หน้าที่ของพรรคการเมือง

29 เมษายน 2561 20:41 น.

       ในการเปิดโอกาสให้มีการจดแจ้งพรรคการเมืองต่อ กกต.ในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา มีกลุ่มการเมืองยื่นเสนอความจำนงถึง ๙๗ พรรค แต่คงมีไม่กี่พรรคที่จะผ่านขั้นตอนการเป็นพรรคโดยสมบูรณ์และลงสนามการเลือกตั้ง หลายคนสงสัยว่ากลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองทั้งที่มีอยู่แล้วและที่สิ้นสภาพไปนั้นมีหน้าที่อะไรกันแน่จึงได้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย และก็สิ้นสภาพไปอย่างมากมายเช่นกันด้วยเหตุแห่งการไม่ได้ทำหน้าที่ของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง 
       พรรคการเมือง(political party) คืออะไร
       พรรคการเมือง(political party) มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Par (คำเดียวกับที่ใช้ในสนามกอล์ฟนั่นแหละครับ) ซึ่งแปลว่า “ส่วน” พรรคการเมืองจึงหมายถึงส่วนของประชาชนในประเทศที่แยกเป็นส่วนๆตามความคิดเห็นและประโยชน์ได้เสียทางการเมือง
       ในทางทฤษฎีแล้วพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในระบบการเมือง เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยคนจำนวนมากที่มีภารกิจที่จะไปสู่จุดหมายเดียวกัน พรรคการเมืองเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญที่ชักนำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง พรรคการเมืองเป็นผู้รวบรวมผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นนโยบายของพรรคตน ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งคนใดเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคการเมืองใดก็จะเลือกพรรคการเมืองนั้นเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของตนในรัฐสภา แต่ในความเป็นจริงแล้วในระบอบการเมืองไทยที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยแทบจะไม่ได้ทำหน้าที่ที่กล่าวมานี้เลย
       หน้าที่ของพรรคการเมือง
       ในเรื่องนี้อาจารย์ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับหน้าที่ของพรรคการเมืองในหนังสือ “รัฐศาสตร์” ซึ่งผมใช้เป็นตำราประกอบการสอนและเขียนบทความมาโดยตลอดอย่างยาวนานกว่าสิบปีว่า
       ๑.ประกาศหรือแถลงนโยบายหลักของพรรคการเมือง เพื่อที่ประชาชนจะได้นำไปศึกษาพิจารณา เพื่อตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง
       ๒.ปลุกเร้าและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการสร้างหรือปลุกเร้าความคิดความเห็นทางการเมืองของประชาชน
       ๓.ส่งผู้แทนเข้าสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้ง
          ซึ่งในเรื่องนี้ผมมีข้อสังเกตว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา๙๑ (๕) บัญญัติไว้ว่าหากพรรคการเมืองใดไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้งติดต่อกันหรือเป็นระยะเวลาแปดปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน พรรคการเมืองนั้นเป็นอันสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ฉะนั้น พรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่มีการส่งสมาชิกลงเลือกตั้งจึงมิใช่พรรคการเมืองทั้งทางทฤษฎีรัฐศาสตร์และทางกฎหมาย
       ๔.จัดตั้งรัฐบาลหากได้รับเสียงข้างมากในสภาฯและปฏิบัติภารกิจตามนโยบายที่ได้วางไว้
       ๕.ควบคุมรัฐบาลหากไม่สามารถได้เสียงข้างมากในสภาฯก็ทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน คอยควบคุมการทำงานของรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถามหรือเสนอญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเป็นรายกระทรวงหรือคณะ นอกจากนี้ยังสามารถวิจารณ์การทำงานการทำงานของรัฐบาลผ่านทางสื่อมวลชน การประชุมสัมมนา และช่องทางอื่นๆเพื่อมิให้รัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจ
       ๖.ประสานระหว่างกลุ่มผลประโยชน์กับรัฐบาล โดยการพยายามเสนอข้อเสนอของกลุ่มผลประโยชน์ของตนเอง และไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ให้ได้เพื่อผลประโยชน์ของชาติ และในขณะเดียวกันต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองให้ได้มาที่สุด
       ในความเป็นจริงสำหรับการเมืองไทยเรา พรรคการเมืองไทยแทบจะไม่ได้ทำหน้าที่ที่พึงกระทำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อ ๕ และข้อ ๖ เพราะแต่ละพรรคต่างก็มุ่งที่จะเป็นพรรครัฐบาล จนมีคำกล่าวได้ว่าพรรคการเมืองมีเพียง “พรรครัฐบาล”กับ “พรรครอร่วมรัฐบาล”เท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นเมื่อเป็นพรรคฝ่ายค้านแทนที่จะทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน”อย่างสร้างสรรค์แต่กลับทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายแค้น”แทน    
       จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมืองกันอย่างมาก บางคนเข้าใจว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่ฝากลูกฝากหลานเข้าโรงเรียน บางคนเข้าใจว่าพรรคการมีหน้าที่ฝากลูกฝากหลานเข้าทำงานราชการ ฯลฯ แต่ก็อย่างว่าที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยเราก็มักจะสร้างความเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ
       อย่างไรก็ตามขนบธรรมเนียมของไทยเราเวลามีงานประเพณี งานบวช งานแต่ง งานตาย กฐิน ผ้าป่า ฯลฯ ผู้คนก็หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร แต่ไม่ใช่ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนดวันเลือกตั้งแล้วย่อมเป็นสิ่งที่ต้องระวังเพราะแทนที่จะได้บุญกลับจะกลายเป็นโทษแทน
       เมื่อเราเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองที่แท้จริงแล้ว ก็ไม่ยากที่เราจะพิจารณาว่าเราจะเลือกใครหรือพรรคการเมืองใดเข้าไปทำหน้าที่แทนเราในสภาฯ  หมดยุคการเมืองแบบเก่าๆที่ใช้วิธีการกำหนดนโยบายพรรคไว้อย่างสวยหรูแต่ไม่ทำตาม หมดยุคของการที่จะโน้มน้าวให้ประชาชนมาเลือกพรรคหรือสมาชิกของตนด้วยวิธีการใส่ร้ายป้ายสี โดยหันมาเสนอนโยบายหรือวิธีการที่จะบรรลุนโยบายที่วางไว้ว่ามีอะไรและจะทำอย่างไร และกรณีที่จะต้องมีการใช้เงินหรือค่าใช้จ่าย ก็ต้องบอกด้วยว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน อย่างไร
       ประชาธิปไตยเราก่อกำเนิดมาตั้ง ๒๔๗๕ มีการสะดุดหยุดลงหลายครั้งด้วยการรัฐประหาร ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทยไม่พัฒนา แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบพรรคการเมืองแบบเก่าๆก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยเราไม่พัฒนาไปเท่าที่ควรเช่นกัน
       หากระบบพรรคการเมืองเข้มแข็งทั้งประชาชนและพรรคต่างรู้หน้าที่ที่แท้จริงของพรรคการเมือง การรัฐประหารย่อมเกิดขึ้นได้ยากหรือหมดสิ้นไป เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองของโลกเราที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าในที่สุดแล้ว ballots(บัตรเลือกตั้ง)จะชนะ bullets(กระสุนปืนหรือการยึดอำนาจด้วยอาวุธ)เสมอ
        
       -------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2020
เวลา 28 มีนาคม 2567 23:45 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)