ครั้งที่ 359

1 เมษายน 2561 18:25 น.

       การนัดหยุดงานในประเทศฝรั่งเศส
       
       เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเหตุการณ์นัดหยุดงานครั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส ตามข่าวบอกว่ามีคนนัดหยุดงานเข้าร่วมชุมนุมประมาณ 200,000 กว่าคน ผู้ที่นัดหยุดงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานการรถไฟ พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ เจ้าพนักงานศาล นักเรียน นักศึกษา มีการปิดสถานการศึกษา ปิดห้องสมุดและปิดศูนย์บริการสาธารณสุขหลายแห่ง รถไฟความเร็วสูงยกเลิกการให้บริการร้อยละ 60 รถไฟธรรมดาร้อยละ 75 และสายการบินร้อยละ 40
       ผู้ที่นัดหยุดงานในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรภาครัฐ การที่บุคลากรภาครัฐร่วมชุมนุมในครั้งนี้ก็เพื่อประท้วงในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ความต้องการที่จะให้มีการปรับเงินเดือนใหม่ ต่อต้านแผนการปฏิรูปแรงงานของประธานาธิบดีคนใหม่คือนาย Emmanuel Macron ที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะลดกำลังบุคลากรภาครัฐลงโดยมีการคาดการณ์กันว่าในอีกสามปีข้างหน้าจะมีบุคลากรภาครัฐตกงานกว่า 100,000 คนเนื่องจากรัฐบาลต้องการลดรายจ่ายภาครัฐ ส่วนพนักงานการรถไฟที่นัดหยุดงานเข้าร่วมชุมนุมก็เพื่อต่อต้านนโยบายของรัฐบาลที่จะยกเลิกการผูกขาดในภาครัฐและเปิดให้เอกชนเข้ามาทำกิจการรถไฟ ส่วนนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วงก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปทำลายระบบการให้บริการภาครัฐเพราะรัฐบาลของประธานาธิบดีคนใหม่มีแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาทำทุกอย่างได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรภาครัฐอีกต่อไป
       มีสหภาพแรงงานภาครัฐเข้าร่วมในการชุมนุมนี้ด้วย 7 สหภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสหภาพแรงงานของการรถไฟและสหภาพแรงงานของบุคลากรภาครัฐทั่วประเทศ ในกรุงปารีส มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 50,000 คน ท้ายที่สุดเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจปราบจลาจลและนักศึกษา ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและใช้น้ำฉีดสลายการชุมนุม มีการเผารถประท้วง ทุบกระจกร้านค้า คาดว่าการนัดชุมนุมประท้วงในครั้งนี้จะยืดเยื้อออกไปอีกนาน อย่างน้อยคงไม่ต่ำกว่าสามเดือนหากยังไม่มีการเจรจาตกลงเพื่อให้ได้ข้อยุติ
       ภายหลังการชุมนุมประท้วง รัฐบาลประกาศว่าจะไม่ถอยและพร้อมที่จะเดินหน้านโยบายทุกอย่างต่อไปแม้จะมีการประท้วงที่ยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือนก็ตาม !!!
       การนัดหยุดงานในประเทศฝรั่งเศสเป็นเรื่องที่มีความเป็นมาที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะการนัดหยุดงานของบุคลากรภาครัฐ ในอดีต บุคลากรภาครัฐซึ่งประกอบด้วยข้ารัฐการประเภทต่างๆและพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่สามารถนัดหยุดงานได้ ต่อมา เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1946 ใช้บังคับ สิทธิในการนัดหยุดงานเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามวรรค 7 ของคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว การนัดหยุดงานของบุคลากรภาครัฐในฝรั่งเศสจึงอาจทำได้โดยมีฐานทางรัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้โดยในวรรค 7 ของคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 1946 บัญญัติว่า สิทธิในการนัดหยุดงานอาจทำได้ภายในกรอบของรัฐบัญญัติที่กำหนดกฏเกณฑ์ในเรื่องนั้น ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 ก็ได้ให้การรับรองคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1946 ดังกล่าวเอาไว้ ดังนั้น จึงถือได้ว่า สิทธิในการนัดหยุดงานเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ครอบคลุมทั้งพนักงานภาคเอกชนทั่วไปและบุคลากรภาครัฐที่มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ ต่อมาก็ได้มีรัฐบัญญัติลงวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ.1983 กำหนดถึงสิทธิในการนัดหยุดงานเอาไว้ในมาตรา 4 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้สิทธิในการนัดหยุดงานได้ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ บทบัญญัติดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถนัดหยุดงานเพื่อเข้าร่วมในการชุมนุมได้โดยไม่ถูกลงโทษ แต่ก็จะต้องถูกหักเงินเดือนให้ได้สัดส่วนกับช่วงเวลาที่ใช้สิทธิในการนัดหยุดงาน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะนัดหยุดงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ได้ ในขณะเดียวกันสำหรับข้ารัฐการส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรีมีอำนาจที่จะสั่งระงับการนัดหยุดงานได้หากการนัดหยุดงานจะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การนัดหยุดงานของบุคลากรภาครัฐที่จัดทำบริการสาธารณะจะต้องไม่ขัดกับหลักว่าด้วยความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะเพราะหลักว่าด้วยความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะก็เป็นหลักที่มีคุณค่าเทียบเท่ารัฐธรรมนูญเช่นกัน
       นอกจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่กล่าวไปแล้ว สิทธิในการนัดหยุดงานยังได้รับการรับรองโดยคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอีกด้วยโดยหลังจากที่บทบัญญัติในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1946 รับรองสิทธิในการนัดหยุดงานเอาไว้ ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำวินิจฉัยในคดี Duhaene ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 1950 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการนัดหยุดงานของบุคลากรภาครัฐโดยรับรองสิทธิในการนัดหยุดงานของบุคลากรภาครัฐเพื่อใช้ในการเรียกร้องประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพของตนได้และนอกจากนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวยังขยายความเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในการนัดหยุดงานของบุคลากรภาครัฐเอาไว้อีกว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานของบุคลากรภาครัฐ แต่หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ดำเนินการ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำบริการสาธารณะก็สามารถออกกฎเกณฑ์กำหนดข้อจำกัดในเรื่องสิทธิของการนัดหยุดงานได้ ซึ่งต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยยืนยันหลักดังกล่าวไว้อีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1992 ส่วนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยลงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1971 ยืนยันว่า สิทธิในการชุมนุมนัดหยุดงานเป็นหลักที่มีคุณค่าเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญลงวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1979 ที่ได้ยืนยันหลักดังกล่าวรวมทั้งยังขยายความออกไปอีกว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจห้ามการนัดหยุดงานของบุคคลากรภาครัฐหรือพนักงานเอกชนได้ ฝ่ายนิติบัญญัติทำได้แต่เพียงจำกัดการใช้สิทธิดังกล่าวเท่านั้น โดยการจำกัดการใช้สิทธิดังกล่าวต้องทำเพื่อปกป้องหรือรักษาประโยชน์ของอาชีพและต้องสอดคล้องกับการรักษาหรือปกป้องประโยชน์ส่วนรวมซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิในการนัดหยุดงานได้ จากนั้น ก็ได้มีการวางหลักเกณฑ์โดยฝ่ายบริหารเอาไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานว่า หากจะมีการนัดหยุดงาน ผู้ที่จะนัดหยุดงานจะต้องแจ้งเรื่องการนัดหยุดงานต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการไม่นับรวมวันหยุด ถ้าไม่มีการแจ้งล่วงหน้าก็จะถือว่าเป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายและถือว่าบุคลากรที่เข้าร่วมในการนัดหยุดงานนั้นกระทำผิดวินัย นายจ้างมีสิทธิลงโทษได้ หากการนัดหยุดงานโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้นัดหยุดงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้าก็จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ บุคลากรภาครัฐที่หยุดงานไปทำการประท้วงก็จะเสียสิทธิบางประการ ยกตัวอย่างเช่น เนื่องจากผู้ที่นัดหยุดงานไม่ได้มาทำงานจึงไม่อาจรับเงินเดือนสำหรับวันที่นัดหยุดงานได้ บรรดาเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างก็อาจระงับได้ เช่น หากการนัดหยุดงานเพื่อไปชุมนุมประท้วงก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าวเนื่องจากเป็นความเสียหายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงานของบุคลากรเหล่านั้น 
       การนัดหยุดงานมักจะเริ่มต้นจากการเจรจาตกลงกันก่อนที่จะมีการนัดหยุดงาน ในประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายเกี่ยวกับการเจรจาตกลงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของบริการสาธารณะในด้านขนส่งทางบก โดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีกระบวนการเจรจาเบื้องต้นระหว่างนายจ้างกับผู้แทนของพนักงานก่อนที่จะมีการส่งหนังสือแจ้งล่วงหน้าเพื่อใช้สิทธิในการนัดหยุดงาน นายจ้างและสหภาพแรงงานลูกจ้างจะเจรจากันก่อนที่จะใช้สิทธิในการนัดหยุดงาน การเจรจาดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินัดหยุดงานจึงค่อยแจ้งการนัดหยุดงาน รวมไปถึงแผนการรองรับเพื่อเป็นหลักประกันความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมนัดหยุดงานอีกด้วยโดยฝ่ายปกครองจะกำหนดมาตรการเพื่อรองรับการนัดหยุดงานที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้บริการสาธารณะหยุดไปทั้งระบบแต่ยังคงมีการให้บริการบางส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ การให้บริการขั้นต่ำถูกนำไปใช้ในบริการสาธารณะประเภทที่หากหยุดงานเด็ดขาดจะทำให้เกิดผลกระทบต่อส่วนรวมเป็นอย่างมาก เช่น บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล กระบวนการยุติธรรม การคมนาคมทางอากาศ เป็นต้น
       เนื่องจากการนัดหยุดงานเพื่อประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนฝรั่งเศส มีการประท้วงกันบ่อยมากจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนฝรั่งเศสทุกสาขาอาชีพรวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศฝรั่งเศสด้วย ด้วยเหตุนี้เอง ภาคเอกชนจึงได้จัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาชื่อ http://www.cestlagreve.fr/ เว็บไซต์นี้คอยรายงานข่าวว่าจะมีการประท้วงที่ไหน เมื่อใด เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว เตรียมใจและเตรียมรับมือได้ถูกต้อง ผู้จัดทำเว็บไซต์ได้เขียนเหตุผลของการจัดทำเว็บไซต์ไว้ว่าบริการสาธารณะด้านการขนส่ง การศึกษา กิจการเอกชน บางครั้งนัดหยุดงานแต่ไม่มีใครรับรู้ล่วงหน้า ทำให้เกิดผลกระทบในการเดินทางและในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นจึงตัดสินใจทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ว่าจะมีการนัดหยุดงานหรือชุมนุมประท้วงเมื่อใดจะได้หาทางหนีทีไล่ถูกไม่ต้องไปติดอยู่บนถนนหรือมัวแต่นั่งรอรถเมล์หรือไปโรงเรียนที่บรรดาครูนัดหยุดงานประท้วงกันทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ 
       ยังนับว่าเป็นโชคดีประเทศไทยอยู่บ้างที่เราไม่ค่อยมีการนัดหยุดงานของหน่วยงานที่จัดทำบริการสาธารณะ ถ้าจำไม่ผิด ที่เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อห้าหกปีก่อนน่าจะเป็นการนัดหยุดงานของรถไฟครับ และถ้าจำไม่ผิดอีกเช่นกันการนัดหยุดงานครั้งนั้นน่าจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองครับ !!!!
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง "บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1728/2559 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและสัญญาทางปกครอง : กรณีขออนุญาตใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า" ของอาจารย์ ลัดดาวัลย์ อุทัยนา แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ส่วนบทความที่สองเป็นบทความที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ เรื่อง "การควบคุมบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแล : ปัญหาการปกครองท้องถิ่นไทย" และบทความที่สาม เป็นบทความของคุณทีสิทธิ์ วงศาโรจน์ ที่เขียนเรื่อง "หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในคำพิพากษาศาลอาญาในประเทศฝรั่งเศส" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามบทความด้วยครับ 
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 เมษายนพ.ศ. 2561 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2014
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 07:21 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)