|
|
ครั้งที่ 361 29 เมษายน 2561 20:54 น.
|
ปัญหาของการอ่านผลงานวิชาการ
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมในคณะอนุกรรมการคณะหนึ่ง ในที่ประชุมได้มีการยกประเด็นว่าในปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถหาผู้ทรงคุณวุฒิมาอ่านหรือมาประเมินผลงานทางวิชาการได้ หรือไม่ก็ผู้ทรงคุณวุฒิปฏิเสธไม่รับเป็นกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการ ทำให้มีบางสถาบันอุดมศึกษาใช้วิธีปรับค่าตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิให้สูงขึ้น เพื่อให้มีผู้รับเป็นกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการ ในปัญหานี้ ผมได้เสนอความเห็นไปว่าจริงๆแล้วปัญหาเรื่องการรับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินตำแหน่งทางวิชาการคงไม่ได้อยู่ที่ค่าตอบแทนในการอ่านผลงานทางวิชาการเป็นหลักเพราะตัวผมเองนั้นเป็นผู้อ่านผลงานทางวิชาการของทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและข้าราชการหลายประเภทเป็นจำนวนมากตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาและผมก็ไม่เคยทราบว่าได้ค่าตอบแทนการอ่านผลงานทางวิชาการเป็นจำนวนเท่าไร จะมาทราบอีกทีก็ต่อเมื่ออ่านเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องค่าตอบแทนจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับเป็นผู้อ่านผลงานทางวิชาการ แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าที่ผ่านมา เมื่อผู้เข้ารับการประเมินผลงานทางวิชาการไม่ผ่านการประเมินก็จะฟ้องผู้อ่านผลงานทางวิชาการเป็นจำนวนมากและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆก็ยังไม่มีแนวทางในการปกป้องและคุ้มครองผู้อ่านผลงานทางวิชาการ ประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิปฏิเสธที่จะเป็นผู้อ่านผลงานทางวิชาการ
ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการใช้เวลาหนึ่งเดือนไปทำการบ้านมา ในการประชุมครั้งต่อมาเมื่อกลางเดือนเมษายนจึงได้นำเสนอประเด็นที่ฝากให้ไปทำการบ้าน โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการรวบรวมข้อมูลคดี การกำหนดชั้นความลับของกระบวนการพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการ ตลอดจนความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอให้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการต่อไปเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจจึงขอนำมาเล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งนี้
อย่างแรกที่ต้องทำความเข้าใจก็คือมีประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ (ฉบับที่สอง) พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดไว้ในข้อ 6.1.3 วรรคสอง และข้อ 6.2.3 วรรคสี่ ถึงหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งอาจารย์ประจำให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์โดยวิธีปกติว่า การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ดำเนินการอยู่ในชั้นความลับทุกขั้นตอน
มีกรณีที่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งวิชาการขอทราบรายชื่อคณะกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการ คุณวุฒิสาขาทางด้านวิชาการ แต่หน่วยงานของรัฐปฏิเสธและผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร นั้น คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้วินิจฉัยเอาไว้หลายเรื่อง เช่น คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฏหมาย ที่ สค 102 / 2555 ที่ สค 55 / 2528 ที่ สค 102 / 2558 ที่ สค 132 / 2558 ที่ สค 240 / 2559 ที่ สค 157 / 2560 สรุปความได้ว่า หากเป็นการร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ทรงคุณวุฒิในขณะที่กระบวนการพิจารณาผลงานทางวิชาการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็จะมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โดยเห็นว่า การเปิดเผยจะเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาผลงานทางวิชาการของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอันจะมีผลทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ตามมาตรา 15 (2) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่ถ้าหากเป็นการยื่นคำร้องขอข้อมูลในขณะที่การพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจะมีคำวินิจฉัยให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้ทรงคุณวุฒิโดยเห็นว่า รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิมิใช่ข้อมูลเฉพาะตัวบุคคล จึงไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลคุณวุฒิและประสบการณ์ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการตามกฏหมายของหน่วยงานของรัฐ แม้การเปิดเผยอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐอยู่บ้างแต่หน่วยงานของรัฐควรหาทางปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ การเปิดเผยจะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการและทำให้ผู้ถูกประเมินผลงานมีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของหน่วยงานของรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า หากมีการกำหนดให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการระบุในเอกสารการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการว่า ขอสละสิทธิ์ในการทราบรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและสละสิทธิ์ในการฟ้องร้องคดีต่อศาล จะสามารถทำได้หรือไม่ มีผลทางกฎหมายหรือไม่ กรณีดังกล่าวคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำวินิจฉัยที่ สค 102 /2555 เรื่องอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยมหิดลเกี่ยวกับรายชื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีใจความสำคัญว่า การที่ผู้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการระบุความประสงค์ในแบบ ก.พ.อ. 03 ปรับปรุง / 2 ว่า ไม่มีความประสงค์จะขอทราบชื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิผู้ทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ และจะไม่เรียกร้องให้มีการเปิดเผยชื่อคณะกรรมการไม่ว่ากรณีใดๆและขอสละสิทธิ์ในการเรียกร้องเรื่องนี้ทุกประการ ตามประกาศคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 เห็นว่า การพิจารณาและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการต้องเป็นไปตามกฏหมาย ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานอาจมีคำสั่งไม่เปิดเผยต้องพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มิใช่ตามประกาศคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล การแสดงเจตนาของผู้อุทธรณ์จึงมิใช่เหตุที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะอ้างการปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลตามนัยยะมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น ที่เป็นคดีปกครอง มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการหรือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่สองคดีโดยทั้งสองคดีศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการหรือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในฝ่ายปกครองหรือการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปสู่การจัดให้มีคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เท่านั้น ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจึงไม่เป็นผู้มีสิทธิ์ฟ้องคณะกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการหรือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อศาลปกครองได้ ศาลปกครองจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องคณะกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการหรือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (คำสั่งที่ คบ.141/2558 และคำสั่งที่ คบ. 31/2559 )
ส่วนที่เป็นคดีอาญานั้น มีอยู่ 3 คดีด้วยกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในศาลแขวงเชียงใหม่ 2 คดีแรกศาลยกฟ้องเนื่องจากฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ส่วนคดีที่ 3 ศาลเห็นว่า การพิจารณาผลงานทางวิชาการเป็นการใช้ดุลพินิจอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลบนหลักเกณฑ์การประเมินผลงานทางวิชาการตามข้อบังคับ จึงไม่เกินขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษายกฟ้อง
จากที่ประมวลเล่าให้ฟังมาข้างต้นทั้งหมดจะเห็นได้ว่า กระบวนการพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองหรือการเตรียมการหรือการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองตามนัยยะมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น การประกาศให้กระบวนการพิจารณาทั้งหมดอยู่ในชั้นความลับทุกขั้นตอนเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เมื่อการพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีความเห็นว่า ควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด แม้จะมีการกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นความลับก็ตาม หน่วยงานของรัฐก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารและต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ในระยะหลังๆไม่ค่อยมีคนอยากเข้าไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการเท่าไรนักเพราะเกรงว่า การอ่านผลงานทางวิชาการและการมีความเห็นของตนเองต่อผลงานทางวิชาการดังกล่าวอาจทำให้ตนเองต้องถูกฟ้องตามมาในภายหลังได้ แต่ก็ได้ยินมาว่ามีบางคนที่รับเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินผลงานทางวิชาการ เมื่ออ่านไปแล้วแม้ว่าจะไม่ค่อยพอใจในคุณภาพของผลงานเท่าไรนัก แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ความเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมีมากกว่า ก็มักจะยอมให้การประเมินผลงานทางวิชาการดังกล่าวผ่านการพิจารณาไปได้ ซึ่งหากมีการทำแบบนี้จริงก็จะทำให้ผู้ที่ผ่านการประเมินตำแหน่งทางวิชาการมีคุณภาพที่ไม่ดีพอจะส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการต่อไป
แล้วเราจะทำอย่างไรดีครับกับเรื่องดังกล่าว !!!
วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ แก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการและกำหนดให้รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการเป็นข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 15 หากใช้วิธีนี้ก็คงต้องกำหนดมาตรการอื่นรองรับให้ละเอียด เช่น ควรกำหนดให้ต้องมีการให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจที่จะให้บุคคลดังกล่าวผ่านหรือไม่ผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการอย่างละเอียดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพราะข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจะต้องนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจที่จะให้หรือไม่ให้ตำแหน่งทางวิชาการ รวมถึงเป็นเหตุผลที่จะนำไปใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไปด้วยครับ
บทบรรณาธิการนี้เป็นแค่การเปิดประเด็นเท่านั้นนะครับ ยังมีอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเพราะการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งด้วยการเสนอผลงานให้พิจารณาไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในหน่วยงานอื่นๆของรัฐด้วย ฉะนั้น หากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงมหาวิทยาลัยก็ควรจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้กว้างออกไปอีกว่า ในหน่วยงานของรัฐอื่นมีปัญหาในการหาคนมาอ่านหรือประเมินผลงานทางวิชาการเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยหรือไม่ ถ้ามีปัญหาทำนองเดียวกันก็ควรหาทางแก้ไปพร้อมๆกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง หน้าที่ของพรรคการเมือง ขอขอบคุณคุณชำนาญฯ ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2021
เวลา 18 กันยายน 2567 12:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|