ครั้งที่ 362

14 พฤษภาคม 2561 18:37 น.

       "ฝรั่งเศสจะแก้รัฐธรรมนูญอีกแล้ว"
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เห็นเอกสารเกี่ยวกับข้อเสนอขอวรัฐบาลเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสในหลายประเด็น ดูแล้วเห็นว่าน่าสนใจก็เลยนำมาเล่าให้ฟังครับ
       รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันคือฉบับปี ค.ศ. 1958 นั้นถูกแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว 24 ครั้ง และนับแต่ปีค.ศ. 1999 เป็นต้นมาก็ยิ่งมีการแก้ไขบ่อยมากขึ้นเนื่องมาจากเหตุผลสองประการ ประการแรกก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่เก่าและล้าสมัย รัฐบาลและรัฐสภามีความต้องการที่จะทำรัฐธรรมนูญให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของประเทศที่เกิดจากตัวบทที่ล้าสมัยของรัฐธรรมนูญ ส่วนประการที่สองก็คือ กฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปที่ออกมาทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้สอดคล้อง
       
       กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสบัญญัติไว้ในหมวด 16 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 89 ดังนี้
       การริเริ่มให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีและของสมาชิกรัฐสภา ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยประธานาธิบดีหรือที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในเนื้อความอย่างเดียวกัน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อประชาชนได้ออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้ว
       อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยประธานาธิบดีอาจไม่ต้องนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้หากประธานาธิบดีตัดสินใจที่จะเสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของสภาทั้งสองเป็นผู้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ในกรณีนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภาที่ออกเสียงลงคะแนน ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นสำนักงานของที่ประชุมร่วม
       การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดนจะกระทำมิได้  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐบาลแบบสาธารณรัฐไม่อาจกระทำได้
       การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 24 ครั้งมีเรื่องน่าสนใจที่จะขอยกมาเป็นตัวอย่างคือ ในปี ค.ศ. 1962 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ในปี ค.ศ. 1993 เพิ่มเติมการจัดตั้งศาลอาญาแห่งสาธารณรัฐสำหรับคดีความผิดของรัฐมนตรี ในปี ค.ศ. 1996 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม ในปี ค.ศ. 1999 แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง ในปี ค.ศ. 2003 แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องจัดระบบการกระจายอำนาจ ในปี ค.ศ. 2005 เพิ่มเติมเรื่องกฎบัตรสิ่งแวดล้อมในปีค.ศ. 2007 มีการแก้ไขสองเรื่องที่สำคัญคือ ความรับผิดของประธานาธิบดีกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตและการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 2008 เป็นเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานของรัฐใหม่
       เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เผยแพร่ผลการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ส่งให้สภาแห่งรัฐ ( Conseil d’État )ตรวจพิจารณา รายงานการพิจารณาดังกล่าวมีความยาวมาก จึงขอนำมาสรุปให้ฟังอย่างสั้นๆว่า ฝรั่งเศสเตรียมแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้างโดยเรื่องที่รัฐบาลประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้นแบ่งออกได้เป็นสามเรื่องใหญ่ๆคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรและสถาบันการเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรและสถาบันการเมือง มีความประสงค์ที่จะแก้ไขอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกก็คือเดิมในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสกำหนดให้อดีตประธานาธิบดีเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง และเป็นตลอดชีพ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ให้ยกเลิกเสีย เรื่องต่อมาก็คือมีการแก้ไขเพิ่มเติมกรณีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเป็นประธานสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ให้ยกเลิกการดำรงตำแหน่งควบทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเนื่องจากเป็นเรื่องของการขัดกันของผลประโยชน์และเป็นเรื่องความซ้ำซ้อนในหน้าที่การงานรวมทั้งยังต้องการให้รัฐมนตรีทำงานอย่างเต็มที่ด้วยในตำแหน่งเดียว เรื่องต่อมาเป็นเรื่องของการยกเลิกบทบัญญัติในหมวด 10 ที่เกี่ยวกับศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ( La Cour de Justice de la République ) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีความผิดทางอาญาของรัฐมนตรี มีการแก้ไขให้ความผิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์แห่งเมืองปารีส (la cour d’appel de Paris) มีการปรับเปลี่ยนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เป็น “องค์คณะการมีส่วนร่วมของประชาชน” (Chambre de la participation citoyenne) ทำหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (consultation public) ท้ายที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและสถาบันการเมือง มีการทบทวนโครงสร้างและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการ (le Conseil supérieur de la Magistrature)
       
       การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้จะเป็นเรื่องทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฏหมายธรรมดาและร่างกฏหมายเกี่ยวกับงบประมาณและการคลังโดยมีการลดระยะเวลาในการพิจารณาร่างกฏหมายเกี่ยวกับการคลังลงแต่มีการเพิ่มระยะเวลาในการพิจารณาร่างกฏหมายเกี่ยวกับการเงินเพื่อสนับสนุนสวัสดิการสังคมให้ยาวขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีการเพิ่มอำนาจของรัฐสภาในการตรารัฐบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (changements climatiques) รวมถึงการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าชื่อกันของสมาชิกรัฐสภาเพื่อร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายโดยลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาวุฒิสภาที่จะเข้าชื่อกันจากจำนวน 60 คนเหลือ 40 คน
       
       การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองความแตกต่างของเทศบาล (commune)จังหวัด (département)และภาค (région) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (les collectivités territoriales à statut particulier)และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโพ้นทะเล (les collectivités d’outre-mer) การรับรองความแตกต่างดังกล่าวทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบหรือแต่ละประเภทอาจดำเนินการบางประการภายในพื้นที่ของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆภายในเงื่อนไขและระยะเวลาที่จำกัดแต่ต้องอยู่ภายใต้หลักว่าด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่แบ่งแยกมิได้ของสาธารณรัฐและหลักว่าด้วยความเสมอภาค
       
       จริงๆแล้ว ผลการพิจารณาของสภาแห่งรัฐมีจำนวนหลายหน้ามากแล้วก็น่าสนใจที่จะอ่านและทำการศึกษา แต่เนื่องจากผมมีเวลาไม่มากพอที่จะอ่านอย่างละเอียดได้ในตอนนี้ก็เลยขอเล่าให้ฟังถึงสาระสำคัญอย่างคร่าวๆของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ครับ โอกาสหน้าจะพยายามแปลอย่างละเอียดมาเล่าให้ฟังต่อไปครับ
       คงไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ของประเทศไทยเรานะครับ เปรียบเทียบกันไม่ได้กับของฝรั่งเศสที่ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสก็จะมีอายุครบ 60 ปีแล้ว เป็น 60 ปีที่ผ่านการแก้ไขมา 24 ครั้งในขณะที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยเรานั้น เมื่อรัฐธรรมนูญมีปัญหาหรือมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ก็มักจะจบลงด้วยการฉีกทิ้งเสียมากกว่า ของเขา 60 ปีแก้ไข 24 ครั้งของเรา 60 ปีไม่กล้านับว่าฉีกทิ้งไปกี่ฉบับแล้วครับ !!!!!! นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยก็พบว่ายากยิ่งที่จะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับว่ารัฐธรรมนูญของเราจะมีอนาคตเป็นอย่างไร พอจะคาดหวังได้ไหมว่าจะอยู่ยาวได้กี่ปี !!!
        
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมาเสนอเพียงบทความเดียวคือบทความเรื่อง ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "จะกระจายอำนาจต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2023
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 07:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)