหาของร่างกฏหมายซึ่งจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนพอสมควร จึงขอนำรายละเอียดของร่างกฏหมายฉบับนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ
       เหตุผลของการที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ก็คือ รัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐหลายประเภท เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สนามบิน ท่าเรือ โครงการทางด่วนพิเศษ เป็นต้น โครงการเหล่านี้มีต้นทุนในการดำเนินการค่อนข้างมาก ประกอบกับเมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลให้ที่ดินและห้องชุดบริเวณรอบโครงการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มของมูลค่าราคาที่ดินหรือห้องชุดอันเนื่องมาจากโครงการดังกล่าวเพื่อให้รัฐนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีมาใช้ในการพัฒนาระบบขนส่งของรัฐต่อไป
       ประการแรกที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีตามร่างกฏหมายฉบับนี้ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการที่จะจัดเก็บภาษี คือโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการ ทางด่วนพิเศษและโครงการอื่นๆที่จะกำหนดเอาไว้ในกฎกระทรวงต่อไป ส่วนพื้นที่ในการจัดเก็บภาษีนั้น ในร่างกฏหมายกำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการ
       สำหรับการจัดเก็บภาษีนั้นแบ่งได้เป็นสองกรณีคือ ในกรณีแรกระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการในรัศมีที่กำหนด ส่วนกรณีที่สองเมื่อการดำเนินการจัดทำโครงการเสร็จสิ้นแล้วจะจัดเก็บภาษีจากที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทกับห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการ
       ประการต่อมาเป็นเรื่องขั้นตอนของการเสียภาษีตามร่างกฏหมายฉบับนี้ที่เริ่มต้นจากการที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษีที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานและข้าราชการระดับสูงอีก 4 คนเป็นกรรมการ เป็นผู้มีอำนาจกำหนดพื้นที่ที่ให้มีการจัดเก็บภาษีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ส่วนมาตรา 6 บัญญัติให้กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษี ตามร่างกฏหมายนี้ สำหรับฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษีตามร่างกฏหมายฉบับนี้ มาตรา 12 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของร่างกฏหมายฉบับนี้ได้เขียนเอาไว้ยาวมากโดยกำหนดเอาไว้ว่าฐานภาษีและการคำนวณภาษีตามร่างกฏหมายฉบับนี้ได้แก่ส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นในระหว่างวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐไปจนถึงวันที่โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้หากผู้ใดสนใจทราบรายละเอียดก็คงต้องลองไปศึกษาในมาตรา 12 ดูนะครับเพราะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนพอสมควรครับ ต่อมาก็เป็นกระบวนการในการจัดเก็บภาษีโดยพื้นที่ใดที่ถูกกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีตามร่างกฎหมายนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้แจ้งการประเมินภาษีตามวิธีการคำนวนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องชำระภาษีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกรมที่ดินตามจำนวนภาษีที่ได้มีการแจ้งประเมิน ภาษีที่มีได้การชำระภายในกำหนดเวลาถือเป็นภาษีค้างชำระ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีภาษีค้างชำระขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกรมที่ดินจะต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระให้มาชำระภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถ้าผู้เสียภาษีมิได้ชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือน เมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้ แต่ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเกินกว่าเฉพาะความจำเป็นที่พอจะชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายทั้งหลาย ส่วนภาษีที่จัดเก็บได้ร่างกฎหมายกำหนดให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน
       ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้อยู่หลายประการแต่ในที่นี้ผมขอนำเอาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่ในปัจจุบันก็ยังไปไม่ถึงไหนเพราะยังมีปัญหาในเรื่องของการกระจายอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดสรรรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เพียงพอที่จะดำเนินการกิจการที่ตัวเองต้องทำในพื้นที่ โดยในร่างกฎหมายฉบับนี้ผมมองว่าไม่สอดรับกับการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การที่ มาตรา 5 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีตามกฏหมายฉบับนี้ มาตรา 19 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและห้องชุด อัตราภาษีที่จัดเก็บ มาตรา 21 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งการประเมินภาษีโดยส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี มาตรา 25 กำหนดให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 29 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจทบทวนการประเมินภาษีให้ถูกต้องตามที่ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสียภาษี มาตรา 32 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระให้มาชำระภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม มาตรา 33 กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างชำระ
       จะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างมากกับกระบวนการในการจัดเก็บภาษี แต่ในมาตรา 5 วรรคสอง กลับบัญญัติว่าเงินภาษีที่จัดเก็บตามกฏหมายนี้เมื่อหักส่วนลดหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรับชำระภาษีแล้วให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
       ในเรื่องภาษีที่เก็บได้ว่าควรจะอยู่ที่ไหนนั้น ผมมีความคิดที่แตกต่างกันเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการสำคัญของการกระจายอำนาจที่เมื่อมีการเพิ่มงานให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีการเก็บภาษีได้ในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ควรจะต้องให้ภาษีเหล่านั้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะให้ทั้งหมดหรือแบ่งให้บางส่วนก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนกับภาษีที่ตัวเองจัดเก็บได้ในพื้นที่ของตัวเองด้วย ส่วนแนวทางที่สองนั้นเมื่อพิจารณาจากเหตุผลของการมีกฎหมายดังกล่าวจะพบว่าเพื่อให้รัฐนำรายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาระบบขนส่งของรัฐต่อไป การบัญญัติไว้ ในร่างกฎหมายแต่เพียงว่าให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินโดยไม่ได้กำหนดว่าเพื่อนำไปใช้ในการจัดสร้างสาธารณูปโภคจึงทำให้ ความเป็นเหตุเป็นผลของการเก็บภาษีตามกฏหมายฉบับนี้อ่อนลง
       นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีความเห็นเพิ่มเติมไปอีกว่า การกำหนดพื้นที่ที่ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ในร่างกฎหมายนี้ให้คณะกรรมการที่ประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงจำนวนห้าคนซึ่งเป็นคนของส่วนกลางแต่เพียงอย่างเดียวเป็นผู้กำหนดพื้นที่ที่ให้มีการจัดเก็บภาษีตามร่างกฏหมายนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจเพราะในเมื่อพื้นที่ที่ให้มีการจัดเก็บภาษีเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างน้อยก็ควรจะให้มีตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนเป็นผู้กำหนดพื้นที่ที่ให้มีการจัดเก็บภาษีด้วย แต่จะให้เป็นใครและมีวิธีการอย่างไรที่จะไม่ให้ตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนึกถึงแต่ประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไปครับ
       ยังมีประเด็นที่ไม่ชัดเจนและไม่ถูกต้องในหลักการอีกหลายประเด็นแต่ผมคงไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ ตั้งใจที่จะเน้นเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงเรื่องเดียวครับ
       คงต้องฝากเรื่องนี้ไว้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะเป็นผู้พิจารณาร่างกฏหมายฉบับนี้ หากสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ ก็ควรจะต้องดำเนินการบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนในการตัดสินใจกำหนดพื้นที่ที่จะให้มีการจัดเก็บภาษี รวมไปถึงการจัดสรรรายได้จากภาษีดังกล่าวให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ ดร. นคร เสรีรักษ์ ที่เขียน เรื่อง "GDPR คืออะไร สำคัญอย่างไร ? ทำไมจึงต้องเข้าใจ GDPR ? " บทความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองยุโรปที่มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา บทความที่สอง เป็นบทความของอาจารย์หนุ่มไฟแรงแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า ที่เขียนเรื่อง "คำถามต่อการที่องคมนตรีเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยของรัฐ" และบทความสุดท้าย เป็นบทความของนักวิชาการที่เขียนมาลงกับเราอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา นั่นคือบทความเรื่อง "ป่าแหว่ง : การใช้สิทธิชุมชน"  ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ครับ
        
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2561 
        
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2027
เวลา 19 เมษายน 2567 06:02 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)